๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๘๕

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ได้รับแล้ว ขอบใจมาก รู้สึกว่าเขียนหนังสือไปมากับท่านนั้นดีมาก ได้ประโยชน์ที่แลกความรู้แก่กัน

คำ จปิ้ง แปลว่าเครื่องปิดรูนั้นดี. พ้นจากความหยาบไป ท่านบอกให้เข้าใจคำเดิมนั้น ขอบใจเปนอันมาก

พไล ซึ่งประกอบกับเรือนในสวนนั้น ฉันไม่เคยเหนจึงไม่ได้พูดถึง ตามที่ท่านนึกถึงพื้นโรงนั้นถูกแล้ว ถ้ามีพื้นก็ต้องเปนพื้นฟากก่อน อย่างพื้นพระเมรุ พื้นฟากนั้นก็มาจากแคร่ที่นอนนั่นเอง จะเปนพื้นกระดานไม่ได้เพราะไม่มีเลื่อยจะจัก ได้ยินเขาว่าแต่ก่อนนี้จะใช้พื้นกระดานก็ต้องเอาซุงมาผ่า ย่อมเปนการใหญ่อยู่ การกันสัตว์รังแกนั้นอยู่ที่ทำฝา เหนจะมีมานานแล้ว สังเกตโบถวิหารเก่า ๆ ก็เหนทำเปนฝาลูกกรง แม้จนเปนฝาก่ออิฐแล้วก็เหนก่อเปนลูกกรง แปลว่าทำตามเคย โรงแต่ก่อนเหนจะใช้ไม้เล็กๆ เปนลูกฝา

คำว่า ลาวเฉียง คิดว่าถูก ไม่ใช่หลงมาแต่คำ ลาวเชียง เพราะมีคำว่า ลาวกาว อยู่เปนคู่กัน อันหมายความว่า พวกลาวซึ่งอยู่ใกล้กับแกว ลาวเฉียงก็เปนลาวทางพายัพ พายัพเปนอนุทิศ ต้องเปนเส้นเฉเฉียงเฉลียงไปอยู่เอง คำ เชียง นั้นเสียอีกที่ควรคิดว่าจะแปลว่ากะไร ไม่ใช่มีแต่เชียงใหม่ ที่อื่นก็มีมาก เช่น เชียงราย เชียงรุ้ง เปนต้น

เรื่องเตาไฟซึ่งเอาไว้กลางเรือน ท่านคิดว่าเปนด้วยอากาศหนาวนั้น ฉันเหนด้วยเต็มตัว ที่เขาพูดถึงเข้าถึงผีอะไรนั้น เหนเปนสวะ

คำ ครัว ฉันก็ทราบนานแล้วว่า ของใช้ ที่เราพูดว่า ครัว หมายความถึงคนซึ่งอยู่ด้วยกันก็ต้องใช้ของร่วมกัน ที่เพ่งเอาเตาไฟว่าเปนครัวนั้น เพ่งด้วยความเข้าใจผิด

คำ เก และ ใช้ หรือ โฉย ทั้ง คับ ด้วยนั้นฉันไม่เคยทราบ ที่ท่านบอกให้ทราบนั้น ขอบใจมาก ทั้งนึกว่าที่ท่านคิดนั้นเปนถูกทีเดียว

ท่านตรวจและคิดประกอบได้ ว่า กะได หรือ คั่นไหล ข้อไหล มาแต่ ไถล นั้นเป็นสมใจฉันอย่างยิ่ง เข้ากับ จันเดิร ซึ่งว่าเปนลาดได้สนิท การทำลาดก็เปนทำตามธรรมดาเท่านั้น ถ้าหากว่าทางลาดนั้นชันขึ้นลื่นก็ต้องบากเปนคั่น จะเหนได้ว่าที่เปนคั่นนั้นทำทีหลัง

คำ กะ เปน กระ เปน กรร นั้น กระ และ กรร เปนทางเฉพาะแต่หนังสือ แต่ถ้าพูดแล้วก็เปน กะ ทั้งนั้น

ที่ฉันพูดถึงหินพระจันทร์ครึ่งซีก ซึ่งว่าใช้รองตีนกะได เพื่อไม่ให้ปักจมดินลงไปนั้นเปนคิดเอาเอง ลางคนเขาก็เหนว่าเปนแผ่นหินที่ล้างท้าว แต่กลัวจะเข้าใจเอาตามที่ใช้กันอยู่ แม้อย่างไรก็ดี สิ่งที่รองคั่นกะไดนั้นมีแน่ ประเทศที่หาหินได้ง่ายเขาก็ทำด้วยหิน ประเทศที่หาหินได้ยากเขาก็ก่อด้วยอิฐ รูปนั้นก็ยักย้ายไปต่าง ๆ ทีหลังดูเปนให้เข้ากับกะได แต่ก่อนขึ้นไปจึ่งทำเปนรูปพระจันทร์ครึ่งซีก

นึกถึงส่วนกะได ทางฝรั่งเอา ๖๐ ซม. ตั้ง แล้วหักเอาส่วนขั้นกว้างออก แต่ห้ามไม่ให้แคบกว่าท้าวคน. (คือ ๒๕ ซม.) เหลือนั้นเอา ๒ หานเปนส่วนตั้ง ได้เคยจะเอาส่วนนี้ทำกะไดพระเมรุพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทีหนึ่งแล้ว แต่เอาไม่ได้เพราะเปนส่วนที่ยื่นออกไปมากกว่าสูง เอาไม่ได้ด้วยที่ไม่พอ กับทั้งดูก็เห็นพิลึกด้วย ต้องทำเอาตามชอบไจ เข้าใจว่าส่วนที่ว่านี้ฝรั่งจะคิดขึ้นทีหลังเพื่อให้ขึ้นลงสบาย เมื่อเทียบกับกะไดของไทยเราก็ไม่มีส่วนจะเทียบ แต่เปนแน่ว่ากะไดอย่างไทย ถ้าบากในฐานก็จะเกินฐานออกมาไม่ได้ สังเกตเหนกะไดประสาทหินในเมืองเขมรแห่งหนึ่งนั้นถึงดี คั่นกว้างสักนิ้วหนึ่งเท่านั้น คนขึ้นไม่ได้นอกจากตุ๊กแก ที่เปนดั่งนั้นก็เพราะปราสาทนั้นฐานสงมากกับทั้งตากน้อยด้วย ในการที่จะทำกะไดไม่ให้พ้นฐานออกมาก็จะต้องเปนเช่นนั้น เพราะจะทำกะไดให้ยื่นออกมานอกฐาน จะดูเสียทรงไป เว้นแต่จะแก้ไขให้เห็นสมควร

ภาษาอังกฤษนั้นอย่าพูดถึงเลย เปนอ่านยากที่สุด เพราะเขียนอย่างหนึ่งอ่านอย่างหนึ่ง ฉันจึ่งบอกว่าถ้าไม่ได้ยินเขาอ่านแล้วไม่กล้าอ่าน

คำที่ท่านเรียกว่า เอาเข้าความ หรืออะไรเทือกนั้น ฉันก็เคยได้ยินมาก่อนแล้ว มีเลาความอย่างนั้น แต่จดให้ไม่ได้เพราะเขาใช้คำหยาบ

ขอบใจท่านที่จดคำมลายูอย่างซึม ๆ ไปให้ทราบ มีลางคำก็เข้าใจผิดไป เปนต้นว่า ตันหยง ก็เข้าใจว่าเปนต้นพิกุล แต่ในคำแปลว่าแหลมเข้าความดีกว่าที่รู้มาว่าต้นพิกุลมาก คำที่รู้มาเคลื่อนไปมี เช่น กุนง เปน กุหนุง และ บุกิต เปน ภูเก็จ ปเลา เปน ปุเลา ปุลู ปุโล ไป หากจะเปนด้วยไม่เคยเหนตัวหนังสือ หรือพวกมลายูจะพูดเพี้ยนกันไปก็ได้ คำ นครี เทสะ อะไรเหล่านั้น ก็ไม่ประหลาด เพราะมลายูเขาก็ใช้ภาษามคธสังสกฤตปนในภาษาของเขาอย่างเรานี้เอง ประหลาดแต่คำซึ่งไปเหมือนกับเขมร เช่น กัมปง เปนต้น ไม่ใช่มีเหมือนแต่คำเดียว

คำ สลาตัน นั้นฉันเคยเปนความ ทางมลายูเขาหมายถึงแต่ว่าเปนทิศใต้เท่านั้น ไฉนเราจึ่งถือเอาคำนั้นว่าเปนพยุร้าย ทั้งนั้นก็ทีจะมาแต่พูดถึงลมใต้เท่านั้นเอง คำ พยุ กับ พายุ นั้นเปนคนละคำ ถูกของท่าน ใต้ฝุ่น ไตฟูน ตลอดถึง ตูฟาน นั่นเปนลมพยุแน่ และเปนคำเดียวกันด้วย

ขอบใจท่านที่บอกคำ ตนาวศรี ให้ทราบว่ามลายูเขาเรียกว่า ตานะศรี อันฉันไม่ได้ทราบมาก่อนเลย เสียงทางเราใกล้กว่าทางอังกฤษเสียอีก

เรื่องหนังสือป้าย ฉันบอกแก่ท่านยังไม่หมด ใช้คำยาว ฉันเหนใช้ไม่ได้ เพราะยานที่เราขี่เดี๋ยวนี้เร็ว อ่านไม่ทันหมด ก็ผ่านไปเสียแล้ว

ผ้าบังหลังของญี่ปุ่น ซึ่งท่านอธิบายบอกนั้น เปนอนุญาต ไม่เปนยูนิฟอม เมื่อเร็ว ๆ นี้ฉันได้ไปเหนผ้านั้นเข้าอย่างใกล้ๆ เปนผ้าสามแถบบังหลังและบังข้างด้วย ที่เปนดังนั้นก็ใกล้หมวกทรงประพาสเข้าไปอีกมาก

ที่ฉันเรียกหมวกอ่อนของเขาว่าหมวกหนีบนั้นก็เรียกโดยปริยาย ที่จริงมีทรงสูง คล้ายหมวกทรงประพาสเข้าไปมาก คำที่เราเรียกว่าหมวกแก๊บนั้น ในความหมายจะต้องมีกระบังยื่นออกไปข้างหน้า แล้วทีจะต้องแขงด้วย ไม่เช่นนั้นก็ทีจะไม่เปนหมวกแก๊บ

คำของเราที่ความตรงกันข้ามแต่เสียงคล้ายกันมีอยู่ เช่น ไกล ใกล้ เปนต้น ถ้าเขียนเปนหนังสือก็เหนผิดกัน แต่ถ้าฟังสำเนียงแล้ว ก็อาจจะเข้าใจผิดไปได้ จะป่วยกล่าวไปไย แม้แต่ห่างกันไปหน่อย เช่น ปิด กับ เปิด ก็เล่นเอาถึงตายทีเดียว ตามที่ว่านี้หมายถึงเครื่องบินที่ใบพัดฟันเอาตายเพราะฟังผิด ปิด เปน เปิด จนทูลกระหม่อมชายต้องทรงเปลี่ยนคำ เปิด ในการเปลี่ยนคำนั้นไม่ยากอะไร เพราะคำใช้ของเรามีถมไป

ลางคนเข้าใจว่าคำสกดนั้นหมายถึงการใช้ตัว แต่ฉันคิดว่าเข้าใจผิด คำสกดนั้น ฉันเข้าใจว่าตัวที่ทำให้เกิดสังโยค ถ้าเปนภาษาบาลีอย่างใหม่ก็คือตัวที่มีจุดอยู่ข้างล่าง

ที่ท่านว่าหนังสือธิเบตมีตัวเล็กเขียนไว้กับตัวโตแต่ไม่อ่านนั้น ฉันยังไม่เคยพบ ได้พบแต่ทางญี่ปุ่นเพราะเขาใช้หนังสือจีน หนังสือจีนนั้นแหละ ฉันหมายถึงว่าตัวใหญ่ เขาผูกขึ้นตามคำ แต่ส่วนตัวเล็กนั้นเขาผูกขึ้นตามสระ ถ้าหนังสือใหญ่อ่านไม่ได้ก็ใช้หนังสือเล็ก มีคำต่างประเทศเปนต้น

คำ เยา ฉันเข้าใจว่าเปนคำไทย ที่เขียน เยาว์ นั้นแปลว่าลากเอาเข้าภาษามคธ เปน ยุว เปนแก่วัดไปมาก

ท่านบอกคำ ราม ว่ามาแต่ งาม นั้นดีมาก เพราะฉันอยากรู้อยู่แล้วว่า ราม แปลว่ากะไร ที่แปลง ง เปน ฮ นั้นรู้ เช่นพระยาวิเชียรคิรี (ชม ลุงเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ) เรียก เงิน ว่า เฮิน เรียก เจ๊ก ว่า แจก จนได้ชื่อเปนฉายาว่า ตาแจก ที่จริงควรจะรู้คำที่เขาร้อง ฮั่ง ว่าเปน งั่ง โดยเทียบกับคำพระยาวิเชียรคิรีพูด เงิน ว่า เฮิน แต่ที่ถามก็ดูไม่เขลาเกินไป เพราะเราไม่รู้ความหมายของเขา ที่เขาร้องว่า พี่จะให้แหวนฮั่ง นั้น ไปเข้ารูปที่เด็กเราร้องว่า ขอแหวนทองแดง ผูกมือน้องข้า เขาไม่ได้พูดถึงเทวรูป หากแต่เราเข้าใจเอาเอง แต่ที่เปลี่ยน ฮ เปน ร นั้น ฉันไม่ทราบ

พระลัดเวียน ฉันเข้าใจว่าคงอยู่ที่หอนาฬิกานั่นเอง แต่ฟังท่านบอกดูเปนว่าได้ย้ายไปแล้ว จึ่งอยากทราบว่าเดี๋ยวนี้ไปอยู่ที่ไหน

เรื่องกาลีฆาตนั้นฉันไม่รู้อิโหน่อิเหน่ อะไรไม่พอที่จะเดาได้แต่เรื่องอู่ทองหนีห่านั้นเปนเรื่องทางเมืองเรา พอจะเดาเล่นได้ ที่ว่าหนีลงในหีบมาเจ็ดชั้นนั้นฉันเหนหายใจไม่ออก แล้วทำไมจึ่งเชือนลงไปทางทเล ฉันเหนตามท่านว่าเปนการยัดเข้าคำที่มีอยู่นั้นเปนถูกแล้ว นึกถึงคำ ห่า ก็เปนมาตราวัดน้ำฝน ไม่น่าจะเปนผีเปนโรคไปได้ หรือเปนคนละคำ เรื่อง อู่ทองหนีห่า ฉันเกือบไม่รู้อะไรเลย ถ้าท่านรู้อะไรบ้างบอกให้ฉันทราบ จะขอบใจท่านเปนอันมาก

เรื่องเขียนตัว h ในภาษาอังกฤษนั้น พิจารณาเหนทำไปเปนสองทาง ๑ เขียนด้วยเขาเหนออกเสียงผิดไปมาก (มีวรรณยุตประกอบเปนต้น) ทางหนึ่ง กับ ๒ เขียนให้เหนผิดกับอื่นหรือหลบหลีกอีกทางหนึ่ง ที่ว่าถึงแต่ภาษาอังกฤษนั้น ก็เพราะค่อยรู้ภาษาของเขามากหน่อย ภาษาอื่นไม่พูดถึงก็เพราะรู้น้อย

อนึ่ง ได้ทราบความจากองค์ธานี ว่ากรมพระกำแพงเพชรตรัสบอกว่าเมือง Ipoh นั้นพวกมลายูเขาเรียกกันว่า อี้ป๊อ เปนธรรมดาที่ถิ่นหนึ่งก็ย่อมออกเสียงต่างกันไป แต่ก็พออาศรัยเอาเปนเลาได้

คำ จอน ซึ่งท่านพบและบอกให้ทราบนั้น ฉันออกดีใจ เพราะคำนั้นฉันก็ใฝ่ใจอยู่แล้วว่าอะไร ได้เคยพิจารณารูปภาพเก่า ๆ เหนว่ากนกตัวบนจะเปนดอกไม้ทัด ทีหลังหูจะเปนสายอุบะ กนกล่างจะเปนดอกไม้ปลายอุบะ เพราะรูปภาพโบราณเขาเขียนนอนๆ ไม่ตั้งอย่างจอนเราทุกวันนี้ แต่สมเด็จกรมพระยาดำรง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จไปเมืองทางอีศาน ได้ทรงเอาตุ้มหูของหญิงชาวเมืองนั้นมาประทานเปนของฝาก เรียกว่า กะจอน ทำด้วยเงิน ข้างต้นเปนขอ ว่าสำหรับเกี่ยวกับหู ข้างปลายแยกเปนสามกิ่ง กิ่งกลางมีตุ้มอย่างที่เขาเขียนตุ้มหูรูปภาพติดอยู่ ทำให้ฉันเข้าใจว่า กะจอน คือตุ้มหู คำว่า กุณฑล นั้น เปนภาษามคธสังสกฤตไป ไม่ใช่ภาษาไทย แต่เข้าใจไม่ได้ ด้วย กะจอนนั้นใหญ่โตทั้งมีน้ำหนักมาก จะเกี่ยวกับหูคนอย่างไรได้ เหนหูขาด ตามที่ท่านบอกก็ไม่กระจัดชัดความว่า จอน เนื่องกับหู ออกจะเสียใจว่าที่รู้เปนคว้าน้ำเหลว ทั้งไม่สิ้นสงสัย กรรเจียก เปน ภาษาอะไร แปลว่ากะไร ทำไมมาเกี่ยวกับ จอน จอน ทำไมมาเกี่ยวกับหู

หน้าต่าง ท่านบอกคำไทยว่า เขาเรียก บ่องเอี้ยม และ ฮูลางเต๊น นั้นดีมาก ที่มลายูเปน ทิยัน ท่านจะสอบทางอินเดียนั้นไม่คัดค้าน แม้มิได้รู้ก็จะเปนไรไป บุราณก็ย่อมว่า รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม แต่คำ ทิยัน นั้นดูไม่มาข้างไทย แม้คำที่เราเรียกว่า หน้าต่าง ก็มีคนพยายามที่จะแปลว่าพบหน้าต่าง ๆ

การกั้นม่านนั้นเปนแน่ โรงเรือนแต่ก่อนใช้กันกันด้วยม่านแทนฝาทั้งนั้น ทีหลังก็เปลี่ยนไปตามต้องการ

คำว่า สามเพง ซึ่งหมายถึงว่าหญิงคนชั่วนั้น กลัวจะมาทีหลัง อย่างคำว่า บ่า สามเพง สงสัยว่าจะมีชื่อมาก่อนแล้ว จะเปนภาษาอะไรก็ตามที กับที่เอาคำ นครโสเภณี หรือ ภิณี มาปรับกับหญิงคนชั่วทุกวันนี้ เหนลงกันไม่ได้ ผิดกันเปนไหน ๆ หญิงคนชั่วทุกวันนี้จะเรียกว่า หญิงคนชั่ว หรือ หญิงหาเงิน นั้น ควรอยู่

คำ ญี่ หรือ ยี่ และ สาม ในภาษาเรามีใช้มากกว่านัมเบออื่นมาก แต่ก็แปลไม่ค่อยออกเช่นท่านว่า

ดัง ว่าจมูก ฉันไม่เคยได้ยิน ได้ยินแต่คำเราพูดว่า ดั้งตะหมูก หมายถึงสันจมูก ก็คือจมูกนั่นเอง

คำ เขน เขล ฉันเอียงมาข้างท่าน ชอบ เขน แต่ก็ไม่มีอะไร เคยเขียนมาอย่างนั้นเท่านั้น

ชื่อเมือง โปรม คำ บรูน นั้นไม่เคยรู และก็ไกลจาก โปรม มาก เปร-มโย นั้นใกล้กับคำที่ฉันบอกท่านมาก ดูเปนภาษากว่า เข้าใจว่าถูก แต่ที่จริงก็หลับตาตัดสินทั้งนั้น

ท่านพูดถึงคำ เคราะห์ ทำให้จับใจมาก ในพระบรมนามาภิไธยเขียนเปน เคราหนี ไม่มีประหลัง จนคนไม่รู้อ่านว่า เคราหนี (หนวดขาตะไกรกับลี้)

การเขียนหนังสือ ถึงแม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๗ จะได้มีพระราชดำรัสให้เขียนตามพจนานุกรมของกระทรวงธรรมการ ก็มีจำกัดแต่หนังสือในราชการเท่านั้น แม้ไม่ใช่หนังสือราชการแล้ว ท่านจะเขียนอย่างไรก็ได้ ในการทำพจนานุกรมใหม่แก้เก่า ถึงหากจะเกี่ยวในราชการก็จริง แต่ฉันเหนว่าทำได้ ไม่เปนการเกี่ยวด้วยจดหมายคือหนังสือมีไปมา ส่วนข้อที่ท่านปรารภว่าจะปรึกษาคำแก่พวกผู้ชำนาญภาษาบาลีสังสกฤตขัดข้องนั้น ฉันเหนด้วย ถ้าจะปรึกษาเขา เขาก็คงลากเอาเข้าภาษาบาลีสังสกฤตเปนแน่นอน

หนังสือลงวันที่ ๖ เมษายนก็ได้รับแล้ว

ในการที่จะอ่านอย่างไร ก็ต้องตามเสียงของคนภาษานั้น ไม่ใช่เขียนอ่านเอาตามชอบใจ ที่ฉันบอกแก่ท่านว่า ทางวิลันดาเขาอ่านอย่างไร ก็เพื่อจะไม่ให้ท่านอ่านหลงไปเท่านั้น

คำ ชวา จะถูก หรือ ยาวา จะถูกนั้นฉันไม่ทราบ แต่ทางอีศานเมืองชวา ทั้งแถมหลวงพระบางด้วย ฉันเหนเปนรับพร่าอาทานอย่างชื่อเมืองเก่าๆ มาทั้งนั้น เมืองหลวงพระบางร้างแล้ว ทางนครสวรรค์ก็มีมาก่อน เมืองชวา ก็มีมาก่อน

คัมภีร์ธรรมศาสตร์ที่ฝรั่งเขาแต่งนั้นเขาพูดถูก พม่าต้องคัดไปจากมอญ เพราะมอญเขาศรีวิลัยก่อน และมอญต้องตอนมาจากอินเดียถูกแล้ว

ให้นึกสงสัยในคำ ทวารวดี หรือ ทวาราวดี ว่าทำไมจึงเอามาเรียกเปนชื่อชนิดพระพุทธรูป แต่หากเหนได้อยู่ว่าตอนมาจากฝรั่ง แม้ถ้าแปลโดยตรงก็ว่าประตูรั้ว หรือลางทีจะเปนนางเฝ้าประตูคนหนึ่งก็ได้ แต่ไม่พบ แล้วทำไมเรามาเข้าใจกันว่า เปนเมืองที่มีน้ำล้อมรอบ จนเปน กรุงทวารวดีศรีอยุธยา คำ ทวารวดี เข้าใจว่าเติมเข้าเมื่อขุดขื่อหน้าแล้ว

การแจกหนังสือในงานต่างๆ นั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงทรงริขึ้นก่อนแล้วก็เปนธรรมเนียมมาจนทุกวันนี้ น่าปลื้มใจอยู่ นึกว่าที่ทรงริก็เพื่อจะตีพิมพ์หนังสือในหอพระสมุด แต่สังเกตว่างานเดี๋ยวนี้ ตีพิมพ์หนังสือในหอสมุดน้อย ตามที่ท่านคิดจะให้เขาตีพิมพ์กฎหมายต่าง ๆ ทางพายัพ ก็เปนความพึงใจของท่านเช่นนั้น แต่ก็เปนใหญ่อยู่ที่เจ้างาน ถ้าเขาไม่พึงใจก็ไม่ได้ตีพิมพ์

คำ ย่าย ซึ่งท่านพบนั้น นึกตัวอย่างก็ได้ ย่ายย่ายคชไต่เต้า ตามทาง คำนั้นเปน ย้าย แน่ คำนี้ทำให้นึกถึงสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ ตรัสเรียกนายจร (ทีหลังเปนพระยานครนายกหรืออะไรไม่แน่) ว่า หมื่นย่าย เวลานั้นเปนมหาตเล็ก ตามสมเด็จกรมพระยาดำรงอยู่ ทรงคัดเอาตำแหน่งในกระทรวงมหาดไทยซึ่งฟังขันมาใช้

ขอแสดงความเสียใจ ที่พราหมณ์สัตยานันทบุรีตายเสียแล้ว ทีแรกทราบแต่ว่าตาย ไม่ทราบเหตุผล ทีหลังจึงได้ทราบว่าตกเครื่องบินตาย

ทูตนั้นเข้าใจว่าแต่ก่อนแต่งเปนพิเศษชั่วครั้งคราว แล้วทำไมจึ่งมีประจำ เกิดขึ้นครั้งไร หวังว่าท่านจะค้นบอกให้ทราบได้ เข้าใจว่าเปนธรรมเนียมซึ่งเกิดขึ้นไม่นานนัก แต่ก่อนนี้เมื่อไม่ต้องการทูตประจำแล้ว ก็ให้หนังสือเดินทาง แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเปนกักเอาตัวไว้แลกกัน

เมื่อเร็ว ๆ นี้อ่านหนังสือพิมพ์ เขาลงเรื่องโรงทำยาว่า ทำยาอะไรได้บ้าง ในนั้นมีชื่อยาคินิน แต่มีหนังสือต่อในวงเล็บว่า ควินนิน ดูเปนจะชักให้ถูก แต่สงสัยว่าคำอังกฤษจะมีตัวคิวเปล่า ๆ อยู่หรือไม่ และถ้ากล้ำกับตัวยูจะพาให้เปนตัวควบ คว ขึ้นหรือไม่ แต่ที่เขียนสกดสองตัวนั้นได้สังเกต ถ้าหนังสือฝรั่งเปนสกดตัวเดียว แล้วหนังสือไทยก็ต้องเปนสองตัว แต่ถ้าหนังสือฝรั่งเปนสองตัว หนังสือไทยก็ต้องชักออกเสียตัวหนึ่ง เอาแต่ตัวเดียว อันนี้ก็เปนแฟแช่นเท่านั้นเอง ไม่ใช่ความถูก

หนังสือของเราเอาอย่างหนังสืออังกฤษทุกอย่างไม่ได้กระดิก แต่ควรพิจารณาว่าอะไรควรเอาอย่างจึงเอา จะเล่านิทานให้ท่านฟัง พระวิเชียรกระวี (ท่านเจ้าภู่) ท่านชำระพระไตรปิฎกลงฟุลสตอปโตเท่าเม็ดพริกไทย ในนั้นถมหมึก ที่เปนดังนั้นก็เพราะท่านไม่เคยเหนว่า ฟุลสตอปฝรั่งเขาเขียนอย่างไร แท้จริงฟุลสตอปของเราก็มี ที่ชาววัดเรียกกันว่า หัวตะปู คือ ฯ ฉันก็เคยเรียกลางสิ่งให้น่าเกลียด เช่น ? เรียกว่า ตะหวัก ! เรียกว่า สากะเบือ โดยประสงค์จะไม่ให้ใช้ แต่ก็เอาไว้ไม่อยู่

เขาว่า แต่งงาน เปนคำจีนว่า นกหงึน ท่านช่วยสืบให้ด้วยว่าจริงหรือไม่จริง ถ้าจริงแล้ว คำ นกหงึน แปลว่ากะไร คำ หงึน นั้นดูเปนเงิน

ดีใจที่ได้ทราบว่ากรมเทศบาลพระนครเขาคิดจะเปลี่ยนป้ายชื่อถนนสุริยวงศ์ เปนถนนสุรวงษ์ ให้ถูกตามความเปนจริง เพราะเขารู้

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ