วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๗ กันยายน เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ เวลาเช้าตามเคย แต่คราวนี้ถูกเปิดซองที่เมืองปีนัง เห็นจะเป็นเพราะการตรวจตราเข้มงวดขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก็ไม่สำคัญอันใดสำหรับจดหมายเวร ถ้าเขาส่งให้ถึงได้ก็ควรพอใจ

ขอแก้จดหมายที่ถวายไป

๑) ในจดหมายเวรของหม่อมฉันฉบับลงวันที่ ๑๗ เดือนนี้ ทูลเรื่องเมืองสีเทพผิดอยู่แห่ง ๑ ที่ทูลว่าคนเชิญตราบอกข่าวพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ที่ถูกต้องเป็นบอกข่าวพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต ขอได้โปรดสั่งให้หญิงอามแก้คำในจดหมายนั้นเสียด้วย หาไม่ใครไปอ่านเข้าจะหลง

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๒) พิเคราะห์ดูรูปสัตว์ที่เขียนสัตว์อย่างเดียวผิดกันไปต่างๆ นั้น หม่อมฉันเห็นว่าน่าจะผิดแต่ช่างเขียนไม่เคยเห็นตัวสัตว์ซึ่งเขียนนั้น ได้ฟังแต่คำพรรณนาลักษณะ หรือได้เห็นแต่รูปภาพที่เขียนผิดมาแล้ว ก็เขียนตามนึกว่าตัวจริงจะเป็นอย่างไร บางทีก็แก้ไขบ้างให้ลักษณะสมกับฤทธิ์เดชของสัตว์อย่างนั้น ช่างที่ไม่มีความคิดก็เป็นแต่เขียนจำลองตามรูปภาพที่ได้เห็นคนยินเขาเขียนไว้

มีอุทาหรณ์ที่เคยเห็นมาเองครั้ง ๑ ในตำรารูปสัตว์หิมพานต์ที่ทำแห่พระบรมศพไปสู่พระเมรุ

รูปแรด เขียนตามลักษณะที่บอกต่อกันมา มีงวงคล้ายตัวสมเสร็จ ครั้นเมื่อต้นรัชกาลที่ ๕ เจ้าเมืองน่านได้ลูกแรดเลี้ยงเชื่องแล้วส่งลงมาถวายตัว ๑ คนในกรุงเทพฯ เพิ่งได้เห็นแรดจริงในครั้งนั้น เคยเอาบุษบกเพลิงตั้งบนหลังแรดตัวนั้นแห่พระศพครั้ง ๑ ท่านคงจะทรงจำได้ แต่นั้นรูปแรดในตำราสัตว์หิมพานต์ก็ถูกรุ

รูปช้าง แต่ก่อนก็ไม่รู้กันว่ามีกี่พันธุ์ รูปภาพช้างที่ช่างชาวอินเดียตลอดมาจนช่างพม่า มอญ ไทย และเขมร เขียนละม้ายคล้ายคลึงกันก็เพราะมีช้างพันธุ์เอเซียอยู่ทุกประเทศเหล่านั้น ช่างจีนเขียนรูปช้างเชือนไปก็เพราะในประเทศจีนไม่มีช้าง ช่างฝรั่งแต่ก่อนเขียนรูปช้างใบหูใหญ่หลังกุ้ง เราก็เยาะว่าไม่รู้จักช้าง ภายหลังจึงรู้ว่าเขาเขียนตามรูปช้างอาฟริกา ซึ่งเป็นช้างอีกพันธุ์หนึ่งต่างหาก

รูปราชสีห์ ยิ่งแตกต่างกันมาก ราชสีห์ไทย สิงห์ไทย สิงห์เขมร สิงโตจีน ก็หมายความว่าราชสีห์ทั้งนั้น แต่ช่างไม่เคยเห็นตัวราชสีห์ (Lion) ก็เขียนกันไปต่างๆ ตามเคยได้ยินคำพรรณนา ได้เค้าแต่ว่าผิดกับเสือที่มีขนปุกปุยตั้งแต่หัวลงมาตลอดคอ แต่ช่างไทยคิดไม่เห็นเช่นเขมรและจีนจึงเลยเขียนขนคอเป็นครีบ และกระหนก มีเรื่องโบราณคดีปรากฏว่า ทูลกระหม่อมมีพระราชประสงค์จะให้ไทยรู้ว่าราชสีห์จริงเป็นอย่างไร โปรดให้หาซื้อตัวราชสีห์ที่ทำเป็นหุ่นในยุโรป เอมเปอเรอ นโปเลียนที่ ๓ ทรงทราบพระราชประสงค์ จึงส่งเข้ามาถวายในเครื่องบรรณาการปรากฏอยู่ในรูปเขียนราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าในพระที่นั่งอนันตสมาคม แต่ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ไปถึงการช่าง ยังเขียนเป็นรูปราชสีห์ไทยอยู่อย่างเดิม

ถึงช่างต่างชาติเขียนรูปแรด ช้าง ราชสีห์ต่างๆ กันก็อาจจะรู้ว่าผิดตรงไหน เพราะตัวสัตว์นั้นๆ ยังมีอยู่ แต่มังกรนั้นมีอยู่เพียงในความคิดไม่มีตัวจริง น่าจะเป็นเพราะไม่มีตัวจริงนั่นเอง จึงเลยเชื่อว่ามีฤทธิ์เดชและเดาลักษณะรูปสัตว์อื่นๆ มีช้างและจระเข้เป็นต้น เอาเข้ามาเขียนรูปมังกรให้สมฤทธิ์เดชไปต่างๆ คงหลักแต่ว่าเป็นเค้าเดียวกับสัตว์พวกจิ้งเหลนและจระเข้ ที่ฝรั่งอ้างว่าจิ้งเหลนยักษ์เป็นมังกรนั้น ก็หมายความว่าเพียงว่าเป็นต้นพันธุ์ของสัตว์จำพวกจิ้งเหลนเท่านั้น

เหรา โดยลำพังศัพท์จะเป็นภาษาใดก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ว่าภาษาใดก็สมมุติโดยลำพังคติที่ไทยเราเข้าใจกัน จะเป็นงูหัวเหมือนมังกรหรือมีตีนอย่างพวกจิ้งเหลน ถ้าอยู่ในพวกจิ้งเหลนจะผิดกับมังกรอย่างไร รูปภาพเหราที่หม่อมฉันนึกได้ก็แต่หัวเรือพระที่นั่งเหราที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถาน ก็ไม่มีอะไรที่จะเอาเป็นหลักลงความเห็นเป็นยุติได้ ในเรื่องรูปสัตว์ที่ไม่มีตัวจริงฝรั่งก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกันกับเรา จึงยังมีรูปสัตว์ต่างๆ ซึ่งไม่มีตัวจริง เรียกชื่อต่างๆ เหมือนอย่างสัตว์หิมพานต์ของเรา Dragon Unicorn เป็นต้น และคงทำรูปเขียนรูปปั้นสัตว์เหล่านั้นอยู่ในเครื่องประดับ

๓) รูปภาพผีที่เขียนเป็นโครงกระดูกนั้นดูเป็นความคิดพวกช่างสมัยใหม่ นึกดูถึงรูปภาพสมัยเก่า เห็นเขียนโครงกระดูกแต่ในรูปภาพพระภิกษุนั่งอศุภกรรมฐาน แต่ก็ออกจะเห็นอกช่างว่ายากที่จะเขียนอย่างไร ให้รู้ว่ารูปภาพผีปีศาจได้ ตัวงิ้วที่เล่นเป็นผีเขาทำพู่กระดาษขาวแขวนที่ท้ายทอยเป็นเครื่องหมาย เจ้าพระยามหินทรเอาอย่างมาแต่งตัวละครที่เป็นกุมารทอง ดูก็ไม่ทำให้รู้สึกว่าดีขึ้นอย่างไร รูปนางวันทองที่ไล่พระไวยก็เป็นรูปเปรตไปอย่างหนึ่งต่างหากจากผี มีเขียนผีอีกแห่งหนึ่งในูปภาพเรื่องพระลอเขียนในรัชกาลที่ ๕ ก็เอาเค้าคนตกนรกในหนังสือมาลัยมาเขียน ว่าโดยย่อเพราะเขียนของที่ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร จึงต้องเห็นอกช่างเขียน ช่างฝรั่งก็เห็นจะคิดกันเต็มเอือมเหมือนกัน มักเขียนให้เห็นเป็นรูปรางๆ แต่ก็ล้วนเป็นอย่างขอไปทีทั้งนั้น

๔) ปัญหาที่ตรัสถามถึงคติที่ถือกันว่า ขวาเป็นใหญ่บ้าง ซ้ายเป็นใหญ่บ้าง เหนือเป็นใหญ่บ้าง ใต้เป็นใหญ่บ้าง หน้าเป็นใหญ่บ้าง เอาทิศเป็นใหญ่บ้าง จะมีมูลมาอย่างไรนั้น หม่อมฉันต้องทูลขอผัดตริตรองเพราะไม่เคยคิดค้น

๕) เงินขาคีมที่ท่านทรงมีก้อน ๑ มีอักษรว่า “เมืองควาน” นั้นสำคัญมาก เพราะยังไม่เคยพบมาแต่ก่อน และเมืองควานนั้นดูเหมือนหม่อมฉันพอจะทูลได้ว่าอยู่ที่ไหน ด้วยครั้งหนึ่งหม่อมฉันเดินทางบกแต่เมืองสุโขทัยลงไปยังเมืองกำแพงเพชร ผ่านลำน้ำเก่าซึ่งตื้นเขินเสียแล้วแห่ง ๑ อยู่ห่างลำน้ำปิงไปทางตะวันออกราวสัก ๕๐๐ เส้น เขาบอกว่ามีเมืองโบราณมีอยู่ในป่าริมลำน้ำนั้น หม่อมฉันให้เขาพาไปดู เห็นเป็นเมืองเคยมีปราการและวัดวาร่วมสมัยสุโขทัย ถามชื่อเขาบอกว่าชื่อเมืองวาน ลำน้ำนั้นมีแนวลงมาข้างใต้ ผ่านอำเภอ “บางคลาน” แขวงเมืองพิจิตร ซึ่งเดิมน่าจะเป็นปากลำน้ำนั้นมาร่วมลำน้ำยม แล้วรวมกันลงมาออกปากน้ำเชิงไกรข้างเหนือปากนำโพธิ์ ชื่อที่เขาบอกว่า เมืองวานกับชื่อบางคลาน เดิมน่าจะเป็นชื่อเดียวกับอักษรในเงินขาคีม ว่าเมืองควานนั้นเอง อธิบายที่เนื่องกับเงินขาคีมเห็นว่าคงมีช่างเงินมาตั้งทำเงินขาคีมขายที่เมืองควานอีกแห่งหนึ่งที่เมืองแปบ หม่อมฉันอยากให้ท่านประทานเงินก้อนนั้นให้เอาไปไว้ในตู้เงินตัวอย่างที่พิพิธภัณฑสถาน เพราะหม่อมฉันได้รวมตัวอย่างเงินตราไทยจัดไว้ที่นั่น มีครบดีกว่าที่ไหนๆ หมด จะได้เป็นหลักสำหรับพิสูจน์เรื่องเงินตราไทยต่อไป ก็แล้วแต่จะประทานหรือไม่

๖) เงินพดด้วงขนาดใหญ่ เช่นที่มีผู้เอามาถวายที่วัดกุฎีดาวนั้นมีมากและมิใคร่พ้องเหมือนหล่อด้วยพิมพ์เดียวกัน ทั้งเป็นเงินเนื้อหลายชั้นต่ำบ้างสูงบ้างไม่เสมอกัน มักกล่าวกันว่าเป็นเงินครั้งพระร่วง หม่อมฉันยังไม่เชื่อเป็นหลักฐาน ขึ้นไปถึงเมืองสวรรคโลกสุโขทัยสืบถามก็ไม่ได้ความว่ามีใครขุดได้เงินเช่นนั้น มาครั้งหนึ่งหม่อมฉันไปดูเมืองสระหลวงคือเมืองพิจิตรเก่า ซึ่งเป็นเมืองร้าง เห็นมีวัดวาปราการใหญ่โต ถามคนที่นั่นถึงเรื่องเงินโบราณ เขาบอกว่ามีกรมการเก่าคน ๑ ขุดได้เงินบาทเก่าที่วัดมหาธาตุในเมืองสระหลวงก้อน ๑ แต่เจ้าของถือว่าเป็นเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์หวงแหนไม่ยอมขายให้ใคร หม่อมฉันให้ไปขอยืมมาดู ก็เห็นเป็นเงินพดด้วงบาทใหญ่เช่นเคยเห็น แต่นั้นจึงยอมว่าเงินพดด้วงนั้นเป็นเงินตราครั้งสุโขทัยจริง เพราะทำรูปผิดกันและเนื้อเงินหลายอย่างต่างๆ กัน หม่อมฉันจึงลงเนื้อเห็นว่าเป็นเงินตราทำขายเช่นเดียวกันในลานนาและลานช้าง

๗) การที่ทูลกระหม่อมทรงสร้างโรงกระษาปณ์นั้น มีเรื่องต้นปรากฏในจดหมายเหตุของอังกฤษว่า เดิมรัฐบาลอังกฤษถวายเครื่องเงินเหรียญเครื่องหนึ่ง คงเป็นเครื่องที่ว่า “บรรณาการฝรั่งเศส” นั้นเอง ตราเงินที่เป็นรูปพระมหามกุฎว่าสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียให้แกะพิมพ์ส่งมาถวายเป็นของบรรณาการทุกขนาด แต่ในจดหมายเหตุ กล่าวว่าเมื่อทูตไทยครั้งพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ไปถึงประเทศอังกฤษไม่ชอบใจเครื่องทำเงินที่รัฐบาลอังกฤษถวายเป็นบรรณาการ ไปสั่งเครื่องจักรโรงกระษาปณ์ที่ห้างเตเลอร์ (Taylor) ณ เมืองเบอมิงฮำ เพิ่งทราบตามที่ตรัสเล่ามาในลายพระหัตถ์ฉบับนี้ว่าเพราะเหตุใดทูตไทยจึงไม่ชอบเครื่องจักรบรรณาการ คือ เพราะเป็นเครื่องจักรใช้แรงคนหมุนทำเงินได้ไม่มาก จึงไปสั่งเครื่องจักรใหญ่ใช้แรงสตีม

๘) ใบเช็คพระราชทานเงินในรัชกาลที่ ๕ นั้น สั่งให้ทำมาแต่ยุโรปกระดาษสีขาวพิมพ์เส้นสีดำแกะแผ่นทองแดงเลียนแบบเช็คแบงค์ เป็นแต่ใช้อักษรไทย ซองสีเหลืองมีรูปนกพิราบคาบแพรแถบสำหรับเขียนชื่อ เป็นซองพระราชหัตถเลขาอยู่ก่อนแล้วจึงใช้ใส่เช็ค

๙) อีแปะทองเหลืองและดีบุกที่มามีในกรุงเทพฯ นั้น เป็นของจีนเอาเข้ามาหรือติดตัวมาจากเมืองจีน ดูไทยเราถือว่าเป็นของเล่นมิได้ใช้ในการซื้อขายในท้องตลาด แต่พวกชาวมลายูตลอดขึ้นมาจนไทยที่เมืองสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช เอาอย่างอีแปะจีนมาทำใช้ ในสมัยเมื่อรัฐบาลยังปล่อยให้ทำตามใจชอบ จึงใช้กันแต่ในเมืองนั้นๆ

๑๐) ซึ่งทรงปรารภถึงความหลงลืมนั้นก็เข้าบทพระบาลีว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา ความแปรปรวนอ้วนผอมของร่างกาย ก็เป็นส่วนรูปธรรม ความหลงลืมก็เป็นส่วนนามธรรมไม่มีอะไรจะห้ามได้ ได้แต่ระวังตัวเองอย่าช่วยเร่งให้แปรปรวนเร็วขึ้นเท่านั้น ความหลงลืมนั้น ที่จริงมีเป็นธรรมดาของมนุษย์ตั้งแต่เด็กไปจนแก่ มิใช่จะเป็นอาการเกิด เพราะความชราที่ทรงพระดำริว่าความลืมเป็นต้นของความหลงนั้นก็จริงอยู่ แต่ประหลาดที่มีบางคนลืมแต่ไม่หลงจนตลอดอายุเกือบ ๑๐๐ ปีก็มี หม่อมฉันเห็นตัวอย่างที่คุณท้าววรจันทร์ ความลืมของท่านนับได้ว่าเป็นอย่างหนัก ถึงเคยถามลูกหม่อมฉันเมื่อไปรดน้ำปีใหม่ไม่ช้านักว่า “แม่ชุ่มสบายดีอยู่หรือ” และบางปีก็ถามว่า “หม่อมเฉื่อยสบายดีอยู่หรือ” แต่ถึงอย่างนั้นท่านก็ไม่หลงถึงอย่างกลับเป็นทารก อังกฤษเรียกว่า Second Childhood เช่นผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งพระยาสิงหเสนีเคยเล่าถวาย คนหลงแต่ไม่ลืมก็มี นึกตัวอย่างได้ที่น้าวันของหม่อมฉัน เมื่อยังสาวเคยรับราชการฝ่ายในครั้งรัชกาลที่ ๔ ครั้นออกมาอยู่นอกวังแก่ตัวลงเสียจริต แม่รับมาไว้ที่บ้านเก่าของหม่อมฉัน เมื่อหม่อมฉันมีงานฉลองอายุครบ ๔ รอบ เชิญเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ไปเสวยที่บ้าน มีใครทูลสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ให้ทรงทราบว่า น้าวันนั่งปนอยู่กับคนอื่น ณ ที่ห่างๆ เสด็จทรงพระราชดำเนินตรงเข้าไปใกล้ตรัสถามว่า “แม่วันจำฉันได้ไหม” น้าวันทูลไปทันทีว่า “ทำไมจะจำไม่ได้ พระองค์เสาวภาของคุณเปี่ยม” นับเวลาแต่ได้เห็นครั้งหลังเมื่อยังทรงพระเยาว์มากว่า ๓๐ ปี ทั้งเป็นบ้าแล้วยังจำได้ ดูน่าพิศวง

ตามความคิดของหม่อมฉันเห็นว่า ถ้ายังรู้ตัวได้ว่าลืมอยู่ตราบใดตราบนั้นยังไม่หลง ต้องไม่รู้ตัวว่าลืมเสียก่อนจึงจะหลง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ