วันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้ทูลผลัดไปในจดหมายเวรฉบับก่อน ว่าจะเขียนเรื่อง “ยั่วยานคานหาม” ที่ตรัสถามมาถวายต่อภายหลัง และได้เขียนมาทุกวันตั้งแต่วันอังคารที่ ๒๓ จนได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๗ จึงจะทูลวิจารณ์เรื่องนั้นก่อน

วิจารณ์ลักษณะยั่วยานคานหาม

สิ่งซึ่งเรียกรวมกันว่า ยั่วยานคานหามในวิจารณ์ที่เขียนนี้ หมายความว่ายานอย่างที่ใช้คนหาม ยั่วยานคานหามที่ใช้เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา ระบุไว้ในกฎมนเฑียรบาลเรียกชื่อต่างกันเป็น ๘ อย่าง และมีอธิบายศักดิ์ของยานนั้นๆ ดังนี้

ยานสำหรับเจ้า

๑) ราเชนทรยาน สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน

๒) ราชยาน สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน

ราชยานมีจำลอง สำหรับพระอัครมเหสี และพระมเหสี

๓) เทวียานมีมังกรชู สำหรับพระราชเทวีและพระอัครชายา

๔) ทิพยานทอง สำหรับสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า ทิพยานนาก สำหรับพระมหาอุปราช

๕) ยานมาศกลีบบัว สำหรับ (เจ้าฟ้า) ลูกเธอกินเมือง

เครื่องยศพระเยาวราช (คือพระองค์เจ้าลูกเธอ) ในกฎมนเทียรบาลว่า พระเยาวราช ช้างตัว ๑ ม้าตัว ๑ คนกว่า ๒๐ “กว่านั้นเอาออก” ดังนี้ ส่อว่ายานเจ้าที่พรรณนามาทรงได้แต่ชั้นที่เป็นเจ้าฟ้า

ยานสำหรับขุนนาง

๖) คนหามเก้าอี้ทอง สำหรับ (เจ้าพระยา) ศักดินา ๑๐,๐๐๐ กินเมือง (เอก) ทั้ง ๔ และเท้านั่งเมือง (เจ้าประเทศราช) คานหามเก้าอี้ (สามัญ) สำหรับเจ้าเมือง (โท) ศักดินา ๑๐,๐๐๐

๗) ยั่ว สำหรับขุนนางผู้ใหญ่ในกรุง ศักดินา ๑๐,๐๐๐ และหัวเมือง (เจ้าเมืองตรี) ศักดินา ๕,๐๐๐

๘) ยาน สำหรับขุนนาง ศักดินา ๓,๐๐๐

ยานต่างๆ สำหรับขุนนางที่พรรณนามาก็มีจำกัดใช้ได้แต่ขุนนางเพียงชั้นถือศักดินา ๓,๐๐๐ ขุนนางศักดินาชั้นต่ำกว่านั้นจะใช้ไม่ได้

ยั่วยานคนหามที่ใช้ในกรุงรัตนโกสินทร์ คงเรียกชื่ออย่างในกฎมนเทียรบาลก็มี เช่น พระเชนทรยาน ยานมาศ และราชยาน เป็นต้น แต่ยานมีชื่ออย่างเรียกในกฎมนเทียรบาลหายสูญไปเสียก็มาก เช่นเทวียาน ทิพยาน คานหาม เก้าอี้ และยั่วยาน ไม่มีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ จะเข้าใจว่าเป็นด้วยเลิกยานอย่างที่เคยใช้เสียก็เห็นจะไม่ได้ เพราะความจำเป็นต้องใช้ยานอย่างคนหามยังมีอยู่ และมีชื่อยานที่เรียกกันในกรุงรัตนโกสินทร์ผิดกับที่เรียกในกฎมนเทียรบาลก็หลายอย่าง เช่น วอ เสลี่ยง และแคร่ เป็นต้น จะว่าเป็นยานเพิ่งคิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ก็เห็นจะไม่ถูก ความจริงน่าจะเป็นแต่แก้ไขรูปร่างยานอย่างเก่าแล้วเรียกยานอย่างทำใหม่เป็นชื่ออื่น แต่ลักษณะยานเก่ายังคงอยู่อย่างเดิม ดังเช่นเรื่องจะยกเป็นตัวอย่างต่อไปข้างหน้า แต่จะเอาชื่อยานที่เรียกในกฎมนเทียรบาลกับชื่อยานที่เรียกในกรุงรัตนโกสินทร์ปรับกันให้รู้ว่าอย่างไหนตรงกับอย่างไหนยากอยู่ ได้แต่พิจารณาลักษณะของยานต่างๆ ที่ผิดกันเป็นข้อสำคัญ เป็นหลักของวินิจฉัย

ยานต่างๆ ที่ใช้คนหามผิดกันด้วยกระบวนคนหามอย่าง ๑ คือยานประเภท ๑ คนหามเดินเรียงตัวกันเป็นแถวเดียว เช่นเสลี่ยงหิ้วหาม ๒ คน เสลี่ยงสามัญหาม ๔ คน คนหามเดินเรียงเป็นแถวเดียวกัน ยานอีกประเภท ๑ คนหามเดินเป็น ๒ แถว เช่นพระยานมาศและพระราชยานที่พระเจ้าแผ่นดินทรง เป็นต้น กระบวนหาม ๒ ประเภทนี้พิเคราะห์ดูเห็นได้ว่าอย่างหามเรียงตัวนั้นไปไหนไปได้สะดวก แม้ทางแคบเพียงมีรอยคนเดินก็ไปได้ แต่อย่างคนหาม ๒ แถวนั้นไปทางแคบไม่สะดวกเพราะคนหามเดินไม่ถนัด สะดวกแต่ในทางกว้างเช่นท้องถนนหรือสนาม เพราะฉะนั้นยานที่สำหรับใช้ไปมาโดยปกติจึงชอบใช้อย่างหามเรียงตัว แต่การหามเรียงตัวหามได้เพียง ๔ คนเป็นอย่างมาก จึงต้องเป็นยานเบา ถ้าเป็นยานหนักหาม ๔ คนไม่ไหว ต้องใช้คนหามมากขึ้นก็ต้องหามเป็น ๒ แถว แม้พระราชยานของพระเจ้าแผ่นดินที่หาม ๘ คนก็เพราะหนักมาก ด้วยมีพระราชกุมารขึ้นพระราชยานด้วยดังกล่าวในกฎมนเทียรบาล ถ้าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปในทางแคบ เช่นประพาสภายในพระราชวัง ก็ทรงพระราชยานคนหามแถวเดียวแต่ ๔ คน หรือมิฉะนั้นก็ทรงเสลี่ยงหิ้ว ซึ่งมีคนหามแต่ ๒ คน ลักษณะหามยานยังผิดกันอีกสถาน ๑ คือยานประเภท ๑ เอาเชือกผูกลำคาน ๒ ข้าง ทำเป็นสาแหรกขึ้นไปผูกกับคานน้อยอีกอัน ๑ คนหามๆ ปลายคานน้อยทั้ง ๒ ข้าง ถ้าหาม ๔ คน คนหามเดินกลางระหว่างลำคาน ถ้าหาม ๘ คนทำคานหามขวางผูกกับลำคานอีกอัน ๑ ยื่นปลายออกไปพ้นลำคานทั้ง ๒ ข้าง ลักษณะหามอีกอย่าง ๑ นั้นเอาลำคานขึ้นพาดบนบ่าคนหามทีเดียว ลักษณะหาม ๒ อย่างเช่นว่ามา ผิดกันที่หามอย่างเอาลำคานขึ้นพาดบ่าอาจจะหามยานที่มีน้ำหนักมาก เพราะจะหามกว่า ๑๐ คนก็ได้ แต่ลำบากที่ต้องเลือกคนหามที่สูงได้ขนาดไล่เลี่ยกันทั้งหมด ถ้ามิฉะนั้นน้ำหนักก็ไปตกอยู่แต่แก่คนสูง แต่อย่างที่หามด้วยมีสาแหรกถึงคนหามจะสูงต่ำผิดกันก็ไม่ขัดข้อง แต่จะหามคนน้ำหนักมากนักก็ไหว คงเป็นเพราะเหตุนี้ด้วยอีกอย่าง ๑ ยานที่ใช้กันในการไปมาโดยมากจึงใช้อย่างมิสาแหรกหาม

มีข้อพึงสังเกตอีกสถาน ๑ ที่ยานอย่างหามเอาลำคานขึ้นบ่า ตั้งแต่พระราเชนทรและพระยานมาศ เป็นต้น ตลอดจนยานอย่างที่เรียกกันในกฎมนเทียรบาลว่า “คานหามเก้าอี้” คนขี่นั่งห้อยตีนทั้งนั้น ข้อนี้ส่อว่ายานอย่างหามลำคานขึ้นบ่าเป็นยานสำหรับผู้เป็นใหญ่ยิ่งถืออาญาสิทธิ์ในที่นั้นๆ ขี่เมื่อแห่แหนเป็นเกียรติยศ เพราะฉะนั้นเสนาบดีศักดินา ๑๐,๐๐๐ อยู่ในกรุงจึงขี่ไม่ได้ ส่อต่อไปอีกอย่าง ๑ ว่า บรรดายานที่มีสาแหรกหามคนขี่นั่งราบกับพื้นทั้งนั้น ยิ่งเป็นยานสำหรับผู้หญิงจะเรียกชื่อว่าราชยานหรืออะไรก็ตาม ล้วนเป็นยานนั่งราบมีสาแหรกหามหมดทุกอย่าง

มียานลักษณะไม่ตรงกับที่ได้กล่าวมาอยู่ ๓ อย่าง เรียกว่าเสลี่ยงกงอย่าง ๑ เสลี่ยงแปลงอย่าง ๑ คานหามอย่าง ๑ ลักษณะต่างกันดังนี้

เสลี่ยงกง คือเอายานมาศมาผูกสาแหรกหาม ๘ คน ขี่ได้แต่เจ้าได้ยินว่าเป็นของคิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ แต่จะเป็นเมื่อไรไม่ทราบ ปรากฏแต่ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้กรมสมเด็จเดชาดิศรทรงเสลี่ยงกงเป็นพระเกียรติยศพิเศษผิดกับเจ้านายพระองค์อื่น ซึ่งทรงเสลี่ยงสามัญ ตามเสด็จในกระบวนพยุหยาตราเลียบพระเนตร

เสลี่ยงแปลง มีลักษณะขยายส่วนเสลี่ยงสามัญให้สูงขึ้นสักหน่อยและคนหามลำคานขึ้นบ่าเช่นเดียวกับยานมาศ พิเคราะห์ดูตรงกับที่เรียก “คานหามเก้าอี้” ในกฎมนเทียรบาล จะประดิษฐ์ขึ้นเมื่อใดไม่ทราบ สำหรับพระยาผู้แทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินขี่ในกระบวนแห่ในพิธีแรกนาและพิธียืนชิงช้า

ยานอีกอย่าง ๑ เรียกว่า “คานหาม” เป็นของมีมาแต่โบราณ แต่ในกฎมนเทียรบาลไม่ระบุชื่อ เห็นจะเป็นเพราะเป็นยานชั้นศักดิ์ต่ำอยู่นอกจำกัด ลักษณะคานหามนั้นมีลำคานอันเดียวคนหาม ๒ คน แบกหัวลำคานขึ้นบ่าข้างหน้าคน ๑ ข้างหลังคน ๑ ตรงกลางลำคานผูกเปลสำหรับคนขี่ จะนั่งก็ได้หรือนอนก็ได้ พวกขุนนางชั้นพระหลวงที่แก่ชรายังขี่คานหามจนในรัชกาลที่ ๕ คานหามทำตามแบบยานของพวกขอมแต่โบราณ ยังมีรูปภาพจำหลักศิลาที่ระเบียงพระนครวัด เป็นกระบวนแห่พระเจ้าแผ่นดิน จำหลักรูปพระมเหสีทรงคานหามมีหลังคาอย่างสีวิกาปรากฏอยู่ ใช่แต่เท่านั้น เครื่องทองสัมฤทธิ์ของโบราณที่ขุดได้ในมณฑลนครราชสีมา ก็พบสิ่งซึ่งหล่อเป็นปลอกสวมคานหามมีขอสำหรับเกี่ยวเปล ทั้งห่วงสำหรับผูกด้ายที่เปลไปแขวนกับขอนั้น (มีตัวอย่างอยู่ในพิพิธภัณฑสถาน) ส่อให้เห็นว่าไทยเราได้แบบคานหามมาจากพวกขอม แต่ไทยไม่นับถือจึงกำหนดเป็นยานชั้นต่ำกว่าเพื่อน

ว่าถึงการเปลี่ยนชื่อยานเพราะแก้ไขรูปร่างบ้างเล็กน้อย มีตัวอย่างอยู่ในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ (หน้า ๗) เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เล่าถึงการแก้แบบ “แคร่” และ “วอ” ในสมัยนั้น เรื่องแก้แบบแคร่ท่านเล่าว่า “ขุนนางผู้ใหญ่แต่ก่อน (มา) ที่เป็นผู้ใหญ่อายุมากก็ทำแคร่ไม้จริง มีเสามีกันยาหลังคากันแชงเตย มีพนักหลัก คานไม้ลำมะลอก (ขี่) เข้ามาในพระราชวังเรียกว่า “แคร่กันยา” ที่เป็นขุนนางมีเครื่องยศได้รับพระราชทานพานทอง ก็ยกกันยาเสียมีแต่แคร่เปล่า ครั้งนั้นเจ้าพระยาพระคลัง (บิดาของท่าน ซึ่งภายหลังได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์) จึงดำริการทำให้งามดีขึ้น จัดหาไม้ที่ลายประหลาดมาประกอบเป็นแม่แคร่แล้วหุ้มทองเหลืองหุ้มเงินที่มุม (แคร่) ไม้คานนั้นใช้ไม้แก้วบ้างไม้ลายต่างๆ บ้าง ไม้แสนสารไม้กะพี้เขากระบือบ้าง มีปลอกหุ้ม ที่อื่นก็ทำขึ้นใช้เป็นแบบอย่างมาจนทุกวันนี้”

พิเคราะห์ตามคำที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เล่า ดูมีเค้าเข้ากับวินิจฉัยเรื่องยานที่เขียนนี้อยู่บ้าง เป็นต้นที่ท่านว่า “แต่ก่อน” ข้าราชการผู้ใหญ่ขี่แคร่กันยา คำ “แต่ก่อน” ตรงกับอดีตกาลไม่มีจำกัด อาจจะเป็นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ได้ สิ่งซึ่งเรียกว่า “แคร่กันยา” นั้นก็ต้องเป็นของมีแบบแผน มิใช่คิดทำขึ้นขี่เข้าวังได้ตามชอบใจ เพราะฉะนั้นดูน่าจะตรงกับที่ในกฎมนเทียรบาลว่าข้าราชการศักดินา ๑๐,๐๐๐ ขี่ยั่ว ต่อลงมาท่านว่าข้าราชการชั้นกินพานทองยกกันยาเสียขี่แต่แคร่เปล่า ก็น่าจะตรงกับที่ในกฎมนเทียรบาลว่า ข้าราชกาลศักดินา ๓,๐๐๐ ขี่ยาน แต่ว่าห้วนไปควรจะว่าข้าราชการในกรุงฯศักดินาต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ ลงมาจนศักดินา ๓,๐๐๐ ขี่ยาน ถ้าเช่นนั้นก็ต่อกันกับแบบที่ข้าราชการศักดินาไม่ถึง ๓,๐๐๐ ขี่คานหาม และตรงกับคำที่คนมักเรียกรวมกันว่า “ยั่วยานคานหาม”

แคร่ที่เจ้าพระยาพระคลังคิดใหม่นั้น ดูเหมือนประสงค์จะให้หามไปได้เร็วกว่าเพราะเบากว่าแคร่อย่างเก่าเป็นสำคัญ จึงลดขนาดแคร่ให้เล็กลงเป็น ๔ เหลี่ยมพอจุที่นั่ง และตัดพนักพิงออกเสีย แต่เป็นการแก้แบบเดิมมิใช่คิดยานขึ้นอย่างใหม่ แต่เมื่อมีขึ้นแล้ว ข้าราชการชั้นที่มีศักดิ์ขี่ยั่วยานได้ก็เปลี่ยนไปใช้แคร่อย่างใหม่ ยั่วยานอย่างเดิมก็เลยสูญ คำที่เรียกว่าแคร่อาจจะเกิดขึ้นครั้งนั้นสำหรับเรียกยานที่เจ้าพระยาพระคลังประดิษฐ์ขึ้นก็เป็นได้

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ยังเล่าเรื่องแก้ไข “วอ” ต่อไปอีกเรื่อง ๑ ว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๒ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงพระดำริเอาแบบแคร่กันยาของขุนนางไปทำวอ ดาดหลังคาด้วยผ้าขี้ผึ้งผูกม่านแพรสำหรับทรงเสด็จเข้าวัง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังเป็นกรมโปรด จึ่งให้ทำพระวออย่างนั้นขึ้นทรงบ้าง พระราชทานนามว่า “วอประเวศวัง” ครั้นเสร็จเสวยราชพระราชทานพระวอประเวศวังนั้น แก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ยังทรงผนวช ให้ทรงต่อมา

ความที่ท่านเล่าในเรื่องวอมีประโยชน์อยู่ ที่ให้เค้าที่จะสันนิษฐานว่า แคร่กันยาและยั่ว รูปร่างจะเป็นอย่างไร ด้วยเปรียบกับลักษณะวอที่ทำใหม่ ยั่วและยานอย่างเดิมแคร่คงเป็น ๔ เหลี่ยมรี มีพนักหลังและพนักข้าง มีเสา ๔ เสารับหลังคาดาดกระแชงบางทีขนาดเขื่องกว่าวอที่ทำใหม่ แต่วอที่ทำใหม่ก็มิใช่เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงประดิษฐ์คิดทำยานขึ้นอย่างใหม่ เพราะวอสีวิกาซึ่งลักษณะอย่างเดียวกันก็มีมาแล้วช้านาน เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์เป็นแต่แก้ขนาดและเครื่องตกแต่งให้ผิดกับของเดิม แต่ชื่อที่เรียกว่า “วอ” นี้หน้าพิศวงอยู่ ด้วยไปพ้องกับภาษาพม่า เขาเรียกพระยานมาศ (อันอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานที่เมืองมันดเล) ว่า “วอ” แต่ยานในกฎมนเทียรบาลไม่มีชื่อวอ ส่อว่ายานที่เรียกวอจะมีขึ้นใหมในเมืองไทยต่อภายหลัง

ในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ มีอีกแห่ง ๑ (หน้า ๗) ในตอนตั้งข้าราชการเมื่อแรกเสวยราช ว่าพระราชทานเกียรติยศพิเศษแก่เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ที่สมุหนายก กับเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี (สังข) ที่สมุหกลาโหม ซึ่งเป็นตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีมาแต่ในรัชกาลก่อนทั้ง ๒ คน ให้ขี่เสลี่ยงกั้นกรดเข้าพระราชวังได้ การที่พระราชทานเกียรติยศพิเศษอย่างว่ามิใช่แบบใหม่ เคยมีเยี่ยงอย่างมาแล้วแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี จะวิจารณ์ในที่นี้แต่ด้วยคำว่า “เสลี่ยง” อันไม่มีในชื่อยานที่พรรณนาในกฎมนเทียรบาล และคำว่าเสลี่ยงจะเป็นภาษาใด ไทยเอามาใช้แต่เมื่อใดยังไม่ทราบ แต่ตามที่เข้าใจกันทั่วไปนั้น เสลี่ยงเป็นยานสำหรับแต่เจ้าทรง เพราะฉะนั้นเมื่อโปรดให้ขุนนางคนใดขี่เสลี่ยง จึงถือว่ายกเกียรติยศขึ้นเทียมเจ้า แต่ประหลาดอยู่ด้วยยานที่เรียกว่าเสลี่ยงมีหลายอย่าง เป็นต้นแต่พระราชยานพระอย่างเจ้าแผ่นดินทรงโดยปกติ แม้ในบัตรหมายหรือคำพูดเรียกว่า พระราชยาน แต่พระเจ้าแผ่นดินเองตรัสเรียกว่าเสลี่ยงเป็นนิจจนในรัชกาลที่ ๕ มีราชยานอีกอย่าง ๑ สำหรับทรงเวลาประพาสภายในพระราชวัง ทำขนาดย่อมแต่มีที่พอประทับกับพนักพาดพระเขนยอิง คนหามด้วยตะพายสายแถบสาแหรกพาดบ่า ๒ คน เรียกว่า “เสลี่ยงหิ้ว” มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และมีพระเสลี่ยงหิ้วของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นตัวอย่าง อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานองค์ ๑ ต่อไปก็เสลี่ยงที่เจ้านายทรงกันเปนสามัญ และยังมีเสลี่ยงเจ้านายทรงอีกอย่าง ๑ เรียกว่า “เสลี่ยงป่า” รูปเหมือนแคร่แบบเจ้าพระยาพระคลัง เป็นแต่ขอบแคร่จำหลักปิดทอง เห็นจะเป็นของคิดใหม่ พิเคราะห์ตามความที่พรรณนามาชวนให้เห็นว่าคำ “เสลี่ยง” จะเป็นชื่อที่เรียกยานต่างๆ ประเภท ๑ เพราะฉะนั้น จึงลองคิดวินิจฉัยตามประเภทของยานต่างๆ รวมกันทั้งที่ปรากฏในกฎมนเทียรบาล และมามีในภายหลัง พิเคราะห์ดูต่างกันเป็น ๔ ประเภท จะเรียกชื่อตามสะดวกว่า ยานมาศ ประเภท ๑ เสลี่ยง ประเภท ๑ วอ ประเภท ๑ และ คานหาม ประเภท ๑

ยานประเภทยานมาศ มีลักษณะรวมกันดังนี้ คือ

๑) คนขี่นั่งห้อยตีนอย่างนั่งเก้าอี้

๒) คนหามแบกลำคานพาดบ่า

๓) ใช้แต่ในการพิธีเฉลิมเกียรติ

ยานต่างๆ ที่เรียกว่า พระราเชนทรยาน ยานมาศ ยานมาศกลีบบัว (สำหรับลูกเธอกินเมือง) คานหามเก้าอี้ (สำหรับศักดินา ๑๐,๐๐๐ กินเมืองเอก และสำหรับเจ้าประเทศราช) อยู่ในประเทศนี้

ยานประเภท เสลี่ยง มีลักษณะร่วมกันดังนี้ คือ

๑) คนขี่นั่งราบ

๒) หามลำคานมีสาแหรก

๓) เป็นอย่างโถงไม่มีหลังคา

๔) ใช้ในการไปมาเป็นพื้น

ยานต่างๆ ที่เรียกว่า ราชยาน ทิพยาน เสลี่ยง ยาน แคร่ อยู่ในประเภทนี้

ยานประเภท วอ มีลักษณะร่วมกันดังนี้ คือ

๒) คนขี่นั่งราบ

๒) หามมีสาแหรก

๓) มีหลังคาและม่าน

๔) ใช้ในการไปมาเป็นพื้น

ยานต่างๆ ที่เรียกชื่อว่า ราชยานมีจำลอง เทวียาน ศรีวิกา วอ ยั่ว (อย่างแคร่กันยา) อยู่ในประเภทนี้

ยานประเภทคานหามที่ไทยใช้มีอย่างเดียวแต่

๑) คนขี่เปลนั่งหรือนอนก็ได้

๒) หามปลายลำคานหัวท้ายพาดบ่าข้างละคน

๓) ใช้ในการไปมา บางทีจะเหมาะสำหรับเดินทางไกล พวกขอมอาจจะชอบใช้เพราะเหตุนั้น

ยานต่างๆ ที่ระบุชื่อในกฎมนเทียรบาลก็ดี หรือที่เรียกชื่ออื่นในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ก็ดี ล้วนเป็นเครื่องยศสำหรับบุคคลต่างชั้น แต่ลักษณะที่ใช้ยานดูต่างกันเป็น ๒ อย่างคือ “ใช้เต็มยศ” อย่าง ๑ “ใช้เป็นปกติ” อย่าง ๑ ยกตัวอย่างดังเช่นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระราเชนทรยานก็ดี หรือเจ้าพระยาศักดินา ๑๐,๐๐๐ เจ้าเมืองเอกขี่คานหามเก้าก็ดี เป็นอย่างเต็มยศ บุคคลชั้นอื่นขี่ยานอันกำหนดตามยศก็เป็นขี่อย่างเต็มยศโดยทำนองเดียวกัน แต่อาจใช้ยานอย่างอื่นซึ่งไม่สูงกว่าชั้นยศของตนได้โดยปกติ ยกตัวอย่างดังเช่น โดยปกติพระเจ้าแผ่นดินย่อมทรงพระราชยานหรือพระเสลี่ยงต่อเป็นการเต็มยศ เช่นเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนแห่พยุหยาตราจึงทรงพระราชเชนทรยาน ข้อนี้ฉันใด เจ้านายที่มียศศักดิ์ทรงทิพยานและยานมาศ ก็คงทรงแต่เวลาเต็มยศ โดยปกติคงทรงเสลี่ยงโดยทำนองเดียวกัน ถึงเจ้าเมืองที่มีศักดิ์ถึงขี่คานหามเก้าอี้โดยปกติหรือเข้ามาในราชธานีก็คงขี่ยั่วหรือยานตามสะดวก เหมือนอย่างขุนนางในกรุงชั้นศักดินา ๑๐,๐๐๐ ด้วยกัน ตามที่ว่ามามีตัวอย่างชี้ได้ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เช่นกำหนดว่า เจ้านายทรงวอได้แต่ที่เป็นเจ้าต่างกรม แต่โดยปกติเจ้าต่างกรมก็มักทรงเสลี่ยงป่า ขุนนางผู้ใหญ่ที่ได้พระราชทานเสลี่ยงเช่นสมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ โดยปกติก็ขี่แคร่เหมือนอย่างข้าราชการชั้นพระยาพานทองสามัญ ความส่อต่อไปถึงยานสำหรับนารีมีศักดิ์ ซึ่งเรียกในกฎมนเทียรบาลว่า ราชยาน ก็ดี เทวียาน ก็ดี คงอยู่ในพวก วอ ทั้งนั้น ยังมีแบบอยู่ ๒ อย่าง อย่าง ๑ ดาดทองทั้งตัวมีช่อฟ้า เรียกว่า “วอศรีวิกา” สำหรับหามก็มี สำหรับตั้งบนรถกระบวนแห่งพระบรมศพก็มี สำหรับตั้งหีบศพนารีมีศักดิ์ก็มี วออย่างศรีวิกาเป็นวอเต็มยศและเป็นแบบเก่า มีวออีกอย่าง ๑ เรียกว่า “วอประเทียบ” หลังคาไม่มีช่อฟ้าแกะดาดสี ไม่ใช้ทอง เห็นจะสำหรับใช้โดยปกติ แต่ “วอประเทียบ” แบบเดิมจะเป็นอย่างไรสงสัยอยู่ ด้วยวอประเทียบที่ใช้ในชั้นหลังเหมือนกันกับวอเจ้านายต่างกรม ที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงคิดแบบขึ้น ไม่เห็นผิดกันอย่างไร

ยานอย่างคนหามดูใช้กันมาแต่โบราณทุกประเทศ ลักษณะบางอย่างพ้องกัน ลักษณะบางอย่างผิตต่างกันตามประเพณีของประเทศนั้นๆ พิเคราะห์ลักษณะที่เหมือนกันดูจะเป็นความสะดวกพาให้คิดพ้องกัน มิใช่ตั้งใจเอาอย่างกันและกัน ยกตัวอย่างดังยานเกี้ยวของจีน คงเป็นเพราะทางไปทางบกในเมืองจีนคล้ายกับในเมืองไทย แบบเกี้ยวจึงทำเป็นอย่างที่มีคานหามขึ้นบ่า ๒ คน คล้ายกับคานหามก็มี ผูกสาแหรกอย่าง ๔ คนอย่างเสลี่ยงก็มี ผูกสาแหรกหาม ๘ คน อย่างพระราชยานก็มี แต่ประเพณีจีนอยู่บ้านเรือนนั่งเก้าอี้มิได้นั่งราบกับพื้น เกี้ยวจีนทำที่คนนั่งเป็นอย่างเก้าอี้ทั้งนั้น เมืองฝรั่งชอบใช้ขี่ม้าขี่รถเป็นพื้น ถึงกระนั้นแต่ก่อนก็ยังมีเก้าอี้เก๋งคนหามหิ้ว ๒ คน คล้ายกับเสลี่ยงหิ้วสำหรับไปสู่หากันใกล้ๆ ในอาฟริกาพวกฝรั่งที่ไปเที่ยวบุกป่าฝ่าดงก็ชอบขี่เปลมีคานหามอย่างเดียวกันกับคานหามของไทย คงเป็นเพราะไปได้สะดวกกว่ายานอย่างอื่น ยานประเทศต่างๆ เห็นจะพ้องกันโดยธรรมดา ดังว่ามานี้

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑) เรื่องฉัตรพระกันภิรุม หรือ พระกรรม์ภิรุม มูลจะมีมาอย่างไรหม่อมฉันยังไม่เคยคิดค้น คิดเมื่อได้รับลายพระหัตถ์ฉบับนี้ก็ยังไม่เห็นเค้าเงื่อน แต่คำว่า “ร่มขาว” นั้นเห็นว่าคำแปล “เศวตรฉัตร” ภาษาสังสกฤตเป็นภาษาไทยตรงๆ ไม่หมายอะไร ยิ่งไปกว่านั้น ที่ในหนังสือพงศาวดารและคำฉันท์ดุษฎีสังเวย เรียกว่า “เจ้าร่มขาวหลวงพระบาง” ก็เป็นแต่เอาคำที่ไทยชาวลานช้างมาแกล้งเรียกให้ต่างกับเศวตรฉัตรเท่านั้น

๒) แต่มูลของเศวตรฉัตรนั้นพอคิดเห็นว่าเดิม

ก) คงมาแต่ผู้เป็นนายใหญ่ ย่อมมีคนถือร่มกันบังแดด

ข) เวลายกพลไปรบพุ่ง ผู้เป็นนายคุมพล เปรียบว่านายกองพัน ย่อมมีคนกั้นร่มพวกพลเห็นร่มอยู่ตรงไหนในสนามรบก็รู้ว่านายใหญ่อยู่ที่นั้น

ฆ) เมื่อรวมหลายกองพลเป็นกองทัพ ก็จำต้องมีเครื่องหมายให้รู้ว่าแม่ทัพอยู่ที่ไหนในสนามรบ จึงคิดให้แม่ทัพมีร่มขาวหลายคันอยู่ประจำตัวอย่างจำหลักที่ระเบียบพระนครวัด แต่ต่อมาเห็นไม่เหมาะจึงเปลี่ยนเป็นเอาร่มขาวซ้อนกันเป็นหลายชั้น เช่นฉัตรพระคชาธาร เห็นว่ามูลของเศวตรฉัตร น่าจะมีประวัติมาดังนี้ แบบเศวตรฉัตรจึงมีเป็น ๒ อย่างคือ เป็นอย่างร่มเช่นพม่าใช้ และกั้นพระประธานในเมืองไทยอย่าง ๑ ตั้งซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้นอย่าง ๑

๓) เรื่องใช้คำภาษามคธ และสังสกฤตปนกับภาษาไทยนั้น หม่อมฉันได้เคยคิดแต่จะต้องทูลสนองยาว ขอประทานผลัดไปอีกสักเวร ๑ หรือ ๒ เวรจึงจะเขียนถวาย เพราะกำลังจะรีบเขียนวิจารณ์เห่ช้าลูกหลวงให้ทันฝากหม่อมเจิมไปกรุงเทพ ฯ

๔) ที่เสด็จไปวัดพระเชตุพน พบจารึก “โคลงคุณเสือ” นั้นดีนัก หม่อมฉันนึกว่าจะสูญเสียแล้วเสียดายอยู่ ถ้าโปรดให้ชายงั่วหรือใครไปคัดสำเนาส่งประทานมา หม่อมฉันจะขอบพระคุณมาก

๕) ที่ตั้งตู้พระอัฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ บนอาสนสงฆ์นั้น เพื่อแต่จะให้สะดวกแก่การทรงบูชาเป็นแน่ ตำหนักหลังนั้นหม่อมฉันเคยพิศวง ด้วยทำพื้นต่ำมากและเป็นห้องใหญ่เกินต้องการ นึกว่าเมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เสด็จอยู่ เห็นจะมีฝาประจันห้อง แต่รื้อเสียเมื่อตั้งพระศพ แต่อาสนสงฆ์นั้นจะทำใหม่เพื่อเหตุใด หรือจะมีมาแต่เดิม ข้อนี้คิดไม่เห็น

๖) เรื่องเครื่องถม หม่อมฉันพบหลักฐานใหม่อีกแห่ง ๑ ในกฎมนเทียรบาลว่าขุนนางศักดินา ๑๐,๐๐๐ กินเมือง “กินเจียดเงินถมยาดำรองตะลุม” ดูตรงกับเจียดรัชกาลที่ ๑ ถ้าเป็นแบบมาแต่ตั้งกฎมนเทียรบาลครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ราว พ.ศ. ๒๐๐๐ ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ ราว ๒๐๐ ปี ตำนานที่หม่อมฉันคาดดังได้ทูลไปก็ผิด แต่นึกว่าจะเพิ่มลงในกฎมนเทียรบาลเมื่อภายหลังก็เป็นได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ