๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ยส

กรมสิลปากร

14 ธันวาคม 2485

ขอประทานกราบทูล ซงซาบไต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ 24 พรึสจิกายน รวมสองฉบับไว้แล้ว พระเดชพระคุนล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้ ที่ทรงพระเมตตาตรัดแนะอธิบายเรื่องช่างตลอดมา กะทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้ความคิดและความรู้สว่างขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ตกว่าความรู้วิชาช่าง หรือวิชาได ต้องอาสัยของเก่าเปนครู แต่ต้องรู้จักไช้วิชาที่เรียนรู้ มาดัดแปลงแก้ไข ไห้เข้ากับลักสนะที่จะทำ ดังเรื่องบุสบกที่ซงพระเมตตา ยกตัวอย่างประทานมาไห้เห็น ข้าพระพุทธเจ้ามาได้ความแจ่มแจ้งขึ้น ไนข้อที่ฝรั่งกล่าวว่า สิ่งงามต้องมี Harmony คือมีส่วนประสานกันได้เหมาะเจาะ ก็คือเปนดั่งที่ตรัดประทานมาไนเรื่องบุสบกนี้เอง

คำว่า ยานะนาวา คนพูดกันเปน ยันนาวา คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เมื่อพูดว่า ยานะนาวา เสียง นะ ถูกเสียง นาวา ซึ่งเปนเสียงยาวถึงสองพยางค์ต่อกัน กะทำให้เสียง นะ เบาไป และขัดจังหวะ พูดเร็วเข้า เสียง นะ ก็หายไป เปน ยานนาวา เสียงยาวทั้งสามพยางค์ พูดไม่ได้สดวก เสียง ยานจึงหดเปนสั้นไป เว้นไว้แต่จะออกเสียง นาวา เปน นะวา เสียง ยาน จึงจะไม่หด

ที่ตรัดประทานเรื่อง มีผู้ว่าสุนทรภุ่เปนคนเล่นเพลงมาก่อน โวหารจึงเชี่ยวชานนัก ข้าพระพุทธเจ้าเชื่อสนิท ไนหนังสือฝรั่งกล่าวว่า มนุสรู้จักร้องเพลง หรือพูดเปนเสียงดนตรีได้ก่อนพูดเปนร้อยแก้ว เพราะฉะนั้นคำพูดของมนุส จึงหยู่ที่ประโยคไม่ไช่หยู่ที่คำ คือพูดเปนประโยคก่อน ไม่ใช่เอาคำมาเรียงเปนประโยค ที่รู้จักเอาคำมาเรียงกันเปนประโยค เปนของเกิดทีหลัง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ถ้าสุนทรภู่เปนปเรียน ก็คงแต่งหนังสือกลอนตลาดไม่ได้ดี เพราะจะต้องนึกหลักไวยากรน์ และข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งจะทำให้สำนวนโวหารไม่เปนไปตามธัมดา

คำว่า ละคอน ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านหนังสือฝรั่ง เขาอธิบายว่าเปนคำชวามาจากธาตุ ลกุ ซึ่งแปลว่า กะทำหรือกะทำบทบาท คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าเขียน ละคอน ว่ามาจาก นคร จะเปนสำคันผิด เพราะด้วยเรื่องเสียงมาพ้องกัน ละคอนทางปากไต้มีแต่โนรา ลางทีจะเปนด้วยชาวนครได้แบบอย่างละคอนไปจากกรุงสรีอยุธยา ตามที่ว่าขุนสัทธาไปสอนไห้ เสียงไปไกล้กับ คำว่า นคร เลยเหมารวมกันเปนคำเดียวไป คิดว่า ชาตรี หมายความถึงหยู่คง ลางท่านว่ามาจากคำว่า กสัตร โดยอ้างเหตุที่ว่า ชาวอินเดียออกเสียง คำนี้เปน ฉัตรี หยู่ และคำว่า ชายชาตรี ก็แปลว่า ชายนักรบ กรมหมื่นพิทยาฯ ซงเห็นว่า ชาตรี ไม่ไช่เปนนักรบ แต่เปนหยู่คง น่าจะมาจากคำว่า สาสตรี จะเหมาะกว่า เพราะ สาสตรีคือผู้รู้สาตร เหมาะแก่ที่จะรู้วิชาหยู่คง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ตามคำอธิบายทั้งสองข้างบนนี้ เปนเพียงสันนิถานตามความหมายเท่านั้น ยังหาหลักถานมายืนยันไม่ได้ ลางทีอาดจะค้นเอาไว้จากเรื่องที่เอามาไช้เรียกละคอนทางปากไต้ว่าทำไมจึงเรียกละคอนว่า ชาตรี แต่ก็จนด้วยเกล้า ฯ คิดต่อไปไม่ได้ตลอด อนึ่งได้ซาบเกล้าฯ ว่า เขมนเรียกโขนว่า ลโขน ชวนไห้คิดไปว่า โขน กับ ละคอนจะเปนคำเดียวกัน

ฝัน ไนความเดิมคิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะเกิดจากนอนหลับก่อน แล้วพายหลังความหมายจึงขยายออกไป เปนเวลาตื่นก็ฝันได้ เมื่อความหมายขยายกว้างออกไป ถ้าจะไห้หมายความชัดถึงคำเดิม ก็ต้องเติมคำ นอนลงไปช่วย เปน นอนฝัน เทียบได้กับคำ dream ซึ่งเดิมเปน นอนฝัน แล้วพายหลังถึงตื่นหยู่ก็ฝันได้ จนกระทั่งอาการที่เหม่อมอง ฝรั่งก็ไช้คำว่า ฝัน ได้

ข้าพระพุทธเจ้าได้ไล่เลียงชาวพายัพถึงเรื่องผีปู่ย่าของเขา ได้ความว่า เขามีหิ้งสำหรับบูชาหยู่เหนือหัวนอน บนหิ้งไม่มีอะไร นอกจากสมมตเอาว่าผีปู่ย่าหยู่ที่บนนั้น และจุดธูปเทียนไปวางบูชาเท่านั้น เปนหย่างเดียวกับที่ชาวบ้านไนกรุงเทพ ฯ นึกจะบนบานเจ้าอะไร นึกเอาแล้วก็จุดรูปไปปักบูชาไว้ ชาวพายัพเมื่อเด็กผู้ชายเปนผู้ไหย่ก็ต้องมีพิธีแยกผีเอาไปบูชาของตน เวลาออกเรือนไปก็ต้องเชินผีปู่ย่าของตนไปด้วย มีพิธีทำก็ง่าย ๆ เปนแต่บอกกล่าว แล้วก็สมมตเอาว่าไปด้วย คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าเปนลัทธิเดียวกับที่ฝรั่งเรียกว่า Ancestor worship ซึ่งเปนลัทธิขั้นต้นของสาสนา มีหยู่ทั่วไปไนชนชาติโบราณ แม้จีนและยี่ปุ่นก็ยังถือกันหยู่ ไนสมัยเมื่อมนุสยังหยู่กันเปนครอบครัว ยังไม่ได้รวมกันเปนประเทสชาติไหย่โตเหมือนทุกวันนี้ คนถือผีปู่ย่าก็เปนของดี เปนเครื่องยืดเหนี่ยวไห้คนไนครอบครัวประพรึดตามขนบประเพนี ซึ่งเปนของสำคันของการปกครองไนครั้งนั้น ทางอีสานเรียกผีปู่ย่าว่า ปู่ตา ถ้า ตา มีความหมายว่าพ่อของแม่ ก็สแดงว่า ทางอีสาน ถือเครือาติฝ่ายหยิงด้วย ผิดกับทางพายัพ ซึ่งเปนแต่ถือทางฝ่ายพ่อหย่างเดียว การแยกผีเมื่อออกเรือนไป ก็ไปหยู่รวมกับของฝ่ายหยิง ตรงกันข้ามกับจีนและอินเดีย ซึ่งตามประเพนีของเขา ชายจะหยู่บ้านหยิงไม่ได้ ลางทีคติของไทยที่ชายไปหยู่บ้านหยิง จะติดมาจากประเพนีของมนุสตระกูลมอ-เขมร ซึ่งได้ซาบเกล้าฯว่าพวกข่ามีประเพนีที่ชายต้องไปรับไช้พ่อผู้หยิงมีกำหนดเปนเวลาเท่านั้นปี จึงจะได้หยิงมาเปนภรรยา เปนชนิดฝากบำเรอ ในกตหมายเก่าคำว่า ขวัน คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เปนคำเดิมของไทย ตรงกับฝรั่งเรียกว่า soul แต่ขวันของไทยเดิมและของจีน และของชาติต่างๆ ในแหลมอินโดจีนตลอดไปถึงมลายู มีประจำตัวคนหยู่หลายขวัน ผิดกับ soul ของฝรั่งซึ่งมีหยู่กับมนุสเท่านั้นและมีเพียงดวงเดียว เมื่อไทยได้คติอาตมันของพราหมน์ เกิดมีคำว่า วิาณ ขึ้น ก็กันเอาคำ ขวัน ของเดิมไห้มีความหมายไปอีกหย่างหนึ่ง ลางทีจะเปนคำเดียวกับเจตภูต ซึ่งคงได้มาจากคติอินเดียอีกเหมือนกัน จึงเกิดแยกเปน ขวัน เจตภูต และ วิาน ขึ้น ในภาสาฝรั่งไม่มีคำแยก เมื่อแปลคำ ขวัน เจตภูต ก็ไช้ soul คำเดียวรวมกันหมด ไนด้านความรู้เรื่องสาสนาของฝรั่ง เขามีวิชาเรียกว่า Comparative Religion เปนการสึกสาลัทธิสาสนาต่าง ๆ ที่มนุสนับถือมาแต่แรกเริ่มเดิมทีว่ามีความคิดเห็นและเชื่อถือกันมาหย่างไร จนมาเปนลัทธิ-สาสนาต่าง ๆ ทุกวันนี้ เริ่มด้วยเรื่องคติความเชื่อถือเรื่อง soul หรือขวันก่อน แล้วถึงคตินับถือผี นับถือผีปู่ย่า และผีของคนที่ต้องกลัวเกรง นับถือรูปบูชาและของขลัง นับถือสิ่งธัมชาติ บูชาต้นไม้ ไฟ แผ่นดิน และอื่นๆ นับถือสัตว์ไหย่และสัตว์ดุร้าย แล้วถึงขั้นนับถือเทวดาหรือพระเจ้ามากองค์ (polytheism) ถัดมาก็ถึงขั้นนับถือพระเจ้าองค์เดียว (monotheism) นับถืออำนาดที่เปนปติปักส์ต่อกัน (dualism) และนับถือสิ่งต่างๆ ไนสกลโลก จะเปนพระเจ้า เทวดา หรืออะไร ว่าออกมาจากพระเจ้าองค์เดียวหรือแหล่งเดียว (pantheism) เรียนหลักกว้าง ๆ อย่างนี้ แล้วจึงสึกสาหลักของสาสนาต่าง ๆ ที่เปนสาสนาไทย่ที่มีหยู่ไนอดีตและปัจจุบันนี้ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ถ้าพระสงฆ์ที่ทำการเผยแผ่พุทธสาสนา ได้เรียนรู้หลักไนวิชานี้ไว้บ้าง ก็จะเปนการดี สดวกแก่การสั่งสอนได้ไม่น้อย

คำว่า ท่องสื่อ ตัวจีนเปน 通使 และ บั้นสื่อ 伴使 คำ ท่องสื่อ ท่อง แปลว่า ไปตลอดทั้งหมด ติดต่อ เข้าไจซึมซาบ เปิดเผย ไกล้กับคำไทยหยู่คำหนึ่งคือ ทั้ง สื่อ แปลว่า ส่งไปไช้ จัดการ สืบต่อ ตรงกับคำไทยคือ สื่อ และ ไช้ คำนี้แต้จิ๋วอ่านเปน ไซ้ กวางตุ้งอ่านเปน ซี และจีนหลวงอ่านเปน สื่อ รวมกันเปน ท่องสื่อ แปลว่า ผู้เปนตัวแทน (เอเยนต์) บั้น แปลว่า เพื่อนผู้ร่วม ผู้ไปด้วย ตรงกับคำว่า เพื่อน ทางอีสานเปน เปิ้น แปลว่า เขา ท่าน แต้จิ้วอ่านว่า ปั้ว กวางตุ้งเปน ปู๊น และเปน ผั้น จีนหลวงเปน ปั้น รวมกันเปน บั้นสื่อ แปลว่าเปนผู้มีที่ไช้ไปด้วย คือ ตัวรอง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ไทยจะได้สำเนียงของคำ ท่องสื่อ และ บั้นสื่อ มาทางจีนหลวง เพราะสองคำนี้จะเปนคำไช้หยู่ไนทางราชการโดยฉะเพาะ

คำ เยียน และ เยือน ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูไนคำไทยต่าง ๆ ไม่พบ นายสุดว่าทางอีสานไช้ปะปนกันทั้งสองคำ เขียนเปน เยียน แต่อ่าน เยือน ก็มี ถ้าปรับเทียบเพียงสระ เอีย กับ เอือ ก็เพี้ยนกันได้ เช่น เวียง เมือง เปลี่ยน-เปลือน (ปากไต้) เยียงผา-เยืองผา (พายัพ) เชียด (ปากไต้)-เชือด เสีย (ไทยทางจังหวัดเลย) -เสือ และ เกลือ ก็เปน เกีย ในภาสาจีนคำว่า เซ่น กวางตุ้ง เฉง แต้จิ๋วว่า เชี้ย ตรงกับ เชื้อเชิน ไนไทย

คำว่า ม่วง จนด้วยเกล้า ฯ ค้นหาต้นเหตุที่มาไม่พบ แม้แต่คำว่าสีม่วง ไนไทยไหย่ก็ไม่ใช้ กลับไช้ว่า แดงก่ำ ลางที ม่วง จะออกมาจากสีของไบมะม่วงอ่อน ก็ซาบเกล้า ฯ ไม่ได้ แล้วเอามาไช้เรียกเปนสีขึ้น พระเทวาภินิมมิตพูดถึงรูปลางรูป ว่าเปน สยมภู ข้าพระพุทธเจ้าซักถามว่าหมายความอะไร พระเทวาฯ ว่าหมายถึงรูปไม่เปนชิ้นดี ไม่ไช่ฝีมือช่าง และว่าเรียกตามที่ไต้ฝ่าพระบาทเคยตรัด ข้าพระพุทธเจ้านึกขึ้นได้ว่า ดูเหมือนคำนี้มีพูดไว้ไนเรื่องขุนช้างขุนแผน ไนคำว่ารกยุ่งสยมภู หรืออะไรไนความนี้ เห็นจะหมายความว่า เปนของเกิดเองตามธัมชาติ ไม่ไช่จากช่างประดิถขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานซาบเกล้า ฯ ถึงที่มาและความหมายของคำนี้ด้วย

ควนมิควนแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า ยง อนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ