วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนานอน ปีนัง

วันที่ ๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์เวรฉบับ ลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม แล้ว คราวนี้เขาเอามาส่งวันเสาร์ที่ ๒๔ เวลาเช้า

สนองความในลายพระหัตถ์

๑) ที่หม่อมฉันส่งสมุดจดกันลืมไปถวายนั้น เป็นด้วยอ่านพระปรารภลืมมาในลายพระหัตถ์ถูกดังทรงคาด ว่าถึงลักษณะลืมดูต่างกันเป็น ๓ อย่าง

อย่างที่ ๑ ลืมสนิท อย่างนี้เห็นจะเป็นมีมาก ยกตัวอย่างที่ได้แก่ตัวหม่อมฉัน เพิ่งรู้สึกตัวเมื่อเร็วๆ นี้เรื่อง ๑ หม่อมฉันนึกปรารภที่ปีนังนี้เนืองๆ ว่าน่าจะรวมคำเด็กไทยร้องเล่นเช่น “จิงโจ้มาโล้สำเภา” เป็นต้น พิมพ์เป็นเล่มอย่างอังกฤษเรียกว่า Nursery Rhymes ของไทย นึกเสียดายที่ไม่ได้ทำเมื่อยังเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา เมื่อหม่อมฉันเขียนวิจารณ์บทช้าลูกหลวงได้ขอบทเห่กล่อมที่หม่อมฉันเคยให้พิมพ์แล้วต่อพระยาอนุมาน เขาส่งออกมาอีกเล่ม ๑ ล้วนเป็นคำเด็กร้องเล่นทั้งนั้น เห็นในคำนำซึ่งหม่อมฉันเขียนไว้เอง จึงนึกได้ว่าหม่อมฉันได้เคยปรารภ และได้ให้รวมคำเด็กร้องเล่นพิมพ์ในสมุดเล่มนั้นแล้ว แต่เมื่อยังเป็นนายกหอพระสมุด ควรหรือลืมสนิทได้ถึงเพียงนั้น

อย่างที่ ๒ ลืมเพียงบางสิ่ง ซึ่งน่าจะเป็นด้วยกันโดยมากเหมือนกัน เช่นนึกถึงเรื่องอะไรเรื่อง ๑ จำโครงเรื่องได้บกพร่องแต่พลความ ครั้นจะสอบก็เกิดลืมว่าเคยเห็นในหนังสือไหน คิดค้นไม่ออกจนทอดธุระ บางทีจนช้านานจึงนึกได้ หรือไปค้นพบว่าอยู่นี่เอง เมื่อสิ้นกิจที่จะต้องการรู้เสียแล้ว

อย่างที่ ๓ ลืมศัพท์คือลืมชื่อคนเป็นต้น มีตัวอย่างเช่นกรมพระนเรศฯ ตรัสเล่าว่าท่านพบเจ๊สัวหญิงล้อม รู้ว่าเป็นใครแต่นึกชื่อไม่ออก ลืมอย่างนี้ก็มีแก่หม่อมฉัน เมื่อเร็วๆ นี้นึกถึงหลวงชัยอาญาที่เป็นพะทำมะรงทรงคุณอย่างวิเศษ อยู่เมืองนครปฐม หม่อมฉันเคยใช้สอยแกอยู่ช้านาน แต่เมื่อนึกขึ้นแล้วลืมชื่อตัว พยายามคิดค้นสักเท่าใดก็มีแต่คำอื่นโผล่ขึ้นในญาณ แต่รู้ว่าแกไม่ได้ชื่อนั้น จนต้องเลิกคิด ต่อมาในวันนั้นเองเวลาเข้านอนคำ “โพธิ” โผล่ขึ้นในญาณเฉยๆ โดยมิได้คิดค้น ดูก็น่าพิศวง แต่วิธีกันลืมนั้นจดลงไว้เป็นดีกว่าอย่างอื่นหมด

๒) ที่หม่อมเจิมเขาเอากะปิสิงคโปร์ไปฝากคุณโตนั้นหม่อมฉันไม่ทราบ แม้จนว่าทำกะปิที่เมืองสิงคโปร์ เห็นแต่เมื่อเตรียมจะกลับหาของกินและอะไรต่ออะไรไปหลายอย่าง หม่อมฉันก็ไม่ได้เอาใจใส่ไต่ถาม ในเรื่องของในท้องตลาดในเมืองปีนัง พวกผู้หญิง แม้ที่เป็นแขกมาพักเพียงสัปดาห์เดียวรู้ดีกว่าหม่อมฉันก็ว่าได้ เพราะเขาชอบเที่ยวตลาด ไปกันไม่เว้นวัน ไปวันละหลายหนก็มี แต่หม่อมฉันไม่ชอบไปตลาดจึงไม่รู้ว่ามีอะไรแปลกกับกรุงเทพฯ การกินนั้นหม่อมฉันก็เห็นพ้องกับพระดำริ ว่าคนสูงอายุไม่ควรชอบกินของแปลกและกินน้อยดีกว่ากินมากเกินไป ใช้สังเกตด้วยท้องเป็นประมาณ ถึงปากยังอยากท้องอิ่มก็ไม่กินต่อไป

๓) เรื่องโคลงคุณเสือขอลูกนั้น หม่อมฉันได้เขียนบันทึกความเห็นทูลบรรเลงถวายไปแล้วในจดหมายเวร ฉบับที่ผ่านกับลายพระหัตถ์ฉบับนี้ จะทูลเพิ่มเติมแต่ว่าหม่อมฉันเคยเห็นแผ่นศิลาจารึกโคลงนั้นติดอยู่ที่ใต้รูปภาพเด็ก น่าที่จะเคยหลุดตกเพราะคนไปแตะต้อง เห็นจะเป็นท่านมงคลเทพฯ (ใจ) ที่เอาไปติดเสียข้างหลังพระโลกนาถให้สูงพ้นมือคน แต่ตัวรูปภาพนั้นตามโคลงว่าเป็นเด็กชายรูป ๑ เด็กหญิงรูป ๑ เพราะฉะนั้นแสดงความว่าจะได้แต่ลูกชายหรือลูกหญิง หรือได้ทั้งลูกชายลูกหญิงก็ยินดีทั้งนั้น รูปภาพทั้ง ๒ นั้น หม่อมฉันเห็นว่าคงติดอยู่ตรงที่ติดเดี๋ยวนี้มาแต่รัชกาลที่ ๑ เพราะดูเหมาะกว่าที่อื่น และทำเป็นคู่จึงติดไว้ข้างพระฝ่ายละตัวให้คนเห็นง่าย ทั้งมีข้อสำคัญที่จะต้องให้ท่านผู้เป็นเจ้าของชื่นชมอนุโมทนาด้วย หม่อมฉันอยากจะเดาต่อไปอีกสักหน่อย ว่าชะรอยจะมีคนเชื่อกันมาแต่ในกรุงศรีอยุธยา ว่าอาจจะขอลูกต่อพระโลกนาถได้ คุณเสือคงอยากมีลูกมาก่อนสร้างวัดพระเชตุพนนานแล้ว ครั้นประสบเหตุที่เชิญพระโลกนาถมาประดิษฐานไว้ในวัดพระเชตุพนจึงกราบทูลปรารภที่จะขอลูกต่อพระโลกนาถ การที่สร้างรูปเด็ก ๒ รูปนั้น อาจจะเป็นพระราชดำริทรงแนะนำก็เป็นได้ อย่างไรก็ดีเรื่องให้สร้างรูปเด็ก ๒ ตัวนั้น คงคิดกันแต่ในระหว่างพระราชดำริกับคุณเสือไม่มีใครอื่นเข้าไปเกี่ยวข้อง และไม่ได้อ้างโดยเปิดเผยว่าเป็นของคุณเสือสร้างขอลูก มีเรื่องทำนองเดียวกันปรากฏเมื่อรัชกาลที่ ๔ ว่าเจ้าจอมพุ่มไปอธิษฐานขอลูกต่อพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นพระพุทธชินราช กลับมามีพระราชธิดา ทูลกระหม่อมจึงพระราชทานนามว่า “พุทธประดิษฐา” แต่ออกทรพิษสิ้นพระชนม์เสียเมื่อต้นรัชกาลที่ ๕

๔) ปัญหาว่าลายจำหลักปราสาทหินที่เมืองเขมรลงสีหรือไม่นั้น เมื่อหม่อมฉันไปดูพระนครวัด เดินไปในระเบียงนึกสงสัยขึ้นด้วยฝ้าเพดานก่อน เพราะสังเกตหินที่วางเหลื่อมเข้าไปเป็นหลังคาดูครุคระไม่มีรอยทำให้เกลี้ยงเกลาอย่างไร จนไปเห็นฝ้าเพดานทำด้วยไม้จำหลักประสานสีปิดทองมีอยู่ห้อง ๑ จะเป็นของทำใหม่หรือของเดิมเหลืออยู่รู้ไม่ได้แน่ แต่ลวดลายเข้ากับปราสาทหิน เห็นได้ว่าถ้าเป็นของใหม่ก็คงสร้างตามแบบเดิม จึงลงเนื้อเห็นว่าระเบียงพระนครวัดเดิมคงมีฝ้าเพดานทำด้วยไม้ ต่อนั้นไปเห็นภาพจำหลักที่บางแห่งดูเหมือนที่ซุ้มจระนำมีรอยสีติด แต่ก็รู้ไม่ได้ว่าใครจะไปลงสีในภายหลัง หรือลงสีแต่เดิม ทางสันนิษฐานก็มีเป็น ๒ นัย นัย ๑ ว่าแห่งใดเป็นที่ตากแดดกรำฝน แห่งนั้นทิ้งไว้เป็นเนื้อหิน แห่งใดอยู่ในร่มลงสีลวดลายจำหลักให้ดูงามขึ้น แต่ถ้าเป็นโดยนัยนี้ คราบสีคงยังเหลืออยู่ตามรูปภาพที่ผนังระเบียงมากกว่าที่มีอยู่จึงเห็นอีกนัย ๑ ว่าภาพจำหลักหินแม้อยู่ในร่มก็ทิ้งไว้เป็นเนื้อหินมิได้ลงสีมาแต่เดิม เพราะประสงค์จะอวดฝีมือจำหลักหิน ถ้าลงสีก็จะไปเหมือนกับภาพเขียนหรือปั้นซึ่งทำได้ง่ายๆ ปัญหาจึงอยู่เพียงขบไม่แตก

๕) รูปภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่ระเบียงวัดพระแก้วนั้น เดิมเขาก็ไม่ได้เขียนทศกัณฐ์หรือภาพอื่นหลายแขนหลายมือ เว้นแต่ตรงตัวภาพทำปาฏิหาริย์เฉพาะตัว หม่อมฉันยังจำได้ว่าสมเด็จพระราชบิตุลาเป็นผู้สั่งให้เขียนแขนและมือมาก เมื่อท่านเป็นแม่กองการเขียนพระระเบียง ครั้งจะฉลองพร้อมกับงานสมโภชพระนครอายุครบ ๑๐๐ ปีในรัชกาลที่ ๕ ท่านเคยตรัสเล่าว่า ไปจำนนเมื่อเขียนรูปภาพสหัสเดชะ ช่างมิรู้ที่จะเขียนแขน ๑๐๐๐ ได้อย่างไร ท่านจึงเอาคำ “พันธุ์” มาให้เขียนเป็นมือคนฝ่าย ๑ นิ้วครุฑฝ่าย ๑ คิดดูมันก็ไปเข้าเรื่องภาพสมมติ ดังหม่อมฉันเคยทูลไปแล้ว ถ้าปลงใจเสียว่าเขียนภาพสมมติก็อาจจะเขียนได้ทั้งให้งาม และให้ถูกใจคนดู แต่ที่จะให้เป็นทั้งภาพสมมติและให้เหมือนธรรมชาติด้วยมันพ้นวิสัยที่จะเป็นได้ ก็ชักยุ่งพาให้ภาพเลวลงเท่านั้น

๖) เรื่อง “วิกาล” จะหมายว่าเวลาบ่ายหรือเวลาค่ำนั้น ดูเหมือนพระเถรที่ได้พิจารณาหาหลักฐานในพระบาลี จะเห็นว่าเวลาค่ำทุกองค์ นอกจากข้อวินิจฉัยต่างๆ ที่ประทานมาในลายพระหัตถ์ ถ้าหม่อมฉันจำได้ถูกแม้ในนิทานปฐมบัญญัติสิกขาบทวิกาลโภชน์ก็เกิดแต่พระภิกษุเข้าไปบิณฑบาตในเวลาค่ำ มิใช่บ่าย แต่ที่ไม่มีพระเถระองค์ใดกล้ายกปัญหาเรื่องวิกาลขึ้นพิจารณานั้น เป็นเพราะเกิดเหตุครั้งต้องทำทุติยสังคายนาเมื่อ พ.ศ. ๑๐๐ ด้วยภิกษุสงฆ์พวกวัชชีคามจะแก้พระวินัย ๑๐ วัตถุ จะให้พระฉันได้จนค่ำเป็นวัตถุอัน ๑ ใน ๑๐ วัตถุนั้น พระสงฆ์เกิดเห็นต่างกัน พวกพระสงฆ์ฝ่ายคณะพุทธสาวก อันเป็นชีต้นของนิกายหินยานลงเนื้อเห็นว่าวัตถุ ๑๐ ประการเป็นมิจฉาทิฐิ ยืนยันว่าบ่ายเป็นวิกาล ก็เหมือนปิดประตูวินิจฉัยมาแต่นั้น แม้สมเด็จพระมหาสมณกล้าทรงแก้ไขครั้ง ๑ ก็ไม่ตรงกับวินิจฉัยศัพท์วิกาล ทรงบัญญัติว่า “ภิกษุไข้ฉันอาหาร (เพื่อป้องกันความตาย) ได้ทุกเวลา”

๗) พระยาราชโกษา (จันทร์ วัชโรทัย) หม่อมฉันเคยได้ยินเรื่องประวัติของแกและยังจำได้เป็นเงาๆ อยู่แปลก ดูเหมือนจะเคยหลบเร่ออกไปอยู่มณฑลอีสานนาน พระยาอุทัยธรรม (หรุ่น) ก็ได้ไปกับบิดาแต่เมื่อยังเป็นเด็ก อยู่มาในกรมภูษามาลาไม่มีตัวเชื้อสายพระยาอุทัยธรรม (เพ็ชร์) ต้นสกุลวัชโรทัย ซึ่งเป็นผู้เชิญพระกลด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาแต่ก่อนเสวยราชย์ ทูลกระหม่อมจึงโปรดให้ไปเที่ยวติดตามเอาตัวพระราชโกษา (จันทร์) กลับเข้ามารับราชการ หม่อมฉันจำได้ว่าเรื่องเป็นทำนองนี้ ถ้าท่านตรัสถามพระยาอุทัยธรรม (หรุ่น) ก็เห็นจะจดเล่าถวายด้วยความยินดี ดูเป็นเรื่องน่าเขียนรักษาไว้

ทูลเรื่องลืมเพิ่มเติม

๘) หม่อมฉันเขียนวิจารณ์ช้าลูกหลวง หม่อมฉันว่าไม่เคยเห็นฉันท์กล่อมเจ้าฟ้าซึ่งมีอยู่ในนั้น เมื่อส่งหนังสือนั้นไปแล้วนึกเฉลียวใจขึ้นมา ว่าในหนังสือประชุมฉันท์ดุษฎีสังเวยที่หม่อมฉันได้รวมให้หอพระสมุดฯ พิมพ์ไว้แต่ก่อน ดูเหมือนจะมีคำฉันท์กล่อมลูกหลวง จึงเขียนจดหมายไปขอหนังสือนั้นที่พระยาอนุมานราชธน เขาส่งมาให้ถึงหม่อมฉันเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๖ นี้ เปิดดูก็จริงๆ และความเดียวกันกับที่หม่อมฉันเขียนวิจารณ์ทูลเป็นตัวอย่าง ลืมอย่างที่ ๒ ที่ทูลอธิบายข้างต้นจดหมายนี้จึงต้องเขียนวิจารณ์แก้ใหม่ถวายมากับจดหมายนี้ ขอให้ทรงเปลี่ยนกระดาษเอาหน้า ๗๒ ของเดิมออกฉีกเสีย เอาใบที่ถวายใหม่เข้าแทน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ