บันทึกเรื่องผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง

“นิราศรักหักใจอาลัยหวน
ไปพระแท่นดงรังตั้งแต่ครวญ มิได้ชวนขวัญใจไปด้วยกัน
ด้วยอยู่ห่างต่างบ้านนานนานปะ เหมือนเลยละลืมนุชสุดกระสัน
แต่น้ำจิตคิดถึงทุกคืนวัน จะจากกันเสียทั้งรักพะวักพะวน
ในปีวอกนักษัตรอัฐศก ชาตาตกต้องไปถึงไพรสณฑ์
ลงนาวาหน้าวัดพระเชตุพน”

นิราศพระแท่นดงรังสำนวนนี้ ดูเหมือนนักเลงอ่านหนังสือรุ่น “หน้าวัดเกาะ เพราะหนักหนา” จะรู้จักกันโดยมาก ที่จำกลอนกันได้เป็นท่อนเป็นตอน ถึงกับยกขึ้นว่าให้กันฟังได้ก็มีไม่น้อย เพราะนิยมกันว่า สำนวนกลอนไพเราะ และก็ดูเหมือนจะเข้าใจกันว่า ท่านมหากวีเอกสุนทรภู่ของเราเป็นผู้แต่งด้วย เป็นเหตุให้ท่านที่เป็นนักศึกษาค้นคว้าสันนิษฐานเรื่องที่พรรณาในนิราศนี้ ประกอบประวัติของท่านสุนทรภู่ไปต่าง ๆ แต่เมื่อไห้สอบสวนประวัติของท่านสุนทรภู่ดูใหม่ ได้ความว่า ท่านสุนทรภู่ได้หลบหลีกราชภัยหนีออกบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต และสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงราชสมบัติ เพราะบอกไว้ในเรื่อง “รำพันพิลาป” ว่า “แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา” และต่อมา “ในปีวอกนักษัตรอัฐศก” ที่กล่าวในพระแท่นดงรังนั้นก็ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๗๙ เป็นปีเริ่มสร้างวัดเทพธิดา ปรากฏตามจดหมายเหตุโหรฉบับพระยาประมูลธนรักษ์ (หน้า๕๑) ว่า “ปีวอก จ.ศ. ๑๑๙๘ (พ.ศ. ๒๓๗๙) เดือน ๗ พระองค์วิลาส (กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ) สร้างวัดบ้านพระยาไกรสวนหลวง (คือวัดเทพธิดา) “เข้าใจว่าการสร้างวัดเทพธิดาเสร็จลงเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒ เพราะปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินผูกพัทธสีมาใน พ.ศ. นั้น สุนทรภู่ยังอยู่ในสมณเพศ และคงจะได้มาอยู่จำพรรษา ณ วัดเทพธิดาในปีผูกพัทธสีมา หรือถัดมาอีกปีหนึ่ง เพราะกล่าวไว้ในเรื่อง “รำพันพิลาป” ว่า โอ้ยามนี้ขาลสงสารวัด เคยโสมนัสในอารามสามวสา” ปีขาลที่ว่านี้ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๘๕ แสดงว่าสุนทรภู่บวชมาจนถึง พ.ศ. นี้ ถ้าลาเพศก่อน พ.ศ. ๒๓๗๙ ก็ต้องไม่ได้ไปอยู่วัดเทพธิดา แต่มีหลักฐานว่า ท่านสุนทรภู่ได้ไปอยู่วัดนี้ด้วย และอาจลาเพศหรือดำริจะลาเพศในปีขาลนี้เอง เพราะกล่าวต่อไปว่า “สิ้นกุศลผลบุญกรุณา จะจำลาเลยลับไปนับนาน” จึงรวมเวลาที่สุนทรภู่บวชอยู่ ๑๘- ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๓๖๙ - ๒๓๘๕) ในระยะนี้ สุนทรภู่ไปพระแท่นดงรังและแต่งนิราศในการไปคราวนั้นก็ต้องไม่ใช่สำนวนในปีวอก นักษัตรอัฐศก” เพราะสำนวนนี้ว่ากลอนผาดโผน ไม่รู้สึกว่าผู้แต่งประหยัดด้วยคำ สำนวนกลอนถ้าเปรียบเทียบกับนิราศภูเขาทองและนิราศวัดเจ้าฟ้า ซึ่งรู้แน่ชัดว่า สุนทรภู่แต่งเมื่อยังอยู่ในสมณเพศ ก็ต่างกันไกล พอจับอ่านก็จะรู้ได้ว่า สุนทรภู่แม้จะได้เคยแต่งกลอนนิราศและเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ มาอย่างไพเราะเพราะพริ้งจนช่ำชองก็ตาม แต่เมื่อแต่งนิราศ ๒ เรื่องนั้น ก็ประหยัดถ้อยคำเป็นอันมาก ด้วยคงจะรู้สึกตัวว่าเป็นบรรพชิตจะแต่งให้ผาดโผนไปเสียสมณสารูป ซ้ำนิราศวัดเจ้าฟัาดัดแต่งเป็นสำนวน “เณรหนูพัดหัดประดิษฐ์คิดอักษร” ในทางสำนวนกลอนจึงยอมรับไม่ได้ว่า สุนทรภู่แต่งนิราศพระแท่นดงรังสำนวนนี้

แต่ก็ประหลาดที่นิราศพระแท่นดงรังจบลงด้วยคำว่า “ขอเชิญไทเทวราชประสาทพร ให้สุนทรลือทั่วธานีเอย” ดูว่าเป็น “สุนทร” ในวรรคท้ายนี้ หมายถึงสุนทรภู่ ถ้าสำนวนกลอนและระยะปีตามประวัติของสุนทรภู่ไม่ขัดกัน ก็ควรจะยอมรับเช่นนั้นได้ แต่เมื่อขัดกันดังข้างต้น คำว่า “สุนทร” ในที่นี้ ก็ต้องไม่หมายถึงสุนทรภู่ ความจริงก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะตกมาในชั้นหลัง ๆ ดูเหมือนคำว่า “สุนทร” ได้กลายเป็นคำสามัญไป นักแต่งกลอนของเราก็ชอบใช้ “สุนทร” ในบทกลอนของตนกันมาก ซึ่งมีความหมายไปในทางว่า ไพเราะดี หรีออาจแปลตามความหมายว่า “บทกลอน” ก็ได้ ไม่ใช่ชื่อเฉพาะอย่างสุนทรภู่เคยใช้ ทั้งนี้เข้าใจว่าเนื่องจากพากันนิยมสำนวนกลอนสุนทรภู่ แม้ในตอนจบนิราศพระแท่นดงรังนั่นเองถ้าเราอ่านย้อนหลังขึ้นไปอีกสักสองสามบรรทัด จะเห็นได้ว่า ผู้แต่งได้กล่าวถ่อมตัวไว้ว่า

“ใช่จะแกล้งแต่งประกวดอวดฉลาด ทำนิราศรักมิตรพิศไมย
ด้วยจิตรักกาพย์กลอนอักษรไทย จึงตั้งใจแต่งคำแต่ลำพัง”

อันผิดลักษณะของสุนทรภู่ ซึ่งรู้ตัวว่าแต่งกลอนดี ไม่ยอมถ่อมตัว มีแต่คุยอวด เช่นในเพลงยาวถวายโอวาทก็คุยไว้ว่า

“อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว ถึงลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร”

แม้ในกลอนเรื่องอื่น ๆ ก็มีคุยไว้มากบ้างน้อยบ้าง จึงไม่พอที่จะอ้างได้ว่าสุนทรภู่แต่งนิราศพระแท่นดงรัง ความนี้

แต่ใครเป็นผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรังเราอาจตอบได้ทันที เมื่ออ่านนิราศสุพรรณคำกลอน (ไม่ใช่นิราศสุพรรณคำโคลงซึ่งเป็นของสุนทรภู่) ตรงที่กล่าวว่า

“ไปสุพรรณคราวนี้ไม่มีครวญ ไม่เหมือนไปพระแท่นแสนทเวษ
ทางประเทศร่วมกันคิดหันหวน ไม่กล่าวซ้ำรํ่าไรอาลัยครวญ
ก็รีบด่วนเรือมาในสาชล”

ความจริง ถ้าเราอ่านนิราศพระแท่นดงรังเทียบกับนิราศสุพรรณดู ก็จะรู้สึกได้ว่า “ไปพระแท่น (ดงรัง) แสนทเวษ” มาก ส่วนในนิราศสุพรรณนั้น สังเกตดูผู้แต่งภาคภูมิ แต่ก็ผิดกันเพียงในทางความรู้สึกของผู้แต่ง ซึ่งอยู่ในสถานะและเวลาต่างกัน ถ้าพิจารณาในทางสำนวนกลอนนิราศทั้ง ๒ เรื่องนี้ ก็มีแต่งเหยียบกลอนเหยียบความกันหลายแห่ง และที่เหยียบกลอนเหยียบความกับนิราศเดือนก็มี จึงเข้าใจว่า ผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรังนั้น ต้องเป็นคนเดียวกับผู้แต่งกลอนนิราศสุพรรณ

ผู้แต่งกลอน “นิราศสุพรรณ” มีกระผู้โคลงบอกไว้ตอนท้ายว่า “เสมียนมีแต่งถวาย” และว่า “ถวายพระน้องยาท้าว ถี่ถ้อยทางแถลง” ประกอบกับกลอนที่บอกไว้ข้างต้นว่า ปีมะโรงฉศกจึงได้ความว่า แต่งถวายพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์ใดพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๓ คือเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ขณะเมื่อเสมียนมีแต่งนิราศสุพรรณ มีบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นพรหมสมพักสร นายอากรเมืองสุพรรณบุรี ได้เดินทางไปเก็บอากรเมืองสุพรรณ จึงแต่งนิราศในคราวนั้น ข้อความที่พรรณนาในนิราศสุพรรณมีอยู่ตอนหนึ่ง แสดงว่าผู้แต่งรู้ศิลปในการวาดเขียน เช่นพรรณาไว้เมื่อผ่านหน้าวัดเพลง และบางตอนก็แสดงว่าผู้แต่งมีความรู้สึกทางโหราศาสตร์หรือเป็นหมอดูอยู่บ้าง เช่นกล่าวว่า “สังเกตดูฤกษ์ยามตามเวลา” และว่าตัว “เป็นหมอดูรู้แยบคายทายเฉยเฉย” ทำไห้สงสัยว่าจะเป็นนายมีคนเดียวกับที่แต่ง “กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งบอกไว้ท้ายเพลงยาวนั้นว่า “นายมีบุตรพระโหราแต่ง” ด้วยเกิดความเบื่อหน่ายในวิชาข่างเขียน เห็นว่าตัวมีความชำนาญในทางบทกลอน จึงแต่งเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติทูลเกล้า ฯ ลวาย “ให้พระจอมโลกาทรงปรานี พอพ้นที่ช่างเขียนเปลี่ยนวิชา” เพื่อ “ขอฉลองพระคุณไปในอาลักษณ์ ด้วยจิตรักจงสมปรารถนา” ถ้าเป็นคนเดียวกับเสมียนมี - หมื่นพรหสมพักสรผู้แต่งนิราศสุพรรณแล้ว ก็เข้าใจได้ว่าไม่ได้ไปรับราชการทางกรมพระอาลักษณ์ตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ (ในคำนำกสอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๔) ว่า “นายมีนี้เป็นช่างเขียนที่มีชื่อเสียงครั้งรัชกาลที่ ๓ คนหนึ่ง ได้เขียนชาดกเรื่องพระภูริทัตที่ผนังพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แต่กะเทาะเสียเมื่อไฟไหม้หมดแล้ว”

อนึ่งในนิราศสุพรรณเล่าความว่า ผู้แต่งเคยบวชอยู่วัดพระเชตุพนฯ จึงสงสัยว่าจะเป็นคนเดียวกับนายมีที่แต่งนิราศเดือน ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายไว้ข้างต้นนิราศเดือน (ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๖๖) ว่า “กล่าวกันมาเป็นหลักฐานว่า นายมีศิษย์สุนทรภู่แต่ง (นิราศเดือน) เมื่อบวชเป็นพระอยู่วัดพระเชตุพนฯ นายมีคนนี้ว่าได้แต่งกลอนนิราศเมืองถลางไว้อีกเรื่องหนึ่ง ปรากฏสำนวนในหนังสือ ๒ เรื่องด้วยกัน ความทีกล่าวมานี้เห็นว่าพอจะเชื่อฟังได้ ด้วยกลอนนิราศเดือนและนิราศถลางทั้ง ๒ เรื่องนี้ แต่งตามแบบของสุนทรภู่เป็นเค้าเรื่อง ผู้แต่งเป็นศิษย์หรือเป็นผู้นับถือวิธีกลอนของสุนทรภู่ แต่พิเคราะห์ดูในทางความที่แต่ง ผิดกับสุนทรภู่” ในนิราศกลาง (ฉบับพิมพ์ของโรงพิมพ์พานิชศุภผล พ.ศ. ๒๔๖๘ เป็นนิราศถลาง) ก็บอกไว้ในตอนจบว่า “ฉันเป็นศิษย์สุนทรยังอ่อนศักดิ์ พิไรรักมิ่งมิตรกนิษฐา”และในนิราศถลางก็บอกไว้ตรงกับนิราศพระแท่นดงรังว่า ลงเรือที่หน้าวัดพระเชตุพนฯ เหมือนกัน ดูมีความสัมพันธ์อยู่แถวท่าหน้าวัดโพธิ์ จึงเข้าใจว่า ที่ถูกนั้นนายมีหรือเสมียนมี หมื่นพรหมสมพักสรผู้นี้เองเป็นผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง “ในปีวอกนักษัตรอัฐศก ชาตาตกต้องไปถึงไพรสณฑ์”

สำนวนกลอนของนายมีดีเพียงไร ไม่จำเป็นต้องกล่าว ขอให้ลองนึกดูแต่เพียงว่า นายมีแต่งนิราศบางเรื่องดี จนทำให้คนเข้าใจหลงไปว่าสุนทรภู่แต่ง เช่น นิราศเดือน ก็เคยกล่าวเคยเชื่อกันว่าของสุนทรภู่ นิราศพระแท่นดงรังก็เชื่อกันมาว่าของสุนทรภู่เช่นกล่าวข้างต้น จึงพออนุมานได้ว่า สำนวนกลอนของนายมีดีเพียงไรยิ่งนิราศสุพรรณด้วย ดูเหมือนจะดียิ่งขึ้นเป็นพิเศษอีก มีผู้กล่าวชมกันว่า กลอนนิราศสุพรรณแต่งดี และแปลกกว่านิราศอื่น ๆ รวมทั้งนิราศของนายมีเอง เช่นนิราศเดือนและนิราศพระแท่นดงรังที่แต่งมาก่อนด้วย เพราะตามธรรมดาเรื่องนิราศที่แต่งกันมาส่วนมาก ย่อมพรรณนาเกี่ยวกับความรักเป็นที่ตั้ง เช่น เมื่อผู้แต่งไปเห็นหรือนึกไปถึงสถานที่ ตำบลบ้าน พรรณไม้ หรืออะไรอื่น ก็หยิบเอาเรื่องนั้นมาเป็นเหตุใช้สำนวนกลอนพรรณนาย้อนมากล่าวถึงคู่รัก ความรัก ยิ่งใช้ถ้อยคำสำนวนกลอนพรรณนาได้แนบเนียนเพียงไร ก็ยิ่งนิยมกันว่าแต่งดีมีรส คือความรักเป็นเครื่องจูงใจผู้อ่านผู้ฟัง หรือแม้ตัวผู้แต่งเองเป็นส่วนสำคัญ อย่างที่กล่าวกันในวรรณคดีอินเดียว่ามี “สิงคารรส” เช่น เรื่องสิงคารประกาศของกวีโภชะ และ สิงคารดิลก ของกวีรุทรภัตต์เป็นต้น แต่นิราศสุพรรณของนายมีแต่งหลีกเลี่ยงเรื่องรักไปได้อย่างประหลาดเมื่อพรรณนาถึงตำบลสถานที่หรืออันใดก็ตาม สามารถพรรณนาความจูงใจผู้อ่านคล้ายกับจะหวนมาถึงเรื่องรัก แต่ลงท้ายยักเยื้องไปในข้อรำพึงที่เป็น คติสอนใจ และหวนกลอนเข้ากันได้อย่างสนิท น่าฟัง เป็นเช่นนี้เกือบตลอด ทั้งนี้ก็เป็นความตั้งใจของผู้แต่งที่จะให้เป็นเช่นนั้น เพราะบอกไว้ว่า

“สุดจะคิดครวญคร่ำรำสวาท ใช่นิราศร้างนุชสุดกระสัน
ประดิษฐกลอนค่อนคำเป็นสำคัญ ไปสุพรรณครั้งนี้ไม่มีครวญ”

การที่วิธีแต่งนิราศสุพรรณของนายมีเป็นดังนี้ ก็คงเป็นเพราะเวลานี้ผู้แต่งมีวัยอยู่ในปูนผู้ใหญ่ ย่อมมองเห็นความเป็นโลกเป็นสุภาษิตไปได้ตามวิสัยของผู้ใหญ่ที่ช่างคิดทั้งหลาย จึงมีความดีเป็นพิเศษ แต่ถ้าอยากทราบว่าดีเป็นพิเศษอย่างไรก็โปรดหาอ่านเอง

ธนิต อยู่โพธิ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ