บันทึก เรื่องพิธีตรุษ

ถวาย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ได้อ่านเรื่องพิธีตรุษตลอดแล้ว ทางประพันธ์เป็นเก็บตำราเก่ามาทั้งเป็นรูปแล้วก็ทรงพระวิจารณ์ จะกราบทูลลางข้อที่รู้เห็นและถึงที่แล้ว ตามลำดับหน้ากระดาษต้นฉบับต่อไปนี้

๑) นามสมเด็จพระสังฆราชอันมีว่า “สมเด็จพระอริยวงศญาณ” จะขนานขึ้นเป็นต้นแต่พระอริยมุนีมาก็เป็นได้ไม่ขัดข้อง หรือจะขนานนามนั้นขึ้นภายหลัง หมายความว่าเป็นผู้สืบมาแต่พระอริยมุนี อย่าง “สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์” ก็เป็นได้เหมือนกัน (หน้า ๓)

๒) “วัดบางหว้า” ทีจะหมายถึงต้นหว้า เดี๋ยวนี้เรียกว่าบางหว้า ตัว ห นำหายไป ทำให้เข้าใจใกล้ไปทางกล้วยน้ำว้า เห็นจะผิดความหมายกับที่หมายแต่ก่อน (หน้า ๕)

๓) “จักร” แม้พูดขึ้นเดี๋ยวนี้ก็เข้าใจกันว่าเป็นจักราวุธแต่อย่างเดียว ที่แท้เป็นคำตัดเอาแต่ต้นมาพูด จักร แปลว่า วง เท่านั้น มีอย่างในคำของเราว่า “อาณาจักร” เป็นต้น หมายความว่าวงอาญา ที่ใช้คำว่า “มงคลจักร” ก็คือวงมงคล ถูกที่สุดแล้ว (หน้า ๘)

๔) “สองปัก” (หน้า ๙) เราเรียกกันว่า “ถมปัก” ก็มี “สมปัก” ก็มี ทีหลังพบในหนังสือเขมรเขียน “สมปัต” เห็นใกล้กับคำสมปัก จึงตื่นเต้นเก็บเอาไปพูดที่หอพระสมุด ศาสตราจารย์เซเดส์บอกว่า เขมรเขาอ่าน “ซอมป้วต” ดังไถลไปอีกทางหนึ่ง ในตำราพิธีตรุษนครศรีธรรมราชเขียนว่า “สองปักลายถม” คำสองปัก จะเป็นสองปักษ์ หมายว่าสองปีก หรือสองปาก หมายว่าสองชายก็ได้ คำลายถมเห็นจะหมายว่า ลายถมน้ำยา คือ ตีพิมพ์ลายสี ก็มาเข้าลอยกับที่เรียก “นุ่งเกี้ยวลาย” กันอยู่เดี๋ยวนี้ แต่ทีจะเป็นเรียกผิด เกี้ยวลายคววรจะผ้าลายคาด หรือแต่ก่อนโน้นจะเรียกการนุ่งผ้าทับกางเกงว่าคาด ก็ไม่ทราบ สังเกตรูปภาพเขียนกัน เห็นนุ่งผ้าถกสูงขึ้นไปกว่าที่นุ่งกันเดี๋ยวนี้มาก ในตำราแต่งพระองค์ของเก่า ซึ่งเคยโปรดประทานไปให้พิจารณาคราวหนึ่งนั้น จำได้ว่าในนั้นมีแต่พระองค์ทรงประพาสดูมีแต่พระสนับเพลา ไม่กล่าวถึงทรงพระภูษาทับ

๕) สายสิญจน์ จะเป็นสิญจ หรือ สิญจน (ลง น อาคม) ก็แปลว่ารดน้ำเหมือนกัน คำนี้ทีจะมาจากเอาด้ายไปผูกกับมงคลแฝดในการรดน้ำแต่งบ่าวสาว ที่เรียกว่า “มงคลสูตร” (หน้า ๙) นั้นดีมาก เสียแต่ชื่อนั้นไปพ้องเข้ากับชื่อสกดมนต์อันหนึ่ง ถ้าจะเปลี่ยนคำสูตรเสียเป็นภาษาไทยว่า “สายมงคล” ก็จะได้ใช้ดีกว่าเรียกว่าสายสิญจน์

๖) ในการจัดแม่มดมาแทนยักษ์ (หน้า ๑๓) เคยได้เห็นตำราพิธี ๑๒ เดือนทางเมืองเขมรก็มี ว่าจัดแม่มดมาให้รำอยู่ข้างพระที่นั่ง แล้วจัดพนักงานขี่ม้าผูกด้วยฟาง (ทีจะเป็นม้าแผงอย่างโขน) ให้มาไล่แม่มดออกไปจากวัง ทั้งนี้ก็เป็นพิธีของพราหมณ์ เห็นเขียนไว้ในเล่มเดียวกันกับเรื่องครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร ตามที่ทรงพระดำริว่าเอาทางพระพุทธศาสนาเข้าประกอบทีหลังนั้น ถูกอย่างยิ่ง

๗) “ปริถิว” (หน้า ๑๔) คือ ปฐวี ตั้งใจจะเขียนตามเสียงสังสกฤต หนังสือสังสกฤต เขียน “ปฤถิวี” หรือ “ปฤถวี” ก็มี

๘) “ท้าวเวชสุวรรณไพศพ” (หน้า ๑๕) เห็นชื่อนี้ในประกาศนครศรีธรรมราชก็นึกขัน เพราะเคยเกณฑ์ขอแรงท้าวกุเวรุราชให้มีชื่ออย่างนั้นมาคราวหนึ่งแล้ว ด้วยนามหนึ่งของท่านในภาษาสังสกฤตมีว่า “ไวศฺวรวณ” (ที่มาเป็น “เวสฺสวณฺณ” ในภาษามคธ) หมายความว่า เกิดแต่ วิศฺรว (คือลูก) เขียนชื่อให้ท่านเป็น “ไพศรพณ์” โดยไม่ได้เห็นประกาศพิธีตรุษนครศรีธรรมราชนี้เลย คควรหรือความคิดมาพ้องกันเข้าได้ที่เกณฑ์ขอแรงให้ท่านชื่อพระไพศรพณ์นั้น เพราะแค้นที่ค้นชื่อ “พระไพสบ” ซึ่งเราเข้าใจว่าเป็นข้าวหรือเทวดาเจ้าข้าวไม่พบ จึงใช้ชื่อนั้นแต่งบทระบำละครดึกดำบรรพ์ ให้ท้าวกุเวรุมีชื่อว่าพระไพศรพณ์ เพื่อจะไม่ให้ชื่อนั้นสูญไปเสีย แต่มาภายหลังมาคิดว่าหรือจะเป็นวัว ในนามว่า “พฤษภ” อันเกี่ยวแก่นาจึงเนื่องมาถึงข้าว นึกได้ว่าเคยเห็นรูปวัวหล่อตั้งบนโต๊ะจีนในพิธีแรกนา ตามหาหมายเพื่อจะรู้ว่าเขาเรียกอะไรก็ไม่พบ ทีหลังมาเห็นพระธรรมนูญบอกการใช้ตรา ๙ ดวง ของเสนาบดีกรมนาในหน้า ๕๑ มีตราดวงหนึ่งเรียกว่า “พระไพสพทรงเครื่องยืนบนแท่น” ดูท่วงทีเป็นวัว แต่ไม่ได้บอกไว้ชัด จึงต้องตามดูรูปในดวงตราก็เป็นวัวจริงๆ สมอย่างคาด

๙) “กัมภูฉัตร” (หน้า ๑๕) คำนี้เป็นคำเก่าแก่แต่ฉงนอยู่ว่ากัมภูนั้นเป็นอะไร อยู่ตรงไหนที่ฉัตร แม้จะมีคนเข้าใจว่าอะไรเป็นกัมภูก็เอาเป็นหลักที่แน่ไม่ได้ ได้เคยตรวจศัพท์นั้นในพจนานุกรมหลายฉบับ ก็ไม่ได้ความแปลที่พอใจ อันจะเอามาประกอบกับฉัตรได้ ภายหลังได้เห็นหนังสือ “พระราชวิจารณ์” มีพระนาม “พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร” ก็ให้เห็นว่า คำนี้เองคือกัมภูฉัตร แต่แล่นไปเสียเมืองเขมร “กัมพุชฉัตร” แปลว่าฉัตรเมืองกัมพุช คือ เขมร ถ้าจะพิจารณาไปอีกทางหนึ่ง ฉัตรที่มีเทวดารักษาก็จะต้องเป็นฉัตรสำคัญอันเป็นหลักของบ้านเมือง ที่เชิญเทวดารักษากัมภูฉัตรให้มาช่วยทำอะไรต่างๆ ก็ได้แก่เชิญพระสยามเทวาธิราช ให้มาช่วย

๑๐) “พระฤาษีเทวะชิต” (หน้า ๑๘) มีวงเล็บต่อไว้เป็น (? บิต) เห็นแน่ทีเดียวว่าจะต้องเป็นเช่นคาดในวงเล็บ ชื่อนั้นเห็นเขียนกันเป็น “เทวบิฐ” ก็มี แต่ไม่เห็นชอบด้วย เพราะแปลว่าเก้าอี้เทวดาไม่ได้ความ อยากเขียนหรือได้เขียนไปแล้วเป็น “เทวบิตร” เพราะนามหนึ่งแห่งพระอิศวรมีเรียกว่า “เทวบิตร” คำ “พระฤาษี” ที่นำหน้าอยู่ก็ไม่ขัดข้อง เพราะพระอิศวรก็เป็นฤษีอยู่แล้ว ตามที่ตรัสเทียบด้วย “พระเทพบิดร” นั้นเห็นตรงทีเดียว เป็นของหมิ่นๆ แต่ไม่เคยคิดไปถึง รูปพระเทพบิดรนั้นแปลว่าทำรูปพระอิศวร

๑๑) ในการที่เอาหนังสือไว้ให้ผู้นั่งปรกอ่านทาน ส่วนการสวดใช้สวดปากเปล่า (ในหน้า ๑๐ และ ๒๒) นั้น เป็นวิธีเก่า แม้ทางอินเดียเขาก็ชอบปากเปล่า เรียกว่า “มุขปาฐ” ทางเราก็ปฏิบัติกันอย่างนั้นมาก่อน จะเห็นได้ที่ประกาศพิธีตรุษนั้นเอง แต่ก่อนก็มีผู้ดูหนังสือทาน แม้สวดปฏิโมกข์ก็สวดปากเปล่า มีผู้ดูหนังสือทานเหมือนกัน ที่มาอ่านหนังสือกันนั้น แปลว่าเรียว จำไม่ได้

๑๒) ที่ในอรรถมีคำว่า “กมฺโพชาธิปติ” (หน้า ๒๖) นั้น เป็นสำคัญอยู่ที่มีความเห็นแตกไป เมื่อเอาคำ “กัมพุชฉัตร” เช่นได้กล่าวมาข้างต้นประกอบเข้าด้วยแล้ว ก็ส่อให้เห็นว่าเราได้ตำราพิธีตรุษมาแต่เมืองเขมร ไม่ใช่ได้ตรงมาจากลังกา ที่มีอะไรในเมืองลังกาปนอยู่่ในตำรานั้นก็ทีเขมรจะอ่านไม่เข้าใจ หรือไม่กล้าแก้

๑๓) ในการที่จัดกรมแสงให้ยิงปืนเล็ก (หน้า ๒๙) นั้นดี เป็นเสียงสัญญาที่ส่งไปได้ไกล การใช้ตีระฆังกันมาแต่ก่อน เห็นจะตีรับช่วงกันต่อไปเป็นทอดๆ จนถึงประตูวัง

๑๔) เรื่องปืนฤกษ์ ๔ กระบอกนั้น ทำให้ได้รู้มากขึ้นตามพระดำรัสเล่าดีเต็มที ปืนมหาปราบนั้น เรียกกันว่ามหาปราบยุคก็มี ย่อมเห็นได้อยู่ว่าหลงมาแต่ปืนนารายณ์ปราบยุคนั้นเอง ที่จริงปืนฤกษ์ควรจะมีแต่ ๓ กระบอก ที่เป็น ๔ คงเดินคู่ขาดคู่ไป จึงโปรดให้ทำเป็น ๔ กระบอก

๑๕) ราชบุรุษกับเทวดา (หน้า ๓๔) แม้จะได้แก้คำประกาศในรัชกาลที่ ๔ ให้เป็นราชบุรุษทั้งสองเวลามาแล้วก็ดี แต่การแต่งตัวของสังฆการีก็ยังผิดอยู่นั่นเอง เวลาเช้าแต่งตัวเปล่าแสดงว่าเป็นราชบุรุษ เวลาค่ำสวมลอมพอก แสดงว่าเป็นเทวดา

๑๖) การสวดภาณยักษ์ที่วังหน้า (หน้า ๓๖) ได้ยินว่าถึงที่ยิงปืนแล้วต้องหยุดรอ ต่อได้ยินเสียงปืนที่วังหลวงแล้วจึงสวดต่อไป เป็นธรรมดาที่ต้องคัดเอาสำรับซึ่งสวดดีมาสวดในวังหลวง ถัดไปจึงเอาไปสวดที่วังหน้า และเป็นธรรมดาอีกที่ต้องสวดดีแล้วเม็ดก้านก็ต้องมากขึ้น ต้องเป็นเวลานานกว่าที่สวดไม่สู้ดีห้วนไป เพราะเหตุดังนั้นการสวดที่วังหน้าจึงถึงต้องยิงปืนก่อน ต้องรอฟังเสียงปืนในวังหลวง

๑๗) ข้อที่ทรงพระปรารภว่าจะไม่มีคนอ่านพระนิพนธ์ (ในหน้า ๔๘) นั้น ไม่ควรทรงพระวิตก เพราะคนเรียนเดี๋ยวนี้มีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ย่อมต้องมีคนพยายามแต่งหนังสือมากขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วย แม้ถึงเขาจะต้องเรียนสิ่งใหม่ให้ทันสมัยก็ดี แต่เมื่อถึงแต่งหนังสือก็ต้องหันเข้าดูเรื่องเก่า เพื่อเป็นความรู้เก็บเอาไปแต่งหนังสือ เช่น ชายประสบสุขเป็นตัวอย่างอยู่ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรทรงพระวิตกว่าจะไม่มีใครอ่านพระนิพนธ์ กลับจะมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเสียอีก สำคัญแต่พระนิพนธ์ควรจะมีอยู่ในที่อันเป็นสาธารณะ ซึ่งใครๆ จะไปอ่านตรวจดูก็ได้ เหมาะจะเป็นที่หอสมุด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

บ้านปลายเนิน

วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๘๓

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ