วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ดร

บ้านซินนามอน ปีนัง

วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

พนักงานไปรษณีย์เชิญลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน มาส่งเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ เวลาบ่าย

ทูลข่าวเศร้าโศก

พออ่านลายพระหัตถ์แล้วก็ได้ข่าวว่าเจ้าชายวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์สิ้นชีพฯ ด้วยโรคอัมพาต เธอเคยประชวรด้วยโลหิตฉีดขึ้นเบื้องสูงแรงเกินไปมาหลายครั้ง เป็นอยู่ครั้งละสัก ๗ วันก็หาย เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ก็เป็นครั้ง ๑ ครั้นถึงวันที่ ๑๙ นี้เป็นอีก หมอมาดูว่าเป็นแรงแนะให้ไปอยู่โรงพยาบาล เธอจึงไปอยู่ที่โรงพยาบาล “ปีนัง แซนิตอเรียม” ริมถนนพม่าในวันพุธนั้น วันพฤหัสบดีต่อมา หม่อมฉันไปเยี่ยมเห็นหมอเขาผูกตาให้นอนนิ่งอยู่ ก็ไม่เข้าไปรบกวน แต่หม่อมเกื้อบอกว่า ตั้งแต่เช้าวันนั้นไม่รู้จักใครนอกจากหม่อมเกื้อ หม่อมฉันก็ออกหนักใจ ไปถามหมอว่าอาการจะรักษาให้หายได้หรือไม่ หมอเป็นคนใหม่ยังไม่เคยรู้จักกัน แต่ก็เห็นจะปิดความไม่ให้ตกใจตามวิสัยหมอ บอกว่าพอจะรักษาให้หายได้ ต่อมาถึงวันศุกร์หม่อมฉันไปอีก ให้ขึ้นไปถามอาการหม่อมเกื้อบอกว่าเบื้องขวาตายไปทั้งแถบแต่ตอนเช้ายังมีสติ ถึงวันเสาร์หม่อมฉันไปเยี่ยมตามเคย ได้ทราบว่ามีอาการหอบเสียแล้ว มาจากโรงพยาบาลได้สักครู่หนึ่งก็ได้ข่าวว่าสิ้นชีพ เมื่อเวลาย่ำค่ำเศษ ๓๐ นาที

เจ้าภาพปรารถนาจะเอาศพกลับไปกรุงเทพฯ เวลาเช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๔ จึงให้ฉีดยาศพ แล้วพวกไทยที่คุ้นกันไปรดน้ำให้ยกศพลงหีบรับมาไว้ที่ตำหนักของเธอ นิมนต์พระมาสวดสดับปกรณ์และบังสกุลแล้วเป็นเสร็จการพิธี คอยให้เจ้าภาพปรึกษาหารือกันในการที่จะรับศพไปกรุงเทพฯ

ทูลสนองความในลายพระหัตถ์

๑) เรื่องหลับครึ่งตื่นครึ่ง ดังได้เคยเป็นแก่หลวงเทวพรหมา (หมอดี) และพระองค์เท่านั้น ควรลงมติว่าเป็นอาการอัน “อาจเป็นได้จริง” และเป็น “ความฝันอย่างแรง” อาการเช่นนั้นหม่อมฉันนึกไม่ออกว่าเคยได้ยินว่าเป็นแก่ผู้ใดอีกบ้าง นึกได้แต่ในบทกลอนเขามักชอบว่าในเวลาชายคลั่งด้วยรักผู้หญิง ดังเช่นพระราชนิพนธ์บทเจ้าไกรทองเมื่อคลังถึงนางวิมาลา ว่า

“ได้ยินเสียงแมวไล่ตะครุบหนู ชะเงอชะแง้เลดูตามหน้าต่าง
เหลือบเห็นเงาเสาหอกลาง นึกว่านางวิมาลายาใจ”

คิดวินิจฉัยต่อไปถึงความฝันดูก็ชอบกลหนักหนา ที่คนโบราณถือว่าสัตว์ชาติมี “ขวัญ” ดูมูลก็มาแต่ “ฝัน” นั่นเอง สัตว์เดียรฉานยกไว้ ว่าแต่ลักษณะขวัญมนุษย์ที่เรารู้ได้ เวลาตื่นอยู่หรือนอนหลับโดยปกติ (ไม่ใฝ่ฝัน) เรียกว่า “ขวัญอยู่กับตัว” ขวัญปรากฏต่อเมื่อหนีไปจากตัวคือ ฝัน เพราะเหมือนกับมีตัวอะไรอีกต่างหาก ประกอบด้วยขันธ์ทั้งเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณขาดแต่รูป แต่จะว่าเป็นตนเองไม่ได้ เพราะขวัญอาจจะไปเห็นหรือทำอะไรที่เจ้าตัวไม่เจตนา เช่นไปเที่ยวระหกระเหินปีนต้นหมากรากไม้ หรือไปให้ช้างไล่เป็นต้น ในเวลาเจ้าตัวหลับอยู่ต่างหากในที่นอน บางทีถึงอาจจะบังคับเอารูปตัวไปทำอะไรด้วยได้ เช่นในกรณีที่ปรากฏแก่หมอดีและพระองค์ท่าน หรือที่เขาว่าเจ้าตัวอาจจะลุกขึ้นเดินไปไหนๆ ทั้งหลับอยู่ จะคิดหาอธิบายอย่างอื่นว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ไม่เข้าใจได้ดีเหมือนกับว่ามีตัว “ขวัญ” อันอาจจะแยกไปได้โดยอำเภอใจในเวลาเมื่อเจ้าตัวหลับ คือในเวลาไม่มีสติที่จะคุมขวัญไว้ได้ จนมีสติจึงสามารถเรียกขวัญก็กลับมาอยู่กับตัวอย่างเดิม การทำขวัญก็คือปลอบให้ขวัญหายตกใจ และห้ามไม่ให้ขวัญหนีเช่นนั้นอีก แต่คนชั้นหลังยังเป็นห่วงแต่ขวัญเด็ก ด้วยยังไม่รู้จักผิดชอบเหมือนกับขวัญผู้ใหญ่ กล่าวคือตัวเองซึ่งขวัญเคยกลับมาง่ายๆ จนชินเสียแล้ว ความส่อต่อไป ว่าที่ทำขวัญเรียกเป็นอย่างเดียวกันกับสมโภชนั้นผิด เช่นเดียวกับเอาคำสดับปกรณ์เป็นอย่างเดียวกับบังสกุล

๒) การฉลองอายุสมเด็จพระสังฆราชวัดสุทัศน์ครบ ๗ รอบ หม่อมฉันไม่ทราบจนเห็นในหนังสือพิมพ์ เสียดายที่มิให้ใครไปช่วยแทนตัว บางทีพวกกรรมการศิษย์ของท่านเขาก็จะไม่รู้ว่าหม่อมฉันเคยชอบกับท่านมาแต่ยังเป็นพระครูมงคลวิลาศ ฐานานุกรมซองสมเด็จพระวันรัตน (แดง) สมเด็จพระวันรัตนองค์นั้นเคยใช้ให้ท่านเป็นผู้ไปหาหม่อมฉันเนืองๆ

๓) ที่ตรัสถึงพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศน์ สดุดความที่หม่อมฉันเคยคิดเรื่อง ๑ ว่าเหตุไฉนพระประธานที่สร้างในกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนฝีพระหัตถ์พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ จึงไม่มีงามสู้นัยน์ตาเลยสักองค์เดียว แม้จนพระประธานวัดอรุณซึ่งกล่าวกันว่า เป็นฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็เป็นเช่นนั้น หม่อมฉันเห็นว่าพระประธานวัดสุทัศน์เป็นงามน้อยกว่าเพื่อน จะเข้าใจว่าไม่มีช่างดีทั้ง ๓ รัชกาลก็มิใช่เหตุ น่าจะมีความนิยมกันในสมัยนั้นอย่างไรที่หม่อมฉันไม่รู้ เคยพิจารณาพระประธานวัดมหาธาตุ ซึ่งว่าเป็นฝีมือพระยาชำนิที่เป็นช่างเอกพอดูได้ก็แต่พระพักตร์ ตกลงมาถึงตอนพระเพลาและพระบาทรับไม่อยู่ทีเดียว เรื่องนี้บางทีท่านจะประทานวิสัชนาได้

๔) คำในลายพระหัตถ์ทำให้หม่อมฉันหวนรำลึกถึงวินิจฉัยคำ “พระ” กับ “พระยา” เห็นพ้องกับพระดำริว่าเป็นคำเดียวกัน โดยนัย ๑ เกิดแต่ภาษาพม่าไม่มีเสียง ร เอาเสียง ย ใช้ในคำพระทำให้กลายเป็นพยา อย่างเดียวกับเรียกเมืองร่างกุ้ง จึงเป็นมูลเหตุให้แยกเป็นคำ “พระ” และ “พระยา” แต่ยังมีอีกนัย ๑ ด้วยมียศ “ออกญา” ของเขมร สังเกตดูในกฎหมายทำเนียบศักดินา ไทยเรารับเอามาใช้มียศเป็น “ออกญา” หลายตำแหน่ง แต่ใช้คำออกต่อลงไปถึงออกพระ ออกหลวง ไปพิจารณาดูในจารึกครั้งสุโขทัยมีในจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เฉลิมยศลูกเธอที่ชนช้างชนะเจ้าเมืองฉอดเป็น “พระคำแหง” ต่อมาถึงจารึกของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “พรญาฦไทยราช ผู้เป็นลูกพรญาเลือไทย เป็นหลานแก่พระญารามราช” ดังนี้ ดูเอาคำญาอย่างเขมรเพิ่มกับพระ อย่างยศเดิม ชอบกลอยู่ขอให้ทรงพิจารณาดู บางทีจะทรงหาอธิบายได้

๕) หม่อมฉันเคยตรวจเครื่องดินเผาและถ้วยชาม ที่ทำในแขวงเมืองพิษณุโลก สุโขทัย และศรีสัชนาลัย ได้พบตัวอย่างพิจารณาเห็นเป็นแน่นอนว่า ที่บ้านเตาไหในแขวงจังหวัดพิษณุโลกมีแต่ดินทรายเคลือบไม่ได้ ที่เมืองสุโขทัยมีหินฟันม้าแต่เนื้อหยาบ ที่เมืองศรีสัชนาลัยมีหินฟันม้าเนื้อดีที่สุด จึงไปตั้งทำที่นั่นใหญ่โต

๖) ที่มีผู้เขียนโต้ตอบกัน ในหนังสือพิมพ์บางกอกไตม์ด้วยเรื่องประวัติของชนชาติไทยนั้น หม่อมฉันได้อ่านจดหมายเพียง ๒ ฉบับแล้วเกิดเบื่อก็ไม่ได้อ่านต่อไปอีก ด้วยเห็นโต้เถียงกันในคดีที่จะพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยไม่ได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ