วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ย้อนหลัง

๑) จะกราบทูลย้อนหลังในเรื่องประดิทิน อันได้กราบทูลมามากแล้ว แต่ตริตรองเห็นมากออกไปอีก อดไม่ได้จึงจะกราบทูลต่อไป

ประดิทินนั้นเราเอาทางจันทร์กับทางอาทิตย์เข้าปนกัน เช่นเดือนก็สังเกตเอาจันทร์เพ็ญ เพ็ญหนหนึ่งก็นับว่าเป็นเดือนหนึ่ง นั่นเป็นทางจันทร์ ส่วนปีนั้นสังเกตเอาทำนาปลูกข้าวได้หนหนึ่ง นั่นอาศัยฤดู เป็นทางอาทิตย์นับเอา ๑๒ เดือนทางจันทร์เป็นปีหนึ่ง ทางอาทิตย์จึงลงกันไม่ได้ เป็นเหตุให้นักปราชญ์คิดเอาทางจันทร์กับทางอาทิตย์ผสมกัน ต้องเติมอธิกมาศอธิกวารเข้าในทางจันทร์ เพื่อให้ได้กับทางอาทิตย์ จึ่งตกเป็นหน้าที่โหรต้องคำนวณทำประดิทินอยู่ทุกวันนี้

ที่จริงเป็นเรื่องต่างคนต่างไป ดวงจันทร์เดินเวียนลูกดิน ลูกดินเดินเวียนดวงอาทิตย์ ที่ว่าจันทร์เสวยฤกษ์อะไร หรือว่าอาทิตย์สถิตราศีใดนั้นก็ไม่จริง เป็นแต่ดูจากแผ่นดินเห็นดวงจันทร์ดวงอาทิตย์อยู่ที่ดาวฤกษ์อะไรเท่านั้น ดาวฤกษ์ก็อยู่ต่างหาก ไม่เกี่ยวกับดวงอาทิตย์หรือแผ่นดินหรือดวงจันทร์เลย นับเป็นว่า ๒๗ ฤกษ์เวียนติดต่อกัน แม้จะถือเอาฤกษ์อะไรเป็นต้น เป็นขึ้นปีใหม่ก็สมมติเอาได้ตามใจ ที่แบ่งฤกษ์ ๒๗ เป็น ๑๒ ราศีก็แบ่งเอาตามใจ ที่สุดก็สำเร็จด้วยตัวเลข ไม่ใช่ตา จึงตกเป็นหน้าที่โหรคำนวณ

เขาคิดปีกันอย่างใหม่ดูเหมือนว่าพวกรุสเซียคิด จะเอา ๔ อาทิตย์ ๒๘ วันเป็นเดือน มีปีละ ๑๓ เดือน มีวันเกินอยู่วันหนึ่งจะจัดไว้เป็นวันศักดิ์สิทธิ (โฮลิเด) คิดเข้าทีออกศรัทธามากด้วยจะนับง่าย แต่ไม่มีใครเขาเอากันก็จนใจ

๒) ยังเรื่องเรือน ขี้เท่าจะฟุ้งขึ้นอีก ตาซันเดรสกีแกสังเกตเรือนของแก แกว่าหลังคาชั้นอย่างเรือนไทยนั้นดี ไอร้อนซึ่งออกจากหลังคาส่งไปเสียข้างๆ ไม่ส่งลงมาที่เพดาน หลังคาแบนอย่างฝรั่งไอร้อนส่งลงเพดาน แล้วก็เผาห้องทำให้ห้องเรือนร้อน ข้อนี้ไม่ได้สังเกต ได้ยินแต่ว่าเรือนอย่างไทยซึ่งหลังคามุงจาก แม้จากจะกร่อนจะเป็นรูเห็นฟ้า เมื่อฝนตกลงน้ำฝนก็ไหลกระโดดข้ามรูไปได้ ไม่ไหลลงห้อง นอนมองดูเล่นสบายใจ

ในการทาสีก็สำคัญ ตึกลางหลังได้ผ่านไปเมื่อเขากำลังทำต้องแดดเพราะชอบใจ แต่พอถึงทาสีก็ต้องเมินหน้าหนี ใช้สีอะไรอย่างนั้น ผนังทาสีจำปาหน้าต่างทาน้ำเงินสีสวรรค์ ได้เคยนึกว่าตึกทาสีอะไรจึงจะดี ก็ให้เกิดญาณหยั่งเห็นว่า ปูนให้เป็นปูน ไม้ให้เป็นไม้ จะแก่อ่อนอย่างไรก็ตามทีจะเป็นดี ความเห็นอันนี้ลางทีจะมาแต่เป็นกำแพงคอนกรีต เห็นทำที่ไหนก็ขวางตาที่นั่นจนถึงกับบ่น หม่อมเจ้าอิทธิเทพเธอตัดสินว่า เพราะทำเอาอย่างก่ออิฐหรือเอาอย่างรั้วไม้จึงดูขวางตา ถ้าทำให้เป็นคอนกรีตตามธรรมชาติของมันแล้วจะดูไม่ขวางตาเลย ลางทีจะถูก หรือลางทีจะเป็นด้วยยังไม่ชินตาก็ได้

ได้ยินเขาว่าในอินเดียมีเมืองสีชมภู ที่ได้ชื่อดังนั้นเพราะตึกทั้งหลายในเมืองนั้นล้วนแต่ทาสีชมพูทั้งนั้น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นก็ไม่เคยไปเห็นพอจะจับเหตุได้ เคยรู้สึกแต่ที่สิงคโปร์ เมื่อไปครั้งกระโน้น เห็นลางถนนเขาถมด้วยหินแดง ตึกข้างถนนแม้ทาผนังขาวก็ดูสกปรก เพราะฝุ่นถนนขึ้นไปจับค้างอยู่ที่บัว ถ้าเป็นตึกที่ผนังทาสีแดงแล้วดูสะอาดดี เพราะฝุ่นถนนขึ้นจับก็แลไม่เห็น จึงทำให้ได้คติมา ว่าทำอะไรจะต้องดูสิ่งที่อยู่ใกล้เคียง แต่ครั้นถึงคราวซ่อมพระที่นั่งอนันตสมาคม เขามาถามว่ารั้วเหล็กจะให้ทาสีอะไร คิดดูของเดิมทาสีน้ำเงิน เห็นว่าไม่ควรทำตามเดิม องค์พระที่นั่งเป็นสีขาว ถ้ารั้วเป็นสีดำจะเห็นองค์พระที่นั่งเด่นดีขึ้น จึงบอกเขาไปว่าทาดำ เมื่อเขาทาแล้วใหม่ๆ ไปดูก็ดีใจด้วยสมคิด แต่สักหน่อยก็กลายเป็นสีเทาเพราะฝุ่นถนนขึ้นจับ ให้นึกเสียใจว่า “รู้เองเป็นเอง”

การให้สีนั้นยากนัก นึกถึงสิ่งที่เคยให้ไปแล้ว ลางทีก็ดี ลางทีก็ดูไม่ได้ จึงมารู้สึกว่าการลงสีนั้นจะต้องมีหลัก หากเรายังไม่รู้จับไม่ได้ ถ้าได้หลักจะต้องงาม คืองามมากหรืองานน้อย ไม่ขวางลูกตาเลย สังเกตปราสาทหินที่เมืองเขมร ว่าแต่ที่เขาฉลักในที่พื้นราบเขาก็ทำเป็น ๓ อย่าง คือฉลักลายเบาอย่างหนึ่ง ฉลักปานกลางอย่างหนึ่ง กับฉลักลึกทีเดียวอีกอย่างหนึ่ง หากเขาลงสีก็คงจะเลือกจัดสีที่เห็นสมควร หากเขาไม่ลงสีก็เห็นผิดกันดุจลงหมึก ดูต่างกันไปด้วยอำนาจเงานี้เป็นหลักอันหนึ่งซึ่งเห็นปรากฏถึงสีเหมือนหนึ่งเครื่องกงเต๊ก ซึ่งเกล้ากระหม่อมเคยเห็นมาแล้ว เขาเรียกว่า “คลัง” แต่ที่จริงบนรูปกระเช้าดอกไม้ใบใหญ่ๆ เขาทำลายเต็มไปทั้งตัว เมื่อดูใกล้ก็เห็นเปนลายซับซ้อนกัน แต่เมื่อดูไกลก็กลายเป็นหลายหย่อม ลายพื้นหายไปเพราะแลไม่เห็น เหตุนั้นทำให้รู้สึกว่าลางสีก็ดูจมไปได้ลางสีก็ดูเด่นขึ้น จึงเห็นว่าการใช้สีย่อมมีหลัก หากยังไม่รู้เท่านั้น

ลายพระหัตถ์

๓) ลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ซึ่งไปกับรถไฟวันเสาร์ พฤศจิกายน วันที่ ๙ ได้รับแล้ว ปะปิดตามเคย สนุกมาก จะกราบทูลสนองความต่อไปนี้

๔) พระดำริคาดในเรื่องตราจักรนั้น ควรแก่เหตุผลมาก ตราจักรนั้นงามจะเป็นพระราชลัญจกรจริง การฆ่าคนซึ่งซัดกันไปซัดกันมานั้นเป็นการไม่ประหลาดปฏิบัติเป็น “วินยโกง” เพราะถือกันว่าการทำลายชีวิตสัตว์นั้นเป็นบาป ตำแหน่งมหาอำมาตย์เอาเข้าคู่กับมหาเสนานั้นเหมาะจริง ควรเป็นเช่นนั้น ตำแหน่งจักรีจะเปลี่ยนทีหลังก็ไม่ขัดเลย

๕) เรื่องกาพย์ ยังกราบทูลอะไรไม่ได้ เพราะยังกำลังสอบสวนอยู่ แต่อย่างไรก็ดี คัมภีร์ “สารวิลาสินี” นั้นแต่งในเมืองเรานี้แน่ แต่จะได้โคลงทางอินเดียมาหรือไรนั้นยังเอาแน่ไม่ได้

๖) นึกถึงการเซ็นชื่อของพวก “โซ้ด” เคยเห็นพยายามตัดหนังสือไทย ให้เป็นหนังสือฝรั่งก็มี จนเกล้ากระหม่อมเคยออกปากว่า เซ็นเป็นหนังสือฝรั่งเสียทีเดียวก็แล้วกัน ไม่เห็นจะขัดอะไร จะมานั่งดัดหนังสือไทยให้เป็นฝรั่งอยู่ทำไมนึกถึงเซ็นชื่อของ “หลวงวา” ทำให้เห็นว่าการเซ็นชื่อนั้นไม่ดี ถ้าเสมียนเขียนชื่อแล้วประทับตราอย่างเก่า จะไม่เกิดเป็นปัญหาขัดข้องขึ้นเลย พูดถึงเซ็นชื่อก็ให้นึกไปถึงองค์หญิงจุไรรัตน์ เขียนหนังสือมาถึงหญิงอี่ เซ็นเป็นเลข ๔ มาตัวเดียวเห็นเข้าให้นึกชอบใจเสียนี่กระไรเลย

๗) การตั้งชื่อปากน้ำ เป็นชาวเรือทะเลตั้งถูกตามกระแสพระดำรัส แต่การตั้งชื่อนั้น ยึดเอาอะไรไปต่างๆ กัน ยึดเอาตำบลคือบางก็มี ยึดเอาหมู่บ้านก็มี ยึดเอากิจการเช่นปากอ่าวท่า ท่าจีนก็มี ปากอ่าวแม่กลองนั้นเข้าใจว่ายึดเอาชื่อลำน้ำ เพราะคำว่า “แม่” นั้นหมายความว่าเป็นลำน้ำ

๘) เรื่องแปลคำอรรถในบาลีเป็นภาษาไทยนั้น แปลยากจริงอย่างพระดำรัส แปลเป็นภาษาฝรั่งจะต้องง่ายกว่าเป็นภาษาไทยอยู่เอง เพราะภาษาฝรั่งเขามีวิภัติปัจจัยพวกเดียวกับภาษาบาลี ภาษาไทยเราผิดกับภาษาบาลีไปมาก จะกราบทูลร้องทุกข์ว่า “ภาษาสนาม” นั้นไม่เปนภาษาไทย การแปลนั้นมี ๒ อย่างแปลไปตามคำบาลีเกล้ากระหม่อมเรียกว่า “แปลอย่างเทศน์” ตามพระดำรัสที่ว่าตรัสสั่งให้มหายิ้มแปล มิลินทปัญหานั้นก็เป็นแปลอย่างเทศน์ เหตุใดจึงแปลเป็น ๒ อย่าง เหตุด้วยแปลตามศัพท์นั้นเพื่อการเรียน แปลอย่างเทศน์นั้นเพื่อคนทั้งปวงเข้าใจ จะป่วยกล่าวไปไยถึงภาษาบาลี แม้ภาษาอังกฤษซึ่งแปลภาษาบาลีได้สนิทกว่าภาษาไทย เห็นหนังสือพิมพ์ “ประมวญวัน” เขายังไม่กล้าแปลภาษาอังกฤษเสียเลย ตัวอย่างภาษาอังกฤษซึ่งหนังสือพิมพ์ไม่กล้าแปลมีว่า พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ เสด็จไปทอดพระเนตรตรวจอ้ายพังๆ ซึ่งถูกลูกบอมบ์ มีราษฎรร้องทูลว่า “You are a great King” แม้จะแปลเป็นภาษาไทยไปตามศัพท์ก็ไม่เป็นภาษาไทย ถ้าจะแปลก็ต้องแปลอย่างเทศน์เขาจึงไม่แปล (เข้าใจว่ากรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) เห็นคำนี้ให้นึกถึงคำ “พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาผู้ใหญ่” แต่ใช่จะคิดเอามาแปลก็หามิได้เป็นแต่นึกถึงเท่านั้น

ข้อพระดำรัสที่ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ตรัสอาราธนาสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณ ให้ทรงบัญญัติความเคารพของพระนั้น เป็นการดีที่ได้ทรงทราบมูลเหตุเบื้องต้น ซึ่งเกล้ากระหม่อมกราบทูลนั้นเป็นความรู้ตอนปลาย เพราะไม่ได้ทราบตอนต้น ข้อที่พระฝรั่งว่าจะเข้าใจไบเบลต้องไปเยรุสเลมนั้น เกล้ากระหม่อมให้สงสัยว่าจะเป็นคนคิดผิด กิริยาใดๆ ในเวลานี้ที่เยรุสเลมก็เห็นจะเปลี่ยนไปมาก แล้วซ้ำคนก็เปลี่ยนหน้าเข้ามาแต่ต่างด้าวใหม่ๆ กันมากด้วย ถ้าสืบไม่ได้แล้วจะสืบไปทำไม เคยประพฤติอย่างไรก็คงประพฤติไปอย่างเดิมก็แล้วกัน ดีเสียอีกที่คนซึ่งเขามาไต่สวนศาสนาเขาจะได้ทราบว่าพวกนั้นมีคติเป็นอย่างนั้นมาแต่เก่าก่อน

๙) พระเชตวันนั้นเป็นที่ประทับพระพุทธเจ้า ถ้าเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นแขก พระเชตวันก็ต้องเป็นเรือนแขก ถ้าคิดว่าพระเชตวันเป็นเรือนอย่างไทยหรือพม่ามอญ พระพุทธเจ้าก็จะต้องเป็นไทยเป็นพม่ามอญ ที่จะเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นแขก พระเชตวันเป็นไทยเป็นพม่ามอญนั้นขัดกันย่อมจะเป็นไปไม่ได้ แต่ความเห็นนั้นของใครก็ของใคร ลางทีก็ลงกัน ลางทีก็ไม่ลงกัน ย่อมเป็นอจินตัย ความเห็นที่แตกต่างกันนั้นมีมานานแล้ว จึงได้มีคำว่า “สัมมาทิฐิ” และ “มิจฉาทิฐิ”

๑๐) ตามที่ตรัสถึงนักขัตฤกษ์ “ทีปวลี” กับ “หริราช” มาพ้องเข้าใกล้กันนั้น ได้ตรวจดูประดิทินหลวงเก่า ซึ่งมีวันเดือนของพวกแขกอิสลามอยู่ด้วย ปรากฏว่าเดือนของเขาเป็น ๓๐ วันสลับกับ ๒๙ วัน ก็เป็นดูสังเกตเอาดวงเดือนเหมือนไทยเรานี่เอง แต่เขาไม่ได้เอาเข้าประกอบกับทางอาทิตย์ นักขัตฤกษ์หริราช จึงร่นเข้ามาใกล้กับทีปวลี ที่ทางฮินดูเขาคงใช้ประดิทินประกอบด้วยทางอาทิตย์ในเรื่องทางจันทร์ประกอบกับทางอาทิตย์นั้น ได้เขียนละเมอถวายมาข้างต้นแล้ว

เบ็ดเตล็ด

๑๑) เมื่อวันที่ ๓ นี้ ไปเผาศพพระยาบริรักษ์ (สาย ณ มหาชัย) เขาแจกหนังสือเรื่อง “แหลมอินโดจีนสมัยโบราณ” พระยาอนุมานราชธนเป็นผู้แต่งอ่านไปได้น้อยเดียว กราบทูลยังไม่ได้ว่าดีหรือเลวเพียงไร แต่ไม่ได้พยายามที่จะส่งหนังสือมาถวาย เพราะเชื่อว่าเจ้าภาพผู้แต่งเขาคงส่งมาถวายแล้ว

๑๒) กับเมื่อวันที่ ๙ นี้ ได้ไปเผาศพนายอรุณ อมาตยกุล พระยาจินดารักษนุ่งขาวมาต้อนรับ แล้วเห็นศพตั้งเป็นคู่ จึงถามเขาว่าใครอีกศพหนึ่ง เขาบอกว่าน้า และในงานนั้นเขาแจกหนังสือ “เมืองแก้วยามมหาสงคราม” พระยาจินดารักษ์เป็นผู้แต่ง อ่านคำนำมีแต่ว่าฉลองคุณน้าอา ไม่ปรากฏว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร ในหนังสือก็มีเพียงแต่รู้ได้ว่าพระยาจินดารักษ์ เดิมชื่อจำลอง เป็นสกุลสวัสดิชูโต สกุลนั้นกับอมาตยกุลก็ไม่ทราบว่าเกี่ยวกันเลย รู้จักกับพระยาจินดารักษ์ก็รู้จักแต่จำเพาะตัว หาทราบว่าเขาเกี่ยวข้องกันอย่างไรไม่ เห็นเขาเคยไปรับใช้อยู่ในงานที่วัง จึ่งหวังว่าฝ่าพระบาทจะตรัสบอกได้ ว่าเขาเป็นลูกใครและทำไมจึงไปเกี่ยวกับอมาตยกุล

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ