วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เพิ่ม

๑) เมื่อคราวก่อนได้กราบทูลมา ว่าจะกราบทูลเรื่องเตาเผาศพ จึงจะกราบทูลในบัดนี้ พอรถไปหยุดที่ประตูเหล็กในถนนโรงหมูซึ่งตัดใหม่ที่เชิงสะพานเจริญสวัสดิ์ข้างซ้ายทางภายในก็ตกใจเสียแล้ว ด้วยเคยผ่านไปหลายหน แต่ไม่ได้นึกเลยว่าที่นั่นเป็นวัดไตรมิตร เมื่อขึ้นรถที่บ้านปลายเนินก็บอกคนขับรถว่า “ไปวัดสามจีน” มันก็พาไปหยุดลงที่นั่นอย่างที่กราบทูล เขาก็พาไปนั่งที่ศาลาข้างเมรุเบื้องขวา เป็นศาลาไม้ทำใหม่ เตาเผาศพมีสามเตาทำไว้ในเมรุปูน เตากลางสำหรับเผาศพผู้มีบรรดาศักดิ์หรือศพผู้มีอันจะกินหันประตูเตาไปทางหน้าเมรุ สองข้างเป็นเตาเผาศพอนาถา หันประตูเตาไปทางหลังเมรุ มีทางในระหว่างเตาทั้งสามเป็นซอกอยู่สองข้างพอเดินไปได้ หลังเตามีกว้านเหล็กสำหรับไขเอาน้ำมันเข้าในเตา ใช้น้ำมันขี้โล้ มีหนังสือจารึกบนแผ่นทองเหลืองติดไว้ที่หลังเตากลาง แต่ตาไม่เห็น วานเขาอ่านมีชื่อญี่ปุ่นอยู่ในนั้น ญี่ปุ่นคนนั้นคงออกเงินให้ทำ มองเข้าไปในเตาเห็นมีรางซีเมนต์กว้างกว่าหีบศพเล็กน้อย บนปากรางมีเหล็กพืดพาดเป็นกระทง เข้าใจได้ว่าสำหรับรับหีบศพ แต่เมื่อไฟไหม้ศพกับทั้งหีบแล้วอังคารจะไปอยู่ที่ไหน ก็เห็นต้องตกลงไปคลุกอยู่กับน้ำมัน เมื่อไฟเลียน้ำมันแห้งไปหมดแล้ว ก็เห็นจะกวาดเอาอังคารรวมกันเป็นกองได้ แต่น่าจะไม่สู้สะอาดนัก เมรุนั้นมีมุขหน้ายาว มีกระไดขึ้น ๓ ด้าน ใช้เป็นที่ตั้งศพผู้มีบรรดาศักดิ์หรือผู้มีอันจะกิน ศพพระยาดำรงก็ตั้งในที่นี้บนชั้นกำมะลอ แต่วางหีบขวางกับเตา มีทางเหล็กอย่างเป็นร่องจากที่ตั้งศพกำมะลอตรงไปสู่ประตูเตากลาง เข้าใจว่ามีเลื่อนชักเอาศพเข้าไปสู่เตา แต่รูปร่างจะเป็นอย่างไรนั้นไม่เห็น เพราะเขาไม่ได้เอามาวางไว้ให้เห็น หีบศพพระยาดำรงนั้นมีหมอนรองหัวท้าย ใต้หีบบนพื้นชั้นนั้นลาดผ้าขาวเป็นที่วางธูปเทียนเผากันหลอกๆ หลังเมรุเป็นประตูใหญ่มีกระได มีมุขสั้นพอปรกกระได ไม่มีที่ตั้งศพ เข้าใจว่าศพอนาถาเอาขึ้นทางมุขหลังนี้ เมรุที่ว่านี้ทำไว้ที่หลังโบสถ์ มุขหลังเกือบติดระเบียงหลังโบสถ์ เชิงกระไดห่างจากระเบียงโบสถ์สักวาหนึ่งเห็นจะได้ ตรงหน้าเมรุมิตึกสองชั้นใหญ่ ถามได้ความว่าสำหรับกับเมรุ แต่แขกผู้หญิงในงานศพพระยาดำรงเขาจัดเข้ายัดให้นั่งไว้ที่ใต้กระไดชั้นล่างแห่งตึกนั้น คงเป็นประสงค์ที่จะให้เห็นแจ้ง เพราะถ้าจัดรับในตึกก็ลับไป

๒) รูปครุฑนั้น บรรดาเมืองใกล้เคียงกับเราที่รู้จักครุฑย่อมทำเป็นรูปคนปนนกกันทั้งนั้น แม้ในเมืองเราก็ทำรูปกันเป็นหลายอย่างไม่อยู่ที่ คงแล้วแต่จะเหมาะด้วยความประสงค์อันมีอย่างไร แต่คงเป็นรูปคนปนนกทั้งนั้น นิทานเดิมมีว่าพระกัศยปมหาพรหมมีชายาสององค์ ชื่อนางกทฺรุ กับนางวินตา นางกทฺรุออกไข่พันใบเป็นนาคพันตัว นางวินตาออกไขสองใบแต่ยังไม่แตกเป็นตัวเช่นไข่ของนางกทฺรุ ให้นึกริษยาจึ่งต่อยไขใบหนึ่งออกก็มีเพียงครึ่งตัว แล้วใครเอาไปตั้งไว้ที่รถพระอาทิตย์ให้เป็นสารถีก็ลืมเสียแล้ว อ่านมหาภารตยุทธ์ได้ทราบความ จะตามค้นก็เห็นสวะเต็มทีป่วยการ เรียกชื่อสารถีของพระอาทิตย์นั้นว่า “อรุณ” แต่รูปร่างจะเป็นอย่างไรไม่ได้กล่าวไว้ สันนิษฐานว่าคงนึกให้เป็นรูปคนจึงขับม้าได้ แต่หน้าจะเป็นคนหรือเป็นนกก็ไม่ทราบ ส่วนไข่อีกใบหนึ่งนั้นไม่กล้าต่อย รักษาไว้นับร้อยพันปีจึงแตกออกเป็นครุฑ ในที่นั้นพูดให้เข้าใจว่าเป็นนกแล้วก็กินนาค เหตุด้วยนางวินตาริษยานางกทฺรุ จึงขอพรต่อพระกัศยปให้ลูกของตนกินลูกของนางกทฺรุ พระกัศยปก็ให้พรอนุญาตตามเคย ครุฑจึ่งกินนาค ที่ทำรูปเป็นนกเป็นคนก็อย่างเดียวกันกับพระอาทิตย์ ชั้นแรกก็นับถืออ้ายก้อนแดงๆ ซึ่งให้แสงสว่างและความร้อนอันเป็นคุณแก่โลกก่อน แล้วทีหลังก็กลายเป็นคนเป็นเทวดาขึ้น ฉันใดก็ฉันนั้น ทางอย่างนี้มีมาก เช่น “นนทรี” เดิมทีก็หมายถึงวัวตัวที่พระอิศวรทรง แล้วก็กลายเป็นคนไป ตามที่เป็นดั่งนั้นก็หันมาเข้าทางธรรมดาโลก เมื่อพูดให้เป็นคนรูปก็ต้องเป็นคน ที่คนออกลูกเป็นไข่แตกเป็นสัตว์เดียรฉานนั้น “ผิดมนุษย์ม้วย” แต่ลิ้นกวีจะพูดว่ากระไรก็เป็นได้กัน

“หิมพานต์” เราแปลกันว่าป่าน้ำค้าง น้ำค้างของเราเป็นน้ำแต่ที่จริงคำ “หิมพานต์” แปลว่าป่าสโนว์ เราไม่มีสโนว์ ไม่รู้จักสโนว์เสียทีเดียวก็เลยไม่มีคำ

ย้อนหลัง

๓) ตามที่กราบทูลว่าไปเห็นเขาก่อตึกที่ชวา เขาไม่ต้องลงเข็มนั้น เป็นเห็นที่บนเขา ซึ่งใต้คลองรากคงเป็นหินอยู่แล้ว แล้วก็ทำเรือนชั้นเดียวอย่างเมืองชวามีพื้นเตี้ยๆ ไม่หนักนักด้วย

ข่าว

๔) เมื่อวันที่ ๒๐ นี้ สำนักพระราชวังส่งหมายขึ้นปีใหม่มาให้ มีหมายกำหนดการใบพิมพ์ส่งมาด้วย ๒ ฉบับ ได้แบ่งส่งมาถวายฉบับหนึ่งกับหนังสือนี้แล้ว

๕) กรมหมื่นเทววงศ์เธอมาหา เธอบอกว่าก่อนที่จะเข้ากรุงเทพฯ ได้ไปเที่ยวไทรโยค เธอถามถึงเมืองสิงห์ที่แม่น้ำกาญจนบุรีก็บอกเธอได้แต่ว่าเคยเห็นกองหินแลง แต่ที่ไหนได้ เธอไปเธอได้เข้าในปราสาทหินอย่างที่เคยกราบทูลว่า เห็นหนังฉายมีคนมุดเข้าไป เธอว่าก่อด้วยหินแลง แต่มีต้นไม้ปกคลุมอยู่โดยรอบ เธอว่าถึงปูนปั้นลายก็ยังมีอยู่ ซ้ำในนั้นยังมีไม้คร่าวเพดานอยู่ด้วย มีปราสาทหลายหลังแต่พังเสียบ้างยังอยู่บ้าง มีกำแพงล้อมรอบเป็นเขต เธอได้พบรูปซึ่งเหลือแต่ตะโพก เป็นรูปเทวดาทำด้วยหินตกอยู่หน้าสถาน เธอได้ฉายรูปและส่งรูปฉายมาให้ดูด้วย เห็นที่ยังเหลืออยู่ดีที่เป็นปรางค์อย่างเขมร แต่เอาเป็นแน่ไม่ได้ เพราะต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่เห็นไม่ชัด ผิดกับที่เคยเห็นไปมากนึกว่าเป็นคนละแห่ง ถ้าเป็นเช่นนั้นเมืองสิงห์ก็เป็นเมืองใหญ่ซึ่งมีคนอยู่มาแต่ก่อนมาก จึ่งมีสถานหลายแห่งตามที่มีหมู่บ้านซึ่งคนตั้งอยู่ แต่จะเป็นครั้งไหนคิดไม่เห็น

ลายพระหัตถ์

๖) ได้รับลายพระหัตถ์เวรปะปิด ซึ่งลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม เขาเชิญมาส่งเมื่อวันที่ ๒๒ ช้ากว่าที่ควรได้รับไปวันหนึ่ง แต่ไม่ผิดไปจากเคย คงได้รับไม่วันเสาร์ก็วันอาทิตย์เสมอ หากจะรอให้ได้รับลายพระหัตถ์เสียก่อนจึงลงมือเขียนสนอง ก็เป็นการฉุกละหุกไปเปล่าๆ มีเวลาว่างอยู่ก็เขียนอะไรไปก่อน อย่างหนังสือเวรที่ถวายมาก่อนๆ แล้วเป็นสะดวกกว่า สนองความในลายพระหัตถ์ไปอยู่ข้างหลังไม่เห็นเป็นไร จะได้กราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์เวรฉบับจึงได้รับนั้นต่อไปนี้

๗) ตามที่ตรัสปรึกษาด้วยเรื่องยศสมเด็จพระสังฆราช เห็นว่าการตั้งสังฆราช ก็โดยพระราชประสงค์จะให้เป็นสังฆราชปรินายกไม่ใช่ตั้งให้เป็นเจ้า ที่เอาคำเจ้าไปใช้ก็ประสงค์จะให้สูงขึ้น เป็นการทำนอกกฎหมาย ใช่แต่เท่านั้น ยังเอาคำสำหรับใช้แก่พระพุทธเจ้ามาใช้อีกด้วยเล่า ทำไมสงสัยไต่ถามแต่เรื่องเจ้า เรื่องเป็นพระพุทธเจ้านั้นไม่สงสัยหรือ นี่เป็นกราบทูลตามประสาที่ตรัสปรึกษา แล้วยังมีความเห็นต่อไปว่า ถ้ามีหนังสือมาทูลถามก็ควรตอบไปอย่างที่ไม่มีข้อพระวินิจฉัย เพราะจะตรัสพยากรณ์ไปอย่างไรก็เป็นความเห็นเอกชน ไม่สำเร็จผลอะไรไปได้ จะให้เขาไปถามเอาทางกระทรวงการดีกว่า

๘) ประหลาดที่ทางจีนก็ใช้คำตายต่างกันเป็นชั้นอย่างข้างไทย มีผู้รู้พูดว่าธรรมเนียมอะไรที่มาเหมือนกันเข้า ต้องวินิจฉัยไปเป็น ๓ อย่าง คือ ๑ เอาอย่างกัน ๒ ครูเดียวกัน ๓ เผอิญมาโดนกันเข้า เกล้ากระหม่อมเห็นด้วยเต็มตัว ถ้าจะวินิจฉัยในการใช้คำตายเป็นชั้นก็เห็นว่าเราคงเอาอย่างจีน เพราะบ้านเมืองอยู่ใกล้กัน แต่จีนเขาแก่กว่า ทั้งเราก็มีสัมพันธ์แก่เขามานานแล้วด้วย นี่ว่าแต่เพียงต้นเค้า ส่วนการเติมเข้านั้นเป็นธรรมดาต้องเติม

ในคำไทยที่ว่า “ขาดใจตาย” ตรัสเทียบด้วยคำ “ตายโหง” จะกราบทูลถึงคำ “โหง” ว่าทีจะไม่เป็นคำร้ายแรงอะไรเลย เพราะเคยเห็นในหนังสือเขมรมาหลายฉบับลงท้ายว่า “หง” จะเทียบเป็นคำไทยว่ากระไรก็เห็นมีแต่ทางเดียวว่า “แล” (คือ “แหล่) เท่านั้น คำว่า “ตายโหง” ก็ทีจะเป็น “ตายแล” (ตายแหล่) เท่านั้นเอง

การใช้คำว่าตายหลายอย่างเป็นลำดับยศนั้นลำบากมาก ทำให้เกิดการคิดหลบลำดับยศในคำว่าตายให้เป็น “มฤ” (มร) ไม่ให้พ้องกับที่ใช้อยู่ก็มี

๙) หญิงสี่กับชายฉัตรกลับเข้าไปถึงกรุงเทพฯ แล้ว ขนเอาของเข้าไปฝากเป็นกองสองกอง ของสิ่งหนึ่งทำให้ระลึกถึงฝ่าพระบาท คือด้ามไฟฟ้า มีรูปโคมขาวใบหนึ่งขาบใบหนึ่งติดอยู่ มีสวิตส์กดให้ไฟติดใบไหนก็ได้ สำหรับใช้เวลาเขาสั่งมืด ที่บางกอกมีเวลาสั่งน้อย แต่ที่ปีนังนั้นไม่ทราบ ทั้งโคมชนิดนั้นจะมีขายที่ปีนังหรือไม่ก็ไม่ทราบ ถ้าไม่มีและสั่งมืดบ่อยๆ จะส่งออกมาถวายก็ได้

๑๐) จะทรงตอบหนังสือเวรซึ่งถวายมาเมื่อไรก็ได้ หรือไม่ทรงตอบเลยก็ได้ เป็นแต่ให้ได้ทราบว่าได้ทรงรับหรือไม่ได้รับเท่านั้นก็พอใจแล้ว ถ้าไม่ได้ทรงรับจะได้คัดสำเนาส่งมาถวายอีก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ