วันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๘ มิถุนายนแล้วโดยเรียบร้อย แต่เขาเอามาส่งต่อวันเสาร์ที่ ๒๒ เวลาเช้า เห็นจะเป็นเพราะหนังสือมาคราวเมล์นี้มีมาก

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑) หม่อมฉันขอบพระเมตตาคุณทั้งสองพระองค์ท่านและพระญาติหาที่สุดมิได้ ที่ประทานพรมาในวันเกิด อันเป็นเหตุให้ชื่นใจ และขอบพระคุณที่โปรดประทานหนังสือเรื่องกามนิตมาด้วย จะทูลเล่าถึงการทำบุญวันเกิดข้างท้ายจดหมายนี้

๒) พระระเบียงที่มีตามวัดสร้างสำหรับอะไร เคยได้ยินกล่าวกันเป็น ๒ นัย นัยหนึ่งว่าเป็นที่สำหรับพระภิกษุเดินจงกรม อีกนัยหนึ่งว่าสำหรับเป็นที่พักพวกสัปปุรุษ หม่อมฉันพิจารณาดูพระระเบียงหลายแห่งตั้งแต่ที่นครวัดเป็นต้น คิดเห็นเป็นแน่ใจว่า สร้างเป็นที่พักสัปปุรุษ พระจะเข้าไปเดินจงกรมในพระระเบียงดูขัดข้องแทบทุกแห่ง ยกตัวอย่างดังเช่นวัดพระแก้วอยู่ในพระราชวัง วัดมหาธาตุ วัดพระเชตุพน วัดสุทัศน์ พระระเบียงก็อยู่ห่างต่างบริเวณกับที่พระอยู่ ลักษณะจงกรมเนื่องกับการนั่งกรรมฐานในที่สงัด เมื่อเกิดเมื่อยขบจึงเปลี่ยนอิริยาบถไปเดินจงกรมพอให้หายเมื่อย ในพระระเบียงมิใช่ที่สำหรับนั่งกรรมฐาน แต่นัยที่ว่าเป็นสัปปุรุษนั้นเหมาะทุกประการ และตามจริงก็ยังเป็นอยู่เช่นนั้นทุกแห่ง พระระเบียงพระนครวัดสร้างด้วยความคิดอย่างสุขุม เอาพระระเบียงชั้นสูงเป็นที่พักของพวกนักบวช พระระเบียงชั้นล่างเป็นที่พักของพวกคฤหัสถ์ จำหลักรูปภาพเป็นเรื่องต่างฟ ให้คนพักดูชวนใจให้เกิดเลื่อมใสในศาสนาและพระบารมีของพระเจ้าแผ่นดิน ที่เขียนรูปภาพเรื่องรามเกียรติ์ไว้ที่พระระเบียงวัดพระแก้ว ก็เอาอย่างมาแต่นครวัดโดยนัยนั้น ที่ไม่เขียนเรื่องมหาภาระตะ เพราะไทยถือว่าพระเจ้าแผ่นดินไทยเป็นพระนารายณ์ อวตารมาเป็นพระรามาธิบดี ตรงกับเรื่องรามเกียรติ์ คิดต่อไปถึงมูลที่ตั้งพระพุทธรูปรายในพระระเบียง ซึ่งบางคนเห็นว่าน่าจะเกิดแต่เก็บพระหักพังมาบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วไม่มีที่รักษา จึงเอาไปฝากตั้งไว้ตามพระระเบียง อาจจะเป็นความจริงได้แต่เฉพาะในกรณีบางเรื่อง แต่มิใช่มูลเหตุ ๆ คงเพื่อคนพักบูชา และเจริญความเลื่อมใส เช่นเดียวกันกับพวกถือศาสนาพราหมณ์ จำหลักรูปภาพเรื่องมหาภารตะและเรื่องรามเกียรติ์ไว้พระระเบียงนั่นเอง

๓) เรื่องสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ คือวัดมหาธาตุ หม่อมฉันพิจารณาตามบรรดาเมืองที่มีวัดมหาธาตุ ดูเหมือนจะเป็นเมืองที่มีป้อมปราการเท่านั้น แม้ที่สุดจนเมืองพระประแดงมีวัดหน้าพระธาตุ ก็เป็นเมืองมีป้อมปราการอยู่แต่เดิม และยังคิดถอยหลังขึ้นไปได้อีก ถึงเมืองที่สร้างป้อมปราการในสมัยเมื่อยังถือลัทธิมหายาน ก่อนลัทธิหินยานลังกาวงศ์พาพระบรมธาตุเข้ามามีแพร่หลาย ยกตัวอย่างดังเมืองพิมาย เมืองสุโขทัยเดิม (ที่วัดพระพายหลวง) เมืองเชลียง เมืองลพบุรี เป็นต้น ย่อมสร้างพระปรางค์พุทธเจดีย์เป็นสิ่งสำคัญไว้กลางเมืองทุกแห่ง หม่อมฉันได้เคยพิจารณาดูที่เมืองพิมายและที่วัดพระพายหลวงเมืองสุโขทัยโดยเฉพาะ เห็นว่าที่สร้างพระพุทธเจดีย์เช่นนั้นมูลมาแต่การเมือง ศาสนาเป็นแต่ปัจจัย คือโดยปกติเป็นที่ประชุมทำบุญ ถ้าเวลาเกิดฉุกเฉินใช้เป็นที่ประชุมบัญชาการรักษาบ้านเมือง ครั้นถึงสมัยนับถือคติหินยานลังกาวงศ์ ได้พระบรมธาตุมาจากเมืองลังกา มาบรรจุไว้ในพระพุทธเจดีย์ที่สำคัญสำหรับบ้านเมือง จึงได้นามว่าวัดมหาธาตุ คงเป็นวัดพุทธาวาสทุกแห่ง มีตัวอย่างเป็นอย่างดีอยู่ที่วัดมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีวัดสังฆาวาสเรียกชื่ออื่นต่างหากอยู่ “หน้าพระธาตุ” ทั้ง ๔ ด้าน เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์คณะลังกาแก้ว ลังกาชาติ ลังการาม ลังกาเดิม พนักงานรักษาวัดมหาธาตุคณะละด้าน และมีโบสถ์สำหรับทำสังฆกรรมเป็นของกลางอยู่ในวัดมหาธาตุ ทูลกระหม่อมจึงโปรดเอาอย่างมาตั้งพระครูบุริมานุรักษ์ พระครูทักษิณานุกิจ พระครูปัจจิมทิศบริหาร พระครูอุตรการบดี รักษาพระปฐมเจดีย์องค์ละด้าน ทำสังฆกรรมที่โบสถ์วัดพระปฐมเจดีย์ด้วยกัน เหตุใดจึงมีวัดมหาธาตุแต่เมืองที่สร้างป้อมปราการ ข้อนี้คิดดูก็พอเห็น คือเมืองแรกตั้งขึ้นเมื่อยังมีกำลังน้อย ไม่แน่ใจว่าจะตั้งต่อศัตรูไหวหรือไม่ ต้องเตรียมทิ้งที่หนีภัยจึงยังไม่สร้างของถาวร จนเห็นว่ามีกำลังมากพอจะต่อสู้ศัตรูได้จึงสร้างป้อมปราการด้วยของถาวรเป็นที่มั่น มูลคงเป็นเช่นนั้นทุกแห่ง

๔) วิธีบวชพระบวชเณรของนิกายมหายาน ที่พระอาจารย์จีนวงศ์สมาธิวัตร (แมว) ทูลนั้นเป็นแต่เค้าความ ความพิสดารมีอยู่ในหนังสือ “ลัทธิของเพื่อน” ภาค ๑ ตอน ๒ ซึ่งเสฐียรโกเศศ กับ นาคประทีปแปลพรรณนาไว้ ได้ความรู้เป็นกิจลักษณะน่าอ่านอยู่ ถ้าตรัสเรียกหนังสือนั้นจากพระยาอนุมานก็เห็นจะส่งมาถวายด้วยความยินดี

๕) เรื่องพุทธโฆสนิทานที่ใคร่จะทรงอ่านนั้น หม่อมฉันรับลายพระหัตถ์ฉบับนี้ ประจวบกับจะส่งหนังสือวิสุทธิมัคค์เล่ม ๖ อันมีพุทธโฆสนิทานอยู่ข้างท้ายคืนไปยังพระมหาภุชงค์ที่วัดราชประดิษฐ์จึงสลักหลังทิ้งไปรษณีย์ส่งมาถวายให้ทรงเสียก่อน จะได้ไม่ต้องเที่ยวเสาะหา ทรงแล้วโปรดให้ส่งไปยังพระมหาภุชงค์ เธอเคยบอกว่าไม่ต้องรีบร้อนอันใด

๖) ตรัสถามมาถึงเรื่องพระราชยานถมนั้น หม่อมฉันพอจะทูลได้ด้วยมีในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง ว่าเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๖๑ เจ้าพระยานครฯ (น้อย ทูลกระหม่อมตรัสเรียกในพระราชหัตถเลขาว่า น้อยคืนเมือง) เข้าไปกรุงเทพฯ นำพระเสลี่ยง (คือพระราชยาน) กับพระแท่น (เสด็จออกขุนนาง) ถม เข้าไปถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เขียนในหนังสือพงศาวดารนั้นลำดับผิด ว่าเจ้าพระยานครฯ ถึงอสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ ต่อนั้นไปจึงว่าเจ้าพระยานครฯ เอาพระราชยานกับพระแท่นถมเข้าไปถวายเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓ (เมื่อถึงอสัญกรรมแล้วได้ปี ๑) แต่ค้นความจริงได้ง่าย ด้วยในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ นั้นเอง ว่าเกิดขบถตีเมืองไทรใน พ.ศ. ๒๓๖๑ มีในหนังสือ “จดหมายหลวงอุดมสมบัติ” ว่าเวลารู้ข่าวเกิดขบถ เจ้าพระยานครฯ อยู่ในกรุงเทพฯ (ในคราวที่เอาพระราชยานกับพระแท่นถมเข้ามาถวาย) แล้วกล่าวยุติต้องกันไปว่า เจ้าพระยานครฯ กลับไปจากกรุงเทพฯ ในเวลามีอาการป่วยยังไม่หาย ไปถึงเมืองนครโรคกลับกำเริบขึ้นถึงอสัญกรรมใน พ.ศ. ๒๓๖๒

๗) จะทูลบรรเลงต่อไปถึงเรื่องถมเมืองนครฯ การทำเครื่องถมในเมืองไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ทำแต่ในกรุงเทพฯ กับที่เมืองนครศรีธรรมราช ๒ แห่งเท่านั้น คนนับถือกันว่าฝีมือช่างถมเมืองนครฯ ทำดีกว่าในกรุงเทพฯ จนเครื่องถมที่ทำดีมักเรียกกันว่า “ถมนคร” เลยมีคำกล่าวกันว่าช่างถมเดิมมีแต่ที่เมืองนครฯชาวกรุงเทพฯ ไปเอาอย่างมาทำยังสู้ฝีมือครูไม่ได้

เมื่อหม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยลงไปเมืองนครศรีธรรมราชอยากดูการทำเครื่องถม การนั้นพวกช่างก็ทำตามบ้านเรือนของตนอย่างเดียวกับที่บ้านพานถมในกรุงเทพฯ พวกกรมการเขาพาไปดูหลายแห่ง สังเกตดูช่างถมแต่งตัวเป็นแขกมลายูทั้งนั้น ที่เป็นคนไทยหามีไม่ หม่อมฉันประหลาดใจถามเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เมื่อยังเป็นพระยานครฯ ท่านกล่าวความหลังให้ฟังจึงรู้เรื่องตำนานว่า เมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๒ เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ยังเป็นพระยานครฯ ลงไปตีเมืองไทรได้เชลยมลายูมามาก จึงเลือกพวกเชลยให้หัดทำการช่างต่างๆ หาครูลงไปจากกรุงเทพฯ บรรพบุรุษของพวกนี้ได้หัดเป็นช่างถมสืบกันมาจนทุกวันนี้ ได้ฟังก็คิดเห็นตลอดถึงเหตุที่ว่าฝีมือช่างถมนครฯ ดีกว่าช่างถมกรุงเทพฯ ที่จริงเป็นเพราะช่างถมเมืองนครฯ เป็นเชลย เจ้าพระยานครฯ กวดขันอย่างเราเรียกว่า “ทอดน้ำมัน” ให้ทำให้ได้ดังใจ แต่ช่างถมในกรุงเทพฯ ไม่มีใครบังคับกวดขันทำตามใจตนเอง หาได้พอกินแล้วก็พอใจ อันนี้เองเป็นมูลที่เครื่องถมเมืองนครทำฝีมือดีกว่ากรุงเทพฯ

เครื่องราชูปโภคทำด้วยถมมีของสำคัญ ๕ สิ่ง คือ

๑. พระราชยาน

๒. พระแท่นเสด็จออกขุนนาง

สองสิ่งนี้รู้ได้โดยมีหลักฐานว่าเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ทำถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังทูลมาแล้ว

๓. พนักเรือพระที่นั่งกราบ

๔. พระเก้าอี้ ที่ใช้เป็นพระที่นั่งภัทรบิฐ

สองสิ่งนี้ไม่มีเรื่องปรากฏ หม่อมฉันอยากจะสันนิษฐานว่าเป็นของเจ้าพระยานครฯ (น้อยกลาง) ทำถวายทูลกระหม่อมเมื่อรัชกาลที่ ๔ เพราะอนุโลมเป็นราชยานสิ่ง ๑ เป็นราชอาสน์สิ่ง ๑ ตามเค้าของที่เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ผู้บิดาได้ทำถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

๕. พระแท่นพุดตานที่ตั้งในท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดให้เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) ทำ ดำรัสว่าจะได้เป็นเกียรติสืบสกุล พิเคราะห์ดูเข้าเรื่องกันดีตลอด ๓ ชั่วคน

เรื่องทางเมืองปีนัง

จะทูลถึงการทำบุญวันเกิดของหม่อมฉันเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ปีนี้ทำบุญแปลกกับปีก่อนๆ ด้วยเหตุพระสงฆ์ไทยคณะธรรมยุตที่วัดศรีสว่างอารมณ์ก็กลับไปกรุงเทพฯเสียแล้ว พระคณะมหานิกายวัดปิ่นบังอรสมภารก็ไม่อยู่ วัดปุโลติกุส หม่อมฉันก็ไม่รู้จักสมภารที่เป็นขึ้นใหม่ นึกขึ้นถึงที่อยากจะฟังทำนองสวดมนต์อย่างลังกาดังเคยทูลไปแต่ก่อน หม่อมฉันจึงนิมนต์พระอาจารย์คุณรัตนกับพระภิกษุลังกาอีก ๒ องค์ที่อยู่ด้วยกัน ณ วัดมหินทรารามให้ทำพิธี หม่อมฉันไปนิมนต์เองด้วยจะไต่ถามถึงลักษณะการพิธีอย่างลังกา จะได้ทำให้ถูกต้อง พระลังกาก็ยินดีรับนิมนต์ทั้ง ๓ องค์

ถึงวันศุกร์ที่ ๒๑ มิถุนายน จัดที่ทำพิธีในห้องกลางชั้นบนตึกซินนามอนฮอล ตั้งพระพุทธรูปกับคัมภีร์หนังสือเทศนา ๕๐ กัณฑ์ ซึ่งหม่อมฉันสร้างใหม่และหม้อน้ำมนต์บนม้าหมู่พร้อมด้วยเครื่องสักการบูชา และวงสายสิญจน์แต่ที่บูชานั้นไปทอดกลุ่มไว้ที่อาสนสงฆ์ เวลาเช้า ๙ นาฬิกาเศษให้รถยนต์ไปรับพระลังกา ๓ องค์มานั่งเรียงกันบนอาสนสงฆ์ หม่อมฉันนั่งหน้าอาสนสงฆ์ตรงที่พระอาจารย์คุณรัตนนั่ง คนอื่นก็นั่งรายกันไปในห้องนั้น

เมื่อหม่อมฉันจุดเทียนธูปเครื่องนมัสการแล้ว ท่านคุณรัตนคลี่สายสิญจน์ให้พระถือตลอดแล้วแล้วส่งกลุ่มสายสิญจน์มาให้หม่อมฉัน ๆ นึกถึงเจ้านายโสกันต์ก็เข้าใจว่าแบบลังกาเห็นจะโยงสายสิญจน์ถึงตัวผู้เป็นหัวหน้า จึงรับสายสิญจน์มาคลี่พาดบ่าไว้ ขณะนั้นผู้เคยเป็นพนักงานมาแต่ก่อนอาราธนาศีล แต่ท่านคุณรัตนนิ่งเฉยเสีย หม่อมฉันก็นึกเห็นเหตุว่า ประเพณีลังกาตัวผู้เป็นคฤหบดีเห็นจะอาราธนาศีล จึงอาราธนาเองท่านก็ให้ศีลโดยเรียบร้อย ลักษณะพระลังกาให้ศีลนั้นเหมือนอย่างพระธรรมยุติกา คือมีระยะที่เราต้องรับ อามภนฺเต เมื่อจบสรณาคมครั้ง ๑ เมื่อจบเบญจศีลครั้ง ๑

เมื่อให้ศีลแล้วตั้งต้นสวดมนต์ พระนั่งถือตาลปัตรกับสายสิญจน์ด้วยกันทั้ง ๓ องค์ ตาลปัตรนั้นเป็นพัดใบลานขนาดเท่ากันกับพัดน้ำร้อน แลบางทีเห็นใช้พัดรำเพยลมด้วย ข้อนี้เคยได้ยินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเล่าว่า สมัยเมื่อพระไทยยังใช้วิชนีเป็นพัดรอง พระก็ชอบเอาพัดรองรำเพยลมเหมือนกัน หม่อมฉันฟังสวดมนต์ด้วยตั้งใจใคร่จะรู้ว่าพระลังกาสวดอะไรบ้าง แต่ลำบากด้วยหูตึง ถ้าพ้องกับสวดมนต์ไทยได้ยินเพียงวรรค ๑ ก็เข้าใจว่าอะไร แต่ที่ผิดกับของไทยไม่รู้ว่าอะไรก็มี แต่ที่ไม่รู้นั้นมีน้อย แต่มีข้อสำคัญที่ต้องทูลก่อน เพราะประหลาดใจและผิดคาด ด้วยทำนองพระลังกาสวดมนต์ไพล่ไปเหมือนทำนองพระมหานิกายถึงอาจจะสวดด้วยกันได้ ผิดกันแต่ออกเสียงอักขระเท่านั้นต้องนึกชมพระมหานิกายว่าอุส่าห์รักษาทำนองที่ได้จากลังกามาเป็นช้านาน

ลักษณะที่พระลังกาสวดมนต์นั้น ท่านคุณรัตนหัวหน้าเป็นผู้ขัดตำนานเชิญประชุมเทวดา ข้อนี้เป็นแบบเดิม สมเด็จพระมหาสมณเคยตรัสว่าคำ “เห” ที่ลงท้ายขัดตำนานเป็นคำผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย ส่อว่าสังฆนายกเป็นผู้ขัดตำนาน ทูลกระหม่อมจึงทรงเปลี่ยนเป็น “เส” สำหรับองค์อื่นขัด ท่านคุณรัตนขัดตำนานจะขึ้นต้นว่ากะไรหม่อมฉันไม่ได้ยิน สังเกตแต่ว่าสั้นกว่าบท “สคฺเค” อย่างพระไทยขัดตำนาน แต่ลงท้ายว่า “ธมฺมสฺสวนกา โล อยมฺภทนฺตา” เหมือนกัน ขัดตำนานครั้งเดียวเท่านั้น แล้วตั้งนโม ต่อนโมสวด ๑) พระปรมัตถบท ปฏิจจสมุปบาท ๒) อิติปิโส ๓) สวากฺขาโต ๔) สุปฏิปนฺโน เพิ่มคาถาต่อท้ายว่า เอเตน สจฺจวชฺเชน (ลงท้ายว่ากะไรไม่ได้ยิน) ๓ ครั้ง ๕) พาหุํ ๖) ภวตุสพฺพ ๗) นกฺขตฺตยกฺขํ ๘) มงคลสูตร เพิ่มคาถาต่อท้ายว่า เอเตน สจฺจวชฺเชน โหตุชยมํคลํ ว่า ๓ ครั้ง ๙) รัตนสูตรเพิ่มคาถาต่อท้ายว่า เอเตน สจฺจวชฺเชน สุวตฺถิ โหตุ สพฺพทา ว่า ๓ ครั้ง ๑๐) กรณียเมตตสูตร เพิ่มคาถาต่อท้ายว่า ๓ หนอย่างสูตรก่อนๆ ๑๑) นตฺถิเม ๑๒) มหาการุณิโกนาโถชยนฺโต ๑๓) ยํกิฺจิรตนํ ๑๔) สพฺพีติโย ๑๕) ทุกขปฺปตฺตา ๑๖) สกฺกตฺตวา ๑๗) ภวตุสพฺพ ๑๘) นกฺขตฺตยกฺข

สวดมนต์จบแล้วเลี้ยงพระอย่างนั่งโต๊ะเก้าอี้ พระฉันแล้วกลับมานั่งอาสนสงฆ์ถวายไทยธรรมตรวจน้ำ ท่านคุณรัตน ยถา พระรับ สพฺพี แล้วสวดกาเล ภวตุสพฺพ อนุโมทนาแล้วท่านคุณรัตนบอกขอโอกาสให้พระภิกษุหนุ่มองค์ที่มาใหม่ อันเป็นผู้ได้ปริญญาภาษาอังกฤษ ถวายเทศน์ในภาษานั้น หม่อมฉันจึงเลื่อนลงไปนั่งตรงหน้าพระภิกษุนั้น เธอเทศน์เริ่มต้นว่าหม่อมฉันบำเพ็ญกุศลตามสัปปุรุษวิสัย หม่อมฉันเกิดในสกุลสูงและทรงคุณวิเศษต่างๆ มีอายุยืนได้การณ์ต่างๆ ในโลกมามาก พึงเห็นได้ว่ามนุษย์โลกนี้ไม่เที่ยง มนุษย์ที่รวมกันตั้งประเทศต่างๆ ก็ไม่พ้นวิบากบาปกรรมรบราฆ่าฟันกัน ในโลกนี้มีเที่ยงแต่พระธรรม ผู้จะพ้นบาปกรรมได้ก็แต่ธรรมจารี ด้วยความสัจที่กล่าวนั้นขอให้หม่อมฉันเจริญสุข ฯลฯ เทศน์แล้วเป็นเสร็จพิธีตอนเช้า

เวลาบ่าย ๕ โมง หม่อมฉันเอาหนังสือเทศนา ๕๐ กัณฑ์ที่หม่อมฉันสร้างไปถวายพระที่วัดปิ่นบังอร กับถวายปัจจัยแทนเลี้ยงพระ หนังสือเทศน์นั้นมหามงกุฎราชวิทยาลัยคิดตีพิมพ์เป็นกระดาษสีเหลืองทำเทียมคัมภีร์ใบลาน แต่เป็นกระดาษแผ่นเดียวพับกลับอย่างสมุดไทย เลือกเทศนาของท่านธรรมกถึกที่มีชื่อเสียงมาพิมพ์สำหรับพระเทศน์วันธรรมัสสวนะ จำหน่ายราคาถูกๆ มีผู้คุ้นเคยกันส่งตัวอย่างมาให้หม่อมฉัน ๆ ชอบจึงสั่งให้ซื้อครบทั้งชุดสำหรับถวายวัดปิ่นบังอรในการทำบุญวันเกิดปีนี้ หม่อมฉันได้ให้ไปบอกพระไว้ก่อนว่าขอให้พระลงมาคอยรับหนังสือและอนุโมทนาที่ในโบสถ์สัก ๓ องค์ ไปถึงเห็นตกแต่งในโบสถ์ราวกับรับกฐิน พระเณรลงรับหมด และบอกพวกอุบาสกอุบาสิกามานั่งคอยชมบุญอยู่ที่หน้าโบสถ์ด้วย เมื่อถวายหนังสือและพระสวดอนุโมทนา ยถา สพฺพี ชยนฺโต เต อตฺถลทฺธา สพฺพุทฺธา ภวตุสพฺ แล้ว ให้พระองค์ ๑ อ่านคำอนุโมทนาซึ่งแต่งขึ้นเป็นพิเศษ ดังสำเนาที่ถวายมาด้วย

เวลาค่ำพระยารัษฎาฯ มีแก่่ใจเอาเกาเหลามาเลี้ยงกินกันในครัวเรือน และได้เชิญมิตรสหายบางคน มีพระองค์หญิงประเวศเป็นต้นมาเสวยด้วย เสร็จการฉลองวันเกิดเวลา ๔ ทุ่ม

หม่อมฉันขอถวายส่วนกุศลที่ได้บำเพ็ญเมื่อวันเกิด แก่พระองค์ท่านกับทั้งพระญาติให้ทรงอนุโมทนาด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ