๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ยส

วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๘ มีนาคมไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

ที่ตรัสประทานการเขียนอ่านทางวิลันดาว่า ตัว j เป็น ย tj เป็น จ dj เป็น ช เป็นถูกเสียงที่สุด ในตำราโฟเนติค ไม่พูดถึงพยัญชนะวรรค จ ก็เพราะเสียงพยัญชนะในวรรคนี้เป็นพยัญชนะเสียงควบ คือพยัญชนะวรรค ด ควบด้วยพยัญชนะ ย โดยลำดับ ที่ในภาษาอังกฤษอ่านคำ ti ในคำเช่น nation เป็นเสียง ช ก็เพราะเสียง j ใกล้กับเสียง ย อรรธสระ วิทยา กับ วิชา ก็เป็นแนวเดียวกับ ปราโมช = ปราโมทย เสียงในภาษาอังกฤษเป็นเสียงโฆษะ จึงเป็นครึ่งเสียง จ และ ย แต่ก่อนเคยแปลงเสียงกันเป็น ย เช่น John ก็เป็น ยอน แต่เดี๋ยวนี้แปลงเป็น จอน ไป แต่ข้าพระพุทธเจ้าคุ้นต่อเสียง ย มากกว่า จ

ชวา ในหนังสือสํสกฤตรุ่นปุราณะเขียนเป็น ยาวทวีป ข้าพระพุทธเจ้าเคยพบเขาอธิบายว่า ยาวะ แปลว่า ลูกเดือย แต่มีผู้ค้านว่าจะไม่แปลว่าเช่นนั้น เพราะไม่มีเค้าว่าที่เกาะนั้นมีต้นลกเคือย ส่วน ชวา ก็ดูเหมือนจะแปลว่าดอกชะบาหรือดอกกุหลาบใน สันสกฤต เป็นอันว่าในเวลานี้ยังไม่มีใครทราบกันได้แน่นอนว่า ชวา หรือ ยวา จะมาจากภาษาอะไรแน่ เห็นทีจะเป็นชื่อของเจ้าของถิ่นเดิม แล้วลากเสียงให้เข้ากับคำที่แปลได้อย่างเดียวกับคำว่า เซ่า หรือ ชวา ทางหลวงพระบาง

เรื่องคัมภีร์ธรรมศาสตร์ ที่เข้ามาสู่เมืองไทย ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริว่า จะเข้ามาถึงเมืองไทยเป็นกี่ครั้งก็ได้ นายแลงกาด์เคยเล่าให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า กฎหมายของไทยนั้นได้มาทางมอญ และว่าได้เขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือพิมพ์ของสมาคมค้นคว้าวิชาแห่งประเทศไทยแล้ว แต่เขาเขียนไว้เป็นภาษาฝรั่งเศส ข้าพระพุทธเจ้าจึงไม่มีโอกาสอ่านออก ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านเรื่องว่าด้วยคัมภีร์ธรรมศาสตร์ของพม่า ซึ่งฝรั่งคนหนึ่งชื่อฟอธไฮมเมอร์แต่งไว้ ข้าพระพุทธเจ้าจำได้เงาๆ ว่า คัมภีร์ธรรมศาสตร์พม่านั้น เขาว่าได้มาจากมอญ ส่วนมอญได้มาจากชาวอินเดียตอนใต้ จะเป็นชาวกลิงคราษฎร์หรือทมิฬ ข้าพระพุทธเจ้าก็จำไม่ได้ ต้นเดิมเป็นคัมภีร์ของอินเดียในมัธยมประเทศ เมื่อชาติอื่นนำเอาไปใช้ ก็ดัดแปลงแก้ไขให้เข้ากับศาสนาที่ตนนับถือ และจารีตประเพณีของชาติตน เพราะฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะลงความเห็นปักลงไปได้แน่นอนว่า มาจากคัมภีร์นั้นคัมภีร์นี้ คิดด้วยเกล้าฯ ว่าธรรมศาสตร์ของไทยจะเข้ามานมนานแล้ว และเป็นหลายคราวดังที่ทรงสันนิษฐาน และต้นเค้าก็จะมาจากมอญ เพราะความเจริญของมอญเคยแผ่เข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยที่เรียกในโบราณคคีว่า อาณาจักร์ทวาราวดี และในสมัยจามเทวีปลายยุคทวาราวดี คัมภีร์กฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นของเก่าของแคว้นพายัพ มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติอยู่มากผูก ข้าพระพุทธเจ้าเคยขอให้นายสุดแปลออกมาเป็นภาษาไทย เพื่อตรวจดูว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้นที่จะเป็นประโยชน์แก่ความรู้ ข้าพระพุทธเจ้าเคยแนะนำผู้มาขอหนังสือไปตีพิมพ์แจกในงานศพ ก็หาผู้ศรัทธาได้ยาก เพราะผู้ขอไม่ได้มุ่งไปในประโยชน์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหาความรู้ คัมภีร์กฎหมายเก่าของพายัพเหล่านี้ ถ้าได้ค้นคว้าสอบสวนเปรียบเทียบกันกับทางนี้ ก็อาจได้เรื่องงอกออกไปอีก เรื่องราชบัญฑิตที่เข้าใจว่าเป็นสมณาจารย์ คิดด้วยเกล้าฯ ว่าเป็นความเข้าใจผิดของอาจารย์ ประเสริฐ จันทรสมบูรณ์

ข้าพระพุทธเจ้าพบคำ ย่าย ในภาษาไทยใหญ่ ให้คำแปลไว้ว่า แตกออก กระจาย กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงคำ ญญ่าย ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งอาจจะเป็นกล่อนเสียงมาจากคำว่า แยกย่าย ก็ได้ และคำว่า แยกย้าย และในชื่อตำแหน่งว่า ย่ายพลแสน ก็อาจแปลว่า แยกแตก หรือ กระจาย ก็ได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ