วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒ กรกฎาคม มาถึงหม่อมฉันแล้ว จดหมายเวรของหม่อมฉันฉบับลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ซึ่งไปหายเสียในระหว่างทางนั้น พอหม่อมฉันได้ทราบจากลายพระหัตถ์เวรฉบับก่อนว่ายังไม่ได้ทรงรับ ก็ได้สั่งให้ได้คัดสำเนาส่งไปถวายพร้อมกับจดหมายเวรฉบับลงวันที่ ๒ กรกฎาคม แต่ก่อนได้รับลายพระหัตถ์ฉบับนี้ หวังใจว่าจะไปถึงแล้วโดยเรียบร้อย

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑) ที่หม่อมฉันทูลความเห็นว่าปราสาทหิน เช่นที่เมืองพิมาย “เมือง” นั้นมารู้สึกว่าใช้คำผิดไป ควรจะใช้คำว่า “ป้อม” จึงจะตรงกับความที่หมาย ความคิดเช่นนั้นเกิดขึ้นโดยมีเรื่องดังจะทูลต่อไป

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ หม่อมฉันไปเมืองระนองครั้งแรกเดินทางบกจากเมืองชุมพรข้ามแหลมมลายูไปถึงเมืองกระแล้วลงเรือล่องลำน้ำปากจั่นไปยังเมืองระนอง ก็ลำน้ำปากจั่นนั้นเป็นแนวหมายเขตแดนไทยกับอังกฤษ ทางฝั่งตะวันออกเป็นเขตจังหวัดระนองของไทย ทางฝั่งตะวันตกเป็นเขตอำเภอเมืองมลิวัน จังหวัดมะริดของอังกฤษ หม่อมฉันใคร่จะเห็นเมืองมลิวัน พระยารัษฎานุประดิษฐ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เวลานั้นเป็นที่พระอัษฎงคตทิศรักษา เจ้าเมืองกระ เคยคุ้นกันกับอังกฤษเจ้าเมืองมลิวัน ให้คนล่วงหน้าลงไปบอกว่าหม่อมฉันใคร่จะไปแวะที่เมืองมลิวัน เขาก็แสดงความยินดี และจัดการรับรองอย่างดีที่สุดซึ่งสามารถจะทำได้ในที่นั้น เมื่อหม่อมฉันไปถึงเขารับรองณ ที่ว่าการ แล้วพาเที่ยวดูสถานที่ต่างๆ ล้วนสร้างด้วยเครื่องไม้ มีสถานที่ว่าการเมืองและเรือนเจ้าเมืองกรมการพนักงานต่างๆ รายกันไป แต่มีสถานที่สำคัญแห่ง ๑ คือสถานีตำรวจ (Police Station) ทำเป็นค่ายปักเสาไม้แก่นเป็นระเนียด มีช่องยิงปืนจากข้างใน และมีป้อมตรงมุมกับสะพานสำหรับคนขึ้นรักษารอบค่าย ตรงศูนย์กลางค่ายมีวงระเนียดอีกชั้นหนึ่ง เป็นที่เก็บเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์และเงินตรา มีหอคอยที่กลางวงระเนียดนั้นไว้เป็นที่บัญชาการต่อสู้รักษาค่าย ในคลังเงินก็เห็นแปลก ด้วยทำพื้นก่ออิฐดาดปูน แล้วเทเงินเหรียญรูปีลงกองไว้อย่างนั้นเผื่อจะมีโจรผู้ร้ายจู่โจมเข้าไปไม่ทันรู้ตัว เอาเงินกองไว้เช่นนั้นโจรจะมีเวลาเอาเงินไปได้เพียงคนละฟายมือ ไม่เอาไปได้มากเหมือนใส่ถุงหรือใส่หีบ อีกประการ ๑ โดยปกติพนักงานตรวจตราแลเห็นเงินอยู่เสมอสะดวกแก่การรักษาด้วย

เมื่อเที่ยวดูค่ายเสร็จแล้วกลับมานั่งพักฟังเขาชี้แจงต่อไป ว่าที่ต้องทำค่ายเช่นนั้น เพราะชาวเมืองที่อยู่ในปกครองเป็นคนต่างชาติต่างภาษา พวกที่มาปกครองเป็นชาวต่างประเทศและมีน้อยตัวด้วยกัน ในเวลาปกติก็แยกกันอยู่ได้ตามสบาย แต่เวลาเกิดเหตุฉุกละหุกจำต้องมีที่สำหรับรวบรวมกันต่อสู้สัตรู จึงต้องมีป้อมหรือค่ายเช่นนั้นทุกแห่ง ในบรรดาเมืองที่อังกฤษไปตั้งปกครองคนต่างชาติต่างภาษา ได้ฟังอธิบายมาจากเมืองมลิวันเป็นปฐมดังนี้

เมื่อถึงสมัยในรัชกาลที่ ๖ หม่อมฉันขึ้นไปเที่ยวเมืองสุโขทัย เจ้าพระยาสุรบดินทร (พร จารุจินดา) เวลานั้นยังเป็นสมุหเทศาภิบาล พาหม่อมฉันไปดูวัดพระพายหลวงอยู่่นอกเมืองสุโขทัยทางด้านเหนือ เป็นปรางค์ ๓ ยอดแบบขอมเหมือนอย่างปรางค์ ๓ ยอดที่เมืองลพบุรี เมื่อดูตัวปรางค์แล้ว เจ้าพระยาสุรบดินทรพาไปดูเขตบริเวณวัดนั้น ว่ากว้างขวางและขุดคูทำกำแพงรอบราวกับเป็นเมืองผิดกับวัดอื่นๆ เป็นเหตุให้หม่อมฉันเข้าใจว่าที่วัดพระพายหลวงนั้นเป็นที่มั่นเมื่อครั้งพวกขอมปกครอง ตัวเมืองสุโขทัยที่ปรากฏเป็นเมืองไทยสร้าง แล้วเลยรำลึกถึงอธิบายที่ได้ฟัง ณ เมืองมลิวัน คิดประสานกับเรื่องพงศาวดาร เห็นว่าธรรมดามนุษย์ถึงจะต่างชาติต่างถิ่นฐานและต่างสมัยกัน พฤติการณ์อาจจะทำให้มีความคิดเป็นคลองเดียวกัน เมื่อเมืองสุโขทัยอยู่ในอำนาจขอม พลเมืองเป็นคนต่างชาติกับขอมโดยมาก ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒ ในหนังสือประชุมจารึกสยามภาคที่ ๑ ว่าขอมตั้งข้าหลวงไปอยู่ปกครอง เป็นทำนองเดียวกันกับอังกฤษปกครองเมืองมลิวัน และพวกข้าหลวงขอมคงระแวงภัยเช่นเดียวกัน จึงคิดทำบริเวณวัดพระพายหลวงให้เป็นป้อม สำหรับป้องกันตัวในเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน และความปรากฏในศิลาจารึกว่าได้มีเหตุฉุกเฉินเช่นนั้นจริง เมื่อพระร่วงยังเป็นพ่อขุนบ้านกลางทาว เจ้าเมืองบางยางกับพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดช่วยกันตีเมืองสุโขทัย ได้รบกับพวกข้าหลวงขอม พวกขอมแพ้จึงทิ้งเมืองสุโขทัยหนีไป อธิบายที่ทูลมานี้เป็นเหตุให้หม่อมฉันคิดเห็นว่าวัดและเทวสถานที่พวกขอมทำบริเวณคล้ายเป็นป้อมเช่นที่เมืองพิมาย เพื่อประโยชน์ในการเมืองด้วย แต่ไม่เกี่ยวถึงราชธานีหรือเมืองที่ผู้คนร่วมชาติกันโดยมาก มิใช่จะเหมือนกันทุกแห่งไป

๒) เรื่องพระเก้าอี้ถมที่ทำเป็นพระที่นั่งภัทรบิฐ หม่อมฉันได้พบหลัก ฐานเพิ่มเติม ดังทูลไปในจดหมายเวรฉบับลงวันที่ ๒ กรกฎาคม นั้นแล้ว

จะทูลบรรเลงเรื่องเครื่องถมต่อไปอีกสักหน่อย นานมาแล้วหม่อมฉันได้เห็นในหนังสือฝรั่งแต่ง เขาว่าชาวยุโรปได้วิชาทำเครื่องถมไปจากประเทศอิหร่าน (เปอร์เซีย) เช่นเดียวกับได้การเล่นหมากรุกและเล่นตีคลี หม่อมฉันเกิดอยากรู้ว่าไทยเราจะได้วิชาทำเครื่องถมมาแต่ไหน เพียรค้นดูในหนังสือเก่า พบกล่าวถึงเครื่องถมเป็นครั้งแรกเมื่อในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปรากฏอยู่ในบัญชีเครื่องบรรณาการซึ่งแปลเป็นภาษาฝรั่ง ว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ให้ทำไม้กางเขนด้วยเครื่องถมส่งไปถวายโป๊ปอันหนึ่ง ส่อให้เห็นว่าไทยเห็นจะเพิ่งทำเครื่องถมได้ในสมัยนั้น นับถือกันว่าเป็นของแปลก วิชเยนทร์จึงทำให้เป็นไม้กางเขนส่งไปถวายโป๊ป เรื่องในพงศาวดารก็ชวนให้เข้าใจว่าไทยคงได้วิชาทำเครื่องถมตรงมาจากประเทศอิหร่านเหมือนกับฝรั่ง ด้วยปรากฏว่าพวกชาวอิหร่านที่เราเรียกว่า “แขกเจ้าเซน” ต้นวงศ์ของพวกพระยาจุฬาราชมนตรี แรกเข้ามาตั้งค้าขายณกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่่รัชกาลพระเจ้าทรงธรรม และเมืองไทยยังมีทางไมตรีกับประเทศอิหร่านสืบมา จนในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ดังปรากฏในเรื่องประวัติของวิชเยนทร์ ว่าเมื่อแรกเข้ามาเป็นพ่อค้าอยู่ณกรุงศรีอยุธยา ครั้งหนึ่งคุมเรือไปค้าทางทะเลถึงชายแหลมอินเดียทางด้านตะวันตก ไปถูกพายุใหญ่เรือแตกแต่ตัวรอดขึ้นฝั่งได้ เมื่อเดินอยู่บนหาดทรายเห็นคนถูกเรือแตกอีกพวกหนึ่งสักสองสามคนเดินสวนมา เมื่อเข้าใกล้ วิชเยนทร์เห็นเหมือนไทย เข้าไปไต่ถามได้ความว่า เป็นราชทูตไทยไปประเทศอิหร่านกลับมาถูกพายุอันเดียวกันเรือแตกรอดขึ้นฝั่งได้ที่นั่น วิชเยนทร์มีเงินติดตัวอยู่บ้าง จึงขวนขวายช่วยพาพวกทูตไทยโดยสารเรือพ่อค้ากลับมาถึงกรุงศรีอยุธยา พวกทูตเสนอความชอบของวิชเยนทร์ต่อเจ้าพระยาโกษา (ขุนเหล็ก) เจ้าพระยาโกษาให้ตำแหน่งรับราชการในกรมการเป็นบำเหน็จ และเป็นมูลเหตุที่วิชเยนทร์จะได้เข้ารับราชการ เรื่องชั้นต้นของเครื่องถมไทยมีมาดังนี้ เครื่องถมไทยของเก่าที่เป็นฝีมือช่างครั้งกรุงศรีอยุธยามาทำขึ้นในรัชกาลที่ ๑ เช่นพานพระศรีที่อยู่ในตู้เครื่องถมของหลวงเป็นต้น หรือแม้เครื่องถมที่ทำครั้งกรุงศรีอยุธยา ก็ยังมีตัวอย่างอยู่สังเกตได้ด้วยชอบทำลายกนกไทยและมีพื้นถมมาก เครื่องถมที่ทำในกรุงเทพฯ ครั้งรัชกาลที่ ๑ ยังทำดีมาก ฝีมือน่าจะมาทรามลงเมื่อรัชกาลที่ ๒ เป็นหัวต่อที่เครื่องถมเมืองนครฯ จะเฟื่องฟู เข้าใจว่าเรื่องประวัติเครื่องถมชั้นหลังจะมีมาดังนี้

๔) ที่ตรัสถามเรื่องพระราชยานลงยา ว่าสร้างเมื่อรัชกาลไหนนั้น หม่อมฉันใคร่จะทูลตอบว่า “ไม่ทราบ” เพราะนึกค้นความรู้เหตุที่สร้างไม่ออก แต่มีเงาอยู่ในญาณว่าสร้างเมื่อรัชกาลที่ ๕ เพราะฉะนั้น ต้องอ้างเหตุแต่โดยเดา คือเมื่อรัชกาลที่ ๔ ทูลกระหม่อมทรงสร้างพระราชยานงาขึ้นองค์ ๑ และทรงพระราชยานนั้นในวันพระ เป็นอันมีพระราชยานทำด้วยของวิเศษ ๒ องค์ คือ พระราชยานถมมีขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๓ องค์ ๑ พระราชยานงามีขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ ต่อมาอีกองค์ ๑ อาจจะมีผู้เห็นว่าเป็นของเฉลิมพระเกียรติประจำรัชกาล เข้าทางเดียวกับเรือยาวพระที่นั่ง ถึงรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะทรงพระราชปรารภเอง หรือจะเป็นปรารภของท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการสมัยนั้นกราบทูลเสนอก็เป็นได้ เห็นว่าควรจะสร้างพระราชยานด้วยของวิเศษให้มีขึ้นเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๕ ตามเยี่ยงอย่างรัชกาลก่อน เหตุที่สร้างเป็นพระราชยานลงยานั้นยังมีทางคิดพิเคราะห์เทียบกับบายศรีต่อไป พระราชยานถมทำด้วยเงินเปรียบเหมือนบายศรีเงิน พระราชยานงาทำด้วยงาต่างแก้วเปรียบเหมือนศรีแก้ว จึงเห็นควรทำเป็นพระราชยานทองเทียบบายศรีทองให้ครบสำรับ แต่พระราชยานถมเป็นเงินถมยา พระราชยานทองก็ควรเป็นทองลงยาให้เข้าชุดกัน หม่อมฉันคิดเดาเหตุ เห็นน่าจะเป็นอย่างเช่นทูลมา

ยังมีเงาในญาณต่อไป ว่าดูเหมือนสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จะได้โปรดให้ส่งพระราชยานงาองค์แรก ไปถวายพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่งในยุโรป แล้วสร้างพระราชยานขึ้นใหม่แทนของเดิมอีกองค์ ๑ เข้าใจว่าโปรดให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นผู้ทำ ขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด

๕) ชื่อวัดปิ่นบังอรนั้นเป็นชื่อขนานใหม่เมื่อไม่ช้านานนัก วัดนั้นเดิมเรียกชื่อตามตำบลที่ตั้งวัดว่า “วัดบาตูลันจัง” เป็นภาษามลายูแปลว่า “หินลอย” เหตุที่เปลี่ยนชื่อเป็นวัดปิ่นบังอรนั้น หม่อมฉันได้ยินเขาเล่ากันว่าเมื่อสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ ยังประทับอยู่ที่เมืองปีนัง นางสาวสนาน อมาตยกุล ซึ่งเป็นธิดาพระยาอภัยรณฤทธิ์ (ถวิล) และคุณหญิงทรามสงวน ออกมาเฝ้าพักอยู่ที่บริเวณตำหนักสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ วันหนึ่งนางสาวสนานไปทำบุญวันเกิดหรือเพื่อเหตุอันใดอันหนึ่ง ณ วัดบาตูลันจัง เกิดโสมนัสศรัทธาบริจาคทรัพย์ช่วยการปฏิสังขรณ์บ้าง ครั้นทำบุญกลับมาในค่ำวันนั้นฝันไป ว่าคุณหญิงทรามสงวนผู้มารดามาบอกว่าให้เปลี่ยนชื่อวัดบาตูลันจังเป็นวัด “ปิ่นบังอร” ด้วยจึงจะเจริญสุข นางสาวสนานทูลความฝันให้สมเด็จกรมพระสสัสดิ์ทรงทราบ ต่อมาอีก ๒ วัน เผอิญสมภารวัดบาตูลันจังได้ไปทูลขอให้สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ขนานนามวัด จึงประทานนามว่าวัดปิ่นบังอรตามสุบินนิมิตรของนางสาวสนาน และโปรดให้ทำป้ายเป็นรูปใบเสมาจารึกชื่อวัดปิ่นบังอรติดปลายเสาปักไว้ที่ริมถนนข้างวัด และเสร็จไปทำพิธีเปิดคลุมป้ายด้วยวันหนึ่ง เรื่องที่ทูลมานี้ได้ขึ้นคำบอกเล่า หม่อมฉันหาได้มีกิจเกี่ยวข้องแก่เรื่องนั้นอย่างใดไม่ เพราะในสมัยนั้นหม่อมฉันยังทำบุญที่วัดปุโลติกุสอันอยู่ห่างไกลกับวัดปิ่นบังอรมาก

๒) การส่งเงาะผลใหญ่ไปถวายนั้น หม่อมฉันมีความชอบเพียงให้อนุโมทนาสาธุการเท่านั้น วันนั้นพระยารัษฎาเอาลูกเงาะนั้นมาให้ พอพวกลูกหญิงกับหม่อมเจิมเห็นก็พร้อมใจกันขอส่งไปถวายสมเด็จพระพันวัสสากับพระองค์ท่านทั้งหมด เพราะสบโอกาสที่จะฝากไปได้ในวันรุ่งขึ้น ลูกเงาะอย่างนั้นพระยารัษฎาบอกว่าเรียกว่าปุละสัน (Pulasan) มาแต่เกาะสุมาตรา เมื่อส่งไปถวายหม่อมฉันนึกเกรงจะไปหายเสียกลางทาง มาได้ทราบว่าไปถึงได้ตามจำนงก็ยินดี หม่อมเจิมนั้นยังอยู่ที่นี่ รอโรงเรียนปิดจะพาหลานแมวกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ หม่อมฉันจะฝากหนังสือเรื่องตำนานพิธีตรุษให้หม่อมเจิมนำไปถวายด้วย เพราะเป็นหนังสือมากเกินขนาดจะใส่ซอง ครั้นจะม้วนห่อส่งทางไปรษณีย์ก็เกรงจะไปยับเยินเสียกลางทาง จึงคิดจะเอาเข้าแฟ้มส่งไป เห็นจะทรงได้หลายวัน และหวังใจว่าจะโปรด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ