วันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๑๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์เวรฉบับลงวันที่ ๓ กันยายน มาถึงหม่อมฉันแล้ว คราวนี้เขาเอามาส่งต่อวันเสาร์เวลาบ่าย เห็นจะเป็นเพราะประจวบคราวเมล์ยุโรปมาถึงมีหนังสือมาก

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑. เรื่องสีมาหม่อมฉันได้ทูลวินิจฉัย รวมความไปในจดหมายเวรฉบับที่ผ่านกับลายพระหัตถ์ฉบับนี้แล้ว ยังแต่ข้อถอนสีมาก็คิดดูเห็นมูลเดิมได้ง่ายๆ คือเมื่อพระสงฆ์ย้ายถิ่นที่ไปตั้งสอนพระศาสนาต้องบอกพระสงฆ์ในคณะเดียวกัน และคณะอื่นที่เขตสีมาติดต่อกันให้รู้เท่านั้นเอง กล่าวกันว่า พระบาลีมีทั้ง “อัตถ” คือความและพยัญชนะ คือคำการที่ทำวินัยกรรมมักถือเอาพยัญชนะเป็นหลัก จึงแปลความไปได้ต่างๆ เช่นตรัสยกเป็นอุทาหรณ์มาว่าเขตสีมาอันหมายด้วย “ก้อนหิน” ตามอัตถหมายว่าก้อนหินที่ติดตรึงอยู่กับแผ่นดินโดยธรรมชาติ กลายเป็นก้อนหินกลม อันคนอาจจะย้ายเอาไปฝังหรือตั้งไว้ที่ไหนได้ตามใจ ล้วนเป็นด้วยเอาพยัญชนะแก้อัตถทั้งนั้น

๒. เรื่องชื่อ ๑๒ ปีที่มนุษย์ต่างชาติเรียกต่างกันนั้น หม่อมฉันนึกขึ้นถึงมูลของชื่อตัวหวย ซึ่งพระเจนจีนอักษรแกเคยค้นอธิบายมาให้ ว่าเมื่อแรกจีนคิดออกหวยนั้นเขาเอาชื่อขุนนางโบราณครั้งราชวงศ์ซ้อง ซึ่งปรากฏเกียรติคุณมาจนถึงคนชั้นหลังชอบขึ้นชื่อมาตั้งเป็นตัวหวย เรียกตามชื่อขุนนางเหล่านั้นว่า สามหวย ห้วยโป๊ เจียมควย เป็นต้น ข้อนี้ชี้ให้เห็นเหตุว่าเมื่อจีนมาออกหวยให้ไทยเล่น เห็นว่าไทยไม่รู้จักชื่อขุนนางจีนคนสำคัญเหล่านั้น จึงเอาตัวพยัญชนะอักษรไทยตั้งเป็นตัวหวย ที่เมืองเขมรเมื่อจีนไปออกหวยเอาชื่อสัตว์ต่างๆ ในภาษาเขมรตั้งเป็นตัวหวย ให้เขมรเรียกแต่ส่วนพวกจีนทั้งที่อยู่ในเมืองไทย และเมืองเขมรคงเรียกชื่อเดิมว่าสายหวย ห้วยโป๊ เจียมควย เพราะฉะนั้นไทยเราจึงมักเรียกชื่อตัวหวยควบกันว่า ก สามหวย ข้ ห้วยโป๊ และ ข เจียม ดังนี้ ประดิทินที่กำหนดรอบ ๑๒ ปี จะเป็นชาวอินเดียหรือชาวประเทศไหนคิดตั้งขึ้นก็ตาม เดิมอาจจะเอาชื่อสิ่งสำคัญอันใดอันหนึ่งเรียกเป็นชื่อปีตามภาษาของประเทศที่คิดนั้น เมื่อประดิทินแบบ ๑๒ ปีใช้แพร่หลายไปถึงประเทศอื่น เกิดลำบากแก่ชาวประเทศอื่นด้วยได้แต่เสียงไปเรียก ไม่รู้จักสิ่งสำคัญอันเปนมูลของชื่อไป เปรียบเหมือนอย่างว่าไทยและเขมรได้แต่ชื่อสามหวย ห้วยโป๊ และเจียมควยมาเรียกตัวหวยไม่เข้าอกเข้าใจจำก็ยาก จึงคิดแก้ไขให้เข้าใจและจำได้ง่ายขึ้น เช่นจีนคิดเอารูปสัตว์ต่างๆ ที่คนรู้จักมาเป็นเครื่องหมายและเรียกชื่อปีด้วยชื่อ ๑๒ นักษัตรนั้น ชนชาติอื่นบางพวกก็เป็นแต่เปลี่ยนคำเรียกชื่อปี หรือเรียกตามชื่อที่ได้มาจากประเทศอื่น นานเข้าเสียงก็เพี้ยนไป หม่อมฉันคิดเห็นว่าน่าจะเป็นมาทำนองนี้ ชื่อวันทั้ง ๗ นั้นพอเห็นได้ว่ามูลมาแต่ตะวันเดือนดาว แต่ก็ประหลาดอยู่ที่คำนวณตรงกันหมดทุกชาติ วันนี้เป็นวันอะไรในเมืองไทยก็เป็นวันอันนั้นเหมือนกันทุกประเทศ เป็นเช่นนั้นมาแต่ก่อนเก่าโดยมิได้นัดหมายกัน ข้อนี้ส่อว่าลักษณะและวันทั้ง ๗ น่าจะได้ไปจากครูเดิมครูเดียวกันทั้งนั้น ส่วนชื่อเดือนนั้นที่เอาตัวเลขตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๒ เรียกเป็นชื่อเดือนก็มี ให้ชื่อเดือนด้วยหมายความอย่างอื่นก็มี แต่หม่อมฉันไม่มีเครื่องมือจะสอบสวน จะไปหาตำราเดือนฝรั่งดูที่หอสมุดเมืองปีนัง ก็เผอิญวันร่างจดหมายนี้เป็นวันอาทิตย์ จึงทูลสนองเพียงเท่านี้

๓. มนต์สังสกฤตที่พราหมณ์กล่อมลูกหลวงนั้น หม่อมฉันก็เคยได้ยินว่า ถ้าพระราชกุมารเป็นเจ้าฟ้าว่ามนต์เปิดประตูไกรลาศด้วย แต่ก็ไม่เคยเข้าไปฟังใกล้และมิได้เคยถามพระครูพราหมณ์ ได้แต่สันนิษฐานว่าเห็นจะเพิ่มเข้าข้างหน้า

ปกิรณกะ

๔. เมื่อสัก ๒ สัปดาหะมาแล้ว ชายประสบสุข ลูกเขยหม่อมฉันมีจดหมายมา ว่าเธอคิดจะแต่งหนังสือว่าด้วยเงินตราของไทย ถามมาว่าหม่อมฉันจะให้ความช่วยเธออย่างไรได้บ้าง เผอิญหม่อมฉันได้เขียนตำนานไว้ตอน ๑ เป็นเรื่องแต่รัชกาลที่ ๔ จนต้นรัชกาลที่ ๕ หม่อมฉันจึงเขียนเรื่องตอนก่อนขึ้นไปเพิ่มเข้ากับที่เขียนไว้แล้วส่งไปให้ชายประสบสุข เห็นว่าพอจะเป็นเรื่องบรรเลงถวายได้ในสัปดาหะนี้ จึงส่งสำเนาถวายมาฉบับ ๑ ด้วยกันกับจดหมายนี้.

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ