วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ย้อนหลัง

สำเนาหนังสือจารึกบานประตูประดับมุก ที่วิหารพระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลกนั้นได้มาแล้ว มีสำเนาความเป็นดังนี้

“๏ ศุภมัศดุพระพุทธศักราช ๒๒๙๙ พระวรรษา ๔ ๑๓ ๑๐ ค่ำ ปีกุร สัพศก พระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งให้เขียนลายมุกบานประตูพระวิหารพระชินราช ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก ช่าง ๑๓๐ คน ถึง ณ วัน ๕ ๑๑ ค่ำ ปีกุรสัพศกลงมือทำมุก ๕ เดือน ๒๐ วัน สำเร็จพระราชทานช่างผู้ได้ทำการมุกทั้งปวง เสื้อผ้ารูปพรรณ ทองเงินและเงินตราเป็นอันมากเลี้ยงกันแล ๒ เพลา ค่าเลี้ยงมิได้คิดเข้าในพระราชทานด้วยคิดแต่บำเหน็จประตูหนึ่งเป็นเงินตรา ๒๖+

เกณฑ์ลบพุทธศักราชเป็นจุลศักราช ซึ่งเราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ว่าเป็น ๑๑๘๑ แต่ถ้าเอาเกณฑ์นี้มาลบพุทธศักราชในจารึกนี้ก็เป็น ๑๑๑๘ ไม่ตรงด้วย “สัพศก” ตามที่จารึกไว้

ร้อนใจที่จะสารภาพในเรื่องที่เขียนกราบทูลมาก่อนเป็นตัวอย่างว่า “ปีชวด” “เอกศก” นั้น ผิดอย่างช่วยไม่ได้ทีเดียว เพราะนึกอ้อมค้อมไปเอาลบศักราช ซึ่งเป็นการเหลวแหลกเข้า ควรที่จะนึกง่ายๆ เอาปีเกิดของตัวเองกราบทูลมาเป็นตัวอย่าง จะผิดไปไม่ได้เลย เราแต่ก่อนเห็นจะใช้แต่ชื่อปีเพียง ๑๒ ปี ทีหลังเห็นเคยไปก็เอาศักราชมาผสมเข้า จึงจับพลัดจับพลาดเป็นอันจะใช้ศักราชอะไรก็ไม่แน่ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเสมอ

ตู้ที่วังบางขุนพรหม ๒ ใบ ซึ่งได้กราบทูลมาก่อน ตกไปอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานจริงอย่างคาด แต่ถูกเจียนเสียหมดจารึกไม่มี

ลายมุกบานประตูซึ่งทำครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกศ ตามที่เคยพบมาก็มีลายสองอย่างเท่านั้น คือลายเต็มมีรูปเทวราชอยู่กลางแห่งหนึ่ง กับลายช่องกลมๆ มีหัวรูปสัตว์และรูปภาพครึ่งตัวอยู่ในช่องอีกอย่างหนึ่ง ดูประหนึ่งว่าจะทำคละกันไปในสองอย่างนั้น บานประตูการเปรียญวัดป่าโมก ซึ่งมาอยู่ที่วิหารยอดวัดพระศรีรัตนศาสดารามบัดนี้ เป็นลายช่องกลม บานประตูวิหารพระพุทธชินราชที่เมืองพิษณุโลกก็เป็นลายช่องกลม บานประตูวัดบรมพุทธารามซึ่งเอามาประจุไว้ที่หอมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นเป็นลายเต็มตู้ ที่วังบางขุนพรหมเข้าใจว่าเป็นบานประตูวัดบรมพุทธารามเหมือนกัน ใบใหญ่เป็นลายช่องกลม ใบเล็กเป็นลายเต็มแต่ถูกเจียนร่อยหรอไปเสียแล้ว เดิมจะมีหนังสือจารึกหรือไม่นั้น ทราบไม่ได้ วัดกระเบื้องเคลือบซึ่งว่าเป็นวัดบรมพุทธารามนั้นก็เคยไปถึง แต่จงใจไปหาเศษกระเบื้องเคลือบดู หาได้จงใจไปดูในเรื่องบานมุกไม่ พระอุโบสถที่นั่นไม่ใหญ่ ไม่มีเสาใน เห็นจะมีขนาดไล่เลี่ยกับหอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จึงเอาบานมาใส่กันได้เกือบพอดี พื้นต่ำ เห็นจะก้าวขึ้นเพียงชั้นเดียวหรือสองชั้นเท่านั้น ที่มุขโถงหน้าพระอุโบสถมีหญ้าขึ้นรก ยังได้นึกว่าหญ้านี้เองเวลาฤดูแล้งก็แห่งแล้วไฟป่าเผาไหม้ลนเอาบานมุกเข้า เพราะเหตุดังนั้นบรรดาบานมุกวัดบรมพุทธารามจึงเสียไปตอนล่าง ไม่ใช่ไฟไหม้พระอุโบสถทังหลังซึ่งทำให้บานมุกเลี้ยไปหมด ช่องประตูมีกี่ช่องก็ทูลจำหน่ายไม่ตก เพราะไม่ได้จงใจไปดูช่องประตู แต่ด้านหน้าอาจจะมีสามช่องก็ได้ ลายบานทั้งสามช่องอาจเหมือนกันก็ได้ หรือสลับกันก็ได้ หรือจะเป็นช่องประตูหน้าอย่างหนึ่ง ช่องประตูหลังอย่างหนึ่งก็เป็นได้ ประตูหลังคงจะมีสองช่อง บานประตูที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็เอาอย่างบานมุกครั้งนั้นมาทำสลับกันอยู่ ที่ช่องกลางทำเป็นลายช่องกลม ที่ช่องข้างทำเป็นลายเต็มมีรูปเทวราชอยู่ตรงกลาง เหมือนลายครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศทั้งนั้น แต่ครั้นไปถึงบานประตูพระมณฑปในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นเอง ทำยักย้ายไปเล็กน้อย เป็นลายเต็มเหมือนกัน แต่ปลายก้านเป็นรูปภาพยักษ์มีชื่อครึ่งตัว ลายอย่างนั้นเหมือนกันกับบานที่พระมณฑปพระพุทธบาท อาจเป็นทำคราวเดียวกัน แต่ทำภายหลังประตูพระอุโบสถก็ได้ เศษกระเบื้องมุงหลังคาซึ่งไปหาพบที่วัดกระเบื้องเคลือบนั้นผิดคาดไป นึกว่าจะเป็นกระเบื้องเกล็ด แต่กลายเป็นกระเบื้องกะบู (กำพุช ?) ไป เคลือบสีเหลืองล้วน ได้เอาอย่างมาทำที่พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร กระเบื้องเกล็ดเคลือบต่างสีมุงลักสีเป็นขอบนั้น เห็นจะเอาอย่างสีดาดหลังคาพลับพลา น่าจะเกิดทีหลังชั้นกรุงเทพฯ นี้เองก็เป็นได้

เรื่องหัวนาคพลสิงห์ซึ่งตรัสว่า ปิดปัญหาเพราะตกลงกันแล้วนั้นชอบแล้ว แต่จะกราบทูลต่อความยาวทั้งที่ทรงทราบอยู่ดีทุกอย่างแล้ว เพื่อให้เป็นหลักได้ว่า ตามที่กราบทูลว่าหัวนาคพลสิงห์บันไดขึ้นไปมณฑปพระพุทธบาท เป็นฝีมือ “ครูดำ” ครั้งรัชกาลที่ ๑ นั้น เป็นคำกราบทูลที่ไม่ใช่เหลวไหล เปรียบเหมือนฝ่าพระบาทได้สมุดมาเล่ม ๑ ทรงเปิดดูเห็นหนังสือซึ่งเขียนไว้ในนั้น จะทรงพยากรณ์ได้ทันทีว่าเขียนครั้งไร และถ้าทรงจำลายมือได้ก็สามารถที่จะพยากรณ์ได้ด้วยว่าใครเขียน ทั้งนี้ฉันใดก็ฉันนั้น

ข่าวกรุงเทพฯ

มีการตายซึ่งเห็นควรจะกราบทูลให้ทรงทราบอยู่สองราย (๑) พระยาบำเรอบริรักษ์ (สาย ณ มหาชัย) ตายเมื่อวันที่ ๑๕ ว่าเป็นโรคหลายอย่างตามคำหมอสมัยใหม่ แต่ถ้าว่าอย่างเก่าแล้ว ก็เป็นฝีในท้องเรานี้เอง อาบน้ำศพวันที่ ๑๖ ไม่รับหีบศพของหลวง ประกอบด้วยหีบศพของตัวเอง เป็นหีบลายประดับมุข พระยาอนุศาสน์จิตรกรทำให้เมื่อศพคุณหญิงเพิ่ม (ภรรยา) หลายปีมาแล้ว (๒) พระยามานิตยกุลพัทธ์ (มานิตย์) ลูกเจ้าพระยานรรัตน์ เห็นจะตายในวันที่ ๑๘ อาบน้ำศพในวันนั้น จะแต่งการศพกันอย่างไรไม่ได้ไปเห็น ว่าตายด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก เจ็บเป็นโรคอัมพาตมานานแล้ว ท่านผู้นี้จะทรงรู้จักตัวหรือไม่นั้นไม่ทราบแน่ แต่เคยทรงได้ยินชื่อนั้นเป็นแน่นอน

มีการสมรสที่ควรกราบทูลให้ทรงทราบสองคู่ (๑) หม่อมเจ้าขจรจิรพันธ์ (นอบ) จิรประวัติ สมรสกับหม่อมราชวงศ์กุลปราโมทย์ สวัสดิกุล ลูกสาวหม่อมเจ้าวิบุลย์ ซึ่งได้สมรสกับชายกลาง เฉลิมพล มาแล้ว แต่ร้างกันไป (๒) หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ์สมรสกับหม่อมเจ้าสุลัภวัลเลง สวัสดิวัฒน์ พระราชทานน้ำสังข์วันที่ ๑๗

ลายพระหัตถ์

ลายพระหัตถ์เวรเมล์วันเสาร์คราวนี้ไม่ได้รับ เห็นจะคลาดเมล์คงไปได้รับเอาเมล์วันอังคาร

ปกีรณก

ชายอุปลีสาณเอาหนังสือ “กามนิต” มาให้ว่าเป็นของชำร่วยงานศพหม่อมเจียงคำผู้มารดา ซึ่งทำการฌาปนกิจที่เมืองอุบล มีคำอุทิศในเบื้องต้นว่า เสฐียรโกเศศ กับ นาคประทีป แต่งขึ้นไว้ มอบสิทธิให้แก่หลวงสรรสารกิจตีพิมพ์ เธอชอบว่าแต่งดี จึงได้ตีพิมพ์ขึ้นในการศพมารดา โดยหลวงสรรสารกิจอนุญาตเป็นการดีแล้วที่จะได้อ่านให้ทราบตลอดเรื่อง จะได้รอบรู้สมดั่งที่ตรัสอ้างถึง แต่เห็นจะมีเวลาอ่านน้อยค่อยอ่านค่อยไป เวลามีอยู่ก็เอาไปใช้อ่านหนังสือพิมพ์เสียตาแทบประทุ เพราะต้องการทราบข่าวรบกัน

ได้ความรู้มาซึ่งควรจะกราบทูลให้ทรงทราบด้วย โดยได้ซักไซ้อุปลีสาณ อันคำว่า “เจียง” ภาษาชาวอุบลหมายความว่า เรือน “เจียงคำ” ก็คือเรือนทอง

ให้นึกมะลึกตึกไปว่าประวัตินั้นแต่งยาก ถ้าไม่จืดช่ำมะร่าท่าผู้ตายก็เป็นเทวดา ที่จะให้ผู้ตายเป็นมนุษย์และน่าอ่านด้วยนั้นมีน้อยนัก ตามที่กราบทูลบ่นทั้งนี้ใช่ว่าในหนังสือกามนิตจะมีประวัติหม่อมเจียงคำอยู่ก็หามิได้ รู้สึกด้วยได้สังเกตที่อื่นมามากแล้วนั้นดอก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ