วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

ดึกดำบรรพ์

๑) จะกราบทูลเรื่องเทวดาประจำวันทั้ง ๗ ต่อ แต่หนังสือเวรซึ่งกราบทูลมาก่อนสืบไป เพื่อนเขาบอกว่าเทวดาประจำวันทั้ง ๗ นั้นมาแต่ดาวพระเคราะห์ จึงได้สติขึ้นว่าจริงของเขาดังนั้น โหรของเรานับถือดวงดาวว่าเป็นใหญ่ อาจให้ดีให้ร้ายแก่โลกได้ ที่สุด “โหราศาสตร์” ก็กลายเป็นวิชาหมอดูไป จึงเกิดคำ “ดาราศาสตร์” ที่จริงก็เป็นวิชาอันเดียวกันแต่ลงปลายแยกไปเสียคนละทาง เพราะโหรเราหลับตา ลางคนก็ไม่รู้จักดวงดาวเสียด้วยซ้ำ ทำอะไรก็ทำไปตามแต่ตำราซึ่งตนมีเท่านั้น

คิดดูโหรเรานับถือเป็นสามชั้น คือ สัตตเคราะห์ อัฐเคราะห์ กับนพเคราะห์ สัตตเคราะห์ เป็นเก่าก่อน เทวดาประจำวันของเรา ก็คือดาวพระเคราะห์ ฝรั่งเขาว่าเป็นของบาบิโลนก่อน แล้วใครๆ ต่างก็จำเอาไป ที่ทางอังกฤษผิดกับไทยไปสามชื่อ ตามที่กราบทูลมาก่อนนั้น เขาว่าเยอรมันจำเอาไปแล้วเอาไปเปลี่ยนองค์เทวดาเสีย เป็นการเข้าแก่ตัวอย่างที่ว่า “ไม่เข้าใครออกใคร” อังกฤษเก่าก็เป็นเทือกเถาเยอรมัน จึงใช้เทวดาประจำวันไปอย่างเยอรมัน พระโอดินนั้นเคยได้ยินชื่อแต่จะได้ยินมาแต่ไหนก็ลืมที่มาเสียแล้ว จึงเอาใจใส่ต่อมา บัดนี้ได้ทราบขึ้นแล้วว่า พระโอดินก็คือเทวดาซึ่งรักษาพวกเยอรมันนั้นเอง เอาเสียทั้งผัวทั้งเมีย อัฐเคราะห์นั้นเติมราหูเข้า เราจะใช้อะไรบ้างมาแต่ก่อนก็ไม่ทราบ เห็นแต่ทีหลังเขาใช้ผูกดวงชาตาก็เป็นเรื่องหมอดูอีก เห็นดวงเก่ามีแต่พระเคราะห์ ๘ เท่านั้น ที่มีมฤตยูขึ้นนั้น ได้ยินเขาว่าเป็นของใหม่ ทูลกระหม่อมของเราทรงบัญญัติขึ้น จะมาแต่อะไรก็ไม่เข้าใจพอที่จะกราบทูล ราหูก็มีนักปราชญ์วินิจฉัยว่าคือโลกเรานี่เอง เมื่อเช่นนั้นก็ไม่แตกต่างทางออกไปจากพวกดาวพระเคราะห์ นพเคราะห์นั้นคาดหน้าว่าจะมาแต่สถานพระอาทิตย์ซึ่งมีอยู่ในอินเดีย เขาตั้งรูปพระอาทิตย์องค์ใหญ่ไว้กลาง แล้วมีเทวดาอื่นองค์เล็กๆ ตั้งล้อมไว้ ๘ ทิศ แต่พระเกตุเข้าจึงเป็น ๙ องค์ด้วยกัน ถ้าไม่เติมก็มีแต่ ๗ ทิศ เหินเห่อ เกจิอาจารย์อินเดียเขาผูกนิทานไว้ว่า ราหู กับ เกต นั้น เป็นเทวดาองค์เดียวกัน เพราะถูกจักรนารายณ์เมื่อปางกวนน้ำอมฤต เพราะปลอมตัวเข้าไปเพื่อจะมีส่วนได้กินน้ำอมฤต ตัวจึงขาดออกเป็นสองท่อน ท่อนบนเป็นราหู ท่อนล่างเป็นเกตุ ด้วยราหูนั้นว่าตัวท่อนบนเป็นยักษ์ ท่อนล่างเป็นมังกร ว่าเพราะพระอาทิตย์พระจันทร์บอกพระนารายณ์ พระราหูจึงได้พยาบาทพระอาทิตย์พระจันทร์ ตั้งใจอยู่เสมอที่จะกินเสีย นิทานอันนี้เราก็รู้กัน คนแก่เล่าอยู่บ่อยๆ แต่เรื่องพระเกตุไม่มีใครรู้ ว่าจะเป็นกายท่อนล่างของราหู มีชื่ออยู่เหมือนกันเรียกว่า “ธุมเกตุ” แต่หมายเอาดาวหาง ก็มีลักษณะยาวอย่างมังกรเหมือนกัน โหรเราทีจะได้มาทีหลัง จึงตั้งบัตรพระเกตุไว้กลางด้วย นึกว่าเป็นเทวดาที่สำคัญ ที่เขาเอาพระอาทิตย์ไว้กลางนั้นชอบอย่างยิ่ง เพราะถ้าจะว่าตามทางอย่างเก่าก็มีหลายพวกที่นับถือพระอาทิตย์ เช่น อิหร่าน เป็นต้น ถ้าจะว่าตามทางอย่างใหม่ พระเคราะห์ทั้งหลายก็ย่อมเดินเวียนพระอาทิตย์อยู่ทั้งนั้น ตามที่ว่าราหูกับเกตุเป็นเทวดาองค์เดียวกันนั้น ก็เป็นอันว่าในการที่โหรเราถือเทวดานพเคราะห์นั้น ก็ไม่ผิดทางไปเลย ที่เราเรียงลำดับพุธแล้วกระโดดข้ามไปเป็นเสาร์นั้น คิดว่ามาแต่เขาจัดตั้งพระเคราะห์ล้อมพระอาทิตย์ไว้ที่สถานอินเดียนั้นเอง คือตั้งพระจันทร์ไว้หน้าทางทิศตะวันออก ตั้งพระอังคารไว้อาคเณย์ ตั้งพระพุธไว้ทักษิณ ตั้งพระราหูไว้หรดี ตั้งพระเสาร์ไว้ประจิม เช่นนี้เป็นต้น เราย้ายเอาพระอาทิตย์ไปตั้งไว้อีสาน เห็นได้ว่า “โคมลอย” ไปถนัดใจ ที่คลาดเคลื่อนไปบ้างเพราะมาไกล

๒) เมื่อพูดถึงเรื่องเก่าๆ ก็ทำให้นึกขึ้นมาถึงเรื่องธง ธงสีเดียว เช่น ธงม้าแดงล้วนนั้นเป็นเก่าที่สุด ถัดลงมาก็เอาสีนั้นต่อกับสีนี้ เพื่อให้รู้ว่าอะไรผสมกับอะไรนั่นเป็นชั้นกลาง ที่ทำเป็นรูปอะไร เช่น รูปช้างเผือก เป็นต้นนั้น เป็นชั้นหลัง แม้ของเก่าเช่น ธงกระบี่ครุฑพ่าห์ก็หาได้ทำรูปไว้ในธงไม่ ทำเป็นรูปติดไว้กับคันธงเท่านั้น เข้าใจว่าที่กล่าวมาชั้นก่อน ว่าธงมีรูปอะไรนั้น คงทำรูปติดกับคันธงเช่นเดียวกัน

เบ็ดเตล็ด

๓) ราชทูตไทยซึ่งไปเจริญทางพระราชไมตรีที่เมืองอังกฤษครั้งแผ่นดินกวีนวิคตอเรีย ซึ่งหลวงสิทธิสยามการเข้าไป “ถลก” ที่โรตารีคลับนั้น หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์เขาเก็บความมาลงก่อน แต่เกล้ากระหม่อมไม่ได้อ่าน ทีหลังเขาจึงลงรูปตามมา ดูรูปราชทูตก็ไม่รู้จัก ทำให้เกิดความสงสัยขึ้นว่าราชทูตนั้นคือใคร ครั้งไหน ครั้ง “นิราศลอนดอน อาวรณ์ถวิล” หรือมิใช่

๔) เห็นหนังสือพิมพ์ เขาลงเรื่องราชวงศ์โรมานอฟ กล่าวถึงพระโอรสพระเจ้าซาร์นิโคลัสประชวร ตรัสเพ้อว่า “ผีดิบ” เกิดสงสัยขึ้นว่า คำนั้นเขาแปลมาแต่คำใดในภาษาอังกฤษ ฝรั่งไม่มีผีสุก เพราะเขาไม่เผากัน เพิ่งจะมาเผากันเมื่อเร็วๆ นี้เอง แต่ก็จัดว่าเป็นทางนอกศาสนา

ข่าว

๕) สำนักพระราชวังออกหมายบอกว่า พระองค์เจ้าภควดีสิ้นพระชนม์แล้ว เมื่อวันที่ ๓ เดือนนี้ เวลา ๑๙.๑๕ นาฬิกา ประชวรพระโรคชรา พระชันษา ๘๕ กำหนดจะสรงพระศพวันที่ ๔ เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา แล้วเชิญพระศพออกตั้งที่อัตวิจารณ์ศาลา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จ จะมาทอดผ้าไตรหลวงที่ศาลานั้น เกล้ากระหม่อมตั้งใจจะเข้าไปสรงศพที่ตำหนัก แต่ถูกนาฬิกาช้าไปเสีย ๑๕ นาที ไม่ได้เตรียมเวลาเผื่อเหลือไป เห็นไม่ทันจึงตัดแก้เป็นไปเสียที่อัตวิจารณ์ศาลาทีเดียว

ในการนี้ได้เห็นอะไรแปลกๆ เป็นต้นว่า เสลี่ยงหิ้วในหมายเรียกว่า เสลี่ยงแว่นฟ้า ที่เคยเห็นหามสองคนก็เป็นหามสี่คนขึ้น ใช้สอดลูกคลักกับเชือกสาแหรกซึ่งผูกกับคาน ก็มาตรงกับเสลี่ยงที่เจ้านายทรง เว้นแต่ไม่มีพนักเท่านั้นเห็นว่าดีขึ้น พระศพตั้งบนชั้นแว่นฟ้าสองชั้น ประกอบลองราชวงศ์ ปักฉัตรสามชั้นตามมุม ๔ คัน ดูฉัตรสามชั้นเห็นทรงพิลึก ตัวฉัตรเตี้ยตะม่อต้อ แต่คันยาวมาก ดูจำต้องเป็นเช่นนั้นอยู่เอง ไม่ฉะนั้นก็เชิญเข้ากระบวนแห่ไม่ได้ ที่เห็นแปลกไปคงเป็นด้วยนานๆ จึงจะเห็นทีหนึ่ง

เวลา ๑๘.๓๐ นาฬิกา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงเสด็จมา ทรงจุดเครื่องนมัสการแล้วทรงทอดผ้าของหลวง ๑๐ ไตร พระราชาคณะชักผ้าถวายอนุโมทนาแล้ว ทรงจุดเทียนที่เตียงพระสวดแล้วเสด็จกลับ เป็นเสร็จการเพียงเท่านั้น

อัตวิจารณ์ศาลาได้ซ่อมใหม่ เรียบร้อยหมดทุกอย่าง

๖) ได้รับหมายบอกการเฉลิมพระชนม์พรรษา มีหมายกำหนดการใบพิมพ์ส่งมาให้ด้วย ๒ ฉบับ จึงได้แบ่งส่งมาถวายฉบับ ๑ แต่ไม่เป็นการประหลาดอะไร เป็นการตามเคยเท่านั้น

ลายพระหัตถ์

๗) เมื่อวันที่ ๗ กันยายน (วันเสาร์) ได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๓ กันยายน ตามกำหนด เรียบร้อยหมดทุกอย่าง จะกราบทูลสนองความลางข้อต่อไปนี้

๘) พระดำรัสพรรณนาถึงลำน้ำต่างๆ นั้นดีเต็มที สิ่งที่ไม่ทราบก็ทำให้ทราบขึ้นได้

ก) คลองพิงเป็นคลองที่คนขุดจริงๆ แล้วก็ประหลาดใจที่ไม่ได้ไปต่อกับแม่น้ำพิง มีไปเพียงถึงแม่น้ำยมเท่านั้น เหตุใดจึงเรียกว่าคลองพิงก็ไม่เข้าใจ

ข) ได้ทราบขึ้นว่าเมืองวิเชียรคือเมืองศรีเทพ ซึ่งแต่ก่อนมาไม่ได้ทราบเลย ลำน้ำที่พระแก้วก็ทราบได้ว่าเป็นแม่น้ำเก่า แต่จะไปทางไหนหาทราบไม่ ตามพระดำรัสบอกทางที่ไปให้ทราบนั้นสว่างใจขึ้นดีเต็มที

ค) เมืองพิษณุโลกนั้นได้ยินเขาว่ามีแม่น้ำสองแคว แต่ไม่ทราบว่าแควไหน อยู่ทางไหน ปากน้ำเกยชัยนั้นรู้จัก จำได้เพราะเรื่อง “อ้ายด่างเกยชัย” การที่เอาเรืออัครราชขึ้นไปพิษณุโลกนั้น เดี๋ยวนี้ขยับจะทำให้เชื่อไม่ได้

ฆ) ลำน้ำแม่ยม เป็นอันได้ความว่า ที่ชื่อเป็นเช่นนั้นเพราะผ่านเมืองบางยม จึงอยากทราบต่อไปว่าลำน้ำแม่วังได้ชื่อมาแต่อะไร ลำน้ำท่าแพนั้นรู้จัก

ง) ลำน้ำเชียงไกรหรือเชิงไกรนั้น ได้ยินมาไถลไปเสียอีกอย่างหนึ่งเป็นแม่น้ำพังไกร อันชื่ออะไรต่างๆ นั้นเคลื่อนไปเสมอ สุดแต่คนจะเรียกกันชั่วคราวเหมือนหนึ่งแม่น้ำบางปะกงก็ไปได้ความจากนิราศสุนทรภู่ ว่าชื่อเดิมเป็นแม่น้ำบางปลามังกง

จ) แม่น้ำบางประมุงนั้นไม่เคยได้ยินทีเดียว รู้จักแต่คลองสวนหมาก อันแม่น้ำที่ตาย ที่ตื้นหาย ที่ลึกกลายเป็นบึงหนอง เห็นจะมีมากนัก บรรดาหนอง ถ้ามีแล้วมีต่อต่อกันไป เห็นได้ว่าคือแม่น้ำเก่า ทางฝั่งตะวันตกใกล้ปากน้ำโพ เห็นในแผนที่มีหนองติดต่อกันอยู่มากนัก รู้ได้ว่าเป็นแม่น้ำเก่า เกล้ากระหม่อมถนัดเที่ยวอย่างที่เรียกว่า “อีหลุยฉุยแฉก” คือจับเด็กๆ ที่บ้านลงแจวเรือ เกล้ากระหม่อมเป็นคนนำ แต่เกล้ากระหม่อมตลอดจนเด็กที่แจวเรือก็ไม่มีใครรู้ตำบลหนแห่งอะไรทั้งนั้น ได้อาศัยแต่แผนที่เป็นมัคคุเทศก์ ลางแห่งก็อดหัวเราะไม่ได้ ปากคลองที่มีในแผนที่ซึ่งเราตั้งใจจะไปอยู่สูงกว่าหัวเราขึ้นไปเป็นไหน ในการเที่ยวอย่างอีหลุยฉุยแฉกนั้นได้พบแม่น้ำเก่าเข้าเป็นหลายแห่ง อย่างเช่นคลองสายที่อ่างทองซึ่งเคยเล่าถวายมาแล้วนั้น คลองน้ำยาซึ่งเข้าไปวัดตูมต้องไปด้วยเรือพายลำเล็ก แม้กระนั้นก็ยังต้องเข็น ไปถึงวัดตูมเข้าก็รู้สึกว่าเป็นแม่น้ำเก่า แต่จะไปต่ออะไรที่ไหนนั้นหาทราบไม่

ฉ) แม่น้ำน้อยตอนเมืองสรรค์นั้นเต็มที เมื่อเกล้ากระหม่อมไปเที่ยวเมืองสรรค์นั้นน้ำไม่มีติดแม่น้ำเลย แห้งเป็นแผ่นดินจนชาวบ้านเขาขุดบ่อลงกลางแม่น้ำเอาน้ำมาใช้ ใต้นั้นลงมาก็ได้เคยไปเห็นแต่เป็นลางแห่งหลายแห่ง แม่น้ำนั้นดูทีก็จะได้เปลี่ยนมาหลายทอดแล้วเหมือนกัน เช่น ลำที่เข้าไปวัดพระนอนจักรศรี (เขียนอย่างไรก็ไม่ทราบ) เดิมทีก็เห็นจะไม่ใช่เข้าไปตัน วัดคงตั้งอยู่ริมแม่น้ำ การขุดคลองลัดนั้นทำให้ลำน้ำเปลี่ยนไปมาก คลองที่เรียกว่ากระทุ่มราย เคยเอาถ่อหยั่งลงไปก็ไม่ถึงดิน น้ำกัดลึกมาก ทางแม่น้ำใหญ่ตรงวัดไชโยนั้นทรายไปตั้งเป็นคันโขด เดินข้ามแม่น้ำท่องไปได้ เขาว่าเรือใหญ่จะขึ้นลงต้องขุดทราย เป็นแน่ว่านานเข้าจะต้องตัน ต้องใช้แม่น้ำน้อยทางกระทุ่มราย

ช) แม่น้ำบางลี่บางขาบ เกล้ากระหม่อมเคยไปแต่เพียงวัดไลต่อขึ้นไปอีกไม่เคยไปเห็น เท่าที่เห็นก็เห็นกว้างใหญ่อยู่มาก

ซ) ตามพระดำรัสที่ตรัสว่า “เอาไว้ให้คนข้างหลังเขาคิด” นั้นทำให้นึกถึงพระสารสาสน์พลขันธ์ (เยรินี่) ด้วยเกล้ากระหม่อมได้ปรารภกับแก ถึงเรื่องที่เกี่ยวด้วยพงศาวดารอันรู้มาแต่เล็กน้อย ไม่พอที่จะแต่งอะไรขึ้นได้ แกแนะนำว่าให้จดทิ้งไว้สำหรับคนภายหลังเขารู้อะไรมาอีกเขาจะได้เก็บเอาไปแต่งต่อ

๙) จริงอย่างพระดำรัส นุ่งหางหงส์ก็เป็นนุ่งจีบโจง ต้องถือว่านุ่งจีบโจงคือนุ่งหางหงส์ เพราะนุ่งอย่างจีบห้อยชายหนึ่ง โจงชายหนึ่งเราไม่ได้นุ่ง

จะเลยทูลปรึกษาถึงสิ่งหนึ่งเสียด้วย เกล้ากระหม่อมเคยเห็นเขาทำเครื่องปิดนมด้วยทอง ก็เป็นรูปนม อยู่นั่นเอง เรียกกันว่า “ก่องนม” ก่องเห็นจะได้แก่กล่องดูเป็นคำชาวพายัพ แต่อย่างไรก็ดี ทำให้นึกถึง “วงถัน” ของเรา ที่ทำสวมนมไว้เฉยๆ ดูไม่มีมูลเลย ถ้าภายในวงถันนั้นจะปิดทองเสียหมด อธิษฐานเอาว่าเป็นก่องนม เขาจำหลักริมให้ดูหรูหราจะควรหรือไม่ เชื่อว่าก่องนมนั้นเองนำมาให้เป็นผ้าคาดนมขึ้น เข้าใจว่าทางอินเดียก่องนมเขาจะมี ดูเหมือนไม่ทำด้วยทอง ทำเป็นปักเลื่อมเป็นเสื้อกั๊กหรือคาดอกอะไรก็มี เข้าใจว่าฝ่าพระบาทจะตรัสบอกได้ ด้วยเคยเสด็จไปอินเดีย และได้เคยทอดพระเนตรระบำฮินดูในห้องท้องช้าง ซึ่งเขาทำไว้ที่สวนอะไรในยุโรป นั้นเขาจะแต่งตัวอย่างไรก็ไม่ทราบ

๑๐) ตรัสถึงเจ้ากรมเทศ เกล้ากระหม่อมเห็นแกแต่เวลาออกแขก ตรงกับเวลาเข้าเจ้าเข้านาย แกแต่งตัวเรียบร้อย ไม่เคยเห็นเวลาปกติของแก ตามที่ตรัสเล่าว่าแกไม่ใส่เสื้อชอบใช้ผ้าเปียกคาดอกนั้น ทำให้คิดถึงปลัดกรมชุมของเกล้ากระหม่อมชอบทำอย่างนั้นเหมือนกัน แกเป็นคนบุราณบวชอยู่สำนักวัดหงส์ เป็นสมุห์ของพระธรรมปหังสนาจารย์แต่ครั้งกระโน้น ได้เคยถามถึงเจ้าพระยายมราชแกออกจะดูหมิ่นว่า “เด็กเมื่อวานซืนนี้” ขอได้ทรงสังเกต ที่ว่าเจ้าพระยายมราชเป็นเด็กเมื่อวานซืนนี้นั้น ท่านก็แก่กว่าเกล้ากระหม่อมเสียแล้ว ถึงแม้ปลัดกรมชุมจะมีอายุอ่อนกว่าเจ้ากรมเทศก็ดี แต่จัดว่าเป็นคนปูนเดียวกัน จึงชอบทำอะไรอย่างเดียวกัน และเข้ากับเจ้าพระยายมราชไม่ได้ด้วยเป็นชั้นเด็กกับผู้ใหญ่ไกลกันมาก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ