แถลงการณ์ของสำนักพิมพ์

ในการตีพิมพ์ครั้งแรก

พระประสูติกาลของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระองค์ผู้ทรงพระคุณธรรมและพระคุณวฒิ อันมหาประเสริฐ จะบรรจบครบรอบร้อยปี ในวันที่ ๒๘ เมษายน์ พ.ศ. ๒๕๐๖ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย ของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย เห็นเป็นโอกาสอันเหมาะที่จะได้ตีพิมพ์บทพระนิพนธ์ของพระองค์ท่าน เนื่องในมหามงคลสมัยนี้ ทั้งนี้ก็เพราะสำนักพิมพ์นี้จัดตังขึ้นเพื่อตีพิมพ์ตำราเรียนและหนังสืออื่น ๆ อันเหมาะแก่นิสิตนักศึกษา ตลอดจนแก่มหาชน ผู้ใฝ่ใจในวิชาความรู้ทั้งหลาย จะหาหนังสือของท่านผู้ใดอันเข้าอยู่ในข่ายแห่งวัตถุประสงค์ของสำนักพิมพ์นี้ ยิ่งไปกว่าพระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์นั้น เห็นจะหาได้ยาก

ก็การจัดพิมพ์หนังสือขึ้นในโอกาสอันสำคัญ เนื่องในบุคคลสำคัญของประเทศชาติเช่นนี้ ย่อมได้ประโยชน์ถึงสองทาง นับได้ว่าเป็นการมองไปข้างหลัง และทั้งยังเป็นการมองไปข้างหน้า กล่าวคือ เท่ากับว่าสำนักพิมพ์แห่งนี้แลเห็นพระคุณวิเศษของพระองค์ท่าน อันทรงบำเพ็ญมาแล้วด้วยดีในอดีต และแล้วรู้สึกรำลึกถึงด้วยกตเวทิตาธรรม พยายามประกอบกรณียะเพื่อเชิดชูพระกิตติคุณนั้นให้ปรากฏแพร่หลายออกไป นับว่ามองไปข้างหลัง แลการเผยแพร่คุณงามความดีของท่านผู้เปนอัจฉริยบุคคล เช่นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์นี่เอง ก็เท่ากับว่าเป็นการมองไปข้างหน้า ด้วยอนุชนย่อมจะมีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ นานัปการจากพระองค์ท่าน และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ จะได้รู้จักพระองค์ท่าน เพื่อประพฤติปฏิบัติตน ดำเนินตามรอยพระบาทวิถี จะหาบุคคลใดในบัดนี้ ที่น่ารัก น่าเคารพ น่าเอาเยี่ยงอย่าง ยิ่งไปกว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เห็นจะหาไม่ได้

นับว่าสำนักพิมพ์มีลาภอันประเสริฐ ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตีพิมพ์หนังสือบันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์ ประทานพระยาอนุมานราชธน จริงอยู่ท่านเจ้าของต้นฉบับผู้ได้รับประทานพระนิพนธ์เรื่องนี้ไว้ มิได้หวงแหนวิชา ยินดีให้นำออกตีพิมพ์เผยแพร่ได้ด้วยความเต็มใจ แต่ท่านก็กริ่งเกรงอยู่ว่า การนำเอาลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้า มาลงโต้ตอบกับจดหมายของท่านนั้น อาจถูกตำหนิได้ในเรื่องสูง-ต่ำ หรือจะกลายเป็นทำเทียม สาส์นสมเด็จ จึงต้องกราบเรียนชี้แจงว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น ทั้งตัวอย่างก็มีอยู่แล้ว คือ เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ท่านผู้ใหญ่ในวงราชการผู้หนึ่ง ดำริจะตีพิมพ์พระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีถึงบิดาท่าน ผู้ล่วงลับไปแล้ว ท่านผู้นั้นก็มิได้คิดจะตีพิมพ์จดหมายกราบบังคมทูลของท่านบิดารวมอยู่ด้วย เพราะเกรงในเรื่องสูง-ต่ำดังกล่าวแล้ว หากพระราชวงศ์ผู้ใหญ่พระองค์หนึ่งทรงแนะให้นำมารวมไว้เสียด้วยกัน จึงเป็นอันว่าได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มนั้นอย่างสมบูรณ์ เป็นประโยชน์แก่สิกขกามิกบุคคลทั้งหลายโดยทั่วถึงกัน ก็แลการตีพิมพ์หนังสือในทางวิทยาการนั้นไม่น่าจะมีขีดขั้นในเรื่องชาติวุฒิ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศเองก็ทรงถือเอาผู้ที่มีจดหมายติดต่อกับพระองค์ในทางวิชาการ ว่าเป็นเสมือนเพื่อนนักเรียน ด้วยเหตุผลดังกล่าว ท่านเจ้าของต้นฉบับลายพระหัตถ์จึงอนุญาตให้ทางสำนักพิมพ์ จัดพิมพ์ บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ ได้โดยตลอด ทั้งนี้นับว่าสำนักพิมพ์มีโอกาสได้เปิดเผยเอกสารอันสำคัญในทางวิชาการแก่มหาชนเป็นครั้งแรก ทั้ง ๆ ที่องค์การรัฐบาลและสำนักพิมพ์อื่นก็พากันอยากได้รับต้นฉบับนี้ไปตีพิมพ์ ท่านเจ้าของต้นฉบับเองก็กรุณาเขียนคำนำให้อย่างชนิดที่ไม่เคยเขียนให้ใครมาก่อนเช่นนี้ และท่านได้ให้ความร่วมมือในด้านการชำระจัดพิมพ์หนังสือนี้อย่างใกล้ชิด ทางสำนักพิมพ์รู้สึกซาบซึ้งในความเมตตากรุณาทั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

ทางสำนักพิมพ์ถือเอา บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ เป็นหนังสืออันหาค่ามิได้ ในการจัดพิมพ์ ได้พยายามอย่างสุดความสามารถ ได้เริ่มเตรียมงานเสียแต่เนิ่น ค่อย ๆ ให้คัดต้นฉบับออกเตรียมไว้ส่งโรงพิมพ์ ก่อนกำหนดงานถึงหกเดือน แต่การหาเงินมาตีพิมพ์มิได้เป็นไปโดยราบรื่นนัก กว่าจะได้ส่งฉบับคัดให้โรงพิมพ์ได้ ก็จวนงานเข้าไปทุกทีแล้ว แลเดิมอุ่นใจว่าเจ้าของต้นฉบับท่านเมตตาให้แฟ้มเอกสารมาหมด ทั้ง ๆ ที่เดิมท่านไม่ยอมอนุญาตเช่นนี้เลย ก็นึกว่าตีพิมพ์ได้ง่าย แต่ที่ไหนได้ ที่ท่านมีอยู่นั้น ขาดฉบับไปก็ไม่น้อย เดชะบุญทางพระทายาทของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศทรงพระกรุณา ค้นต้นฉบับที่ขาดหาย ประทานมาให้ได้เป็นคราว ๆ แทบทุกครั้งไป ครั้นยิ่งตีพิมพ์มากขึ้น ก็ยิ่งมีกิจต้องรบกวนองค์ท่านมากยิ่งขึ้นทุกที แต่ก็ได้ทรงพระกรุณาโดยตลอด แม้ต้นฉบับที่ทรงรักษาไว้ที่ตำหนักอย่างหวงแหน ในชั้นหลังก็ประทานมาหมดทุกแฟ้ม เป็นโอกาสให้ได้สอบทานหนังสือนี้อย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ที่มีขาดไปลางฉบับ หรือที่ข้อความในเนื้อจดหมายขาดไปบ้างนั้น เพราะต้นฉบับขาดหายหรือชำรุด พ้นวิสัยที่จะลงพิมพ์ให้ได้สมบูรณ์ ยิ่งกว่านี้ การที่ได้ต้นฉบับเพิ่มเติมมานี้เอง เลยเป็นเหตุให้ต้องเพิ่มจำนวนเล่มขึ้น เดิมกะว่า ๔ เล่ม ในที่สุดก็กลายเป็น ๕ เล่ม

โดยที่เจ้านายที่ตำหนักปลายเนิน คลองเตย ทรงทราบว่าทางสำนักพิมพ์ต้องการเสนองานพระนิพนธ์ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เลยเป็นเหตุให้ประทานพรพิเศษ ไม่ว่าจะทูลขอพระอนุเคราะห์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะในเวลาใด เป็นต้องทรงพระกรุณาทุกครั้งไป โปรดให้ยืมเอกสารอันล้ำค่ามาจำลองลงหนังสือเล่มนี้ เกินกว่าที่คาดฝันไว้ว่าจะได้รับพระเมตตาปรานีถึงเพียงนี้ ม.จ. ดวงจิตร จิตรพงศ์ นั้น ถึงกับทรงเรียบเรียงพระประวัติพระบิดา ประทานให้เป็นพิเศษดังคำทูลขอ เลยเป็นผลพลอยได้ถึงสถาบันการศึกษาแห่งอื่น ที่มีโอกาสได้ตีพิมพ์พระประวัตินั้นด้วย การที่เจ้านายพระโอรสพระธิดา ของ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศ ทรงเอื้ออนุเคราะห์เช่นนี้ เป็นเหตุให้ทางสำนักพิมพ์ยิ่งระมัดระวัง ที่จะให้งานพระนิพนธ์นี้ประณีต ดีงาม สมพระเกียรติยศทุกประการ หากพลาดพลั้งประการใด ต้องขอประทานอภัยไว้เป็นอย่างมาก

ที่กล่าวขออภัยไว้เช่นนี้ ก็เพราะรู้อยู่ดีว่าการชำระหนังสืออันสำคัญนั้นมิใช่ของง่าย แม้พระยาอนุมานราชธนเองก็เคยกราบทูลสารภาพกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ไว้แล้วว่า

การชำระต้นฉบับสำหรับตีพิมพ์ ดูเผินๆก็ไม่ยาก แต่เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเห็นข้อทักท้วงที่ทรงพระเมตตาประทานมานี้ รู้สึกด้วยเกล้าฯว่าเป็นงานประณีต ผู้ชำระต้องเป็นคนใจเย็นพอ และมีความรู้รอบตัว ถ้าเรื่องที่ชำระเกี่ยวกับความรู้ที่ไม่เคยเห็นหรือถนัด ก็อาจพลาดได้ง่าย หรือบางทีพบคำที่เอาความไม่ได้ ไปแก้เข้ากลับผิดไปก็มี เพราะฉะนั้น จึงหาตัวคนชำระหนังสือได้ยาก

(จดหมายลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ เล่ม ๒ หน้า ๑๙๑)

ในการชำระหนังสือเล่มนี้ ได้ยึดถือต้นฉบับเป็นเกณฑ์ แม้ตัวสะกดการันต์ก็มิได้ถือตามพจนานุกรม มิใช่แต่ว่าจะเพียงยึดตามพระมติที่ว่า คนทำพจนานุกรมก็เป็นคน ไม่ใช่เทวดา อาจรู้เท่าไม่ถึงการหรือเข้าใจผิดไปก็ได้ (ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๑ ธํนวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ เล่ม ๒ หน้า ๒๓๗) หากเห็นว่าพระองค์ท่านและท่านที่พระองค์ทรงมีลายพระหัตถ์ถึง เป็นผู้เชี่ยวชาญในทางอักษรศาสตร์ มีส่วนปรับปรุงอักขรวิธีภาษาไทยอยู่มิใช่น้อย และตลอดระยะเวลาที่ท่านมีจดหมายโต้ตอบกันอยู่นี้ ก็เป็นสมัยซึ่งอักษรภาษาไทยมีรูปโฉมเปลี่ยนแปลงไปมากอยู่ ทั้งจะเป็นทางให้เห็นว่านักปราชญ์ผู้หนึ่ง อาจทำให้อีกผู้หนึ่งแปรมติในเรื่องการเขียนหนังสือไปได้มาน้อยเพียงไร แม้พระนามสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศเอง สร้อยพระนามเป็น วงษ์ บ้าง วงศ์ บ้าง วงส์ บ้าง แต่ละคำล้วนมีความสำคัญในทางประวัติอักษรศาสตร์ทั้งสิ้น ใช้ ษ์ จนตลอดรัชกาลที่ ๕ มาถึงรัชกาล ที่ ๖ โปรดให้ใช้ ศ์ แล้วต่อมาประกาศเลิก ศ ษ คงใช้ ส์ อยู่สมัยหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น ในหนังสือนี้มีใช้ทั้งสามแบบ หรือคำ วันรัตน ที่ตีพิมพ์ในหนังสือนี้ ท่านผู้เขียน ใช้ตามพระมติสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทั้ง ๆ ที่ทางราชการและคณะสงฆ์ใช้ว่า วันรัต ใช่แต่คำวิสามานยานาม แม้คำนามหรือกริยา ลางทีแต่ละท่านเขียนคนละอย่างก็มี เช่น ละคอน ละคร และ เปน เป็น เป็นต้น ลางคำท่านก็เขียนกันไม่คงที่ เช่น นารายน์ นารายณ์ รัชชกาล รัชกาล ก็ให้ตีพิมพ์ตามท่าน แต่ก็แน่ละ ทั้งสองท่านมิได้ดีดพิมพ์เอง ย่อมมีตัวพิมพ์ผิด หรือพลาดอยู่บ้าง อาศัยที่ท่านเจ้าของจดหมายยังอยู่ และพระธิดาผู้ทรงดีดพิมพ์ถวายท่านเจ้าของลายพระหัตถ์ก็ยังทรงพระชนม์อยู่ เมื่อสงสัยคำใดจึงมีโอกาสได้ไต่ถามสอบสวน แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะระวังได้พอ อย่างไรก็ตาม การจัดพิมพ์ได้ยึดหลักตามพระมติที่ทรงสั่งสอนแนะแนวทางไว้ในหนังสือนี้ เช่นจัดสารบาญตามเรื่อง มิใช่จัดตามวัน ส่วนการทำสารบาญค้นคำก็พยายามให้บริบูรณ์ เก็บทั้งคำในเรื่องและเก็บชื่อคน ชื่อหนังสือ ไว้ต่างหาก ในสารบาญท้ายเล่ม แต่ในเรื่องเอ่ยถึงบุคคล โดยนามต่าง ๆ กัน เก็บแต่ชื่ออันเป็นทางการคำเดียว เช่นพระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ เก็บที่พระนาม จุลจอมเกล้า เท่านั้น ชื่อหนังสือก็เก็บแต่ตามชื่อที่ตีพิมพ์เป็นเล่มแล้ว แต่บางทีตีพิมพ์ครั้งแรกกับครั้งหลัง ๆ ชื่อไม่เหมือนกัน ก็เก็บแต่ชื่อเดียว

ใบปกทั้งห้าเล่ม ด้านหน้าคงใช้ตรา น. เทียนสิน หรือ น. ในดวงใจ อันเป็นตราส่วนพระองค์ ลอกจากที่ทรงร่างไว้ให้ใช้ประดับโคมวิสาขบูชา ส่วนปกหลังนั้น เปลี่ยนไปทุกเล่ม เพื่อขยายพระคุณสมบัติอันจารึก ปรากฏอยู่ในพระสุพรรณบัตร ดังนี้

เล่ม ๑ สวามิภักดิสยามวิชิต สรรพศิลปสิทธิวิทยาธร

บรรดาฝีพระหัตถ์อันแสดงความรอบรู้ในสรรพศิลปนั้นมีมาก เลือกเอารูปพระเมรุที่ทรงออกแบบถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ก็เพราะเป็นงานด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งทรงเป็นเอตทัคคะ ทั้งการด้านพระเมรุนี้แสดงถึงความสวามิภักดิ์ต่อสยามประเทศให้ปรากฏอีกด้วย ดังได้อัญเชิญลายพระหัตถ์ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข ฯ มาลงสรรเสริญไว้แล้ว และพระเมรุนี้เอง ต่อมาได้ดัดแปลงแก้ไขใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และหลังจากนั้นพระศพของพระองค์ท่านเองก็ได้รับพระราชทานเพลิง ณ พระเมรุมาศ ซึ่งทรงออกแบบไว้นี้

เล่ม ๒ สุรจิตรกรศุภโกศล

ในส่วนจิตรกรรมต่างๆ นั้น ได้เลือกรูปภาพอันทรงเขียนทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นทรงยกย่องชมเชยเพียงใด ได้อัญเชิญพระราชนิพนธ์มาลงไว้ด้วยแล้ว

เล่ม ๓ ประพนธ์ปรีชาชาญโบราณคดี

แม้จะทรงเก็บพระองค์ มิค่อยจะได้ทรงพระนิพนธ์มากนัก แต่พระนิพนธ์ชุดนี้ และ สาส์นสมเด็จ ก็เป็นพยานให้เห็นพระปรีชาญานในการประพันธ์แลโบราณคดีอยู่แล้ว หลังปกนี้ได้จำลองรูปแบบพัดซึ่งทรงเขียนทูลเกล้า ฯ ถวายสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สำหรับงานเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐ ปี ที่เลือกรูปนี้ก็เพราะนอกจากทรงเชี่ยวชาญในการออกแบบพัดเป็นอย่างยิ่งแล้ว แบบพัดเล่มนี้ยังแสดงออกซึ่งพระนิพนธ์อันปรีชาชาญให้ปรากฏอีกด้วย ได้ทราบมาว่า เดิมสมเด็จพระพันวัสสาโปรดให้ส่งมคธคาถามาถวาย ให้ทรงถอดเป็นโคลงภาษาไทย ครั้นทรงพระนิพนธ์คำโคลงผูกเป็นแบบพัดถวายขึ้นไปให้ทอดพระเนตร กลับกลายเป็นว่า ภาษามคธเดิมที่ส่งมานั้น ผิดบาทคาถา จึงเสนอกันขึ้นว่าให้ทรงโคลงขึ้นใหม่ ให้เข้ากับคาถาที่ถูก แต่สมเด็จพระพันวัสสาโปรดโคลงพระนิพนธ์นี้ จนถึงกับมีพระราชเสาวนีย์ให้แก้มคธคาถา ให้เข้ากับคำโคลงภาษาไทย อันสมเด็จกรมพระยานริศทรงพระนิพนธ์ถวาย แม้เพียงนี้ก็ย่อมส่อพระคุณสมบัติในด้านประพนธ์ปรีชา ให้ปรากฏแล้ว มิใยต้องกล่าวถึงบทพระนิพนธ์ร้อยแก้ว ร้อยกรองอื่น ๆ อันทรงไว้เป็นหลายเรื่อง

เล่ม ๔ สังคีตวาทิตวิธีวิจารณ์ มโหฬารสีตลัธยาไศรย

ได้จำลองลายพระหัตถ์ทำนอง เพลงช้าประสม ลงไว้ให้เห็นเป็นเด่นในทางทำนองเพลง แต่ในทางฟ้อนรำขับร้อง ก็ยังทรงชำนิชำนาญมิใช่น้อย ที่มิได้นำฉากละคอนที่ทรงออกแบบมาลงไว้หลังปกก็เพราะเกรงจะเป็นว่า แสดงพระคุณลักษณะซ้ำไปในทางจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมอีก การที่ทรงเพลงได้ไพเราะนี้เอง ย่อมแสดงให้เห็นด้วยว่าทรงมีพระอัธยาศัยกว้างขวางเยือกเย็นด้วย

เล่ม ๕ พุทธาทิไตรรัตนสรณานุวัตร ขัตติยเดชานุภาพบพิตร

ที่หลังใบปกเป็นรูปเครื่องราชอิสสริยาภรณ์จักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งมิใช่เป็นฝีพระหัตถ์ ก็เพราะเห็นว่าทรงได้รับสร้อยจักรีประดับเพชร อันเป็นเครื่องราชอิสสริยาภรณ์สูงสุดพิเศษ ในรัชกาลที่ ๘ ทรงเป็นพระองค์เดียวที่ได้รับพระราชทานพระเกียรติยศนี้ อันแสดงว่า ทรงเป็น บพิตรผู้มีขัตติยเดชานุภาพ อย่างแท้จริง ก่อนรัชกาลนั้นขึ้นไป ก็มีแต่สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข ฯ และ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรควรพินิตเท่านั้น ที่ได้รับพระราชทานตราจักรีประดับเพชรเช่นนี้ รูปหลังปกฉายภาพมาจากบานประตูพระอุโบสถวัดราชบพิธ ก็เพราะเห็นว่าลายประดับมุกข์ที่พระอารามนั้นงามเป็นเยี่ยม พระองค์เองก็เคยทรงรับประดับมุกข์เช็ด ในพระบรมมหาราชวังมาแล้ว และพระอารามนั้นก็เป็นที่สถิตแห่งพระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณากร พระศีลาจารย์ของพระองค์ท่านเมื่อคราวทรงผนวชเณร ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่าทรงนับถือพระรัตนตรัยอย่างแน่นแฟ้นอยู่ด้วย และพระองค์ท่านเองก็ทรงมีส่วนช่วยทำนุบำรุงพระอารามนั้นอยู่ด้วยในทางศิลป ดังได้เชิญพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เจ้าอาวาสวัดนั้น มาลงสรรเสริญพระเกียรติคุณไว้ด้วยแล้ว

การจัดใบปกและรูปเล่มทั้งหมดนี้ ได้อาศัย นายอวบ สาณะเสน เป็นกำลังช่วยเหลือมาก ในส่วนการดูตัวพิมพ์ ก็ได้นายบรรเจิด อินทุจันทรยง มาช่วยเหลือ บุคคลทั้งสองนี้รับมาทำงานให้ด้วยใจรัก และตด้วยความเคารพเลื่อมใส ในสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ในสำนักพิมพ์นี้ก็ดี และผู้จัดการตลอดจนคนงานในโรงพิมพ์ที่รับตีพิมพ์หนังสือนี้ก็ดี ล้วนมีส่วนช่วยให้หนังสือนี้สำเร็จเป็นรูปเล่มด้วยดี ต่างช่วยกันทำการด้วยเห็นแก่ประโยชน์ในทางศิลปวิชาการยิ่งกว่าเห็นแก่อามิส ยังบุคคลภายนอกอีกเป็นอันมาก ก็ได้เอาใจช่วยและมีส่วนช่วยมากบ้างน้อยบ้าง ทั้งบรรพชิตและคฤหัส ทั้งองค์การรัฐบาลและเอกชน ขอจงได้รับความขอบคุณทั่วกัน

ในขณะที่ตีพิมพ์อยู่นั้น ต้องทำงานกันทั้งกลางวันกลางคืน เป็นเวลานานอยู่ บางครั้งก็ให้ออกท้อแท้ใจ เพราะบังเกิดอุปสรรคบ้าง ไม่ได้รับความสนับสนุนทางใจเท่าที่ควรบ้าง และทำท่าว่างานจะไม่แล้วเสร็จบ้าง แต่เมื่อมองเห็นภาพฝีพระหัตถ์เพียรกล้าชาดก แล้วก็พลอยรำลึกนึกถึงวาทะของพระมหาชนกโพธิสัตว์ ที่ตรัสโต้ตอบกับนางมณีเมขลา แล้วก็บังเกิดมานะ มีความเพียร อดทนทำการต่อไป

อนโณ าตีนํ โหติ เทวานํ ปิตุนฺจ โส
กรํ ปุริสกิจฺจานิ น จ ปจฺฉานุตปฺปติ

ไม่ว่าจะประสบความลำบากยากเข็ญอย่างใดก็ตาม ได้อาศัยยึดพระนิพนธ์ และพระกรณียกิจเป็นเครื่องเหนี่ยว ก็ช่วยให้ดำเนินงานไปได้อย่างน่าพึงพอใจ และในระหว่างทำการอยู่นั้นเอง ได้เห็นผลงานของพระองค์อยู่เสมอ ก็พลอยให้รู้สึกหายเหนื่อย กรำงานต่อไปได้อย่างเพลิดเพลิน นับว่าพระองค์ทรงเป็นกำลังใจให้อยู่ตลอดเวลา

หากหนังสือบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ นี้ สำเร็จได้ดีสมเจตน์จำนงแล้วไซร้ ทางสำนักพิมพ์ขอถวายคุณความดี เป็นเครื่องสักการะปฏิการ แด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ทรงพระคุณธรรมอันสูงส่งนั้นทุกประการ แม้สถิตอยู่ ณ ทิพยสถานพิมานใด ขอได้โปรดทรงสดับรับคำอุทิศถวายด้วยกตเวทิตานี้ด้วยเทอญ

สกฺกตฺวา สกฺกโต โหติ ครุ โหติ สคารโว
วณฺณกิตฺติภโต โหติ โย มิตฺตานํ น ทุพฺภติ

คนไม่ประทุษร้ายมิตร ย่อมสักการท่าน ท่านย่อมสักการตอบ

เคารพท่านท่านย่อมเคารพตอบ มีผู้นำคุณและเกียรติไปพรรณนา

ปูชโก ลภเต ปูชํ วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ
ยโสกิตฺติฺจ ปปฺโปติ โย มิตฺตานํ น ทุพฺภติ

คนไม่ประทุษร้ายมิตร บูชาท่านย่อมได้บูชาตอบ

ไหว้ท่านย่อมได้ไหว้ตอบ แลได้อิศริยยศ เกียรติยศ ฯ

บรรณาธิการ

สำนักพิมพ์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย

ถนนพญาไท จุฬา ฯ ซอย ๒ โทร. ๓๔๘๗๗

๖ เมษายน ๒๕๐๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ