วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

Cinnamon Hall, 15 Kelawei Road,

Penang. S.S.

วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน นั้นแล้ว พนักงานไปรษณีย์เชิญลายพระหัตถ์มาส่งพร้อมกันกับจดหมายของลูกชายดำของหม่อมฉันอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งเธอเขียน ณ กรุงสต๊อกโฮล์ม เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ส่งทางไปรษณีย์อากาศ โดยหมายจะให้มาถึงหม่อมฉันก่อนวันเกิดเมื่อวันที่ ๒๑ เดือนนั้น แต่จดหมายไปท่องเที่ยวอยู่ถึง ๖ เดือนจึงมาถึง พิจารณาดูหลังซองมีรอยประทับตรากรมไปรษณีย์หลายประเทศดูประหลาด ที่สุดส่งมาจากฮ่องกง ไม่เคยพบเห็นเช่นนี้มาแต่ก่อน

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑) เรื่องดงพญาเย็นนั้นหม่อมฉันพอจะทูลอธิบายถวายได้ ตั้งต้นจะว่าด้วยใช้คำ “ดง” เสียก่อน คำว่า “ดง” หมายว่าเป็นป่าไม้ใหญ่ขึ้นทึบเป็นป่าดิบ ไฟป่าไม่ไหม้ตลอดปี ป่าไม้เช่นนั้นจะอยู่บนภูเขา เช่น ดงพญาไฟ เป็นต้นก็ดี หรืออยู่ในที่ราบ เช่น ดงพระรามเมืองปราจีน และดงนครเมืองนครนายกก็ดี ย่อมเรียกว่า “ดง” เหมือนกัน ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Jungle ส่วนทางข้ามเทือกภูเขาจากสระบุรีไปเมืองนครราชสีมา เป็นต้น จะเป็นดงก็ดีหรือไม่เป็นดงก็ดี ย่อมเรียกว่า “ช่อง” ภาษาอังกฤษว่า Pass เหมือนกันทั้งนั้น ที่เรียกว่า ดงพญาไฟ” เป็นทั้งดงทั้งช่อง ที่เป็นช่องสำคัญกว่าเป็นดง ควรเรียกว่า “ช่องพญาไฟ” แต่เราไปถือเอาดงเป็นสำคัญเสีย ความจึงแฝงไป

เมื่อหม่อมฉันไปเมืองเพชรบูรณ์เคยสืบถามถึงช่องต่างๆอันเป็นทางขึ้นไปแผ่นดินสูงที่ตั้งมณฑลนครราชสีมา ตั้งแต่เมืองหล่มศักติลงไปจนต่อแดนเมืองเขมร ได้ความว่ามี ๑๒ ช่อง ได้จดชือไว้เต่ลืมเสียโดยมาก และไม่มีอะไรจะสอบเมื่อเขียนจดหมายนี้ จึงทูลแต่ความที่จำได้เขาเรียกว่าช่องแทบทั้งนั้น ตอนเมืองเพชรบูรณ์มีช่องเรียกว่า “ช่องสระผม” ช่อง ๑ เรียกว่า “ช่องจอม” ช่อง ๑ ตอนเมืองชัยบาดาลมีช่อง ๑ เรียกว่าช่อง (ดง) พญากลาง ตอนเมืองสระบุรีช่อง ๑ เรียกว่าช่อง (ดง) พญาไฟ ต่อไปทางเมืองนครนายกและเมืองปราจีนมีหลายช่อง เรียกว่าช่องบุกขนุน ช่องสะแกราด ช่องเรือแตก ช่องตะโก และช่องเสม็ด แต่ช่องสำคัญที่คนเดินไปมาค้าขายมาก นับแต่ตะวันตกไปหาตะวันออก คือ ช่อง (ดง) พญากลาง ว่าทางขึ้นเขายาวหน่อยแต่เดินสะดวก ช่อง ๑ ช่อง (ดง) พญาไฟ ว่าทางขึ้นเขาสั้นกว่าทางอื่น ช่อง ๑ ช่องตะโกลงมาจากบุรีรัมย์ว่าทางยาวแต่พอเข็นเอาเกวียนขึ้นลงได้ ช่อง ๑ ช่องเสม็ดลงจากเมืองสุรินทรว่าไปเมืองเขมรใกล้กว่าทุกทาง ช่อง ๑

หม่อมฉันเคยไปเองแต่ช่อง (ดง) พญาไฟ เวลาเมื่อไปทำทางรถไฟแล้วเพียงทับกวาง ขี่ม้าแต่ที่นั้นไปตามทางที่กำลังถางถมทำรถไฟ ขากลับๆ ทางที่ราษฎรไปมาค้าขายจนถึงทับกวางจึงขึ้นรถไฟ ได้เห็นภูมิลำเนารู้ว่าที่เรียกว่าช่องนั้นหมายเอาที่สุดทางใช้เกวียนได้โดยปกติเป็นเขตช่องทั้ง ๒ ฝ่าย เช่น ช่อง (ดง) พญาไฟ เมื่อขึ้นไปถึง “ปากช่อง” ฝ่ายนครราชสีมาอันเกวียนลงมาถึงได้ แล้วยังต้องเดินในดงต่อไปอีกจนถึงเมืองนครจันทึก จึงพ้นดงแต่นั้นไป ตอนที่เดินในช่องนั้นก็คือขึ้นเขาลงเขาเรื่อยไป ในดงพญาไฟ เมื่อข้ามเขาคั่นยาวต้องเดินบนสันเขามีทางกว้างสัก ๑๐ วา ข้างเป็นเหวตลอดลูกเขา แต่ผู้ชำนาญทางเขาว่าข่อง (ดง) พญาไฟเดินสะดวกและใกล้กว่าช่องอื่นหมด คงเป็นเพราะเหตุนั้น ทางคมนาคมในระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองนครราชสีมา จึงใช้ทางช่อง (ดง) พญาไฟมากกว่าทางอื่นมาแต่โบราณ ชื่อที่เรียกว่า “พญาไฟ” นั้น น่าสันนิษฐานว่าผู้ให้ชื่อจะหมายเอาองค์พระเพลิง แต่มาแปลเป็นภาษาไทยว่าพระยาไฟก็ชวนให้เข้าใจกันอย่าง “ซึมซาบ” ว่าร้อนอย่างน่าสยดสยองจึงกลัวกัน จะอย่างไรก็ตาม เหตุที่เปลี่ยนชื่อดงพญาไฟนั้น ปรากฏว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปเมืองนครราชสีมาในรัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชปรารภว่า ที่จริงในดงอากาศเย็นไม่มีเวลาร้อนเลย ไม่สมกับที่เรียกว่าพญาไฟ จึงกราบทูลทูลกระหม่อมขอให้เปลี่ยนชื่อเรียกว่า “ดงพญาเย็น” คนจะได้หายกลัว ดูเหมือนกระหม่อมขอให้เปลี่ยนชื่อเรียกว่า “ดงพญาเย็น” คนจะได้หายกลัว ดูเหมือนจะใช้แต่หนังสือราชการ และเป็นคำพวกผู้มีบรรดาศักดิ์พูด หม่อมฉันจำได้ว่าเคยได้ยินเรียกกันอย่างนั้นอยู่บ้าง คงสูญไปเมื่อทำทางรถไฟนั้นเอง

๒) ทราบว่าส้มโอดีมีที่บางกระเจ้า หม่อมฉันก็ออกจะยินดี ด้วยเคยทราบอยู่แต่ว่า ส้มโอดีมีแต่ที่ในแขวงจังหวัดนครชัยศรี โดยเฉพาะที่ตำบลอ้อมใหญ่และอ้อมน้อย เขาส่งมาให้หม่อมฉันเนืองๆ นึกดูเห็นว่าต้นส้มโอเห็นจะชอบดินที่มีรสเค็มเจือมาก ถ้าคิดบำรุงโดยทางวิทยาศาสตร์เช่นเขาทำกันในชวา น่าจะเป็นสินค้าดีได้อย่าง ๑ ทางปีนังนี้ก็มีส้มโอเมืองไทยส่งออกมาขายอยู่เสมอ เพราะทางนี้ปลูกไม่ขึ้น

๑) คำที่มันเฟรดีทูลถึงลักษณะทำลวดลายแต่งเรือนนั้น ฟังเป็นหลักได้ และน่าเอาภูมิธรรมเข้าประกอบว่า เหตุปจฺจโย สิ่งซึ่งเกิดขึ้นย่อมมีเหตุเป็นปัจจัย แต่ภายหลังมา อวิชชากับตัณหาในวิสัยมนุษย์ทำให้เถลไถลไปได้ต่างๆ

ว่าถึงปลูกเรือนยังมีปัจจัยอีกอย่าง ๑ ซึ่งอาจจะได้ความสุขมากหรือน้อย ผิดกัน คือ ทิศ เมื่อหม่อมฉันยังเป็นเด็กหนุ่มตามเสด็จขึ้นไปบางปะอินทางเรือ เมื่อถึงสามโคกหรือบ้านกระแชงจำไม่ได้แน่ เขาชี้ให้หม่อมฉันดูเรือนของพวกมอญที่ตามริมตลิ่งว่า เพราะมอญชอบปลูกเรือนขวางแม่น้ำเอาด้านขื่อลงทางแม่น้ำ จึงกล่าวกันว่ามอญขวาง แล้วคนจึงเอาประดิษฐ์พูดเป็นคำหยาบ มาคิดดูเห็นว่าพวกมอญปลูกเรือนเช่นนั้น น่าจะประสงค์เอาด้านขื่อรับแดด เพราะแม่น้ำตรงนั้นยาวตามเหนือลงมาใต้จึงเห็นขวางแม่น้ำ ปลูกเช่นนั้นหันหน้าเรือนไปทางทิศเหนือมีพะไล หลังคาบังลมหนาวด้านใต้ฝาเรือนก็ไม่ถูกแดดเผาและรับลมใต้ ดูก็เหมาะทั้ง ๔ ทิศ เรือนในเมืองฝรั่งประสงค์ตรงกันข้าม เขาอยากให้รับแดดมากที่สุดซึ่งจะเป็นได้ แต่เรือนอย่างฝรั่งอย่างที่ปลูกในเมืองเรา จะต้องให้ถูกทิศกับแดดเมืองนี้จึงจะอยู่สบาย

๔) ว่าถึงบันไดเรือน คิดดูก็ชอบกล เรือนแบบไทยโบราณใช้บันไดพาดนอกชาน กลางคืนเข็นบันไดขึ้นเสียให้เป็นเครื่องป้องกันภัย กลางวันจึงกลับพาดบันไดสำหรับให้คนขึ้นลง อย่างนี้เป็นแบบเก่าที่สุด ครั้นผู้มีกำลังพาหนะทำเรือนฝากระดานอยู่ มีคนบริวารพอคุ้มภัย ไม่จำต้องเข็นบันไดขึ้นลง ถึงกระนั้นบันไดไม้จริงที่ทำประจำที่ ก็เอาแบบบันไดไม้ไผ่มาทำด้วยกระดาน บันไดลูกหีบเป็นของใหม่ เห็นจะเกิดขึ้นเมื่อทำเรือนเป็นตึก แต่บันไดก็คงอยู่ที่นอกชานเหมือนเมื่อพาดบันไดไม้ไผ่อย่างโบราณนั้นเอง

๕) คิดดูถึงความคิดทำเรือนที่ทำกันมาในกรุงเทพฯ ดูต่างกันเป็น ๓ ยุค

ยุคที่ ๑ “ทำตามเดิม” คือ แบบเรือนของผู้มีฐานะชั้นเดียวกัน เคยทำมาอย่างไร ก็ทำอย่างนั้นมิได้คิดเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างดังเช่นวังเจ้าบ้านขุนนาง แม้จนเรือนคฤหบดี ในสมัยรัชกาลที่ ๓ สร้างอย่างเดียวกันทั้งนั้น

ยุคที่ ๒ “ทำอย่างผสม” คือ เอาแบบตึกฝรั่ง หรือเก๋งจีนมาสร้างแซกเข้าบ้าง เข้าใจว่าเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ และต่อมาจนตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ยกตัวอย่างดังที่มีเก๋งและแก้ไขตำหนักที่วังท่าพระ เป็นต้น

ยุคที่ ๓ “เปลี่ยนเป็นอย่างใหม่” คือเลิกเรือนแบบไทยอย่างเดิม และตึกฝรั่งเก๋งจีน คิดทำเป็นเรือนฝรั่งทีเดียว เกิดแต่รัชกาลที่ ๕

หม่อมฉันคุ้นเคยคิดทำเรือนต่อยุคที่ ๓ นึกดูๆ เหมือนกระบวนที่ทำจะเป็นอย่างนี้

ชั้นที่ ๑ ไปเห็นเรือนของใครชอบใจก็กำหนดไว้ในใจ

ชั้นที่ ๒ หากระดาษดินสอกับไม้บรรทัดมา แล้วลองเขียนร่างแผนผังห้องต่างๆ มีเขียนแล้ว นึกแน่ใจว่าจะเป็นเรือนอยู่สบายอย่างที่สุด เอาไปให้ช่างเขาทำแบบตามร่างนั้น ส่วนแบบเรือนข้างภายนอกช่างเขาเอารูปภาพตึกต่างๆ ในเมืองฝรั่งมาให้ดู ชอบอย่างไหนก็ชี้ว่าจะเอาอย่างนั้น ต่อนั้นไปก็อยู่ในมือช่างจนทำแล้วเสร็จ

ชั้นที่ ๓ เมื่อขึ้นอยู่เรือนแล้วค่อยรู้ไป ว่าความคิดที่เขียนแผนผังแต่เดิมผิดอยู่อย่างนั้นๆ เช่นตำหนักที่บ้านเก่าของหม่อมฉัน ห้องขึ้นชั้นบนเคยใช้เป็นห้องนอนหมดทุกห้อง ลงที่สุดมานอนห้องที่กะไว้แต่เดิมว่าจะใช้เป็นห้องสมุด ด้วยสบายกว่าห้องอื่น

จึงลงความเห็นว่าเรือนที่จะอยู่สบาย ต้องเป็นเรือนสร้างครั้งที่ ๒

๖) ว่าถึงกระเบื้องมุงหลังคา เมื่อสร้างตำหนักวังวรดิศ หม่อมฉันตกลงใจแต่แรกว่าจะใช้กระเบื้องเกล็ดไทยทำที่เกาะยอเมืองสงขลา เพราะเคยเห็นตึกที่เมืองสงขลามุงกระเบื้องเกาะยอทนทานมาก เวลานั้นสมเด็จชายท่านเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ทรงรับช่วยกระเบื้องมุงหลังคาตำหนัก ตรัสกำชับพวกช่างกระเบื้องเกาะยอให้ทำอย่างดีเหมือนแต่ก่อนส่งมาประทาน เป็นอันคิดถูก มุงมาเกือบ ๓๐ ปีแล้วหลังคาตำหนักยังดีอยู่จนทุกวันนี้ ที่จริงถึงดินที่บางบัวทองแขวงจังหวัดนนทบุรี และดินที่คลองสระบัว แขวงพระนครศรีอยุธยา ก็อาจทำกระเบื้องมุงหลังคาได้ดี แต่ช่างกระเบื้องมักง่ายด้วยจะเอาเปรียบคนซื้อ จึงเลยเสียชื่อกระเบื้องไทย เป็นเหตุให้คนหันไปใช้กระเบื้องฟารันโดและกระเบื้องฝรั่งต่างๆ

เบ็ดเตล็ด

๒) จะทูลต่อไปถึงเรือนที่ทำกันในเมืองปีนังนี้ หม่อมฉันพิจารณาดูเห็นเลวกว่าทำในกรุงเทพฯ หลายสถาน เป็นต้นแต่ไม้ มีแต่ไม้และเนื้ออ่อน ไม่ทนเหมือนไม้ในเมืองไทย ดินทำกระเบื้องมุงหลังคาก็ไม่ดี มุงได้ไม่กีปี่ก็ต้องเปลี่ยน อิฐดินก็ต้องเผาส่งมาแต่เมืองมลายู ปีนังทำได้แต่อิฐดิบผสมสิเมนต์กับทราย ยังกระบวนสร้างก็มักเป็นอย่าง “กำมะลอ” เพราะจะให้ราคาย่อมเอา บางหลังถึงห้ามไม่ให้ตอกตะปูฝาประจันห้อง ดีแต่แลดูข้างนอก แต่กรมเทศบาลเขามีข้อบังคับชอบกล เวลาจะสร้างตึกต้องให้เขาตรวจรายการก่อน ดูเหมือนเขากำหนดอายุตึกไปกับอนุญาตว่าถึงเท่านั้นปีแล้วต้องรื้อทำใหม่ พวกสร้างตึกให้เช่าจึงต้องคิดแต่แรก ว่าเมื่อสิ้นอายุตึกจะได้กำไรสักเท่าใด เห็นกำไรพอสมควรจึงจะสร้าง

ตึกซินนามอนฮอลที่หม่อมฉันอยู่นี้ เจ้าของไม่อยากลงทุนซ่อมแซมว่าเป็นตึกเก่า เขาคาดว่าถ้าหม่อมฉันไม่เช่าเมื่อใดรัฐบาลก็เห็นจะสั่งให้รื้อ แต่การสร้างบ้านให้เช่าดูก็ยังทำกันอยู่เสมอเพราะตั้งแต่เกิดสงครามมีคนหาบ้านอยู่มากขึ้น จนบ้านว่างมิใคร่มี

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ