วันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ย้อนหลัง

๑) เรื่อง “ยำฮก” ตามที่กราบทูลมาก่อนนี้เป็นเรื่องหลงใหล มานึกได้ว่าคลาดเคลื่อนไป เพราะเป็นเรื่องอย่างเดียวกัน ตอนที่กราบทูลมาในเบื้องต้น นั้นเป็นเรื่องที่กรมหลวงพิชิตเล่า แต่ของกินผิดกัน ตามที่กรมหลวงพิชิตตรัสเล่านั้นเป็น “ชิ้นเปื่อย” ไม่ได้ตรัสถามไล่เลียงอย่างไรในเวลานั้น ทอดพระเนตรของกินเห็นเป็นทอดมันก้อนเหลืองๆ หยิบเสวยเข้าไป ก็ต้องทรงพระอาเจียน ทีหลังซักไซ้จึงได้ความว่า เอาเนื้องัวมาไว้จนนุ่มเนื้อ แล้วจึงเอามาทำเป็นลูกชิ้น ก็เข้าอย่างที่ฝรั่งทำกระต่าย ส่วนเรื่อง “ยำฮก” ในตอนท้าย กรมขุนพิทยลาภฯ ตรัสเล่าถูกต้อง

ปัญหา

๒) ดงพญาเย็นอยู่ที่ไหนแน่ ได้ยินมาเป็นสองนัย นัยหนึ่งว่าคือดงพญาไฟนั่นเอง เล่าปักหน้าเอาว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าทรงเห็นว่า ที่ชื่อดงพญาไฟดุร้ายนัก จึ่งทรงเปลี่ยนชื่อเสียให้เรียกดงพญาเย็น อีกนัยหนึ่งว่าเป็นคนละดง ดงที่ขึ้นทางลำน้ำสักนั้นแหละชื่อว่าดงพญาเย็น ข้อที่ไม่ทราบแน่อันนี้ หวังว่าฝ่าพระบาทจะตรัสบอกได้ จะเป็นที่ไหนก็ตามที แต่ชื่อดงพญาเย็นคิดตามหลังชื่อดงพญาไฟเป็นแน่นอน

กราบทูลรายงาน

๓) เรื่องพระเชตวัน ได้บอกพระองค์เจ้าธานีไปแล้วตามรับสั่ง

๔) เมื่อวันที่ ๓ เดือนนี้ ได้ไปทอดกฐินพระราชทานที่วัดมหาธาตุเสร็จแล้วเป็นที่เรียบร้อยทุกประการ

ลายพระหัตถ์

๕) ลายพระหัตถ์เวรซึ่งลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ซองปะปิดได้รับแล้วเมื่อวันเสาร์ พฤศจิกายนวันที่ ๒ จะกราบทูลสนองความลางข้อต่อไปนี้

๖) ได้บอกแม่โตถึงที่ตรัสขบใจ ในการส่งส้มโอมาถวายนั้นแล้ว ส้มโอชนิดนั้นกินดีกว่าทุกอย่างที่เคยพบมาแล้ว เรียกว่า “ส้มโอทองดี” กล่าวกันว่าเป็นส้มโอสวนคลองเตย ขยับจะเข้าใจไม่ได้ เพราะที่คลองเตยไม่มีสวนอะไรนอกจากสวนเจ๊กซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือ แต่ก็ไม่เป็นสวนเป็นไร่ผักกับที่เลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด แต่มีเขาเอาส้มโอชนิดนั้นประทุกเรือมาขายที่คลองเตย และคลองถนนตรง สอบสวนได้ความว่าสวนอยู่ทางบางกะเจ้า ตรงข้ามกับคลองเตยคนละฟากแม่น้ำ คลองเตยเลยได้ชื่อเอาเปล่าๆ

๗) พระวิมานในวังหน้า องค์ที่ชื่อว่า “พรหเมศรธาดา” นั้น อาจมาแต่ “พระที่นั่งพรหมภักตร์” ก็ได้ แต่ก็เดาอย่างหาหลักมิได้ หน้าบันนั้นเห็นจะถือเอาเป็นหลักอะไรไม่ได้

๘) พระดำรัสเรื่องเรือน เห็นจะเหมือนกับคำที่ว่าเอาก้อนหินทิ้งลงบนกองขี้เท่า คงจะฟุ้งกระลบอบอวลไปจนเหลือฟัง

(ก) ข้อที่ตรัสว่าเรือนในประเทศไหน ก็แก้ไขกันมาหลายชั่วอายุคน เอาให้จนเหมาะแก่ประเทศนั้นถูกจริงเป็นอย่างยิ่ง เคยอ่านหนังสือพิมพ์เขาลงข่าวเมืองฝรั่ง กล่าวถึงคลื่นร้อนมีมาถึงเมืองไรต่อเมืองไร คนตายกันตั้งห้าหกร้อย เขาพูดปรอทก็ ๙๐ เศษ ไม่น่าจะตายกันมากมายเลย ทางบ้านเราปรอท ๙๐ นั้นยิ้มแย้มแจ่มใสกันดี คิดดูก็ไม่เห็นเหตุเปนอย่างอื่น นอกจากเรือนของเขาคิดทำสำหรับสู้อากาศหนาว ครั้นถูกร้อนเข้าจึงถึงตายกัน ทั้งนี้ก็ได้องค์พยานสมแล้วตามที่ตรัสเล่าถึงเรือนฝรั่ง เราเอาอย่างม่านเขามาผูกหน้าต่างเราบ้างก็กลายเป็นรังยุงไปเท่านั้น

(ข) อันคำว่า “สไตส์” ก็หมายถึงว่าเรือนทำครั้งไรเท่านั้น ที่เรามาเข้าใจว่าสไตส์นั้น สไตส์นี้ หมายถึงลวดลายนั้นเข้าใจผิด ผิดมาแต่ฝรั่งผู้เป็นครูแล้ว ทำตึกอย่าง “อียิปเซียนสไตส์” ก็ทำตึกอย่างฝรั่ง แล้วหยักเสาอย่างฝรั่งเป็นอียิปต์ประกอบเข้า ก็เท่ากับเอาธูปจีนประกอบเท่านั้น มันได้เมื่อไร จะทำสไตส์อะไรต้องเป็นมาแต่รากทีเดียว เปรียบว่าจะต่อยลายพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทออกเสีย แล้วเอาอย่างโรมันเข้าประดับ จะกลายเป็นตึกอย่างโรมันไปก็หามิได้

(ค) ในเรื่องทำลายเคยได้ฟังนายมันเฟรดี พูดถึงทำลายตึกฝรั่ง รู้สึกจับใจมาก แกว่าลายนั้นใช่จะทำไปทุกแห่งได้ก็หาไม่ จะทำได้ก็เป็นแห่งๆ เป็นต้นว่าภายนอกก็ที่ชายคา ภายในก็ที่ต่อเพดาน เพราะเดิมเขาตกแต่งด้วยเครื่องสดตรงนั้น ที่จะทำลายกลางฝานั้นไม่ได้ เพราะไม่ใช่ที่เขาแต่งกัน ฟังเป็นคติดี แต่ที่ว่านี้เป็นอย่างฝรั่ง ผิดกันกับอย่างไทย ทางเราทำลายได้ออกจะไม่ว่าที่ไหน เพราะเรือนฝากระดานของเราเก่าเข้าก็เห็นสกปรก เวลามีงานก็ต้องเอาผ้าม่านเข้าหุ้มเข้าขึง ไม่จำเป็นต้องพรรณนามาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงแต่งเรือนต้น ฝ่าพระบาทได้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว

(ฆ) แกพูดอีกคำหนึ่ง ว่าจะทำโรงละครให้เห็นเป็นโรงละคร จะทำศาลให้เห็นเป็นศาล ที่จะทำโรงละครหรือศาลเอาอย่างเรือนคอนเตชมานั้นหาควรไม่ ฟังแกพูดเห็นถูกอย่างยิ่ง การวางเรือนให้เบี้ยวบูดไปจากเนื้อที่นั้น ถึงเก๋ก็จริง แต่เกล้ากระหม่อมไม่ชอบ ถ้ามีเรือนแต่หลังเดียวก็ไปได้ แต่ถ้าจะทำอีกหลายหลังแล้วจะขัดกันพิลึก อีกประการหนึ่งการทำเรือนควรใช้แต่ของที่มีอยู่ดาษดื่น จะตื่นของวิเศษไม่ควร เช่นมุงกระเบื้องฝรั่งเศส ถ้ามันแตกไปเสียแผ่นหนึ่งแล้ว ก็หาแซมยากเต็มที เคยได้แก่ตัวมาแล้ว จะประดับการก่อสร้างด้วยหิน ๒ แผ่น แต่เมื่อสั่งเข้ามาถึงมันแตกเสียแผ่นหนึ่งจึงสั่งไปใหม่ ได้มาสีไม่เหมือนกัน เอาประดับเข้าไปไม่ได้

(ง) การทำเรือนเกล้ากระหม่อมเห็นว่า กระไดเป็นสำคัญที่สุด แต่ช่างลางคนเขาไม่เชื่อ เมื่อทำเรือนเป็นรูปขึ้นแล้วจึงชี้ให้ตัดพื้น ว่าเอากระไดลงตรงนี้ ได้พิจารณาการทำกระไดข้างนอกหรือข้างใน เห็นว่ามีจำกัดด้วยความต้องการ ถ้าเป็นที่อยู่ของคนมาก ควรทำกระไดข้างนอก เพราะจะได้ไม่เสียเนื้อที่ในเรือนอันเป็นที่อยู่ ถึงขโมยจะใช้กระไดก็มีคนเห็น ถ้าเป็นเรือนอยู่อย่างเงียบๆ ควรเอากระไดไว้ในเรือนซึ่งอาจปิดรักษาได้ การรังเกียจเรื่องลอดใต้ถุนนั้นไม่เป็นไร อาจคิดทำกระไดข้างในไม่ให้ต้องลอดใต้ถุนก็ทำได้

(จ) เรื่องอยู่เรือนไม้กับเรือนตึกนั้น ได้สังเกตแล้วว่าต่างกันมาก ได้เอาปรอทจับเสียด้วยซ้ำ เรือนไม้นั้นร้อนมากกว่าตึก แต่ก็เย็นเร็วกว่าตึก เรือนตึกถึงจะไม่ร้อนกว่าเรือนไม้ แต่ลงได้ร้อนแล้วก็เย็นช้ากว่าเรือนไม้มาก ทั้งนั้นก็เห็นว่าเป็นด้วยฝามันเก็บไอร้อนไอเย็นไว้ต่างกัน มีคนบอกว่าเรือนไม้ทาสีกับไม่ทาสีมีความร้อนเย็นผิดกัน ไม่ได้สังเกตแต่เชื่อว่าจริง เพราะไม้เปล่ามันเก็บน้ำได้ ทาสี (สีน้ำมัน) เก็บเอาน้ำเข้าไม่ได้ ต้องร้อนกว่าอยู่เอง ที่บ้านปลายเนินมีเรือนอย่างเก่าอยู่มาก แต่ไม่ได้มุ่งเอาความร้อนความเย็น มุงเอาถูกเงินและได้อยู่เร็ว เพราะเขาต้องการเรือนอย่างใหม่กัน ใครมีเรือนเก่าอยู่ก็รีบรุไปเสียโดยราคาย่อมเยาว์ ซึ่งเราอาจจะซื้อหรือรับเลหลังมาด้วยราคาถูกๆ ได้

(ฉ) เรือนทำด้วยคอนกรีต จะต้องร้อนว่าตึกเป็นแน่นอน ฝ่าพระบาทจะทรงระลึกได้ว่า ตึกคอนกรีตนั้นได้ทำขึ้นเป็นท้องพระโรงที่วังพญาไทเป็นประเดิม ใครเข้าไปนั่งในนั้นก็บ่นว่าร้อน จนเรียกกันว่า เตาอบหรือเตาเหล็กอะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว แต่เพราะเป็นแฟชั่นจึงทำกัน เกล้ากระหม่อมเกลียดนัก เห็นใช้ได้แต่ที่ทำคอนกรีตแทนไม้ มีไม้สะพานเป็นต้นเท่านั้น

(ช) ช่างแฟชั่นสมัยใหม่เขาหัวเราะเยาะเกล้ากระหม่อม ว่าชอบเอาอย่างเก่าๆ แต่หามิได้เลย จะต้องถือเอาแต่สิ่งที่เป็นคุณ สิ่งใดที่เป็นของใหม่เห็นว่าดีก็เอา ไม่กางร่มมิได้

(ซ) ข้อสุภาษิตที่ว่า “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่” นั้นก็จริงดอก แต่ลางทีผู้อยู่ก็รู้ความเป็นไปไม่ได้เหมือนกันว่าอย่างไรจะดี ดังจะกราบทูลถวายตัวอย่างที่ตัวของตัวเอง เขาขายเลหลังบานตู้กระจกจึงไปรับซื้อเอามา แล้วปลูกเรือนขึ้นหลังหนึ่งเอาบานตู้นั้นกั้นเป็นฝา ตั้งใจให้เป็นห้องกระจกสำหรับเขียนอะไรเล่นในเวลากลางวัน ส่วนสำหรับกลางคืนนั้นได้ทำรายโคมขึ้นบนโต๊ะที่เขียน ให้เลื่อนโคมไปซ้ายก็ได้ขวาก็ได้ หรือจะร่นโคมให้ต่ำให้สูงอะไรก็ได้ แต่ใช้ไม่ได้เหมือนนึก ตัวแมงมาลงบนกระดาษเปรอะหมด จึ่งยักย้ายไปใหม่ เอาโคมไปแขวนเสียนอกฝากระจก เลื่อนโต๊ะเขียนเข้าไปติดฝา ทีนี้เขียนได้ แต่ตัวแมงมาติดฝากระจกพะรุงพะรัง ให้คนขึ้นเช็ดก็ต้องเอากระไดพาดปีนลำบาก ต้องทำชานให้คนออกทางหน้าต่างไต่ไปเช็ดกระจกได้ ความคิดเราเอาแน่ไม่ได้ด้วยเห็นเหตุไม่พออยู่ดังนี้

(ญ) การเอาอย่างเรือนผู้ทรงยศไปทำ ถ้ามีเงินพอทำก็ทำได้ให้นึกสงสารแต่ผู้ที่ไม่มีเงินพอ แต่อยากเอาอย่างเรือนผู้ทรงยศไปทำ บอกช่างให้ลดเล็กลงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ เกล้ากระหม่อมก็นึกอดหัวเราะไม่ได้ ว่ามันจะใช้อะไรได้เข้าประตูก็ขัดข้อง ทั้งเพดานก็เอื้อมถึง

๙) เมื่อวันที่ ๔ วานนี้ หญิงจงเธอไปหา เป็นการบอกให้ทราบว่ากลับมาจากปีนังแล้ว เธอเอาของซึ่งได้จากปีนังและของกินซึ่งเธอทำขึ้นในกรุงเทพฯ ไปให้ด้วยขอบใจเธอเป็นอย่างยิ่ง ในการที่พระโอรสธิดาในฝ่าพระบาทออกมาเฝ้าเยี่ยมเยียนนั้น เกล้ากระหม่อมเคยพูดกับลูกอยู่เสมอว่าควรผลัดกันออกไป จะได้เป็นที่ทรงยินดี หญิงจงไปนั้นควรแล้ว เพราะเธอไม่มีการอะไรติดตัว ส่วนหญิงมารยาตรออกมาได้นั้นสำคัญมาก เพราะเธอมีการติดตัว ที่เธอปลีกตัวออกมาเฝ้าได้คราวหนึ่งนั้น ควรสรรเสริญและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง

๑๐) ในการที่เสด็จไปช่วยงานทำบุญถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ทั้งได้ทรงจัดการถวายบังคมพระบรมรูปขึ้นนั้น เป็นพระกุศลจริยากอบด้วยกตเวทีดีเป็นอย่างยิ่ง ขอถวายอนุโมทนาและถวายพระพร ให้ทรงพระเจริญสิริสวัสดิ์ พระชนมายุวัฒนจิรพาล ทรงพระเกษมสำราญพร้อมด้วยพระญาติยิ่งขึ้นไปเถิด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ