วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อวันเสาร์โน้น คือวันที่ ๒๒ มิถุนายน รถไฟเข้า ไม่ได้รับลายพระหัตถ์เวร นึกว่าเขาคงเอามาส่งวันอาทิตย์ก็ไม่มี จึงนึกต่อไปว่า คงคลาดเมล์ แต่ถึงเมล์วันอังการ คือวันที่ ๒๕ มิถุนายน ก็ไม่มีมาอย่างคาด ครั้นถึงวันเสาร์อีก คือวันที่ ๒๙ มิถุนายน นึกว่าจะได้รับ ๒ ฉบับซ้อนก็ได้รับฉบับเดียว ซึ่งลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน แต่ก็เรียบร้อยดีตกลงเป็นขาดหายไปฉบับหนึ่ง ซึ่งประมาณว่าจะลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ถ้าได้โปรดประทานเข้าไปได้ โปรดให้คัดสำเนาส่งไปประทานเข้าซ้ำไปด้วย จะเป็นพระเดชพระคุณมาก

สนองลายพระหัตถ์

จะกราบทูลสนองลายพระหัตถ์ ซึ่งลงวันที่ ๒๕ มิถุนายนต่อไป

การทำพระระเบียง ตามที่พูดกันอยู่ ๒ อย่างดังที่ตรัสบอกนั้น อย่างใช้เป็นที่จงกรมเห็นพ้องกับพระดำริว่าไม่ได้ อย่างที่ว่าใช้เป็นที่พักสัปปุรุษนั้นเห็นด้วย เกล้ากระหม่อมเคยคิดมา ว่าพระระเบียงนั้นย่อมทำล้อมที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพวกใดนับถือสิ่งใดก็สิ่งนั้น เป็นที่พักสัปปุรุษซึ่งไปประชุมไหว้และทำบุญ อย่างเล็กก็เป็นคดอยู่ ๔ มุมที่ขาดกลางเป็นช่องเข้า อย่างกลางตรงช่องที่ขาดนั้นทำเป็นโรงประตูแซกเข้าอย่างที่ภาษาฮินดูเรียกค่า “โคปุร” อย่างใหญ่ “โคปุร” นั้น ทำเป็นวิหารซึ่งเรียกว่าวิหารทิศหรือเรียกว่า “ธรรมศาลา” อะไรก็สุดแต่จะเรียกไปต่างๆ ตามใจ หมดนั้นย่อมเป็นที่พักหรือที่ประชุมผู้ไปไหว้ไปทำบุญทั้งสิ้น ในการจำหลักหรือเขียนผนังพระระเบียงก็เป็นการจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์นั้นเดิมทีก็เห็นจะทำสำหรับสถานพระนารายณ์ แล้วก็ไหลเล่อลืมไปเอาทาทำในที่อื่นอันไม่เกี่ยวกับพระนารายณ์เลย ที่พระระเบียงนครวัดก็ฉลักเป็นหลายเรื่องจับฉ่าย เป็นเหมือนหนึ่งจะนึกอะไรได้ก็ฉลักขึ้นภายหลังที่ฉลักค้างอยู่ก็มี ที่เอาพระพุทธรูปตั้งในพระระเบียงก็เป็นการเก็บเอาพระพุทธรูปเก่าๆ มาปฏิสังขรณ์แน่ แล้วไม่มีที่จะตั้งก็ตั้งไว้ในพระระเบียงอันไม่เป็นที่ควรตั้งด้วยซ้ำ เคยได้ยินพวกคริสตังติเตียน เขาว่าพระที่นับถือควรจะตั้งไว้แต่บนที่บูชา ที่เอามาตั้งไว้ตามหนทางนั้นผิด เกล้ากระหม่อมก็เห็นพ้องด้วยคำติเตียนอันนั้นเปนอย่างที่สุด แล้วมาได้สังเกตเห็นเรือนผู้ดีสมัยใหม่ เอาพระพุทธรูปเก่าๆ ตั้งไว้ตามหัวกะได เห็นเป็นเอาอย่างฝรั่งโดยไม่มีความคิด ฝรั่งเขาไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาเขาก็ทำเช่นนั้น แล้วเราผู้นับถือพระพุทธศาสนาจำเขามาทำบ้าง เห็นเป็นผิดที่สุด

ปราสาทพิมายเป็นพุทธาวาส ไม่ใช่เมือง เห็นได้จากประตูเข้าเขตซึ่งทำเป็นช้างสามเศียรไว้ที่มุมนั้นเล็กนิดเดียว ช้างม้าล้อเกวียนเข้าไม่ได้ จะเป็นเมืองอย่างไรได้ ทางขี่ม้าเข้าต้องตัดเทินดินข้างประตู เมืองต้องอยู่ต่างหาก ศาสตราจารย์เซเดส์เคยบอกตามที่ได้พบศิลาจารึกว่าเมืองตั้งอยู่ทางตะวันออกแห่งปราสาทพิมาย เรียกว่าเมืองขะเวียว คนภายหลังที่จะซ่อมเมืองเก่าไม่ไหว เห็นปราสาทพิมายเป็นที่กว้างขวาง จะทำให้เปนเมืองขึ้นทีหลังว่าไม่ถูก เหมือนนครวัดก็เป็นเทวสถานเท่านั้น ที่เรียกว่านครวัดแปลว่าเมือง วัดนั้นเรียกทีหลัง เพราะเห็นมีเนื้อที่กว้างใหญ่ซึ่งราวกับว่าเมือง พวกนักปราชญ์ฝรั่งเศสเขาพบศิลาจารึก มีความว่าแรกสร้างนครธมนั้นได้สร้างปราสาทที่ “ยโสธรคิรี” ขึ้นก่อน พวกนักปราชญ์ฝรั่งเศสเขาถือเอากำแพงนครธม ซึ่งปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้เป็นเขตเมือง เขาก็ชี้เอาปราสาทบายนเป็นยโสธรคิรีเข้าก่อน ทีหลังเขาไปพบศิลาจารึกเข้าอีก ปรากฏว่าไม่ใช่เขาก็เลื่อนไปชี้เอาวิมานอากาศเข้า มาเมื่อศาสตราจารย์เซเดส์เข้ามากรุงเทพฯ บอกว่าได้พบรากกำแพงนครธมเก่าจมดินอยู่ กว้างใหญ่อ้อมเอานครวัดเข้าไว้ในเมืองด้วย เกล้ากระหม่อมก็ออกความเห็นว่า งั้นยโสธรคิรีก็เป็นปราสาทพนมบาแคงนั่นสิ ศาสตราจารย์เซเดส์ก้มหัวรับ เป็นการแสดงกิริยาว่าถูก นี่แหละเป็นพยานว่า สิ่งที่เราไม่รู้นั้นมีอยู่จะหาประมาณมิได้

ข้อพระดำรัสที่ว่าพระธาตุย่อมสร้างในเมือง ซึ่งมีป้อมกำแพงนั้นถูกแล้ว ป้อมกำแพงก็สำหรับป้องกันข้าศึกซึ่งมารบกกน แม้เป็นเมืองเล็กก็ทำไม่ได้ด้วยไม่มีกำลังพอ ต้องเป็นเมืองใหญ่มีกำลังพอจึงจะทำได้ เมื่อมีกำลังสามารถทำป้อมกำแพงได้แล้ว ทีหลังก็มีกำลังเหลือ จะทำอะไรอีกก็ได้ เป็นเหตุให้พวกอาจารย์ในศาสนาต่างๆ กะเสือกกะสนเข้าหาผู้มีกำลังและอำนาจเหล่านั้น พูดชักนำให้นับถือสิ่งที่ตนนับถือ เพื่อบำรุงสิ่งที่ตนนับถือกับทั้งตัวเองด้วย แม้ในทางพระพุทธศาสนา เมื่ออาจารย์แสวงได้พระบรมธาตุมาก็ไปให้ผู้มีอำนาจก่อพระมหาธาตุบรรจุไว้เป็นที่สักการะ เพราะฉะนั้นเมืองใหญ่ซึ่งพร้อมไปด้วยป้อมกำแพงอันผู้มีกำลังได้ทำขึ้น จึงมีพระมหาธาตุเป็นที่บูชาทุกเมืองอย่างที่พระดำรัส

หนังสือ “ลัทธิของเพื่อน” มีฉบับอยู่ที่บ้านแล้ว ไม่ต้องขอ เว้นแต่ดูอย่างผ่านๆ และก็นานมาแล้วด้วย ต้องขอประทานโทษดูดีๆ เสียก่อน

เรื่องพุทธโฆษนิทาน ประทานแวะไปนั้นดีเต็มที ไม่ต้องไปหาฉบับมาดู เมื่ออ่านแล้วจะนำไปส่งถวายพระมหาภุชงค์ตามรับสั่ง

พระราชยานถม ที่ตรัสบอกว่าเป็นของเจ้าพระยานคร (น้อย) ว่าถวายพร้อมกับพระแท่นออกขุนนางนั้น เป็นหลักฐานดีเต็มที พระเก้าอี้ถมซึ่งใช้เป็นภัทรบิฐนั้นเคยสืบมาพักหนึ่งแล้วก็ไม่ได้ความ ได้เคยกราบบังคมทูลถาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระแท่นภัทรบิฐเก่ามาคราวหนึ่งแล้ว ตรัสบอกว่าของเก่าทำกำมะลอด้วยไม้มะเดื่อ เสร็จงานแล้วก็ทิ้งพังไป ทั้งนี้ก็บกพร่องที่ไม่ได้กราบบังคมทูลถาม ว่าเอาพระเก้าอี้ถมมาใช้แทนเมื่อไร และใครเป็นผู้ทำถวายพนักเรือพระที่นั่งนั้นไม่เคยสืบ ตามที่ตรัสเล่าถึงช่างถมที่นครศรีธรรมราช ทอดพระเนตรเห็นเป็นมลายูนั้น เกล้ากระหม่อมก็เคยไปดูมูเซียมในประเทศมลายูมาหลายแห่ง พบเครื่องถมที่ทำในมลายูก็มีเหมือนกัน เป็นอันว่าการกระทำพ้องกัน กลัวจะเป็นต่างเอาอย่างเครื่องบั้งกาหลีของอินเดียมาทำด้วยกัน เพราะฉะนั้น ที่ว่าเจ้าพระยานคร (น้อย) เอาครูในกรุงเทพฯ ออกไปสอนนั้นฟังยาก กลัวจะเป็นการสันนิษฐานไปตามความคิดเห็น อนึ่งถมละครซึ่งว่าดีนั้นกลัวจะเป็น: “ฮือ” ตามความสังเกตของเกล้ากระหม่อมไม่เห็นผิดกันกับถมบางขุนพรหมไปเลย ผิดกันแต่ที่ถมละครมีชิ้นใหญ่ๆ นั่นก็เพราะเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นผู้มีเงินทุนให้ทำ พวกร้านย่อยบ้านพานถมมีแต่ของเล็กๆ เพราะไม่มีทุนและไม่มีโอกาสจะทำของใหญ่เท่านั้น เรื่องพระราชยานทองยาที่กราบทูลถามมาด้วย ยังไม่ได้ตรัสบอกเค้าเงื่อนอะไรไปให้ทราบบ้างเลย

เกล้ากระหม่อมกับทั้งญาติในครัวเรือน ต่างยินดีอนุโมทนาในพระกุศสราศีซึ่งได้ทรงบำเพ็ญให้เป็นไปในวันประสูตินั้นเป็นอย่างยิ่ง พิธีของพระลังกาตามที่ตรัสเล่านั้นซึมซาบดีอย่างยิง ข้อที่ส่งสายสิญจน์มาถวายนั้นควรอย่างยิ่ง เหมือนกับพิธีโกนจุกของเรา บทที่สวดมนต์ดูเป็นเอา ๒ ภาคมารวมสวดคือตั้งแต่ ปฏิจจสมุปบาท ถึง นักขัตตยักษ์นั้นภาคหนึ่ง ตั้งแต่มงคลสูตต์ ถึง นักขัตตยักข์ นั้นอีกภาคหนึ่ง แต่ภาคใดท่านจะใช้สวดในพิธีอย่างใดนั้นเรารู้ไม่ได้ เพราะไม่คุ้นเคยกับการสวดมนต์ของพระลังกา แต่ได้เคยสังเกตมาเมื่อเกล้ากระหม่อมมีอายุครบ ๕๐ เวลานั้นไปรักษาตัวอยู่ที่ศรีมหาราชาได้นิมนต์พระวัดศรีมหาราชา (ซึ่งเวลานั้นเป็นมหานิกาย) มาสวดมนต์และฉัน ท่านดับเทียนทำน้ำมนต์ให้เมื่อสวด ธชคฺคสูตต์ ถึง อิติปิโส เป็นเหตุให้เข้าใจได้ว่าแต่ก่อนทำน้ำมนต์ด้วยรตนคุณ ที่มาใช้ รตนสูตต์ นั้นทูลกระหม่อมของเราทรงเปลี่ยน เพราะฉะนั้นภาคหนึ่งซึ่งพระลังกาสวด คะเนว่าจะสวดเพื่อทำน้ำมนต์ถวายก็ได้ ส่วนภาคสองก็คือ ๗ ตำนานย่อเรานี่เอง สวดถวายเพื่อทรงพระจำเริญ การขัดตำนานนั้นทราบมานานแล้วว่าเป็นของหัวหน้ากล่าว เหมือนกับ หันทมยัง ฉะนั้น ที่ให้องค์อื่นขัดตำนานนั้นผิด การให้ศีลก็เหมือนกัน งานวันประสูติของฝ่าพระบาทเป็นงานจำเพาะพระองค์ ควรที่ฝ่าพระบาทจะทรงรับศีล ใครจะรับศีลผู้นั้นก็ต้องขอด้วยตนเอง ที่ผู้เข้าใจการพิธีขอแล้วรับศีลกันทั่วไปนั้นเป็นการสาธารณะ เพราะผิดทางไปท่านจึงนิ่งเสีย คอยให้ฝ่าพระบาทตรัสขอเอง ข้อที่ทำนองสวดมนต์เหมือนกับพระไทยอย่างเก่าก็เข้าใจได้ ด้วยพระไทยเราก็สืบมาแต่ลังกา ซ้ำพระลังกาก็เคยเข้ามาปัวเปียอยู่กับพระไทย มีท่านลังกา ๔ พวกซึ่งเป็นเวรกันรักษาพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช กับทั้งท่านมหาสวามีซึ่งมาเป็นใหญ่ปกครองคณะสงฆ์อยู่ครั้งเมืองสุโขทัยเป็นต้น ถ้าสวดมนต์ไม่เหมือนกันแล้วจะอยู่ไปด้วยกันอย่างไรได้ เทศนาอนุโมทนาของพระลังกา ผู้เรียนรู้ทางสมัยใหม่มา ก็เป็นการที่เอาทางข้างฝรั่งมาปรุงเข้ากับทางพระพุทธศาสนา แต่ก็ฟังดีมาก

หนังสือเทศนา ๕๐ กัณฑ์ ตามที่ตรัสเล่าว่าเหมือนสมุดไทยนั้นเป็นอย่างใหม่ซึ่งเกล้ากระหม่อมยังไม่เคยเห็น เคยเห็นแต่อย่างเก่าเขาทำเป็นใบๆ ร้อยเชือกเหมือนใบลานทีเดียว จะทักคำอนุโมทนาที่พระวัดปิ่นบังอรทูลถวาย ซึ่งโปรดคัดประทานไปนั้นใช้คำ “พระพุทธเจ้าทั้งหลาย” หมายถึงพระพุทธเจ้าใน อดีต ปัจจุบัน อนาคต นั้นเป็นทางมหายาน แต่ก็ไม่เสียหายอะไร ในสวดมนต์ของเราก็มีอยู่มาก เช่น “เย จ อตีตา” เป็นต้น เป็นเรื่องที่เก็บออกไม่หมดเท่านั้น ที่ชื่อวัดชื่อว่า “ปิ่นบังอร” นั้น เห็นจะหมายความว่า กวีนวิกโตเรีย.

ปกีรณก

เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ได้ไปเผาศพพระยาวุฒิการบดี (เฟื่อง พรหมจินดา) ที่วัดจักรวรรดิตามใบดำ ด้วยเป็นผู้คุ้นเคยกันมา ในงานนั้นเขาแจกหนังสือ “อภิธัมมัตถสังคหย่อ” ไม่ได้พยายามที่จะส่งมาถวายเพราะเห็นติดจะจืด อย่างไรก็ดี การแจกหนังสือในงานศพนั้นฝ่าพระบาททรงริขึ้น เป็นผลสำเร็จดีที่เป็นแฟชั่นทำกันทุกงาน แต่เรื่องราวนั้นจืดบ้างเค็มบ้างเป็นธรรมดาเท่านั้น

เมื่อวันอาทิตย์ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ได้รับประทานผลเงาะชนิดหนึ่ง ซึ่งทรงพระเมตตาโปรดประทานไป เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ได้เคยเห็นเมื่อมาเฝ้าที่ปีนัง คิดจะส่งถวายสมเด็จพระพันวัสสสาแต่มีน้อยนัก จึงเกณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ให้ออกวิ่งหาก็ได้มา แกบอกว่าเขาเรียกอะไรก็ลืมไปเสียแล้ว จำได้แต่ว่าคล้ายกับชื่อเงาะสามัญซึ่งเรียกกันว่า “รัมบุตัน” จะทึกเอาว่าเรียก “รัมบุตัม” เป็นอันได้ส่งเข้าไปถวายตามประสงค์ แต่ไม่ได้ชิมว่ารสเป็นอย่างไร ต่อเมื่อประทานเข้าไปคราวนี้จึ่งได้ชิมรสต่างกันกับเงาะสามัญมาก คงจะโปรดประทานฝากหม่อมเจิมเข้าไป แต่เป็นคิดคาดเท่านั้น ไม่ได้พบตัวหม่อมเจิมว่ากลับแล้วหรือยัง เป็นแต่ที่วังวรดิศส่งไปให้.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ