๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ยส

กรุงเทพ ฯ

๑๖ กรกดาคม ๒๔๘๕

ขอประทานกราบทูล ซงซาบไต้ฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๖ และวันที่ ๒๙ มิถุนายน รวม ๒ ฉะบับ ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลตอบมาล่าช้าเกินสมควน เป็นเพราะข้าพระพุทธเจ้าติดราชการด่วนประดังกันเข้ามา ทั้งนี้ขอพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง พระอาาไม่พ้นเกล้า ฯ

เรื่องตัดคำไห้สั้นเข้า เช่น โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสรีสุริยวงส์ ตัดเป็น โรงเรียนบ้านสมเด็จ ดังตัวหย่างที่ประทานมา คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะเป็นด้วยกันทุกภาสา เพราะตามธรรมดามีว่า ถ้าทางใดง่ายกว่าหรือสะดวกกว่า คือมีสิ่งต้านทานน้อยที่สุด มนุสมักเลือกแต่ทางนั้น คำพูดที่ยาวไปถ้าสามารถจะตัดออกเสียได้ และผู้ฟังก็เข้าไจคำพูดเหล่านั้น ก็มักตัดไห้สั้นเข้า แล้วคำที่ตัดนั้น เมื่อนิยมไช้กันก็เกิดเป็นคำขึ้น เช่น อักโขภินี ตัดลงเป็น อักโข แล้วยัง ไม่พอไจ ตัดลงไปอีก เหลือแต่ โข คำเดียวก็มี เช่น มีออกโข พอเห็นได้ว่าแก้ อักโข เป็น ออกโข พอถึงคำเช่นมี มากโข รูปเดิมก็หายหมด เป็นหย่างเดียวกับ brandewyn เป็นคำภาสาฮอลันดา ตรงกับภาสาอังกริตว่า burntwine ไนภาสาอังกริดตัดเป็น brandy ตกมาถึงไทยย่อลงไปอีกเป็น เหล้าบรั่น คำ Mea domina ไนภาสาลาตินตรงกับคำ my lady ไนภาสาอังกริดตัดลงเป็น Madame-Maam หรือ แหม่ม แล้วไนที่สุดเป็นเสียง อึ้ม อยู่ในคอ เช่น Yes maam ก็เป็น yes’m คำตัดเช่นนี้ไนภาสาอังกริตก็มีอยู่หลายคำ เช่น Navigation เป็น Navy Zoological Garden เป็น Zoo Automobile เป็น Auto Motorcar เป็น Car คำว่า รับประทาน หดลงมาเป็น รับ แล้ว ไนบัดนี้เป็นทานเฉยๆก็มีพูดกันหนาหู ยิ่งเป็นคำมาจากต่างประเทศมักถูกตัดมาก เพราะคำเหล่านั้นไม่เหมาะกับเป็นคำไทย ด้วยมีมากพยางค์ คำเช่น กิโลเมตรหรือกิโลแกรม ก็เหลือแต่ กิโล ยูนิฟอม เหลือเป็น ฟอม นำเบอ เหลือเป็นเบอ ชื่อแขกอิสลาม เช่นคนชื่อ นายหลอ มาจาก Abdulla นางหยามาจาก Cadiya นายมาน มาจาก Osman นายหมัด นายหมุด มาจาก Mahamad Mahamud นายซัน มาจาก Hassan เหล่านี้เป็นต้น คำตัดไนภาสาไทยที่ไช้เป็นภาสาแล้วก็มี จอมไตร หอไตร ปรางค์ปรา อาชา ไกรสร ไอยรา ชันสา ชลีกร เข้าที่สวรรยา เอกอุ ธุ เป็นต้น คำเช่น นุชิต นิจจา นุเคราะห์ ภิรมย์ เสียง อะ พยางค์หน้าหายไป เป็นเพราะการเน้นเสียงมาหยู่ที่เสียง นุ นิจ ภิ กระทำไห้เสียง อะ เบาไป ไนที่สุดก็หลุดหายไปทีเดียว ลักสนะอย่างนี้ไนตำรานิรุติสาตรเรียกว่า Aphesis คือเสียงที่ไม่เน้นไนพยางค์แรกหายไป คำ ภิรมย์ ถ้าออกเสียงไห้เต็มเป็น อภิรมย์ ก็กลายเป็นผิด คือไม่ภิรมย์ไป คำว่า อนิจจา ทางชวาไช้เป็น นิจจา เหมือนกับไทย ไนภาสาอังกริดก็มี เช่น Esquire เป็น Squire, Apprentice เป็น Prentice ข้าพระพุทธเจ้าเคยผูกประโยคขึ้นเล่น เช่น เรือเดีนทเล-เรือทเล-เรือเล (หย่างชาวปากไต้ออกเสียงตัด) และไนที่สุดพูดไห้เรว เรือเล อาดหดลงไปอีกเป็น ร เล ก็เป็นได้ ถ้าหดเสียงถึงขั้นนี้ ก็สาวหาที่มาของคำไม่ได้

คำ ปักษ์ไต้ ซงเห็นว่า คำเดิมควนจะเป็น ปากไต้ เพราะด้วยเหตุผลหลายประการนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องไนกะแสพระดำหริทุกประการ คำที่ถูกลากเข้าวัด คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า คงมีอยู่เปนอันมาก จนไม่สามาถจะรู้ถึงคำเดิมได้ ก็คงมีมากต่อมาก แต่บัดนี้ตัดทอนตัวพยัชนะไนภาสาไทยลงหลายตัว คำวัดถูกลากเข้าบ้านก็มีมาก เปนเรื่องกลับกันคนละที ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าไม่เปนไร เพราะภาสานั้นไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เป็นของมนุสส้างขึ้น จึงต้องมีเปลี่ยนแปลง หรือเกิดแก่เจ็บตายไปอย่างเจ้าของผู้ส้าง เกิดได้แก่คำที่คิดขึ้นใหม่ หรือได้มาใหม่ ตามความจเรินและความจำเปน คำเกิดใหม่ก็เหมือนคนผู้เปนเจ้าของ ลางคำเกิดมาไม่กี่วันก็ตายไป คือไม่มีผู้นิยมใช้ ลางคำมีชีวิตยืนยาวได้นาน จนแก่ชรา ได้แก่คำโบรานที่เลิกใช้แล้ว ไนที่สุดก็ต้องตายไป ได้แก่คำที่สูไปแล้ว ที่คำจะอยู่โดยไม่มีเกิดแก่เจ็บตายเปนไม่มี นอกจากจะเรวหรือช้าเท่านั้น ลางคำกลายเสียงกลายความหมายไปก็เหมือนคนที่เติบโตขึ้น ร่างกายและความคิดก็เปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น ลางคำก็ขยายตัวสืบลูกหลานของคำออกไปมากมาย คำที่ได้มาจากภาสาอื่น มีเสียงไม่เหมาะกับภาสาไทยก็ต้องแก้รูปเสียง และรูปความหมายไห้เหมาะกับเปนคำไทย เกิดเปนคำไทยเพิ่มขึ้นมาก เหมือนดังได้เด็กชาวต่างประเทสมาเลี้ยงไว้ ก็ต้องอบรมเลี้ยงเด็กนั้น โดยแต่งตัวเด็กต่างประเทสให้เปนคนไทยเสียก่อน จึงจะนับว่าเปนไทยได้ ส่วนเชื้อชาติเดิม จะสืบมาอย่างไรไม่สำคั ขออย่างเดียวแต่อย่าลากคำที่อบรมเปนคำไทยแล้วไห้กลับไปเปนคำต่างประเทส ตามที่กราบทูลมานี้ กราบทูลตามหลักไนนิรุติสาตร ที่เขาไห้ไว้

ข้าพระพุทธเจ้าลองเก็บคำบาลีที่แต่งตัวเปนไทยแล้ว ก็ได้หลายคำ เช่น ต้นกะทุ่ม-กตุมพ์ ตุ่ม-ตุมพ์ บูด-ปูตํ ลบ-โลป ขัดตะหมาด-สมาธิ หยาบโลน โลเล-โลล หรือ โลโล อุ่น-อุนห์ นัดยา-นัตถุ นิจสิน-นิจจสีล เสลด-เสลสม (สันสกริต ส่วนบาลีเปน เสมห คำเดียวกันเปนชะนิดกลับเสียงกัน คือ SLESHMASEMHA          เสียง ล กล้ำกับ ส ไนบาลีว่าไม่ได้ ต้องลง อิ เปนสวรภักดิ์ คำ ชิวหา ไนบาลีเปน ชิหว ก็เปน JIHVAJIVHA        พระยาอุปกิตเคยสันนิถาน คำ อเนจอนาต ว่ามาจาก อนิจฺจํอนตฺตา ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่าถูก)

ที่ซงพระเมตตา ตรัดถึงเรื่องพระราชลัจกรประทุมอุนาโลม ว่าที่ทำเปนรูปดอกบัวก็คือรัสมี (RASMIRAṆSI)        ของอุนาโลมนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้สติ ถ้าไม่ตรัดแนะขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่เฉลียวใจ

ที่ตรัดถึงคำ จรเข้ จเข้ และ ตเข้ โดยเอาคำ จรมูก จมูก และ ตมูก เข้าปรับเทียบ ดีเปนที่สุด ทำไห้เห็นวิธีแปลงเสียงของคำเพื่อแยกความหมายได้เป็นหย่างดี และอาจไช้เปนหลักสำหรับขยายคำไทยได้ด้วยวิธีนี้

ข้าพระพุทธเจ้าหมดปัาที่จะตีความถึงคำว่า สี่นอหาม สามนอแห่ นอหนึ่งนั่งแคร่ สองนอตามหลัง ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยได้ยินมาแต่ก่อน ได้สอบถามผู้รู้หลายคนก็ไม่ซาบ ลางท่านซาบก็บอกได้เพียงได้ยินพูดกัน แต่จะหมายความว่าอะไรไม่ซาบ ลางท่านว่าเคยเห็นนาย ก.ส.ร. กุหลาบอธิบายไว้ไปไนทำนองอย่างต้นเหตุของคนเผาสพว่าเป็นภพ ๔ และอะไรเช่นนั้น แต่คงเปนอธิบายหย่างเหลว ข้าพระพุทธเจ้าจึงไม่เอาไจไส่ไนคำอธิบายนี้ แต่ยังไม่ละความเพียรที่จะสืบถามต่อไป

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับภาระเป็นประธานอนุกัมการ จัดทำตำราไวยากรน์ภาสาไทยใหม่ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ถ้าต้องการไห้เด็กรู้จัก งัว ว่ามีรูปร่างหย่างไร อะไรไม่ดีเท่ากับพาเด็กไปไห้เห็นงัวตัวจริง ดีกว่าจะเพียรอธิบายถึงลักสนะงัวไห้เด็กฟัง การอธิบายถึงการไช้ภาสาไห้ถูกต้อง อะไรไม่ดีเท่ากับไห้ประโยคที่เห็นตัวอย่างใช้กันจริงๆ ดีกว่าจะพยายามอธิบายถึงลักสนะคำเหมือนอย่างไนตำราไวยากรน์ฝรั่งหรือบาลี ข้าพระพุทธเจ้าลองเขียนเค้าโครงขึ้นดู โดยอธิบายถึงลักสนะหน้าที่ของคำแต่ย่อๆ พอไห้เห็นเค้าของคำก่อนแล้วก็จะจับอธิบายถึงรูปประโยคทีเดียวเป็นตัวแท้ของตำรา แต่การทำคราวนี้ ทำโดยรีบเร่ง เพราะทางราชการต้องการเรว ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีเวลาตรึกตรองได้พอ อาดมีบกพร่องอยู่มาก แต่ก็เต็มไจทำเพราะอาดเป็นประโยชน์แก่การเรียนขึ้นบ้าง

ควนมิควนแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า <ย. อนุมานราชธน>

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงส์เทอ เจ้าฟ้ากรมพระนริสรานุวัดติวงส์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ