วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวร ฉบับลงวันที่ ๓ มิถุนายนแล้ว โดยเรียบร้อย

ทูลเรื่องที่ยังค้าง

๑) ในลายพระหัตถ์เวรฉบับก่อนตรัสถามว่า การสร้างโบสถ์เป็นประธานของวัดจะเกิดขึ้นแต่เมื่อใด

จะทูลอธิบายตามที่หม่อมฉันได้เคยพิจารณาดูวัดโบราณซึ่งสร้างตั้งแต่ไทยเรารับคติอย่างหินยานจากลังกามาถือแล้ว ทั้งที่ในเขตกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา แบบที่สร้างวัดแปลงมาเป็นชั้นๆ ที่สร้างยุคแรกมีแต่พระสถูปเจดีย์กับวิหารเป็นประธาน น้อยวัดที่จะมีโบสถ์ โบสถ์ที่สร้างในยุคนี้ก็เป็นอย่างเล็ก ๆ ขนาดพอจุพระสงฆ์ทำสังฆกรรมได้สัก ๑๐ รูป และมักไปสร้างไว้ข้างนอก หรือตอนมุมกำแพงข้างในบริเวณพระเจดีย์วิหาร จะชี้ตัวอย่างได้ในเวลานี้ เช่น วัดพระฝางในแขวงจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นต้น

คิดดูว่าเพราะเหตุใดวัดในยุคนั้นจึงสร้างแต่พระเจดีย์กับวิหาร ก็พอเห็นเหตุได้ว่า ข้อสำคัญของการสร้างวัดเนื่องด้วยตั้งวงศ์สกุล อย่างมีคำพูดกันมาแต่ก่อนว่า “คนโบราณสร้างวัดให้ลูกเล่น ที่จริงนั้นคือเมื่อผู้ใดสามารถตั้งวงศ์สกุลได้ก็สร้างวัดไว้เป็นที่รักษาอัฐิธาตุของวงศ์สกุล มีพระสถูปเจดีย์ประจุพระบรมธาตุ หรือศาสนวัตถุสิ่งอื่นเป็นสรณะไว้เบื้องบน และบรรจุอัฐิธาตุของผู้เป็นต้นสกุลหรือทำกรุสำหรับประจุอัฐิธาตุสมาชิกในสกุลไว้ณเบื้องต่ำของพระเจดีย์นั้น ส่วนวิหารนั้นเป็นที่สำหรับญาติวงศ์ไปทำบุญ เพราะวัตถุที่ประสงค์ของการสร้างวัดไม่เกี่ยวแก่กิจของพระสงฆ์ ผู้สร้างโดยมากจึงเห็นไม่จำเป็นจะต้องสร้างโบสถ์ มีแต่บางคนซึ่งอยู่ในที่เป็นศาสนูปถัมภก หรือเป็นผู้มีกำลังและมีศรัทธามากจึงสร้างโบสถ์ อย่างเป็นการสงเคราะห์พระสงฆ์ เพราะฉะนั้น จึงมักสร้างโบสถ์ในที่ลี้ลับ ที่สร้างโบสถ์ขนาดเล็กๆ ก็เป็นเครื่องหมาย อันแสดงว่าในสมัยนั้นพระภิกษุสงฆ์ยังมีน้อย อยู่เพียงวัดละ ๒ องค์ ๑ องค์ ถึงเวลาจะทำสังฆกรรมไปรวมกันทำที่วัดมีโบสถ์อันอยู่ใกล้ก็พอแก่การ

พิเคราะห์ดูเหตุที่จะมีโบสถ์มากขึ้น คงเป็นเพราะความเจริญของพระศาสนาพาให้มีจำนวนพระภิกษุสงฆ์มากขึ้น ขนาดโบสถ์ที่สร้างไว้เล็กไปไม่พอพระจะนั่งทำสังฆกรรม และมีโบสถ์น้อยแห่งอยู่ไกลๆ กันลำบากแก่พระสงฆ์ที่จะไปรวมกันทำสังฆกรรม ข้อนี้เป็นมูลเหตุที่จะสร้างโบสถ์มากขึ้น

ตรงนี้จะแทรกวินิจฉัยว่าด้วยกรณีที่เป็นปัจจัยให้มีพระสงฆ์มากขึ้นเมื่อพระสงฆ์ยังมีน้อยนั้น คงมีล้วนแต่พระที่ตั้งใจจะถือเพศเป็นพระภิกษุปฏิบัติพระธรรมวินัย และสอนพระศาสนาอยู่จนตลอดชีวิต และได้เล่าเรียนมีความรู้ต่างๆ เช่นอักษรศาสตร์และศีลธรรมเป็นต้น ข้อนี้เป็นเหตุให้เจ้าของวัดหรือสัปปุรุษที่อยู่ใกล้เคียงวัด ส่งเด็กไปถวายเป็นลูกศิษย์อยู่ปรนนิบัติและเล่าเรียนวิชาในสำนักพระภิกษุ เมื่อเห็นได้ผลดีก็มีคนถวายลูกหลานเป็นศิษย์วัดอยู่เป็นลำดับ เด็กลูกศิษย์วัดบางคนมีเชาวน์ไว หรือมีศรัทธาใคร่จะเรียนรู้ให้ยิ่งขึ้นไป ขออนุญาตผู้ปกครองบวชเป็นสามเณรเล่าเรียนได้วิชาสูงขึ้นไป ก็เกิดความนิยมที่ให้ลูกหลานบวชเป็นสามเณรอยู่ชั่วคราว การบวชเป็นสามเณรอยู่ชั่วคราวจึงเกิดเป็นประเพณีในการศึกษาขึ้นก่อน ต่อมาคงเป็นเพราะสามเณรบางรูปรักเล่าเรียนวิชาความรู้ให้สูงขึ้นไป พากเพียรเรียนอยู่จนครบอุปสมบท ขออนุญาตผู้ปกครองบวชเป็นพระภิกษุ บางองค์ก็บวชอยู่หลายพรรษา ที่เคยบวชจนตลอดชีวิตก็มี แต่โดยมากบวชชั่วคราวเพียงพรรษาหนึ่งสองพรรษาแล้วก็ลาสิกขา ถ้าเปรียบกับการศึกษาในปัจจุบันนี้ เป็นศิษย์วัดเหมือนเรียนชั้นประถมศึกษา บวชเป็นเณรเหมือนเรียนชั้นมัธยมศึกษา บวชเป็นพระเหมือนเข้ามหาวิทยาลัย ในสมัยนั้นจึงเกิดประเพณีนับการบวชเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาของกุลบุตร รับเป็นประเพณีทั้งเมืองพม่า มอญ ไทย แต่ถือผิดกัน เมืองพม่า มอญ และไทยลานนา ลานช้าง กุลบุตรบวชเพียงเป็นสามเณรเป็นพื้น น้อยคนจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุด้วย แต่ไทยใต้ในกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร บวชทั้งเป็นสามเณรและเป็นพระภิกษุ ได้ยินว่าตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศกวดขันมาก ถ้าใครยังมิได้อุปสมบทไม่ทรงตั้งให้เป็นขุนนางทีเดียว แม้ที่เราทันเห็นเมื่อยังเป็นหนุ่มก็ยังถือกันมั่นคง ถ้าใครเว้นการอุปสมบทเรียกกันว่า “คนดิบ” ดูเป็นเสียหายไปอย่างหนึ่ง เมื่อมีประเพณีบวชในการศึกษาแพร่หลายก็เลยเข้าใจกันในพื้นเมืองว่า เกิดมาเป็นลูกผู้ชายแล้วจำต้องบวช การบวชนาคเลยกลายเป็นความนิยมของสัปปุรุษ แม้ไม่มีลูกหลานจะบวชหรือได้บวชคนอื่นแม้จนโปรดทาสโปรดเชลยได้บวชก็ยินดี การที่มีคนบวชมากขึ้นนั้นเองเป็นมูลเหตุที่ต้องมีเสนาสน์ตามวัดมากขึ้นให้พอพระอยู่ และต้องมีโบสถ์มากขึ้นและขนาดใหญ่ขึ้นให้พอพระทำสังฆกรรมได้สะดวก ตลอดไปจนสร้างโบสถ์ขึ้นในวัดในพระราชวัง เช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์และวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัยสำหรับบวชนาคหลวง โบสถ์จึงเป็นสิ่งสำคัญขึ้นด้วยประการฉะนี้

ได้พิจารณาดูลักษณะที่ทำโบสถ์ให้พอจำนวนพระมาก สันนิษฐานว่าแต่โบราณทำกัน ๓ อย่าง คืออย่างที่ ๑ รื้อโบสถ์เดิมถางใหม่ให้ใหญ่โต ตัวอย่างมีอยู่ที่วัดพุทไธสวรรย์พระนครศรีอยุธยาแห่ง ๑ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองลพบุรีแห่ง ๑ วัดพระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลกแห่ง ๑ และวัดมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราชด้วยอีกแห่ง ๑ ล้วนมีโบสถ์ใหญ่แต่อยู่นอกบริเวณพระเจดีย์วิหารทั้ง ๔ แห่ง อย่างที่ ๒ สร้างโบสถ์เพิ่มขึ้นใหม่ในพระเจดีย์วิหาร ตัวอย่างมีที่วัดพระศรีสรรเพชญ์พระนครศรีอยุธยาแห่ง ๑ และเข้าใจว่าที่วัดมหาธาตุเมืองสุโขทัยอีกแห่ง ๑ อย่างที่ ๓ ผูกสีมาวิหารเดิมแปลงเป็นโบสถ์ สังเกตดูวัดชั้นเก่าบางวัดมีโบสถ์อยู่หน้าพระเจดีย์แทนวิหาร ยกตัวอย่างดังเช่นวัดมเหยงคน์ และวัดกุฎีดาวที่กรุงศรีอยุธยาเป็นต้น และมีบางวัดที่ในเมืองสุโขทัยและเมืองสัชนาลัย ชวนให้เห็นว่า เมื่อแรกสร้างคงสร้างเป็นวิหารตามแบบเดิม ต่อภายหลังมาเมื่อใคร่จะให้มีโบสถ์ขึ้นในวัดนั้น คงแปลงวิหารเดิมเป็นโบสถ์ เพราะสะดวกกว่าสร้างโบสถ์ใหม่ และคงเป็นต้นแบบอย่างของการที่สร้างวัดมีโบสถ์เป็นประธานที่วิหารอย่างเดิม ถ้าหากจะสร้างวิหารด้วยก็ไปสร้างทางข้างด้านหลังพระเจดีย์

เรื่องนี้ดูเหมือนทูลกระหม่อม จะได้เอาเป็นธุระสอดส่องมาก สังเกตดูวัดที่ทรงสร้างใหม่หลายวัด ดูทรงสร้างอย่าง “ถอยหลังเข้าคลอง” คือวัดบรมนิวาศเป็นวัดแรก มีพระอุโบสถเป็นประธานอยู่หน้าพระเจดีย์อย่างวัด “สมัยใหม่” ในกรุงศรีอยุธยา ต่อมาถึงวัดมกุฎกษัตริย์ วัดโสมนัสวิหาร มีวิหารเป็นประธานอยู่หน้า ทำพระอุโบสถย่อมกว่าวิหาร ไว้ข้างด้านหลังพระเจดีย์ วัดปทุมวันก็เช่นนั้น เป็นแต่พระอุโบสถอยู่หน้าวิหารอยู่ด้านหลัง ใช้แบบถอยขึ้นไปเป็นอย่างสมัยสุโขทัย ถึงวัดราชประดิษฐ์มีแต่พระเจดีย์กับวิหาร ไม่มีพระอุโบสถทีเดียว ย้อนขึ้นไปถึงชั้นแบบเดิม เพราะทรงแก้ไขเรื่องทำสังฆกรรมให้สะดวกได้ด้วยผูกเป็นมหาสีมาทั้งวัดมกุฎฯ วัดโสมนัสฯ และวัดราชประดิษฐ์

เรื่องนี้ทูลอธิบายบรรเลงมายืดยาว ถ้าทูลสนองโดยย่อตามที่ตรัสถามว่า การสร้างโบสถ์เป็นประธานของวัดเกิดขึ้นแต่เมื่อใด เห็นว่าน่าจะเกิดขึ้นเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วถือเป็นสืบมาในกรุงรัตนโกสินทร

๒) เรื่องพระธรรมยุตที่มาสอนพระศาสนา กลับไปกรุงเทพฯ นั้น ต้องทูลย้อนถึงเรื่องเดิมตั้งแต่ก่อนหม่อมฉันออกมาอยู่ปีนัง มีจีนพวก ๑ คิดตั้งสมาคมบำรุงพระพุทธศาสนา เรียกชื่อว่า “พุทธศาสนิกสมาคม” Buddhist Association สมาคมนั้นได้รับสงเคราะห์ของรัฐบาล ยอมให้ออกฉลากกินแบ่งเดือนละครั้ง ๑ หาทุนได้มากจนถึงสามารถซื้อที่สร้างวัดใหญ่ได้ที่ตำบลดาโต๊ะกรหมัดแห่งหนึ่ง เมื่อท่านเสด็จมาปีนังดูเหมือนจะได้เคยเสด็จไปทอดพระเนตรวัดนั้นแล้ว แต่ต่อมาเมื่อสัก ๒ ปีนี้ รัฐบาลเลิกอนุญาตให้ออกฉลากกินแบ่ง สมาคมนั้นได้อาศัยแต่ทุนที่ได้สะสมไว้ ถึงตอนนี้มีจีนอีกพวก ๑ คิดตั้งสมาคมบำรุงพระพุทธศาสนาขึ้นใหม่ เรียกว่า “ญาโณทัยพุทธศาสนิกสมาคม” Nanodaya Buddhist Association อ้างเหตุว่า เพราะสมาคมก่อนบำรุงพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานซึ่งพวกเขาไม่เลื่อมใส จึงตั้งสมาคมใหม่เพื่อจะบำรุงพระพุทธศาสนาทางลัทธิหินยาน พวกแซ่ลิม เจ้าของวัดศรีสว่างอารมณ์อยู่ในพวกที่ตั้งสมาคมใหม่ ยอมโอนวัดนั้นให้ไปอยู่ในสมาคมด้วย พวกกรรมการชั้นแรกที่ตั้งญาโณทัยสมาคมล้วนเป็นคนชั้นผู้ใหญ่เข้าชื่อกันยื่นเรื่องราวต่อเถรสมาคม คณะธรรมยุติกาในกรุงเทพฯ ขอพระสงฆ์ออกมาสอนพระพุทธศาสนา ณ เมืองปีนัง พวกสมาคมรับจะจัดที่ให้อยู่ ณ วัดศรีสว่างอารมณ์ และจะรับเลี้ยงดูอุปการะพระสงฆ์ด้วยประการทั้งปวง เถรสมาคมธรรมยุติกาจึงจัดให้พระมหาภุชงค์กับพระมหามุกด์ วัดราชประดิษฐ์ ออกมาสอนพระศาสนาตามประสงค์ของพวกญาโณทัยสมาคม การชั้นที่ตั้งสมาคมและที่ขอพระธรรมยุติ ตลอดจนที่เถรสมาคมให้พระออกมา แต่เดิมหม่อมฉันหาได้ทราบไม่ จนพระออกมาถึงเมืองปีนัง เธอมาหาหม่อมฉันเอาลิขิตของสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์มีมาในนามของเถรสมาคมมาให้ ขอฝากพระที่มาให้หม่อมฉันช่วยอุปการะแนะนำด้วย จึงได้ทราบเรื่องเป็นทีแรก แต่หม่อมฉันก็รับเอาเป็นธุระด้วยความยินดี และได้อุปการะมาตามสมควร ตั้งแต่พระธรรมยุตออกมาอยู่วัดศรีสว่างอารมณ์ ก็ได้ประพฤติกิจตามพระธรรมวินัยและสอนพระศาสนาโดยเรียบร้อย มีผู้คนเลื่อมใสมากขึ้นโดยลำดับมากว่า ๒ ปี แต่มาเกิดเหตุลำบากขึ้นด้วยเมื่อถึงคราวเปลี่ยนกรรมการของสมาคม กรรมการชุดใหม่ล้วนเป็นคนชั้นหนุ่ม พวกกรรมการชุดผู้ใหญ่ที่เป็นเจ้าของวัดและได้ขอพระออกมาถึงคราวต้องออกจากตำแหน่ง หม่อมฉันสันนิษฐานว่ามูลเหตุจะเป็นด้วยเงินทุนของสมาคมบกพร่อง ด้วยได้เงินเรี่ยรายไม่มากเหมือนคาด และบางทีจะเป็นเพราะรัฐบาลไม่อุดหนุนเหมือนเช่นเคยอุดหนุนสมาคมก่อนด้วย อย่างไรก็ดีพวกกรรมการชุดหนุ่มคิดจะตัดรายจ่ายของสมาคม คือค่าอุปการะพระที่ออกมาสอนพระศาสนาเป็นต้น ให้ต้องจ่ายเงินน้อยลงเอาทุนไปปลูกฝังให้เกิดดอกผลสำหรับใช้ในการสมาคม โดยความคิดนั้น พวกกรรมการชุดหนุ่มอยากจะคืนพระกลับไป แต่พวกชุดผู้ใหญ่ที่เคยเป็นกรรมการไม่เห็นชอบด้วย ต่างยืนเรื่องราวต่อเถรสมาคมแย้งกัน พวก ๑ ขอให้เถรสมาคมเรียกพระกลับ พวก ๑ ขอให้พระอยู่ต่อไป เถรสมาคมสั่งมาให้ปรึกษาหม่อมฉัน ๆ เห็นว่าเหตุที่พระออกมาเป็นการระหว่างสมาคมญาโณทัยกับเถรสมาคม ไม่เกี่ยวแก่บุคคลจำพวกใด อีกประการหนึ่งเถรสมาคมให้พระออกมาเพื่อจะสอนพระศาสนาแก่บุคคลทุกจำพวกเสมอหน้ากัน เมื่อเกิดแตกต่างกันขึ้นในสมาคมเช่นนั้น ควรเถรสมาคมจะเรียกพระกลับไปเสียเอง หาควรให้สมาคมตัดสินว่าจะให้พระกลับหรืออยู่ต่อไปไม่ เมื่อความเห็นของหม่อมฉันรู้ไปถึงพวกสมาคม พวกชุดผู้ใหญ่ไปประชุมกับพวกกรรมการชุดหนุ่มว่ากล่าวตกลงกัน พวกกรรมการชุดหนุ่มเขียนจดหมายถึงเถรสมาคมอีกฉบับ ๑ ว่าที่ได้ขอให้พระกลับนั้น เพราะปรารภด้วยค่าใช้จ่ายเท่านั้น แต่ถ้าพระยังจะอยู่ที่วัดศรีสว่างอารมณ์สมาคมก็รับจะเลี้ยงดูต่อไป คือเป็นการถอนจดหมายที่ขอคืนพระ เหตุการณ์ก็สงบมาคราว ๑ แต่ทั้ง ๒ พวกไม่ปรองดองกันได้จริง ข้างพวกชุดผู้ใหญ่ก็จะถอนวัดศรีสว่างอารมณ์ออกจากสมาคม พวกชุดหนุ่มก็ยังจะคิดตัดค่าเลี้ยงพระ หม่อมฉันทราบว่าเป็นเช่นนั้น เห็นว่าจะให้พระอยู่สำหรับพวกสมาคมทำให้เป็นไปได้ต่างๆ หาสมควรไม่ จึงแนะนำให้เถรสมาคมเรียกพระกลับไปเสีย หม่อมฉันไปส่งพระเมื่อก่อนวันจะกลับ เห็นอุบาสก อุบาสิกา พากันมาส่งมาก สังเกตดูล้วนมีความอาลัย ได้ยินว่าที่มาร้องไห้ก็มี

สนองความในลายพระหัตถ์

๓) ตรัสมาถึงเคยทรงฟังแขกชาวอินเดียสวดทำนองคล้ายสรภัญญะ ทำให้หม่อมฉันนึกขึ้นถึงทำนองสวดแปลกๆ ที่หม่อมฉันได้เคยฟังเมื่อไปนครวัด เย็นวันหนึ่งหม่อมฉันขึ้นไปเดินดูพระระเบียงชั้นกลาง ได้ยินเสียงพระสงฆ์สวดอยู่ในองค์พระปรางค์ชั้นยอดเป็นทำนองเหมือนภาณยักษ์ แต่ไม่มีกระโชกกระชากฟังเพราะจับใจ อยากจะนิมนต์มาสวดให้ฟังแต่ต้น อุส่าห์ทนปีนบันไดขึ้นไปจนถึงในปรางค์ แต่พระสวดจบลงบันไดทางด้านอื่นไปเสียหมดแล้ว ไม่รู้ว่าอยู่วัดไหนก็จนใจไม่สมหมาย อีกอย่าง ๑ เมื่อยังหนุ่มได้เคยฟังพวกนักสวดเขาสวดเรื่องพระพุทธโฆษา เป็นทำนองลังกา ตอนพระอินทร์พาเทวดาลงมาช่วยโล้สำเภา พระพุทธโฆษามีคาถาว่า สุเร สุร สุรม เป็นต้น เชื่อว่าท่านก็คงเคยได้ทรงฟังแล้ว แต่เขาสวดในกระบวนเล่นตลกหน่อยหนึ่งก็เปลี่ยนเป็นอื่นไมเคยได้ยินจนจบ ก็นึกว่าเป็นของพวกนักสวดแต่งเล่น หมู่นี้หม่อมฉันอ่านหนังสือวิสุทธิมัคค์ที่มหากิมแปลให้ขุนโสภิตอักษรการ (แห) พิมพ์ ณ โรงพิมพ์ไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ ตอนจบท้ายเล่ม ๖ เขาพิมพ์เรื่องพุทธโฆษนิทานไว้ด้วย เมื่ออ่านดู “หูผึ่ง” ด้วยเห็นได้ว่าหนังสือเรื่องนี้เองที่พวกนักสวดเอาไปสวด และบางทีรูปภาพเรื่องพระพุทธโฆษาซึ่งทูลกระหม่อมโปรดให้เขียนในโบสถ์วัดมหาพฤฒาราม ก็จะออกจากหนังสือเรื่องนี้เอง ยังมีเรื่องและคาถาแปลกเช่นนั้นกว่าที่พวกนักสวดๆ อีกมาก ควรนับว่าเป็นหนังสือแต่งนอกรีตน่าอ่าน ถ้าไม่มีที่ตำหนักโปรดให้ชายงั่วไปหามาถวายก็เห็นจะได้ ควรทรงอ่านเฉพาะตอนท้ายเล่ม ๖ เล่มเดียวเท่านั้น

คิดต่อไปถึงทำนองสวด ดูขึ้นชื่อว่าสวด คือท่องว่าอะไรยาวๆ แล้วเป็นต้องมีทำนองหมดทุกอย่าง เบื้องต้นแต่กล่อมเด็ก ขับเสภา อ่านหนังสือ หรือเทศน์ให้คนฟัง ถึงไม่จงใจ สำเนียงและกระบวนที่กล่าวคำเข้ากันเป็นทำนองๆ ของใครไพเราะชอบหูก็จำอย่างไปใช้เช่นนั้นบ้าง แม้ทำนองเทศนาของพระมหาเถรแต่ปางก่อน ก็มีผู้นำเอาไปให้ชื่อ เช่นเรียกว่า “ทำนองกระต่ายติดแร้ว” “ทำนองแก้วป้อนลูก” เป็นต้น เอาเป็นแบบอย่างเทศน์กันต่อไป ท่านทรงจำได้หรือไม่ พระราชาคณะที่เทศน์ทำนองอย่างเก่าองค์หลังที่สุดคือ พระธรรมดิลก (น่วม) วัดสระเกศ ฟังไพเราะมาก ตั้งแต่สิ้นท่านองค์นั้นแล้วก็ไม่ได้ยินทำนองอย่างเก่าอีก

๔) เรื่องที่ใช้อักษร ร กับ ล สับปลับกันนั้น หม่อมฉันมีโบราณคดีที่จะเล่าบรรเลงถวาย เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จเลียบหัวเมืองมณฑลฝ่ายเหนือ ใน พ.ศ. ๒๔๔๕ หม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปรับเสด็จที่ชายแดน แล้วลงเรือพระที่นั่งโดยเสด็จสำหรับกราบทูลสนองพระราชดำรัสถามกิจการต่างๆ ถ้าเสด็จประพาสเฉพาะอำเภอให้นายอำเภอเป็นผู้ทูลสนอง ครั้งนั้นใครทูลสนองต้องพระราชหฤทัยก็โปรด ถึงได้รับพระราชทานบำเหน็จก็มี เช่นเจ้าพระยามุขมนตรี (อวบ เปาโรหิต) เวลานั้นยังเป็นที่พระวิเศษชัยชาญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองไปรับเสด็จ ทรงซักไซ้ไปกลางทางทูลสนองได้พอพระราชหฤทัย เสด็จไปถึงเมืองอ่างทองตรัสชมว่า พระวิเศษชัยชาญเอาใจใส่สอดส่องรู้กิจการบ้านเมืองดี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาอินทรวิชิต ในเวลาประทับอยู่ที่เมืองอ่างทองนั้น เมื่อเสด็จประพาสอำเภอเมืองสรรคบุรี ก็ตรัสชมหลวงสรรคบุรานุรักษ์ (ฉาย) นายอำเภอ เป็นเหตุที่ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระวิเชียรปราการ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ครั้นเสด็จถึงเมืองนครสวรรค์ วันหนึ่งเสด็จประพาสตลาดปากน้ำโพ ขุนทิพบุรารักษ์ นายอำเภอเป็นผู้นำเสด็จประพาสตลาดบก แล้วขากลับเสด็จลงเรือพระที่นั่งคอนโดเลอพายประพาสทางแม่น้ำ ขุนทิพบุรารักษ์ลงนั่งที่กระทงท้ายเรือหลังที่ประทับ พอออกเรือ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงผันพระพักตรไปตรัสถามขุนทิพ ฯ ว่า “เจ้าเป็นที่อะไร” ขุนทิพฯ กราบทูลฯ ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าเป็นที่ขุนทิพบุลาลักษ์” พอได้ทรงฟังก็สบัดพระพักตรหันมาตรัสแก่เจ้านายว่า “อ้ายเอา ร เป็น ล นี่มันเกิดขึ้นในแผ่นดินพระจุลจอมเกล้าแท้ๆ แต่ก่อนหามีไม่” แล้วเลยตรัสเล่าต่อไปว่า เมื่อรัชกาลที่ ๔ เกิดพูดเสียง ร เจือ ว (ที่กรมหลวงประจักษเขียนว่ากะหยะ กะเยียม เพราะไม่มีตัวอักษรที่จะเขียนเสียงนั้นได้) เพราะลิ้นสมเด็จเจ้าพระยาว่าเสียง ร ไม่ชัด คนอื่นก็เอาอย่างไปพูดเสียงเช่นนั้นบ้าง (คือในพวก อมาตยกุล เป็นต้น) แต่เมื่อสิ้นสมเด็จเจ้าพระยาแล้ว เสียงเช่นนั้นก็หายไป แต่มาเกิดเอา ร เป็น ล แทน หม่อมฉันนั่งฟังตรัสออกนึกสงสารขุนทิพฯ ว่าเคราะห์ร้าย ถ้าไม่ทูลเอา ร เป็น ล บางทีก็เห็นจะตรัสชม แต่เรื่องเอา ร เป็น ล อย่างประหลาดยิ่งนั้นที่ภาษาจีนไม่มีสำเนียง ร พูดใช้ ล แทน และภาษาญี่ปุ่นไม่มีสำเนียง ล พูด ใช้ ร แทน ไฉนจึงมาตรงกับไทยเอา ร เป็น ล ดูน่าพิศวง แต่พิเคราะห์ดูมิใช่ไทยเอาอย่างจีนและญี่ปุ่นมาพูดเอา ร เป็น ล เพราะเป็นแต่บางคน น่าจะเป็นด้วยเอาอย่างไทยด้วยกันเองดังพระราชดำริ แต่โรงเรียนแก้ไขได้มากแล้ว จีนและญี่ปุ่นรุ่นหลังก็ว่าได้ถูกทั้ง ร, ล ไทยที่ชอบเขียนเอา ร เป็น ล ดูก็น้อยลงมากแล้ว

๕) ข้อที่คำพูดเสียงเดียวกันหมายความต่างกัน แต่อาจจะเข้าใจได้ด้วยอาศัยคำอื่นอันอยู่ใกล้เคียง อังกฤษเรียกว่า Context นั้น จริงดังทรงพระดำริ คำเช่นนั้นที่น่ากลัวอย่างยิ่ง คือ คำ ใกล้ กับ ไกล อันหมายความตรงกันข้าม มีที่สังเกตว่าผิดกันเพียงเสียงไม้โท แต่ก็ไม่เห็นใครเข้าใจผิด เพราะคงมีคำประกอบให้เข้าใจเช่นว่า “ใกล้แล้ว” หรือ “ยังไกล” เป็นต้น การใช้วรรณยุกต์หมายเสียงสูงต่ำจะว่าไม่จำเป็นก็ว่าได้ เช่นพระยาคำแหงสงคราม (จันท์) แกชมว่า “กรมขุนสรรพสิทธิท่านเป็นช้างใหญ่” ก็ไม่มีใครเข้าใจผิด หนังสือเขียนกันแต่ก่อนสมัยมีโรงเรียนก็มิใคร่ใช้วรรณยุกต์ เราอ่านก็ไม่เคยเข้าใจผิด

๖) ที่ต้องทรงทิ้งวังท่าพระ ไปประทับที่ตำหนักปลายเนินเพราะไปเคยพระองค์เป็นเหตุนั้นมิใช่แต่พระองค์ท่าน แม้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ต้องทิ้งพระบรมมหาราชวังด้วยเหตุอย่างเดียวกัน เมื่อตอนแรกสร้างพระราชวังดุสิต ก็ทรงพระราชดำริจะสร้างเป็นที่สำหรับประทับชั่วคราว เคยตรัสแก่หม่อมฉันว่าจะเสด็จออกไปประทับทุกปลายสัปดาหะ (Week End) คือวันเสาร์กับวันอาทิตย์ หม่อมฉันเคยกราบทูลสนองว่า “ข้าพระพุทธเจ้าเกรงแต่จะทรงพระเสียคน เมื่อคุ้นอากาศสบายแล้วจะทนที่ในวังไม่ไหว” ต่อนั้นมาไม่ถึงปี เสด็จประทับอยู่ในวังเวลาสงกรานต์หม่อมฉันเข้าไปเฝ้า พอทอดพระเนตรเห็นก็ตรัสว่า “กรมดำรง ฉันเสียคนเสียแล้วอย่างเธอว่า ปีนี้เข้ามาถูกร้อนในวังถึงเป็นลม”

๗) เทียนที่เขาให้มาทูลลาตายนั้น หม่อมฉันเคยสังเกตว่าผิดเทียนอื่นเพียงเมื่อจับขี้ผึ้งมักบุบเข้าไป เพิ่งมาทราบว่าเป็นกลอุบายค้าขายของคนฟั่นเทียนขาย เมื่อตรัสบอกมาในลายพระหัตถ์ และขอบใจคุณโตผู้เผยแผ่ความรู้ด้วย

ข่าวทางปีนัง

๘) มีความรู้แปลกที่จะทูลเรื่อง ๑ ด้วยเมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าของตึกซินนามอนฮอลเขาขออนุญาตให้ฝรั่งคน ๑ มาตรวจดูตามห้องที่ในเรือน เขาบอกว่าเพื่อจะจัดการกันปลวกขึ้น ต่อมาเขาตกลงกันกับบริษัทที่ไปรับปราบปลวกให้คนมาลงมือทำการปราบอยู่แล้ว วิธีปราบปลวกที่ทำนี้เป็นอย่างใหม่ ว่าคิดขึ้นได้ในออสเตรเลีย ด้วยมีผู้เชี่ยวชาญวิชาตรวจพบแมลง Microbe อย่าง ๑ ซึ่งไม่ให้ร้ายมนุษย์แต่เป็นเชื้อโรคแก่ปลวก เขาเอาตัวแมลงนั้นประสมกับอาหารล่อให้ปลวกกิน นัยว่าเมื่อปลวกตัวใดกินแมลงนั้นเข้าไปก็เกิดเป็นทรพิษติดตัว แล้วพาพิษไปติดต่อถึงพวกปลวกเป็นโรคระบาดอาจจะตายได้หมดทั้งรัง แป้งปราบปลวกนั้นทำได้ด้วยไม่ต้องลงทุนมาก จึงมีพวกตั้งบริษัทรับจ้างปราบปลวกเรียกค่าจ้างย่อมเยากว่าปราบด้วยวิธีอย่างอื่น จึงมีผู้เจ้าของบ้านเรือนจ้างกันมาก หม่อมฉันพิจารณาดูวิธีปราบที่พวกบริษัทมาทำ ณ ซินนามอน ฮอล ดูเหมือนชั้นแรกผู้ชำนาญมาตรวจก่อน ว่ามีปลวกอยู่ที่ตรงไหนบ้าง หมายที่ตรงนั้นไว้ แล้วให้ลูกน้องมาทำการปราบ แต่ละคนมีคบไฟฟ้าดวง ๑ เหล็กแหลมอัน ๑ กับกลักยาและเครื่องฉีดสำรับ ๑ เที่ยวดูตามที่หมายไว้ เอาไฟฟ้าส่องและเอาเหล็กแหลมคว้านขยายรูจนเห็นตัวปลวกแล้วก็ฉีดแป้งยาพิษเข้าไป เวลานี้ยังไม่เห็นผลปรากฏว่าจะเป็นอย่างไร แต่ในแหลมมลายูตอนใต้รวมทั้งเมืองสิงคโปร์และปีนังปลวกชุมกว่าในเมืองไทยมาก ถ้าบริษัทปราบปลวกได้ดังอ้างก็เห็นจะรวย เพราะเขาปิดสรรพคุณยาปราบปลวกไว้เป็นความลับ ปราบด้วยวิธีนี้ได้แต่พวกเขาบริษัทเดียว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ