วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อวันที่ ๙ เดือนนี้ ได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๔ มิถุนายน เรียบร้อยตามเคย มีตราสั่งผ่านเลข ๓๒ หนังสือฉบันนี้มากับรถไฟซึ่งถึงกรุงเทพฯ วันที่ ๘ แต่เขาส่งช้าไปวันหนึ่งหาเป็นไรไม่ จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์นั้นแต่ลางข้อต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

บานประตูมุกด์สามคู่ ลงพุทธศักราชเหลวอย่างทรงพระดำริคาดแม่นแล้ว ความแน่ต้องอยู่ที่ ปีมะแม ปีระกา ปีกุน นั่นจะไม่พลาดไปได้เลย

เรื่อง ๑๒ นักษัตร ได้ทรงเริ่มเรื่องขึ้นทีหนึ่งแล้ว นึกเอาใจใส่อยู่เป็นอันมาก แต่ปัญหานั้นโรยราไม่เป็นผลสำเร็จไปได้ ก็คิดอยู่ที่จะสืบต่อไปเพื่อรู้เป็นส่วนจำเพาะตัว ตามที่ตรัสแนะนำให้ถามพระเจนจีนอักษรนั้นเป็นพระดำริที่ควรอย่างยิ่ง แต่เวลานี้แกเจ็บแกนึกตายเสียด้วยซ้ำ คิดจะไปเยี่ยมฟังอาการว่าหนักเบาเพียงไรก็ยังไม่ได้ไป แม้จะถามแกก็เป็น “อกาโล” แต่ไม่เป็นไร มีทางที่จะรู้ได้ถมไป จะสืบสวนดู ถ้าได้ความเป็นล่ำสันอย่างไรก็จะกราบทูลมาให้ทรงทราบด้วยทางแถบเราใช้กันมาก

หนังสือ เรื่องกามนิตจะจัดหาส่งมาถวายไม่ยากอะไร

การปลูกมะพร้าวในที่ฝังรกเด็กนั้น เพื่อประโยชน์อุดหนุนเด็กเป็นแน่ พอเด็กโตมะพร้าวก็ออกลูก ได้เป็นกำลังแก่เด็ก งามจะเป็นเช่นนั้น ข้อพระดำริที่ว่าครัวใหญ่ขึ้นแยกเรือนไปนั้นถูกต้อง เคยคิดอยู่ว่าคำ “อพยพ” ก็คือ “อวยว” ควรจะเป็นความหมายถึงครัวที่แยกออกไปนั้น เหตุไฉนจึงเข้าใจกันว่าเป็นยกย้าย แต่ได้รับพระราชนิพนธ์ของทูลกระหม่อมแห่งหนึ่ง ทรงใช้ในที่ยกย้ายครัวเรือนไปพร้อมด้วยสาขา ก็เป็นอันเข้าใจฟังได้สนิทดี

เรื่องสมโภชสามวันกับสมโภชเดือน เอาเป็นตกลงว่าใช้พระสังข์ด้วยกัน และองค์หญิงองค์ชายก็ใช้เหมือนกันไม่ควรต่างกัน เพราะเป็นการกระทำเพื่อประกอบการสมโภช อย่างที่ทรงพระดำรินั้นชอบยิ่งแล้ว

บทกล่อมพระเจ้าลูกเธอ เคยเห็น

“ปางนั้นพระสุริย์วง ษอสัญญะแดหวา
อุ้มองค์วนิดา กรตระกองตระการชม”

เขาว่าหลวงสารประเสริฐ (นุช) แต่ง เข้าใจว่าเป็นคำกล่อมพระเจ้าลูกเธอตามปกติ จะจัดว่าเป็นช้าลูกหลวงด้วยหรือไรก็ไม่ทราบ และบทที่เรียกว่าช้าหลวงจะใช้มาแต่ขึ้นพระอู่หรือไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน

เมืองบาณบุรี ทรงพระดำริว่าจะเป็น เมืองวาฬบุรี ไม่ใช่ ปราณบุรี เป็นพระวินิจฉัยอันประกอบด้วยเหตุ และเป็นพระดำริรับรองในความเห็นที่ว่าขนสินค้าข้ามเขาเข้ามาทางบก

โบสถ์วัดวงษ์มูลซึ่งหันหน้าออกทางด้านแป เมื่อฟังตรัสเล่าก็นึกขึ้นได้ว่าเคยได้ยินมาเหมือนกันว่าแก้ทีหลัง แต่ไม่ได้ยินเหตุว่าแก้เพราะเหตุไร โบสถ์พระปฐมเจดีย์นั้นทรงพระวินิจฉัยดีนัก เป็นแน่ดังนั้นด้วยมีวิหารทิศอยู่เป็นพยาน อันวิหารทิศนั้น เกล้ากระหม่อมเคยคิดว่าเดิมทีทำไว้เป็นที่ไหว้พระธาตุ ไม่มีพระพุทธรูปตั้ง เห็นได้ว่าทูลกระหม่อมก็ทรงพระราชดำริเช่นนั้น จึงทรงทำวิหารหน้าแห่งพระปฐมเจดีย์มีแต่แท่นบูชา ตกมาถึงรัชกาลที่ ๖ โปรดให้แก้เป็นเปิดโปร่งเห็นองค์พระปฐมเจดีย์เสียด้วยซ้ำ

จะประทานอธิบายถึงเรื่องโบสถ์ ว่ายกขึ้นเป็นประธานสำคัญเมื่อไรนั้นดีนัก เกล้ากระหม่อมก็เป็นแต่สังเกตเห็น แต่ไม่ทราบอายุว่ายกกันขึ้นเมื่อไร ในการที่สร้างพระเจดีย์ไว้หลังโบสถ์ก็มาแต่วิหารที่นมัสการพระเจดีย์นั่นเอง หากถูกแก้ให้เป็นโบสถ์เสียในภายหลัง วัดทางเหนือเห็นใช้โบสถ์น้ำทำเป็นแพกันเกลื่อนกลาด ดูเป็นไม่นับถือโบสถ์จริงๆ

ตรัสถึงการฉลาดลวงของคนขายของ เรื่องในชาติปางก่อนก็มาผุดขึ้นในใจเรื่องหนึ่ง คิดจะขันดีจึงจะนำมาเล่าถวาย ในกาลครั้งหนึ่งเมื่ออยู่บ้านเจ้าพระยาเทเวศรที่คลองเตย ได้ชวนกันขึ้นรถไฟ (ก่อนเขาทำรถไฟฟ้า) พุ่งไปเที่ยวปากน้ำแล้วลงเรือจ้างไปเที่ยวปากลัด ขึ้นรถรางไปบางคอแหลมข้ามเรือจ้างไปขึ้นรถรางอีกฟากหนึ่ง ถึงหัวลำโพงขึ้นรถเจ๊กกลับบ้านคลองเตย ครั้งนั้นเขาไม่เดินรถรางทางไปคลองเตยในเวลาค่ำจึ่งต้องใช้รถเจ๊ก ก็เป็นอันได้ขี่รถทุกอย่างต่างรื่นรมย์ไปด้วยกันทั้งนั้น เมื่อไปถึงปากลัดได้พากันไปเที่ยวตลาดเช้าไปในร้านแห่งหนึ่ง เจ้าของร้านดีอกดีใจต้อนรับเป็นอันดีชงน้ำชามาเลี้ยง เกล้ากระหม่อมเห็นผ้าเขาแขวนไว้ขายตีพิมพ์เป็นรูปสัตว์ จึงคะเนว่าถ้าเอาไปตัดเสื้อให้เด็กจะพอใจมาก ลูกหญิงปลื้มจิตรเห็นดีด้วยจึงสั่งให้เขาตัด อารามแกตื่นเต้นก็ไปโดนถ้วยน้ำชาหกรดผ้าที่ตัดไว้เข้า แกก็กุลีกุจอซับน้ำที่เปื้อนผ้านั้น เจ้าของร้านบอกว่าไม่เป็นไร เอาใหม่ก็แล้วกัน ลูกหญิงปลื้มจิตรก็ขอบอกขอบใจเขา เขาก็ตัดห่อกระดาษส่งให้ลูกหญิงปลื้มจิตร ยังพูดชมเขามาตลอดทางว่าเขาใจดี ครั้นถึงที่อยู่ก็แก้ห่อออกอวดคนที่ไม่ได้ไปด้วย จึงพบปรากฏว่าผ้านั้นขาดตรงกลางไปตั้งคืบใช้อะไรไม่ได้ แปลว่าถูกสับเปลี่ยน ก็เป็นแต่หัวเราะกันไม่ได้โกรธเคืองอะไรเขา ด้วยเหตุที่เป็นไปก็เพราะเราเขลาเท่านั้นเอง

พระมหาภุชงค์กลับกรุงเทพฯ ได้เห็นข่าวเขาลงพิมพ์ในหนังสือ “บางกอกไตมส์” แต่นึกว่าคงกลับมาชั่วคราว หรือมิฉะนั้นก็คงจัดผลัดเปลี่ยนไม่นึกเลยว่าจะมีเหตุเกิดถ้อยร้อยความ จะตรัสเล่าประทานให้ได้ทราบเรื่องนั้นดีนัก เพื่อตัดความงมงาย นึกก็น่าเสียดายที่เธออุตส่าห์เรียนภาษาฮกเกี้ยนจนเทศน์ได้ ย่อมเป็นประโยชน์แก่ชาวเกาะปีนังมากทีเดียว

ปกิรณกะ

ในกรุงเทพฯ สิ่งที่มาสู่จำเพาะหน้าก็ไม่มีอะไร นอกจาก “ใบดำใบแดง” ไหลมาเทมาเป็นกระบุงหู แต่ก็ไม่มีใบใดซึ่งควรจะกราบทูลให้ทราบ เว้นแต่ ๒ ใบซึ่งเห็นขันจึงจะเล่าถวายให้ทรงทราบ ว่าอานุภาพแห่งใบดำใบแดงนั้นเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร

๑. มีคนเอา “ใบดำ” มาให้ในนั้นลงชื่อพระญาณโสภณ เจ้าอาวาสวัดสังเวชบอกจะเผาศพไม่มีญาติซึ่งอยู่ที่วัด ๒๕๐ ศพ เชิญไปเผา เกล้ากระหม่อมก็นึกว่าท่านประสงค์จะเรี่ยรายเอาเงิน ได้ทำใจว่าจะส่งเงินไปถวาย แต่อีกครู่เดียวเด็กมาบอกว่า คนที่เขาถือการ์ดมา เขาอยากทราบว่าจะเสด็จไปได้หรือไม่ได้ก็ทำให้เข้าใจทันทีว่าเขาต้องการตัว ไม่ใช่ต้องการเงิน จึงบอกว่า “ไม่ไป” เห็นเป็นคำเพลาที่สุดอยู่แล้ว

๒. นายอำเภอบางกรวยจดหมายมาให้นำเงินค่านาที่คลองมหาสวัสดิ์ไปชำระ ในกาลอันเดียวกันนั้นส่ง “ใบแดง” มาให้ด้วย บอกว่าจะมีการบวชนายสละ เจิดสวัสดิ์ ที่วัดชะลอ ใกล้ที่ว่าการอำเภอบางกรวย ใครก็ไม่ทราบไม่รู้จักมักจี่มีเกี่ยวข้องอะไรกันแม้แต่นิดเดียว ตกลงเป็น “นิ่งเสียดี” เพราะในการ์ดก็มีแต่ว่า “ขอประทานทูลกราบเรียน เรียนเพื่อทรงทราบ และเพื่อทราบ” เท่านั้น ไม่ได้เคี่ยวเข็ญให้ทำอย่างไรจึงเป็นแต่ทรงทราบเท่านั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ