วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทราบฝ่าพระบาท

วันเสาร์ที่ ๔ พฤษภาคม ถึงกำหนดรถไฟเข้าไปจากปีนัง ได้รับลายพระหัตถ์เวรลงวันที่ ๓๐ เมษายน ฉบับ ๑ กับหนังสือหญิงพิลัยมีเข้าไป ฉบับ ๑ หนังสือหญิงพิลัยนั้นมีรอยตัดตรวจเปิดหัวซอง ประทับตรากองตรวจหมายเลข ๘ แต่ลายพระหัตถ์นั้นไม่มีรอยตัดตรวจ มีแต่ตราประทับสั่งผ่านตามเคย ย่อมเห็นได้ว่าเขาเคารพต่อฝ่าบาทมากที่สุด จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์ลางข้อต่อไปนี้

สนองลายพระหัตถ์

พระดำริเรื่องพระเจดีย์ ๓ องค์นั้น เห็นเป็นการควรที่สุดที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะทำด้วยกันเมื่อมอญเป็นอิสระ แต่เวลาโน้นจะมีรูปลักษณะเป็นอย่างไร ก็ยากที่สันนิษฐานได้ พระยาพหลบอกว่าพระพิพิธสาลีไปฉายมา เมื่อครั้งขุนศรีสุวรรณเป็นนายอำเภออยู่่นั้นคราวหนึ่ง กับกรมแผนที่ได้ไปฉายมาคราวหนึ่ง รูปฉายทั้งสามคราวนั้นดูพระเจดีย์ไม่เหมือนกันตามที่ว่านั้นจะกำหนดเอาให้ใกล้ชิดว่าเป็นราวปีไรความรู้ก็ไม่พอ เอาเป็นแน่ได้แต่ว่าในรัชกาลที่ ๕ ที่ว่านั้นก็ส่ออยู่ในตัวว่ามีคนซ่อมแซมกันเรื่อยมาหลายคราว

ด่านแม่ละเมา หรือแม่สอด คำว่า “แม่” จะต้องเป็นลำน้ำ ออกจะแลไม่เห็นเพราะไม่เคยไปถึง แต่ทางนั้นหลวงขจรยุตกฤตบอกว่าเดินยาก แต่เมื่อไม่มีทางอื่นจะเดินง่ายกว่าก็ต้องจำเดินอยู่เอง

ทางข้ามอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า “ด่านสิงขร“อยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ แต่ได้ยินเป็นทางข้างใต้ หวังว่าฝ่าพระบาทจะตรัสบอกได้

จะกราบทูลต่อเนื่องด้วยเรื่องยี่เก ที่ปี่พาทย์เล่นลูกหมดออกภาษาต่างๆ นั้น ปี่พาทย์ต่างวงขนเอาเครื่องเล่นสำหรับออกภาษาไปกองเป็นมูนมอง เพื่อตีเมื่อเล่นออกภาษาการขนเอาเครื่องเล่นไปเป็นอันมากนั้น มีตัวอย่างที่ปี่พาทย์ในพระนครวงหนึ่ง จะไปตีประชันกับปี่พาทย์สวน ขนเอาเครื่องเล่นไปมากมาย ด้วยตั้งใจว่าจะทับปี่พาทย์สวนให้ชนะ ในกระบวนเครื่องเล่นนั้น ครั้นไปออกเพลงฝรั่งก็เอากลอง “มลิกัน” ตี ฝ่ายทางปี่พาทย์สวนก็ออกเพลงฝรั่งบ้างแต่เอาดุ้นแสมตีปีบน้ำมันปิโตรเลียมเปล่า แทนกลอง “มลิกัน” แล้วก็หัวเราะกัน เกล้ากระหม่อมเห็นเป็นว่าแพ้ปี่พาทย์สวน คล้ายกับอย่างนี้เคยไปเห็นยี่เกที่เมืองพนมสารคามมาคราวหนึ่งแล้ว ด้วยได้ทราบว่าพระพนมสารนรินทร์เจ้าเมื่อเขามียี่เก จึงไปสังขีสังขนให้เขาเอามาเล่นให้ดู เขาจะเลิกเสียแล้วหรืออย่างไรไม่ทราบ แต่เขาขัดไม่ได้เขาก็จัดมาเล่นให้ดู เครื่องแต่งตัวไม่มีอะไร พวกยี่เกฉวยเอาขันน้ำซึ่งเขาเอามาตั้งเลี้ยงเทน้ำเสีย เอาขันขึ้นครอบศีรษะเป็นขุนช้าง หัวเราะเสียแทบตาย เห็นดีกว่าใส่หัวล้านทำโดยจำเพาะเป็นไหนๆ ทั้งนี้ก็เหมือนกันกับที่ปี่พาทย์สวนตีปีบน้ำมันปิโตรเลียมนั้นเอง

เรื่องลูกประคำได้โจทย์ถามพระยาอนุมานไป เขาอุตส่าห์ตรวจหนังสือและสอบถามผู้รู้จดบันทึกมาให้เป็นกองสองกอง จะคัดมาถวายก็เห็นเป็นสวะอยู่มาก เสียเวลาที่จะทรงจึงหยิบแต่ใจความมากราบทูล มูลเหตุนั้นต้องการจะใส่คะแนนภาวนา ทีแรกก็ใช้นับนิ้วมือ แล้วมากมายยุ่งยากเข้าก็เอาเมล็ดอะไรใส่เป็นคะแนนแล้วจะไม่ให้มันพลัดหายไปเสีย จึงจัดการร้อยมันไว้เป็นพวงแล้วเปลี่ยนเมล็ดคะแนนเป็นมหรรฆภัณฑ์ มีต้นว่าแก้วทองเงิน การทำเช่นนั้น ลางทีก็กลายใช้เป็นเครื่องอาภรณ์ไปไม่เกี่ยวแก่ภาวนา ตามที่สืบได้ความมามีรูปเป็นดังนี้เห็นเป็นถูกที่สุด ส่วนจำนวนลูกประคำจะมีกี่เมล็ดนั้นก็ต่างกันไป พวกไหนจะต้องการภาวนากี่คาบก็ทำลูกประคำใช้เท่านั้น ไม่มีกำหนดแน่จำนวน ๑๐๘ นั้นดูเป็นจำนวนที่ถนัดอย่างหนึ่ง มีต้นว่าลายลักษณะพระพุทธบาทก็ ๑๐๘ พวกเดียวกับสำเพา ๕๐๐ โจร ๕๐๐ จะมาแต่อะไรก็ไม่ทราบ สิ่งที่อ้างถึงว่า ๑๐๘ ดูก็เป็นผูกขึ้นให้เข้ากับจำนวนนั้นทีหลัง เช่นตัณหา ๑๐๘ ซึ่งตรัสอ้างถึงนั้น ก็เป็นของผูกขึ้นให้เข้ากับจำนวน ๑๐๘ นั้นเอง แม้คัมภีร์วิสุทธิมรรคเองก็เป็นของแต่งใหม่เสียแล้วจำนวน ๑๐๘ มีมาก่อน จำนวนลูกประคำอย่างมากที่สุดถึง ๑๐๐๘ ก็มี ที่ทำด้วยไข่มุก (คือแก้วมุกดา) ผู้หญิงฝรั่งก็เอาเข้าพันคอเปนเครื่องอาภรณ์ทั้งสองรอบสามรอบ

เรื่องไทรโยคที่ตรัสเล่าให้รู้สึกประหลาด ที่มีบริษัทจัดรับเรือจ้างประทุกคนขึ้นไปนั้นควรแล้วถ้าหากว่ามีคนต้องการขึ้นไปมากพอ แต่ที่เอาเรือจูงขึ้นไปก่อนแล้วปล่อยเชือกมาลากเอาเรือพ่วงขึ้นไปนั้นน่าสงสัยมาก นึกว่าเรือยนต์ไม่สามารถจะขึ้นแก่งได้ทีเดียว ไปตามเสด็จคราวโน้นแล้ว เกล้ากระหม่อมได้ไปเที่ยวกลอนโดด้วยเรือแจวอีกทีหลัง ไปถึงแก่งหลวงดูเป็นไม่มีแก่ง จะเป็นด้วยน้ำมากหรือเขาจะระเบิดเสียแล้วก็ไม่ทราบ ที่ไปนั้นไปเดือนอะไรก็จำไม่ได้ ที่เขาเอาเรือยนต์ขึ้นแก่งไม่ได้ลางทีก็จะเป็นด้วยมีน้ำมากกว่า เมื่อเวลาเราตามเสด็จขึ้นไปก็เป็นได้ เสียใจที่ได้ทราบว่าพุท้องช้างพังเสียแล้ว อันความงามของพุนั้นไม่แต่มีกล่าวชมไว้ในนิราศท่าดินแดงเท่านั้น แม้ภายหลังสมเด็จพระราชปิตุลาก็ได้ทรงถ่ายเอามาทำอิเหนาสรงน้ำในตอนเล่นธารเครื่องกลเขาไกรลาศ ด้วยความงามของพุนั้น ถ้ำผีเกล้ากระหม่อมไม่มีความรู้จะถวายทูล จะได้หยุดจอดเรือที่ชายเขาตรงปากถ้ำหรือแจวเลยไปก็จำไม่ได้ แต่ไม่ได้ขึ้นไปบนถ้ำนั้นแน่ เพราะสูงเหลือล้นกว่าที่จะซนปีนขึ้นไปถึง การเฉือนเอาไม้หัวเรือไปตามที่ตรัสเล่านั้น เห็นเป็นเหมือนกับเฉือนไม้กางเขนอันที่ตรึงพระเยซู ได้นึกวิตกเหมือนกันว่าจะหมด แต่ฝรั่งเขาหัวเราะกัน ว่าถ้าเอาเศษไม้กางเขนที่ได้มาทุกๆ คนเข้ารวมกันจะเป็นไม้กางเขนตั้งสามสี่อัน

ได้มีข้อกังขาอยู่ข้อหนึ่งถึงเรื่องปราสาทเมืองสิงห์ที่กาญจนบุรี เกล้ากระหม่อมเคยตามเสด็จไปถึงที่นั่นเมื่อเล็กๆ เห็นเป็นกองศิลาแลงอยู่ ๓ กองไม่เป็นรูปอะไร แต่ทีหลังมาเห็นหนังฉายของทูลกระหม่อมชาย อันได้ทรงฉายไว้เมื่อเสด็จขึ้นไปเที่ยวไทรโยคดูเป็นมุดเข้าไปได้แต่ก็เห็นเพียงปากช่องที่มุด ไม่เห็นรูปร่างการก่อสร้าง แต่เพียงเท่านั้นก็ผิดกันกับที่เกล้ากระหม่อมไปเห็นมามากทีเดียว ฝ่าพระบาทจะตรัสบอกถึงปราสาทเมืองสิงห์นั้น ว่าเป็นอยู่อย่างไรได้บ้างหรือไม่ หวังว่าจะได้ไปทอดพระเนตรเห็นมาโดยถ้วนถี่

บ้านพระยารัตนเศรษฐีที่บนเขา ซึ่งเสด็จขึ้นไปประทับพักอยู่นั้นไม่เคยเห็น แต่อย่างไรก็ดี ทางที่ติดต่ออยู่กับบ้านมีจะทรงดำเนินโดยพระกำลังได้เท่าไร ก็ควรทรงพระดำเนินอยู่เท่านั้น แม้จะต้องวนเวียนก็ตามที ที่จะไปอาศัยใช้อ้ายเกรินครอกแครกเห็นเป็นลำบากนัก นี่ว่าด้วยส่วนพระองค์ ส่วนเด็กๆ นั้นแกจะแผลงฤทธิ์ไปอย่างไรก็ตามทีแก

ในหนังสือพระยาประชา (แช่ม) มีว่าเทวดา “ก่ายเกิน” ลงมาจากยอดเขาเข้าใจว่าคำ “เกิน” นั้นได้เก่ “เกริน” ของเรา ถ้าถูกเช่นนั้นคำว่า “เกริน” ก็หมายเป็นกระได

ปริศนา

จะกราบทูลถามเรื่องเจ้านายประสูติ เมื่อวัยที่ควรจะรู้ก็ไม่รู้เพราะไม่เอื้อ เมื่อต้องการรู้วัยก็เกินแก่นที่ควรจะรู้ได้เสียแล้ว จึงขอประทานทูลถามในข้อที่ไม่รู้ ฝ่าพระบาทก็คงเป็นมาเช่นเดียวกัน แต่ลางอย่างคิดว่าจะทรงทราบพอที่จะตรัสบอกได้จึงลองทูลถามมา

๑. ทราบอยู่ว่าพระองค์เจ้าประสูตินั้นมีปี่พาทย์ประโคม เข้าใจว่าใช้ปี่พาทย์หญิง อันปี่พาทย์ผู้หญิงนั้นมีแตรสังข์ด้วยพร้อม แต่ฆ้องชัยไม่มี เจ้านายที่เป็นองค์หญิงไม่มีตีฆ้องชัย แต่ถ้าเป็นองค์ชายแล้วมีฆ้องชัยตี เพราะฉะนั้นเมื่อจวนประสูติเอาผู้ชายกรมฆ้องชัยเข้าไปเตรียมคอยตีเมื่อเป็นองค์ชาย หรือตีอยู่ข้างหน้า อนึ่งถ้าเอาผู้ชายเข้าไปเตรียมตีฆ้องชัยเอาแตรสังข์ผู้ชายเข้าไปเป่าด้วยหรือไม่ หรือใช้แตรสังข์ผู้หญิง ถ้าเป็นเจ้าฟ้ามีแตรวงเป่าประโคมด้วย นั่นมานั่งคอยเป่ากันอยู่ที่ประตูยามค่ำ ทราบอยู่ไม่ต้องทูลถาม แต่เห็นจะเป็นของเติมใหม่ เมื่อมีแตรวงขึ้นมากแล้ว พอที่จะจ่ายมาประโคมได้

๒. หน้าที่กรมทหารใน ต้องทำพระแท่นประสูติกับกระดานอยู่ไฟ ของทั้งสองอย่างนี้ยกเข้าไปเมื่อจวนประสูติ หรือว่าประสูติแล้วจึงยกเข้าไป อนึ่งกระดานอยู่ไฟนั้นเคยได้ยินเรียกกันว่า “พระแท่นประทมเพลิง” แต่คำนั้นดูเป็นสำหรับพระมารดาที่เป็นเจ้า ถ้าเป็นเจ้าจอมมารดาโดยปกติเรียกกันว่าอะไร

๓. การสมโภชเดือน เท่าที่ทราบก็ตอนเสด็จลงเวลาเย็น มีแต่การเวียนเทียนพระราชทานน้ำสังข์ขึ้นพระอู่ แต่งานตอนเช้า ซึ่งถ้าเรียกตามภาษาชาวบ้านก็ว่า “โกนผมไฟ” นั้นจะต้องมี แต่ไม่ทราบเลย มีสวดมนต์เลี้ยงพระด้วยหรือไม่ก็ไม่ทราบ และถ้ามี มีสวดมนต์เสียก่อนวันหนึ่ง หรือสวดในเช้าวันนั้น พระกี่รูป และใครเป็นคนประเดิมพระเจริญพระเกษา (ตัดเป็นฤกษ์) ไม่ได้เสด็จลงทรงตัด แต่ไม่เคยได้ยินว่าเชิญผู้ใหญ่ผู้ชายใครเข้าไป แต่การทำหน้าที่ต่างๆ นั้น เจ้าพนักงานผู้ชายเข้าไปทำแน่ พระรกของเจ้านาย ถูกถามว่าเรียกอะไรก็จน ตอบเขาไม่ได้ วิ่งสืบไปได้ความทางสำนักสมเด็จพระพันวัสสาว่าเรียก “พระตระกูล” พระราชวัติฉัตรธงที่ล้อมขันสรง กับกรงกุ้งเงินปลาทองซึ่งใช้จุ่มลงในขันสรง และมะพร้าวปิดกระดาษเงินทองสำหรับเอาไปปลูกในที่ฝังพระตระกูล เข้าใจว่าเป็นหน้าที่กรมทหารในทำ หรือช่าง ๑๐ หมู่ กรงกุ้งเงินปลาทองนั้นดูเป็นเข้าใจผิด ทำกรงนกทำเอากุ้งเงินปลาทองเสียบบนคอนจะถูกอย่างไร เข้าใจว่าเอาพิธีลงท่าเข้ามาปน “กรง” หมายความว่ารั้วกันสัตว์ร้ายซึ่งทำลงในแม่น้ำการฝังพระตระกูลปลูกต้นมะพร้าวเข้าใจว่าเป็นหน้าที่โหร

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ