วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๒๔ กันยายน มาถึงหม่อมฉันแล้ว คราวนี้เขาเอามาส่งวันเสาร์เวลาบ่าย และเปิดซองตรวจที่ปีนังเหมือนฉบับสัปดาหะก่อน

ทูลสนองความที่ยังค้าง

๑) หม่อมฉันได้ทูลผัดไว้ในจดหมายเวรสัปดาหะก่อน ว่าจะขอตริตรองปัญหาที่ตรัสปรึกษา ว่าด้วยมูลของคติที่ถือทิศและฝ่ายหนึ่งสำคัญว่าทิศ และฝ่ายอื่นในกรณีต่างๆ ได้เค้าคิดเห็นอย่างไรบ้างแล้วจะทูลนั้น หม่อมฉันตรวจดูในพระบาลีตรงที่ออกชื่อทิศทั้ง ๔ ในมหาสมัยสูตรก็ดี อาฏานาฏิยสูตรก็ดี และสิงคาโลวาทสูตรก็ดี ย่อมเอาทิศตะวันออก “ปุริมทิศ” ขึ้นต้นทุกแห่ง และศัพท์ปุริมนั้น ในอภิธานบาลีก็แปลความว่า Foremost อยู่หน้า และ Eastern ฝ่ายตะวันออกสมกับลำดับในพระบาลี เป็นอันได้เค้าข้อต้นว่าในทิศทั้ง ๔ ชาวอินเดียถือว่าทิศตะวันออกสำคัญกว่าทิศอื่น เห็นว่าคงเป็นเพราะชาวอินเดียถือมาแต่ดึกดำบรรพ์ ว่ามนุษย์อยู่ได้ด้วยพระอาทิตย์เป็นสำคัญ เห็นพระอาทิตย์เป็นเครื่องอุ่นใจ เหมือนได้เห็นที่พึ่งมาอำนวยวัฒนาการ จึงถือทิศที่พระอาทิตย์ขึ้นเป็นสิริแก่มนุษย์โลกยิ่งกว่าทิศอื่น ทิศตะวันออกเป็นนิมิตของวัฒนาการฉันใด ทิศตะวันตกอันพระอาทิตย์ลี้ลับไปให้เปลี่ยวใจ เป็นปรปักษ์กับทิศวัฒนาการ ก็ถือเป็นฝ่ายหายนะ คือ ความตาย เป็นต้น ดุจกัน เดิมน่าจะกำหนดทิศแต่ตะวันออกกับตะวันตกก่อน เพราะเห็นดวงอาทิตย์เสมอทุกวัน ทิศใต้กับทิศเหนือน่าจะกำหนดขึ้นทีหลังเพราะยังเห็นว่างอยู่ ๒ ทิศ ในบาลีเรียกทิศใต้ว่าทิศ “ทกฺขิเณน” ตรงกับศัพท์ทักษิณแปลว่า “ขวา” ก็ได้ ดูส่อว่าลักษณะที่กำหนดทิศใต้ทิศเหนือนั้นจะยืนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก กำหนดทิศทางขวามือเป็นทิศใต้ เอาทิศข้างซ้ายมือเป็นทิศเหนือ เพราะไม่มีสิ่งซึ่งจะเห็น เป็นที่น่าสังเกตเหมือนดวงพระอาทิตย์อันเป็นที่สังเกตอย่างทิศตะวันออกและทิศตะวันตก วิสัชนาว่าโดยย่อ มนุษย์เห็นจะถือว่าทิศตะวันออกสำคัญกว่าทิศอื่นมาแต่เดิม

คติที่ถือว่าทิศทั้ง ๔ แต่ละทิศ อาจจะสำคัญกว่าเพื่อนในบางเวลาหรือในกิจการบางอย่างนั้น น่าจะเกิดขึ้นภายหลังด้วยฤดูกาลเป็นเหตุเปรียบดังฤดูกาลในเมืองไทยนี้ เมื่อต้นปีลมพัดมาทางทิศตะวันออก ฝนต้นฤดูก็มาแต่ทางทิศตะวันออก ครั้นกลางปีลมและฝนมาทางตะวันตก ถึงปลายปีลมพัดมาทางทิศเหนือ ดังนี้ กิจการอันต้องเกี่ยวกับฝนและลม เช่นทำนาหรือค้าสำเภา จึงต้องประกอบกิจการให้ถูกทิศใดๆ ตามฤดูกาล ทีหลังอาจจะเกิดแต่โรคภัยที่มาแต่ทิศต่างๆ ชวนให้เข้าใจว่ามีผีประจำทิศซึ่งอาจจะให้ร้ายดีแก่มนุษย์ ก็ขยายคติที่ถือต่างๆ ต่อออกไป ถึงว่าทำการอย่างใดควรจะหันหน้าไปทิศใด ให้ชอบใจเทวดาและผีปีศาจซึ่งประจำทิศนั้น หรือห้ามมิให้หันหน้าไปทางทิศใดเมื่อกระทำการอย่างใดอันไม่ชอบใจต้องเทวดา หรือผีปีศาจประจำทิศนั้น เลยแต่งตำรับตำราเพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ แก่ผู้ที่ไม่มีความรู้ มีกำหนดให้หันหน้า หรือห้ามมิให้หันหน้าทางทิศใดเมื่อทำการต่างๆ แทบทุกอย่าง เช่น ในกลอนสวัสดิรักษาของสุนทรภู่ ห้ามมิให้นั่งหันหน้าทางทิศเหนือเมื่อกินข้าว ว่า “ทิศเหนือเหลือร้ายวายชีวา ชันษาถดถอยน้อยทุกที ดังนี้ และยังมีพวกเจ้าตำราพยากรณ์เอาวันประจำสัปดาหะในโหราศาสตร์เข้ามาพ่วงต่อไปอีก ถึงกำหนดว่าจะทำการมงคลอันใด หรือจะยาตราไปไหนวันใดต้องหันหน้าหรือเริ่มยาตราไปทางทิศไหนดังนี้ คงเป็นประโยชน์เพียงให้สบายใจของผู้เชื่อเท่านั้น

แต่คติการถือทิศมีแปลกอยู่บ้าง ดังจะทูลพรรณนาเพียงเท่าที่จำได้ในเวลาร่างจดหมายนี้

พวกไทยน้อยเรียกทิศใต้ว่า “หัวนอน” เรียกทิศเหนือว่า “ตีนนอน” หรือ “ปลายตีน” เรียกอย่างนี้มาแต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง พวกลื้อ เช่น ชาวเชียงรุ้ง พวกเขิน เช่น ชาวเมืองเชียงตุงและประหลาดที่พวกชาวละคร เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา ที่เรียกว่า ทิศหัวนอนและทิศปลายตีนเช่นนั้น (เขาว่าจีนก็เรียกอย่างเดียวกันแต่หม่อมฉันยังไม่ได้สอบสวน) แต่เห็นอธิบายได้ว่าพวกที่ใช้คำเช่นนั้น เคยถือคตินอนหันหัวทางทิศใต้ หันตีนไปทางทิศเหนือ จะเกิดแต่เหตุใดยังไม่พบหลักฐาน พวกถือศาสนาอิสลาม บรรดาผู้อยู่ในประเทศทางตะวันออก เวลาไหว้พระต้องบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตก แต่มีอธิบายว่าจะบ่ายหน้าไปทางเมืองเมกกะซึ่งอยู่ทิศนั้น ความส่อต่อไปว่าพวกอิสลามที่อยู่ในประเทศทางตะวันตกก็คงบ่ายหน้ามาทางทิศตะวันออกด้วยเหตุอันเดียวกัน

พวกถือพระพุทธศาสนาสร้างวัดก็มักหันหน้าโบสถ์ไปทางทิศตะวันออก แต่ก็พออธิบายได้ว่าประสงค์จะให้พระประธานหันหน้าไปทางทิศเดียวกับพระพักตร์พระพุทธองค์เมื่อตรัสรู้ แต่การถือทิศในศาสนาแต่วัตถุเป็นนิมิตไม่เหมือนอย่างอื่นที่ว่ามาก่อน หม่อมฉันนึกได้ในเรื่องทิศเพียงเท่านี้

จะทูลอธิบายเรื่องฝ่าย คือ ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ฝ่ายหน้า ฝ่ายหลังต่อไป แต่หม่อมฉันกันหาเหตุถอยหลังขึ้นไป ไปจนเสียที่หาเค้าไม่ได้ ว่าเหตุใดมนุษย์จึงชอบทำการด้วยมือขวายิ่งกว่ามือซ้ายนั้นเอง เป็นมูลของคติที่ถือว่าฝ่ายขวาสำคัญ และเป็นปัจจัยไปถึงกรณีทุกอย่างบรรดาที่ใช้คำ “ทักษิณ” เช่น “ทิศทักษิณ” เพราะอยู่ทางฝ่ายขวาเมื่อหันหน้าไปทางทิศตะวันออกดังกล่าวมาแล้ว “ประทักษิณ” แสดงความเคารพด้วยให้ข้างขวา “ทักษิณาทาน” ให้ด้วยมือขวาแสดงศรัทธาบริสุทธิ์

คติที่ถือว่าฝ่ายซ้ายสำคัญกว่าฝ่ายขวา หม่อมฉันนึกหาตัวอย่างให้เป็นหลักฐานไม่ได้ เคยได้ยินคำพูดว่าข้าราชการฝ่ายซ้ายสูงศักดิ์กว่าฝ่ายขวาก็ไม่เคยพบหลักฐานอื่น นอกจากกรมพลเรือนเฝ้าทางฝ่ายซ้าย กรมทหารเฝ้าทางฝ่ายขวาที่ประทับ จะว่าพลเรือนสูงศักดิ์กว่าทหารด้วยใด มีนัยอันเดียวทีจะเป็นเช่นนั้น คือตามประเพณีโบราณ เวลามีศึกสงครามต้องรบพุ่งเหมือนกัน คือว่าบรรดาข้าราชการเป็นทหารทั้งนั้น เมื่อว่างศึกสงครามเลือกเหล่าทหารที่มีความรู้การปกครองมาทำราชการพลเรือน ถ้าว่าโดยนัยนี้ก็เห็นได้ว่าพลเรือนสูงศักดิ์ เพราะมีความรู้มากกว่าทหาร แต่ถ้าตามประเพณีที่เป็นจริงหามีอันใดที่เห็นว่าฝ่ายซ้ายสูงกว่าฝ่ายขวาไม่ ยกตัวอย่างกรมต่างๆ ที่แบ่งเป็นฝ่ายซ้ายกรม ๑ ฝ่ายขวากรม ๑ เช่นกรมตำรวจเป็นต้น ก็ไม่เคยเห็นปรากฏว่าเลื่อนเจ้ากรมปลัดกรมตำรวจในขวาไปเป็นเจ้ากรมปลัดกรมตำรวจในซ้าย กรมอื่นก็ไม่มีที่จะเป็นเช่นนั้น ตำแหน่งที่มีซ้ายขวา เช่น พระมเหสีซ้ายขวาก็ดี พระสังฆราชซ้ายขวาก็ดี ก็หมายที่เป็นใหญ่กว่ากันด้วยคำนำพระนามว่าพระอัครมเหสีและพระมเหสี สมเด็จพระสังฆราชและพระสังฆราชหาได้เอาคำซ้ายขวาเป็นเครื่องหมายไม่ เพราะฉะนั้นคติที่ยกฝ่ายซ้ายเป็นใหญ่กว่าฝ่ายขวายังไม่พบตัวอย่าง ก็ต้องว่าไม่มี คติที่ถือฝ่ายหน้ากับฝ่ายหลังนั้น ดูจะกล่าวไว้เป็นยุติว่าฝ่ายหน้าเป็นใหญ่กว่าฝ่ายหลังในกรณีทุกอย่าง ทัพหน้าก็สำคัญกว่าทัพหลัง วังหน้าก็สำคัญกว่าวังหลัง ที่สุดหน้าบ้านสำคัญกว่าหลังบ้าน ถ้าจะว่าแต่โดยคำหน้ากับหลัง เปรียบด้วยรูปกายมนุษย์ อวัยวะสำคัญก็อยู่ทางข้างหน้าทั้งนั้น ข้างหน้าต้องสำคัญกว่าข้างหลังอยู่นั่นเอง ไม่มีปัญหาที่ข้างหลังจะสำคัญกว่าข้างหน้า

สนองความในลายพระหัตถ์

๒) พระดำริเพิ่มวิจารณ์พิธีตรุษประทานมานั้น หม่อมฉันได้ให้คัดสำเนาออกต่อไว้กับวิจารณ์ของหม่อมฉันฉบับ ๑ ต่างหาก ต้นฉบับที่ประทานมาคงเอาไว้กับลายพระหัตถ์เวร

๓) ผ้ากราบที่ขุนนางคาดเมื่อนุ่งสมปักนั้นมีอย่างเป็นลายประสานสี เป็นของเก่ามาก หม่อมฉันได้เคยเห็นผืนเดียว ด้วยพระมิตรกรรมฯ ผู้เป็นหลาน เอาเสื้ออย่างน้อยเยียรบับริ้วกับผ้าคาดมีลายสี ของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) มาให้พิพิธภัณฑ์สถาน เดี๋ยวนี้ยังรักษาไว้ที่นั่น

๔) เรื่องประวัติพระยาราชโกษานั้น ที่ตรัสถามได้ความเป็นการดี หม่อมฉันนึกขันที่ความรู้ของหม่อมฉันถูกในที่อื่นเป็นแต่ผิดรัชกาล ที่หม่อมฉันเข้าใจว่า ทูลกระหม่อมดำรัสสั่งให้ตามตัวพระยาราชโกษา (จันทร์) นั้นสำคัญผิดไป ที่ถูกคือสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัสสั่งให้ติดตามตัวพระยาราชโกษา (หรุ่น) เพราะแกไปเที่ยวเถลไถลอยู่เสียทางเมืองข่า เมืองเขมรนาน ดังพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรทูล สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงดำรัสสั่งพระยาราชโกษา (จันทร์) ให้ตามตัวเข้ามารับราชการ จะทูลต่อไปถึงเมืองแสนปาง เมืองนั้นเป็นขึ้นนครจำปาศักดิ์อยู่ห่างทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เป็นคู่กับเมืองอัตตะปือ พลเมืองเป็นข่า แต่พระศรีมหาเทพเจ้าเมืองคงเป็นเชื้อเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ ออกไปกินเมืองแสนปาง มิใช่ข่าชาวเมืองนั้น หม่อมฉันได้ความรู้ใหม่ต่อออกไป ด้วยเพิ่งทราบว่าสกุลวัชโรทัยนั้นเกี่ยวดองสนิทกับสกุลสิงหเสนีใกล้ชิด

๕) ตรัสถึงประดิทินอย่างหยาบ มีอย่าง ๑ ที่เรียกว่า “ชั้นฉาย” อันเป็นต้นศัพท์ของ “นามฉายา” พระภิกษุ เดิมหม่อมฉันก็ไม่รู้ว่ากำหนดอย่างไร มาจนสมัยเมื่อออกจากกระทรวงมหาดไทยแล้วชอบไปอยู่ที่บ้านแป้ง อำเภอบางประอินเนืองๆ หม่อมฉันไปช่วยเขาบวชนาคที่วัดบ้านแป้ง พระครูธรรมทิวากร (เปรม) วัดชุมพลนิกายาราม เป็นอุปัชฌาย์พอเวลาสวดญัติแล้ว แกร้องถามว่า “ดูชั้นฉาย อยู่หรือ” มีเสียงคนอยู่ข้างโบสถ์ร้องรับว่า “ดูอยู่แล้ว” หม่อมฉันหูผึ่งลุกออกไปดู เห็นคนนั้นยืนหันหลังไปทางดวงพระอาทิตย์ให้มีเงาของตัวไปข้างหน้า ปักไม้หมายที่ปลายเงา แล้วเดินเอาเท้าวัดแต่ตรงที่ยืนอยู่ไปจนถึงหลักหมายปลายเงากี่ชั่วเท้าก็นับว่าเท่านั้นชั้น ได้เคยเห็นแต่หนเดียวเท่านั้น

๖) จมื่นมณเฑียรพิทักษ์ที่เป็นตรีทูตไปประเทศอังกฤษนั้น หม่อมฉันเคยสืบถามได้ความว่า เป็นลูกของพระนมของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อกลับจากราชการทูตแล้วถูกกริ้วด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เลยถูกถอดหรือไม่ได้ดีในราชการต่อไป ก็เลยเงียบชื่อเสียง พระณรงค์วิชิต ตรีทูตไปประเทศฝรั่งเศสนั้น คือ พระพรหมาธิบาล (จร บุนนาค) ที่เราเรียกกันว่า “พรหมธิบาลจร” เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ และเป็นบิดาของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม) แกแต่งจดหมายเหตุเรื่องทูตคราวนั้นเอาอย่างหม่อมราโชทัย แต่เลวเปรียบกันไม่ได้เลย และแต่งไม่จบเรื่องด้วย ดูเหมือนพิมพ์ไว้ในหนังสือมิวเซียมของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์

๗) หม่อมฉันยินดีที่โปรดนิทานโบราณคดี ส่งมาถวายอีกเรื่อง ๑ กับจดหมายฉบับนี้ นิทานพวกนี้คงจะแปลกๆ กันอย่างเรียกว่า “จั๊บช่าย” แต่งตามแต่จะนึกเรื่องได้ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ