วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๓

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ทราบฝ่าพระบาท

ย้อนหลัง

๑) นึกถึงที่ได้กราบทูลมาแล้ว ว่าคำ พญา พระยา พระ เพี้ย ฟ้า เป็นคำเดียวกันนั้น รู้สึกว่ากราบทูลสั้นไป จึงจะกราบทูลต่อในบัดนี้

คำ พญา กับ พระ รู้สึกว่าเป็นคำเดียวกัน จากชื่ออลองพญา กับอลองพระ ตัว ญ อ่านขึ้นจมูก ตัว ย อ่านไม่ขึ้นจมูก เราอ่านเหมือนกัน แต่ชาวปักษ์ใต้เขาออกเสียงต่างกัน

คำ ฟ้า กับ พญา รู้สึกว่าเป็นคำเดียวกัน ที่ชื่อ ฟ้าทลหะ กับ พญาทลหะ

พญา กับ เพี้ย รู้สึกว่าเป็นคำเดียวกัน ที่คำ ท้าวพญา กับ ท้าวเพี้ย

คำ พญา กับ พระยา (พยา) คิดว่ามาแต่เสียงพม่านั้นก็อย่างหนึ่ง และคิดว่าเป็นความดีดดิ้นของกวีก็อีกอย่างหนึ่ง เช่น กะ ก็เป็น กระ แล้วยังเป็น กรร ต่อไปอีก

คำ ออกญา พบทั้งทางเราและทางเขมร แต่เขมรเขาเขียน โอกญา โอ กับ ออ เปลี่ยนกันได้ง่ายที่สุด คำ โอกญา ของเขมรก็นึกไม่ออกว่า เขาจะหมายความว่ากระไร พิจารณาคำ โอก กับ ออก เห็นว่า ออกเป็นความมากกว่าคำ โอก เสียอีก คำ ออกพระ และ ออกหลวง ไม่เคยพบทางเขมร หลวง ก็เป็นคำไทย เกรงว่าคำ ออกญา จะเป็นคำไทย หากเขมรจำอย่างไปใช้ การจำเอาอย่างกันไม่ใช่เราจะจำเขมรแต่ทางเดียว เขมรก็จำเราไปเหมือนกัน เหตุด้วยอยู่ใกล้กัน มีตัวอย่างอยู่ถมไป ออกญา ก็จะเป็น ออกพญานั่นเอง

ความเห็น

๒) ที่เรียกว่า “คำบาลี” หรือ “ภาษาบาลี” นั้นมีมูล ผู้ที่คิดตั้งคำนั้นขึ้น นึกมาจากหนังสือซึ่งเราเรียกกันอยู่บัดนี้ ที่ถือกันว่าเก่าและดี ก็คือ คัมภีร์บาลี เอาภาษาที่แต่งไว้ในหนังสือนั้นมาเรียกเป็น “ภาษาบาลี” เห็นว่าควรอยู่มาก เพราะเก่าขึ้นไปก็เป็นภาษาบาลีอีกอย่างหนีึ่ง จะตระหนักพระทัยได้ที่จารึก “อิยํ สลิล” ที่เรียกว่า “ภาษา มคธ” ก็เป็นสมมติ สมมติอย่างไกล ด้วยชาวมคธทุกวันนี้เขาก็ไม่ได้พูดภาษาอย่างที่เราเรียกกันว่าภาษามคธ

ข่าว

๓) เมื่อวันที่ ๔ เดือนนี้ สำนักพระราชวังมีหมายบอกการฉลองรัฐธรรมนูญมา มีหมายกำหนดการเป็นใบพิมพ์ส่งมาด้วย ๒ ฉบับ ได้แบ่งส่งมาถวายฉบับ ๑ นี้แล้ว

๔) จะกราบทูลถวายรายงาน ว่าเมื่อวันที่ ๒ เดือนนี้ ได้ไปดูหนังฉายเรื่อง “หมอไซโคลปส์” มาแล้ว รู้สึกว่าดีน้อย เป็นแน่ว่าเพราะคาดใจไปว่าจะดีมากจนเกินไป ทางกลที่แสดงก็เป็นทางทำคนธรรมดาให้เป็นคนรู ให้เป็นขนาดใหญ่ปนกับขนาดเล็ก กลทางนี้ก็ไม่ใช่ความคิดใหม่ถอดด้าม เคยทำมาแล้วที่เรื่อง “กิงกอง” แต่นั้นเอาใหญ่ไว้ในที่เล็กแต่เรื่อง “หมอไซโคลปส์” นี้กลับเอาเล็กไว้ในที่ใหญ่

๕) จะกราบทูลรายงานอีก ในการไปดูหนังฉายเรื่องหมอไซโคลปส์นั้น เผอิญได้เห็นพระเจดีย์องค์หนึ่ง ในเมืองทางแม่โขง มีสัณฐานคล้ายกับพระธาตุพนม แต่ที่เป็นเล็กกว่ามา ทั้งตอนบนก็ข่มตอนล่างอยู่ด้วย สังเกตเห็นเท่านั้นก็ผ่านไปเสีย คนเจรจาเขาเรียกว่า “พระธาตุอุเทน” สงสัยว่าจะเป็นพระธาตุเชิงชุม แต่อาจเป็นคนละองค์ก็ได้

ลายพระหัตถ์

๖) เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ได้รับลายพระหัตถ์เวรปะปิด ซึ่งลงวันที่ ๓ ธันวาคม พร้อมทั้งนิทานโบราณคดี ช้ากว่าที่ควรได้รับไปวันหนึ่ง จะได้กราบทูลสนองความตามลายพระหัตถ์นั้นลางข้อต่อไปนี้

๗) ตามที่ทรงพระเมตตาประทานส่วนกุศล ซึ่งทรงเป็นมรรคนายกพร้อมด้วยญาติ ทำบุญให้แก่ศพชายวิบูลย์นั้น ขอถวายอนุโมทนาในการกุศลนั้น เป็นการสมควรอย่างยิ่ง และที่เขาคิดจะส่งศพเข้าไปกรุงเทพฯ นั้นเป็นการสะดวกดีมาก เมื่อครั้งพระศพสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ พระสถาปนากลับเข้าไปกรุงเทพฯ บ่นครุ ว่าจะทำฉลุกระดาษแต่นิดเดียวหาสิ่วขุดกระดาษก็ไม่ได้ ต้องใช้มีดพับเล่นเอามือพองไป

๘) ชายดำเธอหลุดเข้าไปอยู่ในสวีเดน ก็เปรียบเหมือนเข้าไปอยู่ในคอก จึงหาทางออกได้ยาก การทำอันตรายแก่พาหนะหรือทั้งคนด้วยนั้น ดูเป็นจำเป็น ใช่ว่าพาหนะและคนจะซื่อไปเหมือนกันหมดก็หามิได้

๙) โคลงเห็นจะเป็นของไทย ที่มีบังคับเอกโท คะเนว่าเขาจะสำหรับร้องเป็นเพลง คำพูดของเราก็มีเสียงสูงต่ำเป็นเพลง ทำนองร้องก็มีเสียงสูงต่ำเป็นเพลง เมื่อเอาเพลงเข้าซ้อนเพลง ถ้าคำร้องเป็นเสียงสูงทำนองเป็นเสียงต่ำก็ขัดกันฟังไม่ได้ชัด จึ่งบังคับให้เป็นคำถูกเอกถูกโทไว้ เพื่อให้เป็นเสียงสูงต่ำได้กับทำนองที่ร้อง แต่เขาจะร้องโคลงกันอย่างไรที่ถิ่นไหนยังไม่เคยทราบ คำที่ถูกเอกนั้นคงประสงค์ให้เสียงต่ำ คำที่ถูกโทนั้นคงประสงค์ให้เสียงสูง เสียงถูกเอกนั้นตามภาษาเราก็เป็นเสียงต่ำทั้งนั้น แต่ถูกที่โทนั้นสับปรับ ต่ำก็มีสูงก็มี ต่างถิ่นไปเสียงก็ไม่เหมือนกัน เช่น ช่าง ช้าง ม่า ม้า ย่อมทรงทราบอยู่ดีแล้ว สำคัญที่ต้องรู้ว่าเขาร้องโคลงกันอย่างไรที่ถิ่นไหน เมื่อไม่รู้ก็จะวินิจฉัยให้เป็นเด็ดขาดลงไปไม่ได้นั่นเอง

๑๐) ฉัตรเครื่องฉัตรเบญจา มี ๕ สีเป็นหลักมาก่อนนั้น รับรองในพระดำริว่าถูกจริงแล้ว ที่ทำฉัตรเบญจาสลับสีเพราะเหตุใด ตามที่กราบทูลมานั้นลาว่าคาดผิด ตามที่ตรัสค้านว่า ๕ สีเป็นจำนวนคี่ สลับกันไม่ได้อยู่สีหนึ่งนั้นถูกอย่างยิ่ง นึกถึงฉัตรเบญจาที่ทำสลับสีก็จำไม่ได้ว่าสีอะไรบ้าง จำได้แต่ว่ามีสีแดงทุกคันไป นั่นแสดงว่าลืมสีเบญจรงค์หมดแล้ว จึ่งจะคิดคาดเหตุถวายใหม่ ว่าที่ทำสลับสีไปด้วยเห็นว่างามในเวลาที่ทำ เป็นการทำทีหลังเมื่อลืมหลักเดิมเสียแล้ว แม้ฉัตรเครื่องอย่างทองแผ่ลวดก็เป็นสีอะไรไปตามบุญตามกรรมสุดแต่จะได้ ส่วนฉัตรเครื่องอย่างหักทองขวางนั้นเป็นสีเดียวกันหมด ทำให้เห็นไปว่าที่เป็นสีต่างกันนั้นเขาเห็นว่าดูไม่งาม

๑๑) เรื่องพระรามเมืองไทยตามที่ทรงปรุงขึ้นนั้นอ่านขันดี ไม่เป็นการปรุงใส่สีเกินไป เราคิดทางนั้นกันมากอนจริงๆ จะเห็นได้ที่เมืองลพบุรีมีอะไรอ้างหลักฐานว่า เป็นเมืองที่พระรามสร้างประทานหนุมานอยู่หลายอย่าง

แม่น้ำ “ตาปี” เคยไปแต่ก่อนเห็นเรียกกันว่า “แม่น้ำหลวง” ถามได้ความว่าที่เรียกแม่น้ำตาปีนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งเปลี่ยน แปลกันว่าเพราะน้ำไหลตลอดปีจึงตั้งชื่อเป็นแม่น้ำตาปี แต่ครั้นมาพูดกับพระยาอนุมานเข้า แกบอกว่าแม่น้ำเมืองสุรัสชื่อแม่น้ำตาปี จึงทำให้เข้าใจได้ว่าที่ทรงตั้งชื่อสุราษฎร์ธานีก็เทียบเมืองสุรัส เอามาตั้งชื่อแม่น้ำด้วย ในเมืองสุราษฎร์ เห็นแผนที่เมืองนั้น จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าท่าทองก็เป็นแห่งหนึ่ง กาญจนดิฐก็เป็นแห่งหนึ่ง บ้านคอนก็เป็นแห่งหนึ่ง ไม่ลงเป็นแห่งเดียวกัน

๑๒) คำว่า “เมืองหลวง” ถ้าแปลตามคำก็ว่าเมืองใหญ่ ลงกันได้กับเมืองที่ประทับพระราชา หรือที่ตั้งการปกครองอยู่ ณ ที่นั้น

“เวียงจัน” คิดว่าเป็น “จันทน์” ไม่ใช่ “จันทร์” ทั้งนี้ตลอดถึง “วังจัน” ก็เป็น “จันทน์” ด้วย มาแต่ปลูกเรือนด้วยไม้จันทน์ มีคำ “เรือนจัน” และ “วิมานจัน” เป็นพยานอยู่ คำว่า “เวียง” คิดว่าเป็นอันเดียวกันกับ “วัง” นั้นเอง หากเราเรียกเพี้ยนไปเท่านั้น ที่เรามาเข้าใจกันว่า “เวียง” เป็นเมืองกลัวจะเข้าใจผิด เห็นเสียงและอักษรไกลกันมาก

๑๓) นิทานโบราณคดี ซึ่งทรงพระเมตตาโปรดประทานสำเนาเข้าไปนั้น อ่านเรื่องโจรทิมไม่สู้รู้สึกสนุกเท่าไร แต่เรื่องโจรจันท์นั้นได้คติความรู้มาก การชำระผู้ร้ายเวลาค่ำนั้นได้ทราบมานานแล้วว่าได้ผลดีกว่าชำระกลางวัน พนักงานในกระทรวงวังเขาชื่อเลียบ ดูเหมือนเป็นที่หลวงนิพิฐราชการเขาบอก ด้วยเห็นเขาชำระกลางคืน เจ้าพระยาศรีวิชัยก็ทำอย่างเดียวกัน ซ้ำได้คติอีกต่อไปว่า ผู้ใหญ่ชำระคงได้ผลดีกว่าผู้น้อยชำระ แต่การชำระโดยวิธีอย่างไรนั้นก็ย่อมจะต่างกันไปตามวิสัยของผู้ชำระ ในการที่เจ้าพระยาศรีวิชัย ไปตรวจราชการแล้วจดเอาชื่อนักเลงมานั้น ก็เป็นทางเดียวกันกับที่โปลิศฝรั่งเขามีบัญชีรายชื่อคนเกะกะ เป็นทางดีมาก คำว่า “นักเลง” เป็นคำเขมร คือ “คนเล่น” (เปลี่ยน ง เป็น น) ทางเราก็มีเช่น นักเลงโป นักเลงถั่ว แล้วก็เดินไปเป็นว่าคนเกะกะด้วย

ตามที่คำกราบทูลของโจรจันท์ก็ได้คติความรู้มาก เช่นคำ “เสือ” ก็แปลว่าโจรเท่านั้น ควรจะรู้ได้เพราะคำอ้ายเสือต่างๆ มี “อ้ายเสื้อเอาวา” เป็นต้น ย่อมรู้อยู่หมดแล้ว หากแต่ไม่ได้เอาปรับกันเข้าเท่านั้น ข้อที่กราบทูลถึงเรื่องสาย ทำให้นึกถึงพระยาศิริสัจ (จันท์) ไปเยี่ยมแกเห็นแกวุ่นอยู่กับต้นไม้ มีกระถางที่ดีๆ อยู่มาก จึงถามแกว่าขโมยมันไม่กวนแกดอกหรือ แกบอกว่าขโมยภายนอกนั้นไม่สำคัญ มันไม่กล้าเข้ามาดอก สำคัญแต่คนในบ้านของเราเอง อาศัยที่เห็นว่าใครไม่เข้าทีก็กำจัดมันไปเสียก็เป็นพ้นอันตราย ตามที่ว่านี้ก็ได้กับที่โจรจันท์กราบทูลว่า การปล้นนั้นต้องมีสาย ได้แก่คนในบ้านนั้นเองไปชักเอาโจรนอกบ้านเข้ามา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ