วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนินคลองเตย

วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ค้างเก่า

จะกราบทูลเรื่องยี่เกซึ่งค้างมาแต่คราวก่อน แต่จะกราบทูลได้เพียงเท่าที่สังเกตเห็นว่าอะไรเปลี่ยนแปลงมาอย่างไร เพื่อประดับพระปัญญาบารมี แต่จะกราบทูลเจาะจงลงไปว่าสิ่งใดเปลี่ยนแปลงไปในชั้นใครครั้งไหนนั้นเหลือล้นพ้นกำลัง

การเล่นยี่เกมาแต่สวดแขกเป็นแน่ เพราะใช้รำมะนาแขกซึ่งตีเมื่อสวดนั้นมาประโคมดำเนินการกระทำเจือเข้าไปในทางเล่นละคร แต่แรกทางเล่นก็เหมือนที่ตรัสประทานตัวอย่าง มีแขกรดน้ำมนต์ประเดิมโรง แล้วก็ออกภาษาต่างๆ เป็นที่ถูกอารมณ์ของคนทั่วไปด้วยจำง่าย เพียงแต่ไปยืนดูอยู่ครู่เดียวก็จำได้ไม่ต้องมีความฉลาดมาก ด้วยล้วนแต่สั้นๆทั้งนั้น ตัวอย่างเช่นออกภาษาพม่า คำร้องของลูกคู่นั้นแปลงมาแต่คำสวดของโต๊ะฮะยีก็มีว่า “ซวยเลซวยปอง ทุงยามากอง ทุงยาวาเว” เท่านั้นไปจนจบชุดพม่า แล้วก็เปลี่ยนเป็นชุดภาษาอื่น คำร้องแลลำนำนั้นล้วนแต่สั้นๆ ซ้ำๆ อยู่ตั้งร้อยหนพันหน ซึ่งคนกลางถนนสามารถจำได้โดยง่าย จึงถูกอารมณ์ของคนทั่วไปยิ่งนัก ที่เอาเข้าไปเล่นเมื่องานพระอัฐิสมเด็จพระนางสุนันทานั้น คงจะคิดผูกเล่นกันมาก่อนแล้ว ไม่ใช่เล่นเป็นประเดิมโรงในงานนั้น เดิมทีจะมีพวก “ซาก” อยู่ในนั้นด้วยกระมัง แต่ทีหลังไม่มีเลย เป็นไทยล้วน แขกซึ่งเรียกว่าแขกรดน้ำมนต์ก็ไม่เห็นรด ทั้งไม่เห็นถือหม้อน้ำมนต์ด้วย เห็นมีตลกไทยเข้าไปเล่นแกม เรียกแขกรดน้ำมนต์นั้นว่า “อาบัง” ย้ำอยู่ด้วยความตั้งใจจะให้ขันที่ตรงนั้น แต่ก็ไม่เห็นขันเลย รู้สึกว่าจืดเต็มทน แล้วการเล่นก็ดำเนินไป เอียงไปหาละครเข้าทุกที ถัดจากออกภาษาต่างๆ ก็เปลี่ยนเล่นเป็นเรื่องคนๆ ด้นๆ เอาตามใจ ที่สุดก็เล่นไปเป็นเรื่องละคร เช่นเรื่องอิเหนาทีเดียว การแต่งตัวก็เจือไปทางละครเข้าทุกที พระยาเพชรปาณี (ตรี) คิดแต่งตัวคล้ายละครแต่มีสายสะพายและโบติดบ่าก็หันหาความเห็นเข้าทีของคนทั้งปวง เดี๋ยวนี้ทิ้งกันแล้ว แต่เป็นละครตรงทีเดียว ที่ว่าผู้หญิงชอบนั้นจริงแต่ชอบไปในทางหนึ่ง มีหญิงที่บ้านเกล้ากระหม่อมไปดูยี่เกพระยาเพชรปาณีเสมอ กลับมาเล่าก็ได้ความแต่ว่านายเวกออกแต่เล่นเรื่องอะไรไม่ต้องรู้ เมื่อยี่เกเอียงไปเป็นละครเข้าแล้วก็ลากเอาปี่พาทย์เข้าไปทำอย่างละคร เลิกลูกคู่ตีรำมะนาเสีย ให้ปี่พาทย์ทำเพลงรับรองอย่างลูกคู่ ยิ่งซ้ำร้ายกว่าออกภาษาต่างๆ ไปเสียอีก การออกภาษานั้น เมื่อเปลี่ยนภาษาไป ลูกคู่ก็เปลี่ยนลำน้ำไปตามภาษา ที่เล่นเป็นละครนั้นใช้เพลงรับร้องแต่เพลงเดียว ตั้งแต่ลงโรงจนลาโรง ที่ตรัสทักว่าใช้แต่เพลงเชิดมากที่สุดนั้น ก็เพราะตัวยี่เกไม่ใช่ละครรำไม่เป็น ที่รำได้อยู่บ้างก็เพราะพยายามหัดกันขึ้นได้เล็กน้อย เพลงเชิดไม่ต้องรำ อย่างไรก็ได้ จึ่งได้ใช้มากที่สุด เคยมีเรื่องละครป้องหน้าแล้วปี่พาทย์ไม่หยุด ครูละครฉุนออกอุทานติเตียนด่า “ปี่พาทย์อะไรนี่ละครป้องหน้าแล้วก็ไม่หยุด” ฝ่ายครูปี่พาทย์ก็ตอบในทันทีว่า “ละครอะไรนี่ เชิดยังไม่หมดตัวก็ป้องหน้า” เกล้ากระหม่อมมีใจเข้ากับครูปี่พาทย์เห็นว่าพูดถูก อันท่าละครกับเพลงปี่พาทย์นั้นท่านปรับกันไว้ทุกท่าทุกเพลง ในข้อนี้เล่นเอาครูคุ้ม (พระราม) ต้องหัดตีฆ้อง เพราะแกรำบาทสกุณีไม่ลงกับปี่พาทย์ ลางทีท่ารำของแกหมดแล้วแต่ปี่พาทย์ยังไม่หมด ลางทีปี่พาทย์หมดแล้วแต่ท่ารำของแกยังไม่หมด นั่นเป็นด้วยรำไม่ลงกับลูกปี่พาทย์ จึ่งลากเอาครูคุ้มเข้าหัดตีฆ้องเพื่อให้รู้เพลง ฝ่าพระบาทจะทรงสังเกตได้ในที่ง่ายๆ เช่นละครรำมาในท่าเพลงเร็ว เมื่อมาย่ำเท้าอยู่ก็ทำให้ปี่พาทย์รู้ว่าถึงแล้วควรทำลา แต่เขาก็ทำไปจนเพลงลงท่อนจึ่งบากออกลา ละครก็ต้องย่ำเท้าคอยอยู่ก่อน จนกระทั่งปี่พาทย์ออกลาจึงควักขี้ตาทิ้ง ที่สุดก็ม้วนต้วนลงนั่งไหว้ แต่พอไหว้แล้วลดมือลงถึงอกก็พอปี่พาทย์หมดพอดี แปลว่าตัวละครรู้เนื้อลาดีแล้ว เพลงเชิดก็เหมือนกัน ละครต้องย่ำเท้าคอยอยู่ก่อน จนปี่พาทย์ลงลาก็ยกมือป้องหน้าจึ่งจะถูก แต่ครูละครเข้าใจว่าละครเป็นนาย ป้องหน้าเมื่อไรปี่พาทย์ก็ต้องหยุด อย่างเดียวกับสังฆการีตีกังสดาลห้ามปี่พาทย์กฐินฉะนั้น จึ่งเห็นว่าเป็นการเข้าใจผิดไปมาก

คราวนี้จะกราบทูลถวายด้วยเรื่องลูกหมด ลูกหมดเป็นภาษาปี่พาทย์และคำนั้นใช้จำเพาะแต่ปี่พาทย์รับเสภาอย่างเดียว เพราะว่าเพลงต่างๆ ย่อมหมดลงในลูกต่างๆ ปี่พาทย์เขาก็ทำเสริมลากเอาไปให้หมดที่รองลูกยอด ลูกที่เสริมเข้านั้นแหละเรียกว่าลูกหมด เพื่อให้เป็นที่สังเกตแก่คนขับเสภาให้ขับต่อไปในเสียงที่หมดลงนั้น เพราะเมื่อจะส่งลำอื่นอีกต่อไปจะได้ไม่หลงเสียงผิดลูกไป ลูกหมดนั้นทำบ่อยๆ หลายเพลงเข้าก็เบื่อหู พวกปี่พาทย์เขาก็ยักย้ายทำเป็นลูกขัดต่างๆ เสริมเข้าอีก แต่ก็คงหมดในลูกรองยอดนั้นเหมือนกัน ทีหลังเลิกลูกขัดทำเป็นเพลงภาษาต่างๆ แต่ที่สุดก็ต้องทำลูกหมดซ้ำอีก เพราะเพลงภาษาต่างๆก็ไปสุดลงในลูกต่างๆ เหมือนกัน ลางคนพูดประชดว่า “ลูกต่อ” ก็มี “ในการที่ออกภาษาต่างๆนั้นฟังแปลกหู เพราะผิดจากเพลงไทยไปมาก จึงเป็นที่พึงใจแก่คนทั่วไป ลางทียี่เกจะจำอย่างเอาการออกภาษาของปี่พาทย์เสภานั้นเองไปเล่น เพื่อให้ถูกใจคนก็เป็นได้ เหตุใดจึงเห็นไปดังนั้น เหตุด้วยจำได้แน่ว่า ปี่พาทย์รับเสภาทำออกภาษาๆก่อนยี่เกเกิดขึ้น ที่เกิดเล่นเรื่องเรียกว่าลูกหมดกันขึ้นนั้น แปลว่าประมูลเล่นยี่เก เห็นจะเกิดขึ้นตอนที่เล่นยี่เกเรื่องคนๆ ประมูลเสภารำนิดๆ เสภารำนั้นก็จำได้ว่าเอาตลกมาออกท่าไปตามคำขับก่อน แล้วก็กลายเป็นละครเรื่องขุนช้างขุนแผนไป แต่เดี๋ยวนี้ก็เลิกหายไปหมดแล้ว สมด้วยคำกรมหมื่นวรวัฒน์กล่าวว่า อะไรๆ ถ้าลงเล่นเป็นละครเข้าเมื่อไรก็เป็นสิ้นอายุเมื่อนั้น เพราะสู้ละครไม่ได้

สืบเอาความหมายในชื่อเดิมของพระยาอรรคนิธินิยมว่า “สมุย” ได้เค้าเป็นคำทางคริสตังเหยียดเป็นไทย เช่น อันโตนี เหยียดเป็น ต๋น โดมิงโค เหยียดเป็นหมิ่น ไปเสียแล้ว หาเกี่ยวกับเกาะสมุยไม่ แต่คำเดิมจะเป็นสมูเอล หรือแซมยวล อะไรความรู้ก็ไม่พอ

สนองลายพระหัตถ์

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๑๖ เมษายน คราวนี้ดี ได้รับในวันเสาร์ซึ่งรถไฟเข้าไปถึงทีเดียว และอะไรๆก็เรียบร้อยทุกอย่าง

จะกราบทูลเรื่องพระเจดีย์ ๓ องค์ ที่เรียกว่าพระเจดีย์นั้น เป็นไปตามความเข้าใจอย่างไทย เจดีย์ย่อมหมายถึงสถูปเจดีย์อย่างเดียว สิ่งที่เรียกว่าสถูปนั้นก็คือวัตถุใดๆ ซึ่งกองขึ้น แม้กองหินเท่านั้นก็เป็นสถูปโดยถูกต้องแล้ว ที่รูปร่างกระดุกกระดิกไปต่างๆ นั้น เป็นของช่างเขาประดิษฐ์ขึ้นทั้งนั้น ที่ว่าเป็นทรงมอญก็เป็นทรงลาด เพราะมอญชอบทำลาดๆ ส่วนข้างไทยชอบทำลีบแหลม จนพระเจดีย์แบบไทยได้ชื่อว่า “ไม้เรียวหวดฟ้า” ในการที่รูปจะเป็นอย่างไรนั้น ถ้าเป็นของเชลยศักดิ์ก็ต้องสุดแต่จะหาช่างทำได้ แม้ในตำบลนั้นมีแต่ช่างมอญพม่า สิ่งที่สร้างขึ้นก็ต้องเป็นมอญเป็นพม่า ถ้าตกไปด้วยช่างจีน สิ่งที่สร้างขึ้นก็จะต้องเป็นจีน ส่วนของหลวงนั้นต้องยกเสีย เพราะพระมหากษัตริย์ท่านย่อมมีพระบรมเดชานุภาพมาก ท่านจะทรงเลือกเอาช่างพวกใดคนใดทำก็ย่อมได้ทั้งนั้น แต่พระเจดีย์ ๓ องค์นั้นก็ทรงเป็นมอญจริง ๆ เกล้ากระหม่อมได้ส่งรูปฉาย ๒ แผ่น ซึ่งพระยาพหลให้มามาถวายทอดพระเนตรด้วยบัดนี้แล้ว ไม่ใช่เพียงทรงเป็นพระเจดีย์มอญเท่านั้น ซ้ำมีฉัตรยอดอย่างพระเจดีย์มอญอีกด้วย แต่ฉัตรนั้นทำไว้ด้วยไม้เกะกะ ดูเป็นว่าจะเติมเข้าทีหลัง ยอดพระเจดีย์ส่วนก็สั้นตลุดกุด ดูเป็นจะเติมฉัตรเข้าเมื่อยอดหักด้วนไปเสียแล้วมีหนังสือจดไว้ที่หลังรูปปรากฏว่า เส้นแดนนั้นอยู่แต่เหนือไปใต้ ส่วนพระเจดีย์ ๓ องค์นั้นเรียงกันแต่ตะวันออกไปตะวันตก องค์กลางอยู่ตรงเส้นแดน องค์ตะวันออกอยู่ในแดนไทย องค์ตะวันตกอยู่ในแดนมอญ ผิดกับที่เคยนึกมาแต่ก่อนว่าจะเรียงไปตามเส้นแดน และผิดกับที่ตรัสบอกว่าอยู่ในแดนไทยไกลเข้ามา ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เป็นของไทยสร้างแน่นอน ไม่เกี่ยวแก่มอญเลย ที่รูปเป็นมอญนั้นไม่สำคัญ เป็นการสุดแต่จะหาช่างทำได้

เรื่องไม่ทำรูปพระเจ้านั้นเกล้ากระหม่อมก็รู้สึก เห็นแบบในอินเดียทำเป็นธรรมจักร เป็นพระบาท เป็นต้นโพธิ์ ในเมืองไทยฝ่าพระบาทเอารูปฉายมารผจญที่สุพรรณมาประทาน ก็มีแต่โพธิบัลลังก์เปล่า กับเห็นบานประตูวิหารที่พระพุทธบาททำรูปองค์พระเจ้าเป็นอุณาโลม ส่วนพระพุทธรูปเมืองคันธารเขาทำพระศกเหมือนรูปอโปลโล นึกก็ชอบใจเห็นว่าดีกว่าอย่างที่ทำเป็นขมวดก้นหอย นั่นติดจะเอียงไปในทางหัวเราะ แต่อย่างไรก็ดีเขาตั้งใจจะทำให้เป็นกษัตริย์ออกบวชนั้นเป็นแน่ พระพุทธรูปองค์ที่เรียกว่า “แม่นางกษัตรี” นั้นไม่เคยเห็นนึกก็แค้นใจตัวเอง ของอยู่ที่จัดเบญจมบพิตรนั้นเอง ควรหรือไม่เห็นได้ จะต้องไปดูให้รู้ไว้ ได้เห็นองค์หนึ่ง ทางมุขมุมหลังดัานเหนือ แต่เห็นจะไม่ใช่องค์ที่เรียกว่า “แม่นางกษัตรี”

คำสุภาษิตที่ทรงเก็บ เคยทราบมาแต่ว่าทรงเก็บสุภาษิตของสุนทรภู่ แต่สุภาษิตอื่นไม่เคยทราบ จะโปรดตรัสพรรณนาให้ได้ทราบก็มีแต่ดีใจเท่านั้น ชาวอินเดียถนัดสุภาษิตมาก จะแต่งหนังสือเรื่องอะไรก็มีสุภาษิตพราวไปทั้งนั้น นึกถึงสุภาษิตก็นึกได้ถึงคำท่านผู้ใหญ่บอกว่า ฝรั่งเขาว่าสุภาษิตนั้นเป็นลอบปากใหญ่ ดักเอาไว้หมดทั้งดีทั้งชั่ว ได้ผลดีก็เข้าสุภาษิต โดยมากคำสุภาษิตมักมีทั้งดีทั้งร้ายในการกระทำอย่างเดียวกัน จึ่งสมกับคำที่ว่าเป็นลอบปากกว้าง อีกทางหนึ่งเขาว่าถ้าอยากรู้ความประพฤติของชนถิ่นใดว่ามีนิสัยใจคอเป็นอย่างไร ก็ให้ดูสุภาษิตของคนถิ่นนั้น เห็นว่าพูดถูกทั้งสิ้น

หญ้าที่แห้งไปเพราะแล้ง ไม่เคยสังเกตว่าใบแห้งมันกลับสดขึ้นอีกเมื่อได้น้ำ ที่บางกอกยังร้อนจัด ฝนไม่ตกเลย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ