อธิบาย ว่าด้วยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่

สุนทรภู่เป็นกวีดีวิเศษอย่างไร แจ้งอยู่ในเรื่องประวัติของสุนทรภู่ ซึ่งพิมพ์ไว้ข้างต้นหนังสือพระอภัยมณีเล่ม ๑ แล้ว หนังสือพระอภัยมณีเป็นเรื่องเนื่องด้วยประวัติของสุนทรภู่ประการใด ความข้อนั้นก็ได้แสดงไว้ในเรื่องประวัติของสุนทรภู่แล้วเหมือนกัน ในที่นี้จะแสดงอธิบายเฉพาะเรื่องพระอภัยมณีให้ทราบว่าดีอย่างไร คนทั้งหลายจึงนิยมว่าเป็นยอดในบรรดาหนังสือซึ่งสุนทรภู่แต่ง

อันหนังสือเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ผิดกับหนังสือซึ่งผู้อื่นแต่งหลายสถาน จะว่าไม่มีหนังสือเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่จะเปรียบก็ว่าได้ ที่ว่าเช่นนี้ไม่ใช่ประสงค์จะยกย่องว่าหนังสือเรื่องพระอภัยมณีดีกว่าหนังสือของผู้อื่นทั้งหมด มุ่งหมายความที่กล่าวแต่ว่าหนังสือเรื่องพระอภัยมณีเป็นหนังสือดี แปลกเรื่องอื่น ๆ เบื้องต้นแต่กลอนของสุนทรภู่ ก็แปลกกับกลอนของกวีอื่นซึ่งนับว่าดีในสมัยเดียวกัน ความคิดและโวหารของสุนทรภู่ที่แต่งเรื่องพระอภัยมณีก็แปลกกับหนังสือซึ่งผู้อื่นแต่ง และที่สุดความที่คนทั้งหลายนิยมหนังสือพระอภัยมณีก็แปลกกับหนังสือเรื่องอื่นด้วย จะเล่าเรื่องข้อหลังพอเป็นอุทาหรณ์ เมื่อข้าพเจ้ายังย่อมเยาว์ เป็นสมัยแรกมีหนังสือเรื่องพระอภัยมณีพิมพ์ขายครั้งนั้นเห็นคนชั้นผู้ใหญ่ทั้งผู้ชายผู้หญิงพากันชอบอ่านเรื่องพระอภัยมณีแพร่หลาย ถึงจำกลอนในเรื่องพระอภัยมณีไว้กล่าวเป็นสุภาษิตได้มากบ้างน้อยบ้างแทบจะไม่เว้นตัว เช่นกลอนตรงว่า

“รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”

และตรงว่า

“นินทากาเลเหมือนเทนํ้า ไม่ชอกช้ำดังเอามีดลงกรีดหิน” นี้เป็นต้น

ครั้นต่อมาถึงสมัยเมื่อข้าพเจ้าเล่าเรียน เป็นสมัยแรกมีโรงเรียนสอนภาษาฝรั่งในประเทศนี้ นักเรียนรุ่นข้าพเจ้าและรุ่นหลัง ๆ ต่อมามิใคร่มิใครชอบอ่านเรื่องพระอภัยมณีด้วยคิดเห็นว่าเป็นหนังสือแต่งโดยความโง่เขลา เช่นเข้าใจว่าเมืองลังกาเป็นเมืองฝรั่ง และพรรณนาว่าด้วยขนบธรรมเนียมฝรั่งอย่างงมงายต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนตัวข้าพเจ้าเองจะสารภาพว่ามิได้เคยอ่านหนังสือพระอภัยมณีตลอดเรื่อง จนกระทั่งเมื่อเป็นสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร แต่เคยได้ยินกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสว่าเรื่องพระอภัยมณีนั้น สุนทรภู่ไม่ได้เดาเอาตามอำเภอใจทั้งนั้น ทรงพบเค้ามูลเรื่องพระอภัยมณีมีอยู่ในเรื่องอาหรับราตรีฉบับเซอร์ริชาดเบอร์ตันเรื่องหนึ่ง ว่ามีกษัตริย์ถือศาสนาอิสลามไปตีเมืองซึ่งนางพระยาถือศาสนาคริสตัง ไปพบกันเข้าตัวต่อตัวในกลางศึก แล้วเคยรักใคร่กัน ทำนองเดียวกับเมื่อพระอภัยมณีได้นางลเวง ทรงสันนิษฐานว่าเมื่อสุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีนั้นเห็นจะพยายามสืบสวนนิทานต่างประเทศมาก คงจะได้เค้าเรื่องอาหรับราตรีจากพวกแขกที่เข้ามาค้าขาย แล้วจำเอาเรื่องซึ่งรู้จากที่ต่าง ๆ มาเลือกคิดติดต่อประกอบกับความสันนิษฐานของตน เรื่องพระอภัยมณีจึงแปลกกับนิทานไทยเรื่องอื่น ต่อมาเมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลังในหนังสือไกลบ้านซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงยังทรงพระราชดำริถึงเค้ามูลเรื่องพระอภัยมณี มีปรากฏอยู่ในตอนเสด็จทอดพระเนตรตำหนักตริอานองน้อย ของพระมเหสีพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ที่วังเวอไซล์อีกแห่งหนึ่ง[๑]ว่า “ห้องที่แปลกมากนั้นคือห้องเสวย.....ไม่มีโต๊ะเสวยถ้าถึงเวลาเสวย โต๊ะจัดอยู่ในชั้นตํ่าสำเร็จแล้วทะลึ่งขึ้นมาบนพื้นเอง ตาภู่แกคงจะรู้ระแคะระคายใครเล่าให้ฟัง หรือจะมีในหนังสือเก่า ๆ ครั้งโกษาปาน ที่คนหารเสียแล้วว่าไม่จริง จึงไม่ได้เก็บลงในพงศาวดาร” ดังนี้

ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้ฟังกระแสพระราชดำริ ก็ได้เอาใจใส่ตรวจตราเค้ามูลเรื่องพระอภัยมณีมา แต่ก็ยังหาได้เพียรอ่านให้ตลอดเรื่องไม่ มาจนในรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อหอพระสมุด ฯ มีกิจการพิมพ์หนังสือมากขึ้น ข้าพเจ้านึกว่าเรื่องพระอภัยมณีเป็นหนังสือ ซึ่งนิยมกันมาแต่ก่อน บางทีหอพระสมุดฯ จะต้องพิมพ์สักครั้งหนึ่ง จึงได้เอาหนังสือเรื่องพระอภัยมณีมาอ่านตั้งแต่ต้นจนปลาย พออ่านไปก็แลเห็นความสมจริงดังกระแสพระราชดำริของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง คือว่าเรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่ตั้งใจแต่งโดยปราณีต[๒] ทั้งตัวเรื่องและถ้อยคำสำนวน ส่วนตัวเรื่องนั้นพยายามตรวจตราหาเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในหนังสือต่าง ๆ บ้างเรื่องที่รู้โดยผู้อื่นบอกเล่าบ้าง เอามาตริตรองเลือกคัดประดิษฐ์ติดต่อประกอบกับความคิดของสุนทรภู่เอง อาจจะสอบสวนชี้เค้ามูลได้ เช่นเรื่องอาหรับราตรี ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพบนั้นอีกหลายแห่ง เป็นต้นว่าที่สุนทรภู่คิดให้พระอภัยมณีชำนาญการเป่าปี่ แปลกกับวีรบุรุษในหนังสือเรื่องอื่นๆ นั้น ก็มีเค้ามูลอยู่ในหนังสือพงศาวดารจีนเรื่องไซฮั่น[๓] คือ เตียวเหลียงเป่าปี่เมื่อฮั่นอ๋องรบกับพระเจ้าฌ้อปาอ๋อง กล่าวไว้ในเรื่องไซ่ฮั่น ดังนี้

“เตียวเหลียงจึงเล่าให้ฮั่นสิ้นฟังว่า เมื่อน้อยข้าพเจ้าเที่ยวไปเมืองเหนือ พบผู้วิเศษคนหนึ่งชำนาญเป่าปี่แก้ว ถ้าผู้ใดได้ยินเสียงปี่แล้วก็ให้คิดสลดใจนัก ถึงมาตรว่าผู้ใดน้ำใจกระด้างดุจหนึ่งเหล็กและศิลาก็มิอาจแข็งขืนอยู่ได้ แต่คนผู้ชำนาญปี่นั้นมักพอใจเสพย์สุรา ข้าพเจ้าก็ปรนนิบัติให้ชอบน้ำใจ จึงเข้าร่ำเรียนวิชาอันนี้ได้ ครูได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าแต่ต้นแผ่นดินนั้น กษัตริย์และราษฎรทั้งปวงก็นุ่งใบไม้ทั้งสิ้น มาจนเมื่อครั้งพระเจ้ายู้เต้ซึ่งเป็นต้นตำราปี่อันนี้ได้เป็นกษัตริย์ จึงมีเครื่องนุ่งห่มผ้าผ่อนต่าง ๆ พระเจ้ายู้เต้ตัดเอาไม้ไผ่ยาวประมาณ ๒๒ นิ้วกึ่ง จึงเอาธาตุทั้งห้าตั้งเป็นกำลัง เอาเสียงสิบสองนักษัตรเป็นต้นเพลง จึงเป่าได้เป็นเสียงสัตว์ทุกภาษา ถ้าจะเป่าให้เป็นบทกลอนประการใด ก็ได้ดุจหนึ่งน้ำใจทุกอย่าง เมื่อครั้งพระเจ้าใต้ซุ่นฮ่องเต้ได้เป็นกษัตริย์ จึงเอาวิชาปี่นี้มาแปลงออกไปเป่าได้เป็นเสียงหงส์ จึงสืบมาจนพระเจ้าจิ๋นอ๋อง ซึ่งเป็นกษัตริย์อยู่ในเมืองจิ๋นนั้น พระเจ้าจิ๋นอ๋องมีพระราชบุตรีคนหนึ่งชื่อนางลั่งหยก และนางนั้นพอใจเรียนวิชาปี่ ครั้นนางลั่งหยกมีอายุจำเริญขึ้น พระเจ้าจิ๋นอ๋องให้จัดแจงแต่งงานตามประเพณี นางลั่งหยกจึงทูลพระเจ้าจิ๋นอ๋องว่า ถ้าและผู้ใดมิได้เรียนรู้วิชาเป่าปี่อันนี้ดีเสมอข้าพเจ้า ๆ จะไม่ยอมเป็นภรรยาเลย พระเจ้าจิ๋นอ๋องมีความกรุณาก็ผ่อนผันตามน้ำใจนางลั่งหยก จึงให้ข้าราชการไปเที่ยวหาผู้ซึ่งรู้ในวิชาเป่าปี่ ข้าราชการเที่ยวไปพบชายผู้หนึ่งชื่อเซียวซู้นั่งเป่าปี่อยู่บนภูเขารูปร่างงาม จึงกลับเข้าไปทูลพระเจ้าจิ๋นอ๋อง ๆ ก็สั่งให้หาตัวผู้นั้นเข้าไปแล้วให้เป่าปี่โต้กับนางลั่งหยก ครั้นเซียวซู้เป่าปี่ขึ้น ฝูงหงส์และนกยูงก็พากันมาว่าอยู่เป็นอันมาก แต่โบราณย่อมสรรเสริญเซียวซู้กับนางลั่งหยกสองคนนี้ว่าชำนาญเป่าปี่แก้วหาผู้เสมอมิได้ อันเสียงปี่นี้ถ้ามนุษย์ได้ฟังแล้วก็ให้คิดถึงมารดาและบุตรภรรยานัก ครั้งนี้ข้าพเจ้าก็เห็นว่าเป็นหน้าใบไม้หล่นลมพัดเสมออยู่ เวลากลางคืนพรุ่งนี้ข้าพเจ้าจะขึ้นไปเป่าปี่อยู่บนเขาเกถีสัว ให้ได้ยินมาถึงเขากิวลิสาร จะให้ทหารพระเจ้าฌ้อปาอ๋องทั้งปวงนั้นมีน้ำใจสลดลง ระลึกถึงบ้านช่องของตัวทิ้งพระเจ้าฌ้อปาอ๋องเสียให้จงได้”

เพลงปี่ของเตียวเหลียง

“เสียงเป่าปี่อยู่บนภูเขาเป็นเพลงว่า เดือนยี่ฤดูหน้าหนาวนํ้าค้างตกเย็นทั่วไปทั้งสี่ทิศ จะดูฟ้าก็สูงแม่น้ำก็กว้าง ฤดูนี้คนทั้งปวงได้ความเวทนานัก ที่จากบ้านเมืองมาต้องทำศึกอยู่นั้น บิดามารดาและบุตรภรรยาอยู่ภายหลังก็ยื่นคอคอยอยู่แล้วถึงมีเรือกสวนไรนาก็จะทิ้งรกร้างไว้ไม่มีผู้ใดจะทำ เพื่อนบ้านที่เขาไม่ต้องไปทัพอยู่พรักพร้อมกันก็จะอุ่นสุรากินเล่นเป็นสุข น่าสงสารผู้ที่จากบ้านช่องมาหลายปีนั้น ที่บิดามารดาแก่ชราอยู่ก็ป่วยเจ็บล้มตายเสีย หาได้เห็นใจบิดามารดาไม่ และตัวเล่าต้องมาทำศึกอยู่ฉะนี้ ถ้าเจ็บป่วยล้มตายลงก็จะกลิ้งอยู่กลางแผ่นดินแต่ผู้เดียว บุตรภรรยาและญาติพี่น้องก็มิได้ปรนนิบัติรักษากัน เป็นผีหาญาติมิได้ ถ้าแต่งตัวออกรบครั้งใดก็มีแต่ฆ่าฟันกันกระดูกและเนื้อถมแผ่นดินลงทุกครั้งดูสังเวชนัก ท่านทั้งปวงก็เป็นมนุษย์มีสติปัญญาอยู่ทุกคน เร่งคิดเอาตัวรอดไปบ้านช่องของตัวเถิด ท่านไม่รู้หรือม้านั้นก็เป็นแต่สัตว์เดรัจฉาน ถ้าผู้ใดพาไปจากโรงและมิได้ผูกถือกักขังไว้ก็ย่อมกลับคืนมากินที่อยู่ของตัว อันประเพณีมนุษย์ถ้าจะเจ็บป่วยล้มตาย ก็ย่อมให้อยู่ที่บ้านช่องของตัวพร้อมบิดามารดาและญาติพี่น้องจึงจะดี ครั้งนี้เทพยดารู้ว่าพระเจ้าฌ้อปาอ๋องสิ้นวาสนาแล้ว และมีความกรุณาแก่ท่านทั้งปวงว่าจะมาพลอยตายเสียเปล่าจึงใช้เรามาบอกให้รู้ว่า ให้เร่งคิดเอาตัวรอดเสีย ถ้าช้าอยู่อีกวันหนึ่งสองวัน ฮั่นอ๋องก็จะจับพระเจ้าฌ้อปาอ๋องได้ ถึงผู้ใดมีกำลังและหมายจะสู้รบก็เห็นไม่พ้นมือฮั่นอ๋องแล้ว อันกำลังศึกฮั่นอ๋องครั้งนี้อย่าว่าแต่คนเข้าต้านเลย ถึงมาตรว่าหยกและศิลาก็มิอาจทนทานอยู่ได้ อันฮั่นอ๋องนั้นเป็นคนมีบุญ น้ำใจก็โอบอ้อมอารีนัก ถึงผู้ใดจะเป็นข้าศึกถ้าและเข้าไปสาพิภักดิ์แล้ว ก็ชุบเลี้ยงมิได้ทำอันตรายเลย ฮั่นอ๋องจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นแท้ ท่านทั้งปวงจงคิดอ่านเอาตัวรอดรักษาชีวิต ไว้เอาความชอบดีกว่า ซึ่งเพลงของเราทั้งสามร้อยคำนี้ ท่านทั้งปวงตรึกตรองทุกคำเถิด เตียวเหลียงเป่าซ้ำอยู่ดังนี้ถึงเก้าครั้งสิบครั้ง ทหารของพระเจ้าฌ้อปาอ๋องได้ยินเสียงปี่และถ้อยคำที่เป่ารำพันไปดังนั้น ก็ยิ่งมีนํ้าใจสลดลงกลัวความตายให้คิดถึงบิดามารดานัก นั่งกอดเข่าถอนใจใหญ่ร้องไห้อยู่”

เมื่อพระอภัยมณีเป่าปี่ครั้งแรกตีเมืองลังกา (อยู่ในตอนที่ ๓๐ เล่มนี้) สุนทรภู่แต่งเป็นกลอน ดังนี้

“ฝ่ายองค์พระอภัยตกใจวับ เห็นศึกกลับโอบอ้อมเข้าล้อมหลัง
ข้างพวกเขาเผาเรือเหลือกำลัง ฝ่ายฝรั่งรบรกมาทุกที
ตีทัพหน้าขวาซ้ายหายไปหมด เข้าล้อมรถรอบไว้มิให้หนี
ตกพระทัยในอารมณ์ไม่สมประดี จึงทรงปี่เป่าห้ามปรามณรงค์
วิเวกหวีดกรีดเสียงสำเนียงสนั่น คนขยั้นยืนขึงตะลึงหลง
ให้หวิววาบทราบทรวงต่างง่วงงง ลืมประสงค์รบสู้เงี่ยหูฟัง
พระโหยหวลครวญเพลงวังเวงจิต ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง
ว่าจากเรือนเหมือนนกมาจากรัง อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย
ถึงยามคํ่ายํ่าฆ้องจะร้องไห้ รํ่าพิไรรัญจวนหวลละห้อย
โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย น้ำค้างย้อยเย็นฉํ่าที่อัมพร
หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยชื่น ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร
แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง
วิเวกแว่วแจ้วเสียงสำเนียงปี่ พวกโยธีทิ้งทวนชวนเขนง
ลงนั่งโยกโงกหงับทับกันเอง เสนาะเพลงเพลินหลับระงับไป”

กลอนของสุนทรภู่ตรงนี้พอสังเกตได้ว่า เอาเนื้อความมาจากเพลงปี่ของเตียวเหลียงนั้นเอง

ที่สุนทรภู่สมมติให้ศรีสุวรรณชำนาญกระบองนั้น ก็มีเค้ามูลอยู่ในเรื่องไซ่ฮั่นเหมือนกัน ในหนังสือไซ่ฮั่น ว่าพระเจ้าฌ้อปาอ๋องเป็นนักรบวิเศษด้วยฝีมือกระบอง กล่าวแห่งหนึ่งว่า

“ฝ่ายทหารฮั่นสิ้นซึ่งซุ่มอยู่ เห็นพระเจ้าฌ้อปาอ๋องยกมาก็ได้ตีกลองสัญญาขึ้น กินหิบโลก้วนก็ออกสกัดพระเจ้าฌ้อปาอ๋อง ๆ ก็ขับม้าเข้ารบกับกินหิบโลถ้วนได้หลายเพลงพระเจ้าฌ้อปาอ๋องหนีบทวนไว้ หยิบกระบองเหล็กตีโลก้วนถูกบ่าซ้ายตกม้าลง ทหารเข้าป้องกันพาโลก้วนไปได้ กินหิบเห็นดังนั้นก็ขับม้าหนีไป พระเจ้าฌ้อปาอ๋องไม่ติดตามรีบเดินไปได้ทางประมาณห้าสิบเส้นไม่เห็นตัวข้าคึก เห็นแต่ลูกเกาทัณฑ์ยิงมาถูกทหารล้มตายหลายพัน เหลือทหารอยู่แต่พันหนึ่ง จิวอุนควั่นฌ้อติดตามพระเจ้าฌ้อปาอ๋องก็ถูกลูกเกาทัณฑ์หลายแห่ง และตัวพระเจ้าฌ้อปาอ๋องนั้นชำนาญในเพลงกระบองไม่มีผู้ใดเสมอ จึงไม่ถูกลูกเกาทัณฑ์” ดังนี้

อนึ่งเรื่องที่สุนทรภู่ว่าฝรั่งอยู่เมืองลังกานั้นก็มีเค้ามูล ด้วยเมื่อคริสตศก ๑๘๑๕ ตรงกับปีกุน พ.ศ. ๒๓๕๘ ในรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร ทางเมืองลังกาอังกฤษกำจัดเจ้าแผ่นดินออกจากราชสมบัติ เอาเมืองลังกาเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ กิติศัพท์คงเลื่องลือเข้ามาถึงประเทศนี้ว่าเมืองลังกาเป็นของฝรั่งเสียแล้ว ข้อนี้เองที่ทำให้สุนทรภู่สมมติว่าเมืองลังกาเป็นเมืองของฝรั่ง ใช่สุนทรภู่จะไม่รู้ว่าเมืองลังกาเคยเป็นของชาวสิงหฬนั้นหามิได้

แต่ยังมีอีกข้อหนึ่งซึ่งว่าด้วยฝรั่งสังฆราชบาดหลวงนั้น เพราะในสมัยเมื่อสุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณี มีสังฆราชบาดหลวงโรมันคาโทลิกมาอยู่ในประเทศนี้แล้ว แต่ที่สุนทรภู่กล่าวในเรื่องพระอภัยมณีว่าสังฆราชบาดหลวงเป็นคนเจ้าอุบายความคิดเล่หกลต่าง ๆ นั้น สันนิษฐานว่าเห็นจะได้ฟังคำบอกเล่าจากพวกมิชชันนารีอเมริกันฝ่ายลัทธิโปรเตสตัน ซึ่งแรกเข้ามาตั้งในประเทศนี้เมื่อรัชกาลที่ ๓ ที่เรียกชื่อบาดหลวงอีกคนหนึ่งว่าปีโปนั้น น่าสงสัยนักว่าจะมีแต่โป๊ปนั้นเอง แต่สุนทรภู่ฟังเพี้ยนไปจึงกลายเป็นปีโป

อนึ่ง กระบวนรบพุ่งเช่นพรรณนาในเรื่องพระอภัยมณีก็แปลกกับหนังสือเรื่องอื่น ถ้าสันนิษฐานว่าสุนทรภู่ได้เค้ามูลมาแต่เรื่องสามก๊กก็เห็นจะไม่ผิด เค้ามูลเรื่องพระอภัยมณีที่สุนทรภู่ได้มาแต่ไหนน่าจะยังมีอยู่ที่อื่น หากค้นไปก็คงพบอีก

ถึงความคิดของสุนทรภู่ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นเองในเรื่องพระอภัยมณี ก็มีแปลกอย่างขบขันผิดกับหนังสือเรื่องอื่นหลายอย่าง ยกเป็นอุทาหรณ์ดังเช่นเรือกำปั่นใหญ่ของโจรสุหรั่ง ที่ว่าถึงมีเรือกสวนตึกกว้านอยู่ในเรือ จะว่าพยากรณ์ความคิดต่อเรือเมล๋ใหญ่ปัจจุบันนี้ และสำเภายนต์ของพราหมณ์โมรา จะว่าพยากรณ์เครื่องบินก็แทบว่าได้ แต่ที่แปลกหนักหนาแห่งหนึ่งนั้น ตรงว่าถึงหีบเพลงของนางลเวงเมื่อพากษัตริย์ทั้งปวงไปชมสวนในตอนที่ ๔๕ ในเล่ม ๒ นี้ว่า

“ฝ่ายยุพาผการำภาสะหรี ไขดนตรีที่ตั้งกำบังแฝง
เหมือนคนตีปี่พาทย์ไม่พลาดแพลง เสียงกระแสงซ้อนเพลงวังเวงใจ
กระจับปี่สีซอเสียงกรอกรีด บัณเฑาะว์ดีดดนตรีปี่ไฉน
นางสำหรับขับร้องทำนองใน บ้างขับไม้มโหรีให้ปรีดิ์เปรม
เป็นภาษาฝรั่งว่าครั้งนี้ จะเป็นที่เสน่ห์สนุกสุขเกษม
จะชื่นแช่มแย้มยิ้มให้ปริ่มเปรม เที่ยวชมเหมหงส์อื่นไม่ชื่นเลย
บรรดานั่งฟังขับให้วับวาย ด้วยเสียวทราบโสตเสนาะเฉลาะเฉลย
บ้างชมผลกลไกด้วยไม่เคย กระไรเลยลั่นเองเป็นเพลงการ” ดังนี้

ถ้าใครอ่านกลอนนี้โดยไม่รู้ว่าใครแต่งเมื่อครั้งไหน คงจะเข้าใจว่าแต่งชมเครื่องคราโมโฟนในปัจจุบันนี้เป็นแน่ แต่ที่จริงกลอนนี้แต่งก่อนเกิดเครื่องคราโมโฟนกว่า ๕๐ ปี

แต่ข้อที่ดียิ่งของหนังสือพระอภัยมณีนั้น อยู่ที่แต่งพรรณนาอัชฌาสัยของบุคคลต่าง ๆ กันอย่าง ๑ คนไหนวางอัชฌาสัยไว้อย่างไรแต่แรกจะกล่าวถึงในแห่งใด ๆ ต่อไป คงให้อัชฌาสัยเป็นอย่างนั้นทุกแห่งไป อีกอย่าง ๑ คำที่พูดจาว่ากล่าวกันด้วยความรักก็ดี ด้วยโกรธแค้นก็ดี สุนทรภู่รู้จักหาถ้อยคำสำนวนมาว่าให้สัมผัสใจคน ใครอ่านจึงมักชอบ จนถึงนำมาใช้เป็นสุภาษิต กระบวนเช่นกล่าวมาในข้อนี้ดูเหมือนจะไม่มีหนังสือเรื่องอื่นสู้เรื่องพระอภัยมณีได้ เว้นแต่บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเรื่องเดียว

เพราะหนังสือพระอภัยมณีเป็นเรื่องแปลก และแต่งดีทั้งกระบวนกลอนและโวหารดังกล่าวมา คนทั้งหลายจึงได้ชอบอ่านกันแพร่หลายแต่ก่อนมา ส่วนตัวข้าพเจ้าซึ่งอยู่ในพวกชังหนังสือพระอภัยมณีมาแต่ก่อน เห็นจะต้องรับสารภาพอีกข้อหนึ่งว่าเมื่อมาอ่านพิจารณาดูในสมัยชั้นหลังนี้ กลับชอบเรื่องพระอภัยมณี ด้วยมารู้สึกความข้อหนึ่งซึ่งมิได้คิดแต่ก่อน คือว่าในสมัยเมื่อสุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีนั้น ไทยเรายังเหินห่างกับฝรั่งมากนัก จะหาไทยที่พูดฝรั่งได้ในครั้งนั้นทั้งบ้านทั้งเมืองก็เห็นจะมีไม่กว่า ๕ คน จะไปหมายให้สุนทรภู่แกรู้จักภูมิประเทศและขนบธรรมเนียมฝรั่งให้ถูกต้องอย่างไรได้ ที่สุนทรภู่แต่งหนังสือเรื่องพระอภัยมณีแกก็บอกไว้ชัดว่าเป็นเรื่องแต่งเล่น คือมิได้ประสงค์จะให้ใครเชื่อว่าเป็นความจริงจังอย่างเรื่องพงศาวดาร ที่แกพยายามค้นคิดมาแต่งเป็นเรื่องราวได้ถึงอย่างนั้น ก็ควรจะนับว่าดีหนักหนา ถ้าจะเปรียบกับหนังสือซึ่งฝรั่งแต่งว่าด้วยเมืองไทยแม้ภายหลังสุนทรภู่มานาน ๆ เรื่องที่ฝรั่งพรรณนาว่าถึงขนบธรรมเนียมไทยงมงายยิ่งกว่าสุนทรภู่พรรณนาว่าด้วยขนบธรรมเนียมฝรั่งก็มี เพราะฉะนั้นจึงเห็นควรชมเรื่องพระอภัยมณีว่า เป็นหนังสือแต่งดี สมควรผู้รักเรียนในทางวรรณคดีจะอ่าน แต่อย่าอ่านโดยเข้าใจผิดอย่างเช่นข้าพเจ้าเคยผิดมาแล้วเมื่อยังอยู่โรงเรียน ด้วยไปหลงเกณฑ์ให้สุนทรภู่แกรอบรู้สิ่งพ้นวิสัยแก่จะรู้ได้ในสมัยแก ถ้าผู้เป็นนักเรียนอย่าหลงในข้อนี้แล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าใครอ่านเรื่องพระอภัยมณีก็คงจะชอบทุกคน

ด.ร.



[๑] พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน เล่ม ๒ หน้า ๓๐๙

[๒] หมายความว่าตั้งแต่เล่มสมุดไทยที่ ๑ ไปจนเล่มที่ ๔๙ ต่อนั้นไปถูกเกณฑ์ให้แต่ง ดังปรากฏอยู่ในเรื่องประวัติสุนทรภู่ ซึ่งพิมพ์ไว้ข้างต้นเล่ม ๑

[๓] พงศาวดารจีนปรากฏว่าแปลในรัชกาลที่ ๑ สามเรื่อง คือ เลียดก๊กเรื่อง ๑ ไซ่ฮั่นเรื่อง ๑ สามก๊กเรื่อง ๑ สุนทรภู่ดูเหมือนจะได้อ่านแต่เรื่องไซฮั่นกับเรื่องสามก๊ก

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ