๔. ตอนตกยาก

เมื่อสุนทรภู่พึ่งพระบารมีพระองค์เจ้าลักขณานุคุณอยู่นั้น นอกจากเป็นผู้บอกสักวา คงจะได้แต่งหนังสือบทกลอนถวายอีก ได้ยินว่าแต่งเป็นกลอนเฉลิมพระเกียรติพระองค์เจ้าลักขณานุคุณเรื่องหนึ่ง ผู้ที่ได้เคยอ่านยังมีตัวอยู่ แต่หนังสือนั้นหาต้นฉบับยังไม่พบ นอกจากนั้นจะได้แต่งเรื่องใดอีกบ้างหาปรากฏไม่ พิเคราะห์ดูโดยสำนวนกลอนเข้าใจว่าเรื่องนิราศอิเหนา[๑] สุนทรภู่เห็นจะเเต่งในตอนนี้เรื่องหนึ่ง อนึ่ง เรื่องพระอภัยมณี ซึ่งสุนทรภู่ได้เริ่มแต่งแต่ในรัชกาลที่ ๒ นั้น สังเกตเห็นถ้อยคำมีบางแห่งรู้ได้แน่ว่ามาแต่งต่อในรัชกาลที่ ๓ จะยกตัวอย่างดังคำนางสุวรรณมาลีว่ากับพระอภัยมณี เมื่อแรกดีกันที่เมืองลังกาว่า

“ด้วยปีเถาะเคราะห์กรรมเกิดน้ำมาก ขึ้นท่วมปากท่วมลิ้นเสียสิ้นหนอ”

อยู่ในเล่มสมุดไทยเล่ม ๓๕ ตรงนี้เห็นได้ว่าต้องแต่งในรัชกาลที่ ๓ ภายหลัง พ.ศ. ๒๓๗๔[๒] การที่สุนทรภู่แต่งหนังสือพระอภัยมณีเห็นจะแต่งทีละเล่มสองเล่มต่อเรื่อยมาด้วยเป็นหนังสือเรื่องยาว ทำนองพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจะได้ทอดพระเนตรหนังสือเรื่องพระอภัยมณีเมื่อสุนทรภู่ไปพึ่งพระบารมี และมีรับสั่งให้แต่งถวายอีก สุนทรภู่จึงแต่งเรื่องพระอภัยมณีอีกตอนหนึ่ง แต่จะไปค้างอยู่เพียงใดหาปรากฏไม่ เพราะสุนทรภู่พึ่งพระบารมีพระองค์เจ้าลักขณานุคุณอยู่ได้ไม่ช้าพอถึง พ.ศ. ๒๓๗๘ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณก็สิ้นพระชนม์

เมื่อพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ลง เห็นจะไม่มีใครกล้ารับอุปการะสุนทรภู่อีก เวลานั้นเจ้าฟ้ากุณฑลก็ยังมีพระชนม์อยู่ ชะรอยจะทรงขัดเคือง ด้วยสุนทรภู่โจทเจ้าไปพึ่งบุญพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจึงทรงเฉยเสีย แต่เล่ากันมาว่าสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์นั้น ยังทรงสงสารสุนทรภู่ ถ้าไปเฝ้าเมื่อใดก็มักประทานเงินเกื้อหนุน แต่สุนทรภู่ออกจะกระดากเองด้วย จึงไม่กล้าไปพึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ต้องตกยากอีกครั้งหนึ่ง กลับอนาถายิ่งกว่าคราวก่อน นัยว่าถึงไม่มีบ้านเรือนจะอาศัย ต้องลงลอยเรือเที่ยวจอดอยู่ตามสวน หาเลี้ยงชีพด้วยรับจ้างเขาแต่งบทกลอนกับทำการค้าขายประกอบกัน[๓]

หนังสือสุนทรภู่แต่งในตอนเมื่อตกยากครั้งนี้ก็มีหลายเรื่อง คือ นิราศพระเเท่นดงรังเรื่องหนึ่ง กล่าวในกลอนข้างต้นนิราศว่า

“ปีวอกนักษัตรอัฐศก ชะตาตกต้องไปถึงไพรสณฑ์
ลงนาวาหน้าวัดพระเชตุพน พี่ทุกข์ทนถอนใจครรไลจร”[๔]

ปีวอก อัฐศกนั้น พ.ศ.๒๓๗๙ ภายหลังพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ได้ปีหนึ่ง สุนทรภู่ไปคราวนี้อาศัยผู้อื่นไป แต่ตัวมิได้ไปโดยลำพังเหมือนเมื่อครั้งยังบวชเป็นพระ เรื่องนิราศที่แต่งก็ว่าอย่างดาดๆ ดูไม่มีอกมีใจ มีเรื่องประวัติบอกไว้แต่ว่า ในตอนที่สึกแล้วได้ภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อม่วง แต่เมื่อแต่งนิราศนั้นยังไม่ได้เป็นสิทธิ์ขาดทีเดียว เป็นแต่ไปมาหากันและบอกความไว้อีกข้อหนึ่งว่า เวลานั้นอดเหล้า[๕] ได้กล่าวไว้ในกลอนว่า

“ถึงนครชัยศรีมีโรงเหล้า เป็นของเมาตัดขาดไม่ปรารถนา”

ดังนี้ เมื่อถึงท้ายเรื่องนิราศ ได้กล่าวกลอนบอกเจตนาในการที่แต่งนิราศไว้ว่า

“ใช่จะแกล้งแต่งประกวดอวดฉลาด ทำนิราศรักมิตรพิสมัย
ด้วยจิตรักกาพย์กลอนอักษรไทย จึงตั้งใจแต่งคำแต่ลำพัง
หวังจะให้ลือเลื่องในเมืองหลวง คนทั้งปวงอย่าว่าเราบ้าหลัง
ถ้าใครเป็นก็จะเห็นว่าจริงจัง ประดุจดังน้ำจิตเราคิดกลอน
ขอเดชะถ้อยคำที่ร่ำเรื่อง ให้ลือเลื่องเลิศลักษณ์ในอักษร
ขอเชิญไทเทวราชประสาทพร ให้สุนทรลือทั่วธานีเอย”

ยังหนังสือกลอนสุภาษิตสอนหญิง[๖] อีกเรื่องหนึ่งก็ดูเหมือนจะเเต่งในตอนนี้ เมื่อก่อนจบกล่าวกลอนไว้ข้างตอนท้ายว่า

“อย่าฟังเปล่าเอาแต่กลอนสุนทรเพราะ จงพิเคราะห์คำเลิศประเสริฐศรี
เอาเป็นแบบสอนตนพ้นราคี กันบัดสีติฉินเขานินทา”

ยังมีหนังสือกลอนของสุนทรภู่อีกเรื่องหนึ่ง บางทีจะแต่งในตอนนี้คือเรื่องลักษณวงศ์[๗] พิเคราะห์ดูเห็นเป็นสำนวนกลอนสุนทรภู่แต่งแต่ ๙ เล่มสมุดไทย (เพียงม้าตามไปเห็นศพนางเกสร) ต่อนั้นดูเป็นสำนวนผู้อื่นแต่งตามกลอนสุภาพอีก ๗ เล่ม แล้วแต่งเป็นบทละครต่อไปอีก ๒๓ เล่ม รวมเป็นหนังสือ ๓๙ เล่ม สมุดไทย ในฉบับที่พิมพ์ขายมีกลอนนำหน้าว่าเป็นของแต่งถวายเจ้านาย แต่กลอนนั้นเห็นได้ว่าตัดเอากลอนที่มีอยู่ข้างต้นเรื่องโคบุตรมาดัดแปลง น่าสงสัยว่าจะเป็นของผู้อื่นเอามาเติมเข้าต่อชั้นหลังเพียงจะให้มีชื่อสุนทรภู่ปรากฏในหนังสือนั้น

อนึ่ง มีคำกล่าวกันมาว่า สุนทรภู่แต่งเรื่องพระสมุทกับเรื่องจันทโครบกับเรื่องนครกายอีก ๓ เรื่อง และว่าเรื่องพระสมุทนั้นสุนทรภู่แต่งเมื่อกำลังลงอยู่เรือลอย จึงให้ชื่อวีรบุรุษในเรื่องนั้นว่า “พระสมุท” พิเคราะห์ดูสำนวนกลอนในฉบับที่พิมพ์ขายเห็นว่ามิใช่กลอนของสุนทรภู่ น่าจะกล่าวกันโดยเข้าใจผิด เกิดแต่ในหนังสือมีกลอนข้างตอนต้นว่า

“ข้าพเจ้าชื่อภู่ผู้ประดิษฐ์ ไม่แจ้งจิตถ้อยคำในอักษร
แม้ผู้ใดได้สดับคำสุนทร ช่วยเอื้อนกลอนแถลงกล่าวในราวความ”

ความที่กล่าวในกลอนนี้ผิดวิสัยสุนทรภู่ ซึ่งไม่เคยยอมถ่อมตัวว่าความรู้อ่อน มีตัวอย่างคำสุนทรภู่ในข้อนี้ กล่าวไว้ในนิราศพระประธมตอนอธิษฐานว่า

“หนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือ ให้สืบชื่อชั่วฟ้าสุธาสถาน
สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรวาล พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร
อนึ่งมนุษย์อุตริติต่างต่าง แล้วเอาอย่างเทียบคำทำอักษร
ให้ฟั่นเฟือนเหมือนเราสาปในกาพย์กลอน ต่อโอนอ่อนออกชื่อจึงลือชา”

เรื่องพระสมุทนั้นกล่าวกันอีกนัยหนึ่งว่า มีคนชื่อภู่อีกคนหนึ่งแต่งเอาอย่างสุนทรภู่ในเวลาชั้นหลังมา เลียนสุนทรภู่ด้วยความนับถือ จึงถ่อมตัวว่าเป็นผู้ยังรู้น้อย ความจริงก็เห็นจะเป็นเช่นว่านี้ ส่วนเรื่องจันทโครบนั้นได้พิเคราะห์ดูไม่พบกลอนตอนใดที่จะเชื่อได้ว่าเป็นสำนวนกลอนสุนทรภู่สักแห่งเดียว คำที่กล่าวกันก็กล่าวแต่ว่าสุนทรภู่แต่งกับผู้อื่นอีกหลายคน จึงเห็นว่าน่าจะเป็นสำนวนผู้อื่นที่แต่งตามอย่างสุนทรภู่ หากว่าจะเกี่ยวข้องกับสุนทรภู่ก็เพียงแต่งเเล้วบางทีจะเอาไปให้สุนทรภู่ตรวจแก้ไข จึงขึ้นชื่อสุนทรภู่ว่าได้เกี่ยวข้องแต่ที่แท้หาได้เเต่งไม่[๘] ส่วนเรื่องนครกายนั้น มีกลอนบอกข้างต้นหนังสือนั้นว่า “นายภู่อยู่นาวาเที่ยวค้าขาย” เห็นจะเป็นนายภู่คนที่แต่งเรื่องพระสมุท หาใช่สุนทรภู่ไม่



[๑] ฉันท์ ขำวิไล มีความเห็นว่า นิราศอิเหนานี้ น่าจะเป็นสำนวนของ นายมี มากกว่า

พ.ณ ประมวญมารค ว่านิราศอิเหนานี้เข้าใจว่าสุนทรภู่แต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แต่จะแต่งก่อนสึกหรือเมื่อสึกแล้วไม่ทราบ – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๒] เรื่องพระอภัยมณีนี้ สุนทรภู่คงจะแต่งขึ้นต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๓ เช่น กล่าวเปรียบเทียบไว้ในเรื่อง “ตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่องพระอภัยมณี” ในหนังสือกลอนสุภาพเรื่องพระอภัยมณี เล่ม ๔ – ธนิต อยู่โพธิ์

[๓] ฉันท์ ขำวิไล มีความเห็นว่า เมื่อลาเพศบรรพชิต เป็นฆราวาสแล้ว ตกยากต้องลงเรือเที่ยวค้าขาย ต่อมาหนูพัดอายุจะครบอุปสมบทใน พ.ศ. ๒๓๘๓ จึงกราบทูลสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสจึงทรงอุปการะบวชให้ทั้งสุนทรภู่และหนูพัด ใน พ.ศ. ๒๓๘๒

พ.ณ ประมวญมารค มีความเห็นว่าสุนทรภู่ไม่เคยตกยาก เพราะหลักฐานที่ว่า เณรกลั่น ลูกเลี้ยงมีตระกูลเชื้อสายขุนนาง สุนทรภู่คงจะเป็นที่ใกล้ชิดเป็นที่นับถือของขุนนางและชาววัง และคงไม่ใช่พระขี้เมาอย่างที่เชื่อกันมา นอกจากนั้น สุนทรภู่มีลูกศิษย์เป็นเจ้าฟ้าถึง ๓ พระองค์ ทั้งเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้วนเคยทรงอุปการะสุนทรภู่ตามกาลต่างๆ ในการเดินทางไปจังหวัดต่างๆ ตามนิราศ สุนทรภู่ก็มีลูกและลูกศิษย์ติดตามไปด้วย จึงไม่น่าที่สุนทรภู่จะถูกทอดทิ้งให้ตกยากลำบากอย่างที่เข้าใจกัน – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๔] ผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรักสำนวนนี้ เข้าใจว่านายมี ไม่ใช่สุนทรภู่ สุนทรภู่เคยไปพระแท่นดงรังเหมือนกัน แต่ไปคราวสามเณรกลั่นแต่งนิราศพระแท่นดงรัง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ ดูบันทึกท้ายเรื่อง – ธนิต อยู่โพธิ์

ฉันท์ ขำวิไล ว่า นิราศพระแท่นดงรังมี ๒ สำนวน คือ สำนวนของนายมี และสำนวนของเณรหนูกลั่น ซึ่งความจริงสำนวนหลังนี้ สุนทรภู่คงเป็นผู้แต่ง แต่เนื่องจากอยู่ในสมณเพศ จึงดัดแต่งให้เป็นสำนวนของบุตรชายซึ่งบวชเป็นเณรอยู่ – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๕] เข้าใจว่ายังบวชอยู่ ดูบันทึกท้ายเรื่อง – ธนิต อยู่โพธิ์

[๖] ในฉบับที่พิมพ์ขายเรียกว่า สุภาษิตไทย เข้าใจว่าแต่งราว พ.ศ. ๒๓๘๐ – ๒๓๘๓ – ธนิต อยู่โพธิ์

ฉันท์ ขำวิไล ว่า สุนทรภู่แต่งสุภาษิตสอนหญิงก่อนเรื่องโคบุตร เพราะดูสำนวนอ่อนโยนตามลักษณะผู้เริ่มเขียนระยะแรก สันนิษฐานว่า แต่งระหว่าง พ.ศ. ๒๓๔๖ – ๒๓๔๘ ขณะอายุไม่เกิน ๒๐ ปี และยังอยู่ที่พระราชวังหลัง

พ.ณ ประมวญมารค ว่า แต่งในวัยหนุ่ม ก่อนเข้ารับราชการเป็น ขุนสุนทรโวหาร

พัชรา อัยวงษ์ อ้างไว้ใน วิทยานิพนธ์ปริญญาบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕๒๑ เรื่อง “จริยศึกษาของสตรีไทย ในสุภาษิตสอนหญิงคำกลอน” ว่า สุภาษิตสอนหญิงไม่ใช่งานนิพนธ์ของสุนทรภู่ – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๗] ฉันท์ ขำวิไล ว่า เห็นจะแต่งลักษณวงศ์ เมื่อเข้าร่วมคณะละครกับนายบุญยัง ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๕๒ – ๒๓๕๖ ก่อนไปอยู่จังหวัดเพชรบุรี เป็นหนังสือ ๙ เล่มสมุดไทย และผู้อื่นแต่งต่ออีก ๓๐ เล่มสมุดไทย แต่งในรัชกาลที่ ๒

พ.ณ ประมวญมารค เล่าไว้ใน “ประวัติคำกลอนสุนทรภู่” ว่า กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงนิพนธ์ไว้ใน “ลิลิตมหามกุฎบรมราชานุสรณ์” ว่า ทรงได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่เล่าเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงคุ้นเคยกับพระองค์เจ้าหญิงนฤมล ธิดากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ แต่พระองค์เจ้านฤมลสิ้นพระชนม์เสียในขณะที่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อเสด็จไปสดัปกรณ์พระศพ ทรงมีความโศกเศร้าน้ำพระเนตรคลอ สุนทรภู่นำความเรื่องนี้แต่งเป็นกลอนเรื่องลักษณวงศ์ – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

[๘] ล้อม เพ็งแก้ว เสนอไว้ในเอกสารประกอบการประชุมเรื่อง “นิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่” (พ.ศ. ๒๕๒๙) ว่าสังเกตจากกลอนในนิราศเพชรบุรีที่ว่า “พระจันทโครบหลบผู้หญิง” ซึ่งเป็นคำกล่าวของสาวแขกคลองบางหลวงแสดงว่า ขณะนั้น ละครเรื่องจันทโครบคงจะได้รับความนิยมอย่างสูง และคงเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าภิกษุสุนทรภู่เป็นผู้แต่งเรื่อง จันทโครบ สาวๆ ที่ติดละครรู้จักสุนทรภู่ เมื่อเห็นผ่านมาจึงเย้าแหย่ว่าเป็น “พระ (ภิกษุ) จันทโครบ” และกล่าวว่า สุนทรภู่แต่งเรื่อง “ดาราวงศ์” ไว้อีกเรื่องหนึ่งด้วย แต่ไม่มีชื่อรวมอยู่ในรายชื่อวรรณกรรมที่สุนทรภู่แต่ง เข้าใจว่าไม่แพร่หลาย – กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ