วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

เรื่องเตร็จ

๑) เรื่องที่จะเล่าถวายนี้ เป็นเรื่องครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือครึ่งฝันครึ่งจริง เกล้ากระหม่อมเห็นประหลาดจึ่งฟื้นเอามาเล่าถวาย

หลวงเทวพรหมา ชื่อเดิมแกชื่ออะไรก็หมดปัญญา เป็นคนมีร่างกระดูกใหญ่ ลางทีจะได้ทรงทราบ แกเล่าให้ฟังว่า แกนอนหลับอยู่รู้สึกตัวขึ้นได้ยินเสียงอะไรมันดังกรอด ทีแรกนึกว่าหนูกัดอะไรอย่างหนึ่งแต่ฟังไปเห็นว่าเป็นเสียงบิดหล่า ตกลงใจว่าต้องเป็นขโมยเจาะหน้าต่าง ฟังสังเกตว่าเป็นที่หน้าต่างช่องใดแล้วก็ไปหยิบหอกมาคอยแทงที่ช่องนั้น นั่งคอยอยู่ไม่ช้าก็เห็นหน้าต่างเปิดออก มีแสงสว่างเข้ามาที่ช่องหน้าต่าง ไฟฟ้าที่จุดรายอยู่ที่ถนนก็แลเห็นสิ้น มีรูปคนดำมะเมื่อมอยู่ที่ช่องหน้าต่างจึงเอาหอกแทงไป ถูกบานหน้าต่างเบ้อเข้าไปถนัด หน้าต่างก็ปิดอยู่ดีไม่มีอะไร แกก็ให้นึกประหลาดใจว่าอะไรนำให้เห็นเป็นตุเป็นตะไปได้อย่างนั้น ฟังเล่าเกล้ากระหม่อมก็นึกได้ถึงตัวเองว่าเคยเป็นคล้ายกัน นอนหลับอยู่ที่บ้านท่าพระหนาวจนสั่น ลืมตาขึ้นดูเห็นหน้าต่างเปิดมีแสงเดือนเข้ามาเต็มหน้าต่าง ยิ่งกว่านั้น เห็นดวงเดือนดั้นอยู่ที่กิ่งหว้าซึ่งอยู่ตรงหน้าต่างนั้นด้วย จึงตกลงในใจว่าเพราะเปิดหน้าต่างไว้ ดึกเข้าจึงหนาว ลุกขึ้นเพื่อไปปิดหน้าต่าง ครั้นถึงหน้าต่างก็เห็นปิดอยู่แล้ว อะไรนำให้เห็นไปได้ดั่งนั้นก็โทษเอาว่าพิษไข้นำไป เพราะอาการที่หนาวนั้นรุ่งขึ้นก็ปรากฏว่าเปนไข้ แต่ความเป็นไปของหลวงเทวพรหมานั้นไม่ทราบ แกก็ไม่ได้บอกว่ามีอาการเจ็บหรือไม่

เบ็ดเตล็ด

๒) หนังสือพิมพ์บางกอกไตม์ เขาลงคอเรสปอนเดน กล่าวด้วยเรื่องคนไทยว่ามาแต่ไหน ไม่ได้พยายามอ่านเพราะเคยอ่านที่แต่งกันมามากแล้วเชื่อว่าเป็นรอยเดียวกัน แต่ทีหลังมีคนเขียนคอเรสปอนเดนมาลงในเรื่องนั้นอีกมากหลาย มีของพระลัตเวียน ๒ คราว ของหมอคาทิว ๓ คราว ของนายไซเดนฟาเดน ๒ คราว ได้พยายามอ่านก็เป็นเรื่องทะเลาะกัน แต่มีลางเจ้าของลางข้ออ้างถึงคำในต้นฉบับเดิมขึ้น จึงเกิดเสียดายที่ไม่ได้อ่านเรื่องที่ลงพิมพ์ก่อน

ข่าว

๓) เมื่อวันที่ ๑๔ เดือนนี้ ได้ไปที่โบสถ์วัดสุทัศน์ ช่วยงานสมเด็จพระสังฆราช ทำบุญอายุ ๗ รอบ พวกกรรมการศิษย์ของท่านเขาบอกและเชิญให้ไปก็ต้องไป เพราะเกล้ากระหม่อมมีเกี่ยวข้องที่นับถือสมเด็จพระสังฆราชมาแต่ก่อนนานแล้ว มีงานอย่างไรเขาลงในหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์ ซึ่งคงได้ทรงทราบแล้ว จะกราบทูลแต่ที่ไม่มีในหนังสือพิมพ์ จัดเป็นงานหลวง ตั้งราชอาสน์ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ไป มีแขกมาก มีแจกของ หนังสือ ๓ เล่มล้วนแล้วไปด้วยเทศน์ กับมีเหรียญทองแดงรูปปทุมอุณาโลมแขวนปลายกับโบเขียวสำหรับติดอก ด้านหน้ามีอักษร อ.ว. เบื้องบนเป็นนาค ๗ หัวกระจายเพ่นพ่าน ด้วยช่างเขียนไม่รู้ว่านาคมากหัวนั้นเขานาคในทรงกระหนก บนหัวนาคมีเศวตฉัตร ๓ ชั้น ด้านหลังเป็นหนังสือว่า “งานฉลองพระชนมายุมงคลสมภพ ๗ รอบ พ.ศ. ๒๔๘๓” กับมีพระกริ่งแจกเป็นลางคนด้วยไม่ทั่วไป เป็นพระกริ่งหล่อใหม่เทียมพระกริ่งจีน

๔) ไปที่โบสถ์วัดสุทัศน์ ได้สังเกตดูหมู่พระอสีติมหาสาวก เห็นพระพุทธรูปซึ่งประทับอยู่เป็นประธานในหมู่ ซึ่งสมมติว่าทำถูกส่วนแล้วนั้นก็เห็นเป็นดุจยักษ์นั่งอยู่ในหมุ่มนุษย์

๕) ได้ดูพระประธาน ซึ่งว่ากรมณรงค์ทรงทำ เห็นยาวหมดทุกอย่าง ถ้าถือเอาตามแบบว่าทำอะไรเหมือนตัวก็จะต้องคลุมเอาว่า กรมณรงค์นั้นมีพระรูปผอมยาว ข้อที่ว่าทำอะไรเหมือนตัวนั้นเป็นความจริง นึกได้ว่าได้ทำรูปช่างแกะซึ่งเกณฑ์ทำกันเมื่อครั้งพระเมรุสมเด็จพระนางสุนันทา ได้ปั้นรูปแล้วเอาไปวานเขาลงสีที่วังพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ เพราะที่นั่นเขาลงสีรูปสัตว์หิมพานต์ซึ่งจะแห่พระศพอยู่แล้ว พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการท่านเห็นรูปท่านก็ติว่าปั้นตีนไม่ถูก ตีนคนนิ้วชี้จะต้องยาวกว่าหัวแม่ตีน จึงเอาตีนของตัวให้ท่านดู นั่นแปลว่าเมื้อปั้นก็เอาตีนของตัวเองเป็นอย่าง เพราะฉะนั้นคำที่ว่าทำอะไรเหมือนตัวจึ่งถูกมาก

ลายพระหัตถ์

๖) ลายพระหัตถ์เวรปะปิด ซึ่งลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ได้รับแล้วเมื่อวันที่ ๑๗ ซึ่งช้าไปวันหนึ่ง ควรจะได้รับเมื่อวันที่ ๑๖ แต่ไม่เป็นไร กราบทูลให้ทรงทราบเรื่องเท่านั้น จะกราบทูลสนองข้อความลางข้อในลายพระหัตถ์นั้นต่อไปนี้

๗) ข้อที่ได้ทราบความตามลายพระหัตถ์ ว่าชายดำมีหนังสือมาถวายแต่ประเทศสวิเดน ทำให้เบาใจว่าเธอได้ย้ายไปอยู่ที่ปลอดภัยในเวลานี้ เป็นการดีอย่างยิ่ง หนังสือที่พลัดไปในประเทศต่างๆ นั้นยังไม่เคยได้ยิน ได้ยินแต่ของพลัดไปด้วยติดเรีอไปไม่ได้ขนถ่ายขึ้น

๘) เรื่องดงพญาเย็นนั้น เป็นอันเข้าใจตามพระอธิบาย ว่าคือดงพญาไฟนั้นเอง ซ้ำทราบด้วยพระดำรัสรับรอง ว่าเป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าทรงตั้งเปลี่ยนจริงๆ ด้วย

ตามพระราชดำรัสที่ว่าดงก็คือช่องนั้นถูกที่สุด ย่อมเห็นได้ที่ปากดงทางโคราช ก็เรียกว่าปากช่อง คำว่า “ดง” ทรงพระดำริว่าหมายถึงต้นไม้ใหญ่ขึ้นยัดเยียดกันนั้นคลาดไปหน่อย ที่จริงต้นไม้เล็กเรียกดงก็มีเช่น “ดงตำแย” เป็นต้น “ดง” เห็นจะได้แก่ความยัดเยียดกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่ ทางปราจิณเรียกกันว่าช่อง มีช่องบุขนุนและช่องสแกราดเป็นต้นนั้นเคยได้ยิน ตามลายพระหัตถ์ซึ่งทรงเขียนว่าช่องบุกขนุนนั้นทำให้ได้สติขึ้น คำว่า “บุ” ควรจะเขียน “บุะ” เป็นถูก แล้วก็เปลี่ยนประหลังเป็น ก เหมือน “ทุะข” ก็เป็น “ทุกข” “สแกราด” เห็นจะเป็น “สแกลาด” ลาดเป็นราดหรือราชนั้นมีเพื่อนอยู่มาก ที่เรียกว่าดงนั้นเคยได้ยินเรียกดงพญาไฟและดงพญากลาง ก็คือว่าทางอันควรเดินขึ้นลงนั้นเอง แต่ฝ่ายหนึ่งยึดเรียกเอาที่ดิน ฝ่ายหนึ่งยึดเอาหมู่ต้นไม้ได้ทราบจากทางอินชะเนียตรวจทางรถไฟ เขาว่าจะตรวจหาไปทางไหนก็สู้ทางที่คนเดินอยู่แล้วไม่ได้ และได้ทราบมาทางสงขลาว่าทางที่คนเดินก็อาศัยทางที่สัตว์ป่ามันเดินกันนั่นเอง แปลว่าสัตว์ป่ามันเลือกทางให้คน คนเลือกทางให้รถไฟ แท้จริงก็ต้องขึ้นลงที่ช่องเท่านั้นเอง

ข้อที่ทรงพระดำริว่า ชื่อดงพญาไฟจะหมายเอาพระเพลิงนั้นรับรองว่าถูก พญา (พยา) นั่นก็เป็นเสียงพม่า เรียก ร เป็น ย แท้จริงก็คือพระไฟนั่นเอง เพลิงเป็นภาษาเขมร เขาเขียนเป็น “เภลิง” ก็คือไฟ

๙) เรื่องส้มโอเป็นเรื่องต้นไม้ กราบทูลมากไม่ได้ เพราะขาดความรู้ในทางนั้น เป็นแต่ได้สังเกตมา เขาพูดกันว่าส้มบางล่างดีกว่าบางบน ไปเที่ยวสวนส้มบางล่างจึงถามเขาว่าเอาพันธุ์มาแต่ไหน เขาบอกว่าเอามาแต่บางบน ก็คือที่ถือกันว่าไม่ดีนั่นเอง แต่ทำไมเอามาปลูกที่บางล่างจึงดี ก็ไม่มีอย่างอื่นนอกจากว่ามันต้องการเกลืออย่างที่ตรัส ที่ปีนังเกลือก็มากแต่ปลูกส้มไม่ขึ้นจะเป็นด้วยเหตุไร เห็นว่าต้องเป็นด้วยอื่นอีก เหมือนที่บันดุงไม่มีลูกตาลกิน ต่อใครไปเมืองบตาเวียหรือสุรบายานำเอามาจึ่งจะได้กิน ได้ยินเขาว่าเจ้าเชียงใหม่อินทวโรรสลงมากรุงเทพฯ มากินยำพริกหยวกชอบใจ เอาพันธุ์ขึ้นไปปลูกที่เชียงใหม่ก็ออกผลดี แต่เผ็ดกินไม่ได้ ความเปลี่ยนแปลกเหล่านี้ เห็นว่าเป็นด้วยดินและอากาศ จะแก้ไขด้วยวิทยาศาสตร์ประการใดนั้นเหลือล้นพ้นปัญญาด้วยไม่รู้

๑๐) เรื่องปลูกเรือนนั้นมีข้อที่จะกราบทูลได้มาก เพราะมีความรู้ ปลูกเรือนต้องตามทิศจึงจะอยู่อย่างมีความสุขอย่างที่ตรัสนั้นถูกแล้ว ที่เรียนมอญเขาปลูกเอาด้านขื่อลงแม่น้ำนั้น ก็คือปลูกตามทิศนั้นเอง ปลูกเรือนต้องตามตะวัน ขวางตะวันไม่ดี ร้อนอยู่ไม่สุข แม้ปลูกตามตะวันเกล้ากระหม่อมก็ได้คิด ทางทิศตะวันตกนั้นร้อนกว่าทางตะวันออกมาก เกล้กระหม่อมคิดเอาห้องที่ใช้น้อยมีห้องน้ำเป็นต้นไปไว้ทางตะวันตก แต่อย่างไรก็ดี พื้นที่ย่อมเป็นใหญ่ จะถือเอาแต่ทิศเป็นที่ตั้งอย่างเดียวหาได้ไม่ จำต้องคิดผ่อนผันสั้นยาวไปตามที่สมควรแก่เหตุ

๑๑) เรื่องกระไดนั้นเป็นไปอย่างพระดำรัส เกล้ากระหม่อมเคยคิดมาจนเดี๋ยวนี้ ไม่มีคำจะเรียกกระไดอย่างที่เป็นอยู่บัดนี้ได้ ตามที่ตรัสเรียกลูกหีบนั้นไม่สู้ตรง ลูกหีบเข้าใจกันเป็นลูกเดียว ขยับจะตรงกับหีบไม้เทียนไข อัฒจันทร์ก็เป็นหินครึ่งกลมใช้รองตีนกระไดเป็นที่ล้างเท้าด้วย อัศจรรย์ก็เป็นอัจฉริยไม่เข้าเรื่อง คำนี้เห็นจะหลงมาแต่คำเขมร ซึ่งเขาเรียกว่า “จันเดิน” แต่นั่นเปนลาดอย่างตะพานช้าง ไปเห็นที่เกาะบาหลีเขาทำกันเช่นนั้นมี เพราะที่เขาไม่ราบอย่างบ้านเรา อย่างบากเป็นขั้นก็มี ตามที่ซึ่งต้องขึ้นสูงมาก แต่เขาจะเรียกอะไรไม่ทราบ

ขอได้ทรงสังเกต การที่เราทำนอกชานนั้นสมกับที่บ้านเราเป็นเมืองร้อน

๑๒) กระเบื้องสงขลานั้นเมื่อไปถึงสงขลาก็ไปฉุน ว่าทำไมไม่มาตั้งทำที่เมือง อิฐกระเบื้องอะไรก็ใช้กันที่เมือง ทั้งใกล้ท่าเรือที่จะขนไปข้างไหนก็ง่ายด้วย แต่ครั้นไปดูถึงเกาะยอจึ่งเข้าใจ ดินเขาไม่ต้องผสมอะไร ขุดเอาขึ้นมาก็ทำได้ทีเดียว คือว่าเทวดาผสมไว้ให้เสร็จแล้ว ทีหลังจึงทราบว่าที่เมืองญี่ปุ่นก็ไปตั้งทำที่ดินใช้ทำได้เหมือนกัน จึงพาให้คิดต่อไปว่า เตาทุเรียงและเตาไหของเราก็คงไปตั้งทำที่ดินใช้ทำได้เหมือนกัน กระเบื้องที่ทำทางแขวงกรุงเก่าไม่เคยไปดูถึงที่ แต่สังเกตว่ามีทรายในดินมากถึงลูบร่วงได้ ผิดกว่ากระเบื้องแต่ก่อนจนเรียกกันว่า “กระเบื้องทราย” อันเนื้อหนังนั้นจะอย่างไรก็ยกไว้ แต่ทำขนาดเล็กลงไปทุกทีนั้นสำคัญมาก เพราะคิดเอาเปรียบคนซื้อซึ่งนับเป็นจำนวนร้อยจำนวนพัน ถ้ามุงกระเบื้องนั้นล้วนก็ใช้ได้ แต่ถ้ามุงแซมแล้วไม่ไหวทีเดียว การมุงหลังคานั้นยากมาก ที่ท้องพระโรงวังท่าพระรั่วเก็บเอากระเบื้องเก่าซึ่งมุงโรงแถวมาใช้แซม เล็กกว่ากันนิดเดียวก็ยังไม่ได้ไม่หายรั่ว ต้องทำใหม่หมดด้วยซีเมนต์ย้อมสีจึ่งสำเร็จ ขึ้นไปโคราชทีหลังเห็นโรงเรือนเปลี่ยนทำด้วยไม้สิงคโปร์มุงสังกะสี นึกก็สมเพช ไม่ดีอะไรขึ้นกว่าตึกดินของเก่านอกจากเหมือนกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่โคราชก็ช่างเถิด ไปเห็นสโมสรสถานที่เมืองนางรองมุงสังกะสีก็ฉุนทีเดียว สังกะสีนั้นต้องบรรทุกรถไฟขึ้นไปโคราช และต้องบรรทุกเกวียนเอาไปนางรอง ต้องเสียค่าบรรทุกเท่าไร ทำไมไม่เอาอย่างวัดซึ่งอยู่ใกล้ๆ นั้นเอง เขามุงด้วยกระเบื้องไม้ ไม้ที่นั่นก็หาง่าย ค่าแรงก็ถูก ตกเป็นว่าไม่มีอะไรนอกจากมุงสังกะสีนั้นมีหน้ามีตาที่เหมือนกรุงเทพฯ เกล้ากระหม่อมยังให้นึกอายคำศาสตราจารย์เซเดส์เมื่อไปเที่ยวเมืองเขมรด้วยกัน แกพูดเมื่อขากลับว่าพอเห็นหลังคาสังกะสีก็รู้ได้ที่เดียวว่าเข้าแดนไทย

๑๓) เป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง ที่ตรัสเล่าถึงการปลูกสร้างในเมืองปีนังให้ได้ทราบความอันเป็นไปอยู่ เป็นธรรมดาที่ทำเครื่องดินเผาไม่ได้ดีก็เพราะไม่มีดินจะใช้ ทางเมืองมัณฑะเลก็เหมือนกัน อิฐเลวเต็มที เพราะมีทรายปนอยู่ในดินมาก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ