๗. ว่าด้วยเกียรติคุณของสุนทรภู่

บรรดาผู้ที่ชอบอ่านบทกลอนไทย ดูเหมือนจะเห็นพ้องกันโดยมากว่า สุนทรภู่เป็นกวีที่วิเศษสุดคนหนึ่ง ถ้าและจะลองให้เลือกกวีไทย บรรดาที่มีชื่อเสียงปรากฏมาในพงศาวดาร คัดเอาแต่ที่วิเศษสุดเพียง ๕ คน ใครๆ เลือกก็เห็นจะเอาชื่อสุนทรภู่ไว้ในกวี ๕ คนนั้นด้วย ข้อวิเศษของสุนทรภู่ที่แปลกกับกวีคนอื่นนั้น คือในกระบวนกลอนอย่างหนึ่ง กับสำนวนกระบวนกล่าวความอย่างปากตลาดอีกอย่างหนึ่ง ในกระบวนเหล่านี้จะหาตัวสู้สุนทรภู่แทบไม่มี แต่บทกลอนของสุนทรภู่นั้น ถ้าว่าโดยหลักฐานทางอักษรศาสตร์ มีที่ติได้หลายอย่าง เช่นมักใช้ศัพท์ผิดและชอบเขียนแก้ศัพท์ไปตามใจสุดแต่ให้ได้สัมผัสกลอน แม้แต่งโคลง (นิราศสุพรรณ) ก็มิใคร่เอาใจใส่ในข้อบังคับเอกโท จะเปรียบกับกลอนของกวีที่เป็นบุคคลชั้นสูง เช่นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น เปรียบกันไม่ได้ ทั้งนี้ก็เป็นธรรมดาด้วยการที่ได้ศึกษาผิดกัน บุคคลชั้นสูงเมื่อเรียนเขียนอ่านหนังสือแล้ว ได้เรียนแบบแผนกระบวนภาษาและตำราอักษรศาสตร์แล้วจึงหัดแต่งหนังสือ ฝ่ายบุคคลชั้นต่ำเช่นสุนทรภู่ ได้ศึกษาเพียงแต่หัดอ่านและเขียนหนังสือ ไม่มีโอกาสได้เล่าเรียนตำรับตำราอันใด มีอุปนิสัยชอบแต่งบทกลอนก็เริ่มหัดแต่งด้วยการช่วยเขาบอกบทดอกสร้อยสักวา อันต้องคิดกลอนเป็นสำคัญ ฝึกหัดมาในทางนี้ความคุ้นเคยก็ชักจูงให้รักและให้ชำนาญในทางกลอน เลยถือกลอนเป็นสำคัญยิ่งกว่าที่จะใช้ถ้อยคำให้ถูกต้องตามแบบแผน จะยกตัวอย่างพอให้เห็น ดังเช่นคำขุนแผนในบทเสภาที่ได้คัดมาลงไว้แล้วนั้นสุนทรภู่แต่งว่า “แต่พ่อนี้ท่านเจ้ากรมยมราช” เช่นนี้ กวีที่เป็นคนชั้นสูง เช่นพระราชนิพนธ์เป็นไม่ทรงเป็นอันขาด เพราะคำว่าเจ้ากรมนั้นผิดกับตำแหน่งของพระยายมราช แต่ฝ่ายสุนทรภู่รักคำนั้นด้วยได้กลอนสัมผัสใน ถือว่าความก็แปลว่านายเหมือนกัน จึงใช้คำเจ้ากรมดังนี้ ความที่กล่าวมาเป็นข้อวินิจฉัยในทางวรรณคดี มิใช่ประสงค์จะลดหย่อนคุณวิเศษของสุนทรภู่ ถึงความบกพร่องมีเช่นว่า บทกลอนของสุนทรภู่ยังต้องนับว่าดีอย่างเอกอยู่นั่นเอง แต่ดีเฉพาะแต่งกลอนเพลงยาวหรือที่เรียกกันทุกวันนี้ว่ากลอนสุภาพ กับดีในทางสำนวนกระบวนว่าเป็นปากตลาด ข้อนี้ที่สุนทรภู่คุยอวด จนเลยเป็นเหตุให้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องไกรทองดังกล่าวมาแล้ว แต่เป็นความจริง เพราะฉะนั้นชั้นบุคคลพลเมืองจึงชอบกลอนสุนทรภู่ยิ่งกว่าของผู้อื่น

คุณวิเศษของสุนทรภู่อีกอย่างหนึ่งนั้น นับว่าเป็นผู้ตั้งแบบกลอนสุภาพขึ้นอีกอย่างหนึ่งซึ่งผู้อื่นชอบเอาอย่าง แต่งกันแพร่หลายมาจนทุกวันนี้ เดิมกระบวนแต่งบทกลอนในสมัยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี หนังสือบทกลอนที่แต่งเรื่อง มักแต่งเป็น ลิลิต โคลง ฉันท์ หรือกาพย์ ส่วนกลอนสุภาพ เดิมใช้แต่งแต่คำขับลำนำ เช่นร้องเพลง หรือร้องดอกสร้อยสักวา และแต่งบทมโหรี บทเสภาและบทละคร เพิ่งมาเกิดใช้กลอนสุภาพแต่งเป็นเพลงยาวสังวาส เมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงนิราศในชั้นเดิม เหมือนเช่นนิราศหม่อมพิมเสนครั้งกรุงศรีอยุธยา และนิราศพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จปราบพม่าที่ท่าดินแดง เป็นต้น ก็นับอยู่ในเพลงยาว สุนทรภู่เป็นผู้เริ่มเอากลอนเพลงยาวมาเเต่งเรื่องนิทานเรื่องโคบุตรขึ้น เมื่อในรัชกาลที่ ๑ สันนิษฐานว่าแต่งเช่นนั้นก่อนผู้อื่นทั้งสิ้น แล้วตัวสุนทรภู่และผู้อื่นจึงแต่งนิทานเรื่องอื่นเป็นกลอนสุภาพ เอาอย่างเรื่องโคบุตรต่อมา[๑]

อีกประการหนึ่ง ในกระบวนแต่งกลอนสุภาพนั้น แต่ก่อนมาไม่ได้ถือเอาสัมผัสในเป็นสำคัญ สุนทรภู่เป็นผู้เริ่มเล่นสัมผัสในขึ้นเป็นสำคัญในกระบวนกลอน เลยถือเป็นแบบอย่างกันมาจนถึงวันนี้ นับว่าสุนทรภู่เป็นผู้ชักนำให้กลอนสุภาพเพราะพริ้งยิ่งขึ้นด้วยอีกอย่างหนึ่ง ตั้งแต่หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่ปรากฏแพร่หลาย บรรดาผู้ที่แต่งกลอนสุภาพในชั้นหลังมา ก็หันเข้าแต่งตามแบบกลอนสุนทรภู่แทบทั้งนั้น มีที่สามารถจะแต่งดีได้ใกล้สุนทรภู่ ๒ คน คือนายมี เดิมบวชอยู่วัดพระเชตุพนฯ ที่แต่งนิราศเดือน และนิราศเมืองถลางคนหนึ่ง กับหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร ณ อยุธยา) ที่แต่งนิราศลอนดอนคนหนึ่ง กล่าวกันว่าเป็นศิษย์ศึกษาที่สุนทรภู่ทั้ง ๒ คน แต่ไม่ปรากฏว่าเเต่งหนังสือบทกลอนเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุนั้น

ในบรรดาหนังสือบทกลอนที่สุนทรภู่ได้แต่งไว้ ถ้าจะลองให้อ่านชี้ขาดว่าเรื่องไหนเป็นดีกว่าเพื่อน ก็น่าจะเห็นยุติต้องกันโดยมากกว่าเรื่องพระอภัยมณีเป็นดีที่สุด เพราะเป็นหนังสือเรื่องยาว แต่งดีทั้งกลอน ทั้งความคิดที่ผูกเรื่อง เรื่องอื่นเช่นเสภาตอนพลายงามถวายตัวก็ดี นิราศภูเขาทองก็ดี นิราศเมืองเพชรบุรีก็ดี แต่งดีอย่างเอกก็จริง แต่เป็นเรื่องสั้นๆ จะเปรียบกับเรื่องพระอภัยมณีไม่ได้ ถ้าจะลองตัดสินอีกอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาบทกลอนของสุนทรภู่เรื่องไหนจะเลวกว่าเพื่อน ก็ดูเหมือนจะเห็นยุติต้องกันอีกว่า บทละครเรื่องอภัยนุราชเป็นเลวกว่าเรื่องอื่น เห็นได้ชัดว่า เพราะสุนทรภู่ไม่สันทัดแต่งบทละคร ไปแต่งเข้าก็ไม่ดีฉันใด ก็เหมือนกับที่สุนทรภู่ไปแต่งนิราศเมืองสุพรรณเป็นโคลง ถ้าจะเอาไปเปรียบกับโคลงนิราศเรื่องที่นับถือกันว่าแต่งดี เช่นนิราศนรินทร์อิน สุนทรภู่ก็สู้เขาไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงควรยกย่องสุนทรภู่แต่ว่าเป็นกวีวิเศษในการแต่งกลอนเพลงยาว หรือที่เรียกกันว่า กลอนสุภาพ นั้นอย่างเดียว



[๑] ได้พิจารณาหาหนังสือ ซึ่งแต่งนิทานเป็นกลอนสุภาพ บรรดามีฉบับอยู่ในหอสมุดฯ เรื่องโคบุตรเป็นเก่าก่อนเรื่องอื่นๆ นิทานที่แต่งเป็นกลอนครั้งกรุงศรีอยุธยาแต่งเป็นกลอนกาพย์ทั้งนั้น – สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ