วันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

เบ็ดเตล็ด

คำ “โล้” ที่ค้นได้นั้น ได้ตัดช่องกราบทูลมาแต่ว่าเป็นเครื่องพุ้ยน้ำเท่าที่ต้องการอย่างเดียว แต่ที่จริงเขาแปลไว้ให้หมายความไปอีกหลายอย่าง จะกราบทูลบรรเลงต่อไปในบัดนี้ เขาแปลให้ไว้ ว่าหมายถึงรถที่ผูกโล่ห์ไว้ข้างๆ ก็ได้ รถที่มีหอรบบนนั้น (ตรงกับรถถังเดี๋ยวนี้) ก็ได้ ที่แปลไว้ว่ารถมีโล่ห์ผูกข้างนั้นดี ทำให้รู้ว่าข้างจีนก็มีรถผูกโล่ห์ ซ้ำทำให้เข้าใจอีก ที่เราเขียน “โล่ห์” นั้นผิด เอาคำมคธสังสกฤตมาใส่เข้า ที่แท้เป็นคำจีน โล่ ก็คือ โล้ นั้นเอง เสียงสูงต่ำเป็นแต่แอกเสนต์เท่านั้น ต้องเป็น โล่ เปล่าๆ ไม่มี ห์ การันต์ ที่เขียน โล่ห์ นั้นผิด โล่ห์ของเราทำด้วยหนังต่างหาก ไม่มีทำด้วยโลหะ แม้คำโลหะทางต้นเดิมก็ไม่มีแปลให้ว่าเป็นเครื่องบัง มีแต่แปลว่าเป็นศัสตรา ได้แก่เหล็กมีคม

ตามที่กราบทูลมาก่อนนี้ ว่ายานหามอย่างใหญ่ซึ่งมีคนหามสองแถว จะเกิดก่อนยานหามอย่างเล็กซึ่งมีคนหามแถวเดียวนั้น ก็ว่าไปแต่โดยความต้องการเป็นหลักเท่านั้น แต่ความจริงอย่างหามแถวเดียวจะมาก่อนก็ได้ ด้วยเอาอย่างจีนหามเกี้ยวมา ที่แท้จะเห็นได้แต่ว่าอะไรออกจากอะไร เช่นอย่างสอดลูกคลักหามแปดนั้น เห็นได้ว่าออกจากสอดลูกคลักหามสี่ครึ่งหนึ่ง ปนกับเดินสองแถวอีกครึ่งหนึ่ง เสลี่ยงสามคนหามสามแถวออกจายเสลี่ยงหามคานสองแถว พระดำรัสที่ว่าหามแบกคานต้องเลือกคนที่สูงเสมอกันให้หามนั้น ถูกทางอย่างที่ท่านรู้จัดคิดนั้นแล้ว แต่ให้นึกขันที่ยังมีคนหามที่รู้มากแกล้งย่อตัวเสีย ให้ความหนักไปตกอยู่แก่คนอื่นก็มี

รู้สึกพระคุณมาก ที่ตรัสถึงคำ “เจ้าร่มขาวหลวงพระบาง” ทำให้ตระหนักใจขึ้นได้ ว่าได้ยินมาแต่คำดุษดีสังเวยพระเศวตฉัตรในพิธีฉัตรมงคลนั้นทีเดียว

เมื่อวันที่ ๘ หญิงจงเธอไปลาจะออกมาปีนัง ได้ทราบอยู่แล้วด้วยได้รับหนังสือราชเลขานุการในพระองค์ เขาบอกมาว่าเธอทูลลาจะมาวันที่ ๑๐ จึงได้พูดกันถึงเรื่องฝีดาษ เธอว่าเธอออกเองแล้ว ก็เป็นหลักดีอยู่อย่างหนึ่ง แต่เขาจะเชื่อหรือ เธอว่าหมอกระจ่างได้มีหนังสือออกไปแล้ว ถ้าหากเขาฟังก็คงเป็นการเรียบร้อย

ชายจุมภฎส่งรูปมาให้ดูสองรูป เป็นรูปพิมพ์ลงสี ว่าซื้อมาแต่โรงโปเกที่เมืองนอก รูปหนึ่งจดหนังสือไว้ใต้รูปว่า Chaou-Haraye Roi de Siam เข้าใจว่าตั้งใจทำเป็นพระรูปสมเด็จพระนารายณ์ เป็นรูปผู้ชายมีหนวดเครา หน้าเป็นแขกผิวดำดุจผิวแขกกาลิงก์ ทำให้นึกถึงพระดำรัสฝ่าพระบาท เคยตรัสถึงฝรั่งนึกให้ไทยผิวดำดั่งนั้นว่า “เอาไปทำเซี่ยวกางเสียแลดี” แต่งตัวก็อย่างเดียวกับกิงในไพ่ป๊อก ต่างกันแต่หมวกซับใน มงกุฎทำแหลมสูงขึ้นไปเป็นทรงกรวย มีปลอกกระจังสวมอยู่สองชั้น มีโซ่ทองสวมคอ มีรูปช้างเผือกผูกบั้นเอวห้อย อย่างเดียวกับตราแกะทองของออสเตรีย อีกรูปหนึ่งเป็นผู้หญิง หน้าเป็นฝรั่งผิวก็เป็นฝรั่ง จดหนังสือไว้ที่ใต้รูปว่า Reine de Siam ทีจะตั้งใจทำเป็นมเหสีพระนารายณ์ เพราะเป็นรูปชุดเดียวกัน แต่งตัวก็เหมือนกับผู้หญิงขี่ไม้กวาดลอยอยู่บนเมฆ ซึ่งมีรูปอยู่ในเรื่องแฟรีเตลบ่อยๆ เธอส่งมาให้ดูเพื่อเห็นขัน ก็เห็นขันจริงๆ สมกับที่เธอตั้งใจ

ได้ให้ชายงั่วไปคัดโคลงคุณเสือขอบุตรที่วิหารพระโลกนาถ ได้มาว่าดังนี้

๏ รจนาสุดารัตนแก้ว กุมารี หนึ่งฤา
เสนออธิบายบุตรี ลาภไซ้
บูชิตเชษฐชินศรี เฉลาฉลัก หินเฮย
บุญส่งจงลุได้ เสร็จด้วยดั่งถวิล ฯ
๏ กุมารหนึ่งพึงฉลักตั้ง ติดผนัง
สถิตย์อยู่เบื้องหลัง พระไว้
คุณเสือสวาดิหวัง แสวงบุตร ชายเฮย
เฉลยเหตุธิเบศร์ให้ สฤษดิแสร้งแต่งผล ฯ

โคลงนี้เห็นไม่ใช่ฝีพระโอษฐกรมสมเด็จพระปรมานุชิต คงจะทำขึ้นทีหลัง และแปลออกว่าทำไมจึ่งย้ายเอาไปติดฝังไว้หลังพระอันเป็นที่ลับ ก็เพราะความในโคลงมีอยู่เช่นนั้น

ลายพระหัตถ์

เมื่อวันที่ ๑๐ ได้รับลายพระหัตถ์เวร ซึ่งลงวันที่ ๖ สิงหาคม โดยเรียบร้อย

ข้อดำริในเหตุที่คำมคธสังสกฤต เข้ามาปนอยู่ในภาษาเรามากนั้น เห็นว่าทรงพระดำริชอบ เห็นด้วยโดยกระแสพระดำริทุกประการ รู้สึกสะดุดใจที่ทรงยกคำ “ยกศัพท์อวดตุ๊กแก” มากล่าวด้วย ให้นึกขันด้วยได้โดยประสบเรื่องพัวพันกับคำนั้นมาหลายครั้งแล้ว ในมหาชาติทานกัณฑ์มียกศัพท์ว่า “กฏุก สาสนํ สุตฺวา” หมายความว่าได้ยินข่าวร้อน แต่คำ “กฏุก” นั้นเป็นร้อนพริกร้อนขิง หาใช่ร้อนข่าวไม่ อีกครั้งหนึ่งเมื่อสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณทรงจัดให้มีมหาชาติเป็นงานหลวง เพื่อบำรุงพระเทศน์มหาชาติให้จำเริญ ถึงนครกัณฑ์อันมีความว่า “กปฺปกา ชาวพนักงานเครื่องต้น ก็ถวายเจริญพระเกศมสุมงคลควรแก่ราชกิจ” หันพระพักตร์มาตรัสว่า “อึ๊ ตัดผมด้วยหรือ” เกล้ากระหม่อมจึงกราบทูลว่า “ดูอรรถ” ก็ทอดพระเนตรสมุดแล้วตรัสว่า “ไม่มี อาบน้ำแล้วก็แต่งตัวขึ้นช้างเท่านั้น” (สีสณฺหาโต สุจิวตฺโถ สพฺพาลงฺการภูสิโต ปจฺจยํนาคมารุยฺห ขคฺคพนฺธปรนฺตปํ) เหล่านี้เข้าทาง “ยกศัพท์อวดตุ๊กแก” ทั้งนั้น แล้วนึกได้อีกว่าพระราชสาส์นมีไปลังกา เรียกเรือกิ่งว่า “สาขนาวา” ก็ถูกดอก แต่ชาวลังกาจะเข้าใจได้ว่าอะไร

พระพุทธรูปสานในหอศาสตราคม ซึ่งทรงพระดำริคาดว่าเกล้ากระหม่อมคงเห็นนั้น ได้เห็นจริงๆ ซ้ำมีใครบอกด้วยแต่ลืมตัวเสียแล้ว ว่าทรงพระราชดำริจะใช้เชิญไปตั้งหัวแถวในการเลี้ยงพระ ให้เป็นว่ามีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน จึงโปรดให้สานด้วยไม้ไผ่แกนะปูนน้ำมันเพื่อให้เบาเชิญไปได้ง่าย แม้จะถูกส่วนอย่างคำนวณได้ตามหนังสือก็ดี เกล้ากระหม่อมก็ยังเห็นว่าโตมาก แม้เทียบกับคนก็เป็นยักษ์ พูดถึงยักษ์นึกถึงวินัยได้ข้อหนึ่ง ในบุพพสิกขามีกล่าวว่าฆ่ายักษ์ต้องตายด้วยอาบัติถุลลัจจัย ทำให้นึกพิศวงว่าฆ่ายักษ์ก็ได้ง่ายๆ ไม่เหมือนในเรื่องวงศ์ๆ จักรๆ นั่นยักษ์เป็นเก่งหนักหนา มนุษย์สามัญดูทีเป็นจะฆ่ายักษ์ไม่ได้ แล้วมาคิดได้ภายหลังว่าฆ่ายักษ์ตายเพียงแต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย ไม่ถึงเป็นปาราชิกท่านย่อมรับว่ายักษ์ไม่ใช่คน คำถามในการบวชนาคว่า “มนุสฺโสสิ” อันมีคนหัวเราะกันอยู่มากว่าเห็นอยู่แล้วเป็นมนุษย์ถามทำไม ข้อวินัยทำให้แปลความได้ว่า คำที่ท่านเรียกมนุษย์นั้นหมายถึงรู้จักผิดจักชอบ ไม่ได้หมายถึงรูปร่างอย่างคน พระพุทธรูปของกรมพระเทเวศร์เกล้ากระหม่อมก็ได้เห็น ช่างไม่ถูกใจเสียเลย ได้นึกว่าการทำรูปเป็นคนเราไม่เคยทำกันมาแต่ก่อนเลย ฝ่าพระบาทเสด็จไปเมืองพม่ามาตรัสเล่าว่าที่นั้นเขาทำรูปคนกัน ทำมาเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งเมืองพุกามยังจำเริญ ให้อยากเห็นว่าเขาทำอย่างไรกัน ก็พอดีได้ทรงฉายรูปกษัตริย์ซึ่งเขาทำที่เมืองพุกามมาประทานด้วย เห็นก็เข้าใจได้ว่าเขาทำเป็นรูปภาพตามธรรมดารูปภาพนั่นเอง เป็นแต่อุทิศว่าทำให้ใครเท่านั้น ก็อย่างเดียวกับเราทำพระพุทธรูปพระเทวรูปสนองพระองค์กันนั่นเอง ในการทำรูปให้เป็นคน ทางเราดูเหมือนจะมีขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เป็นประเดิม มีรูป “ท่านขรัวตอบ” เป็นต้น รูปที่บรรจุพระอัฐิอยู่ในหอพระนาคก็ไม่เห็นทำเป็นรูปคน ชะรอยจะเกิดขึ้นภายหลังเมื่อสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว เข้าใจว่าทำเอาอย่างฝรั่ง น่าจะค้นได้ว่าที่เราทำรูปเป็นคนนั้นเกิดขึ้นเมื่อไร

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ