๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ยส

กรุงเทพ ฯ

วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๗ และวันที่ ๑๙ ธันวาคม รวม ๒ ฉะบับไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลมาล่าช้า ก็ตรงกับที่ทรงคาดไว้ ด้วยอยู่ห่างไกลหนังสือที่จะสอบค้นได้สะดวก แต่ข้าพระพุทธเจ้ายังหวังในพระเมตตา ปราณีที่ทรงมีแก่ข้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ

เรื่องพระชัยที่ทรงพระเมตตาประทานความรู้เพิ่มเติมแก่ข้าพระพุทธเจ้า เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูเรื่องพระพุทธรูปปางมารวิชัย ได้ความว่าพระพุทธรูปปางนี้ กรีกชาวโยนกเป็นผู้คิดทำขึ้นก่อน พระหัดถ์ขวาคว่ำลงที่พระเพลา ปลายนิ้วพระหัดถ์ชี้ลงที่แผ่นดิน ทรงอ้างพระธรณีเป็นพะยาน ที่ได้ทรงต้านทานการล่อลวงของพระยามาร ในชั้นต้น ๆ มักมีรูปมารเป็นเครื่องประกอบไว้ด้วย ภายหลังเมื่อรู้จักกันดี ก็ทำแต่องค์พระเท่านั้น ในมหายานเรียกพระปางนี้ว่า ภูมิสปรรศมุทรา แปลว่า ปางทรงชี้แผ่นดิน แต่ที่มาเรียกกันว่า มารวิชัย ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นไม่พบ

พระพุทธรูปถือตาลิปัตร หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ชี้แจงแก่ข้าพระพุทธเจ้าว่า ในพิพิธภัณฑ์สถานมีพระพุทธรูปถือตาลิปัตรในแผ่นสัมฤทธิ์อยู่แผ่นหนึ่งมีรูป ๒ หน้า ๆ หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่งเทศนาโปรดพุทธบิดาที่เมืองกบิลพัสด มีรูปพระเจ้าสุทโธทนะ พระราหุลและคนอื่นๆ อีกหน้าหนึ่งเป็นรูปเทศนาโปรดพุทธมารดาบนดาวดึงส์ มีรูปพระอินทร์ เทวดา และพุทธมารดาประกอบ พระพุทธรูปถือตาลิปัตรนี้ ได้มาจากลพบุรี เป็นฝีมือช่างไทยต่อขอม เมื่อได้มาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า พระเทศน์ถือตาลิปัตรนี้ เป็นความคิดของชาวลังกา ซึ่งทำตามคติครั้งพุทธกาล คือครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าฉันแล้วทำภัตตานุโมทนา คือเทศน์ตรงที่ฉันนั้นเอง ข้อความตามที่หลวงบริบาล ฯ ชี้แจงมานี้ ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังเอาเข้าปรับกับพระชัยถือตาลิปัตรไม่ได้ จะว่าเป็นคติมหายานก็ไม่เชิง เพราะพระศรีอารย์มหายานทางข้างจีน ทำเป็นรูปพระท้องพลุ้ย นั่งหัวเราะ ถือถุงกายสิทธิ์ และพวงลูกประคำ ส่วนตาลิปัตรไม่ปรากฏมีใช้ แม้แต่พระพุทธเจ้าต่าง ๆ ของมหายาน ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังไม่เคยเห็นใช้ตาลิปัตร ข้าพระพุทธเจ้าเชื่อหนักไปว่าจะได้คติมาจากลังกา แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานอย่างอื่น เมื่อข้าพระพุทธเจ้า ได้ทราบเกล้า ฯ ไว้ดังนี้ ต่อไปถ้าอ่านพบก็คงเกิดสะดุดใจ ถ้าไม่ทราบเกล้า ฯ มาแต่ก่อน ถึงอ่านพบก็มักผ่านไป และมักจะพบในเมื่อไม่ได้ตั้งใจว่าจะค้นเรื่องนั้น ถ้าเจาะจงค้นก็ไม่พบ

ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริ เรื่องพัดกับแส้ว่าเป็นอันเดียวกัน ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูในพจนานุกรมอังกฤษ-สํสกฤต คำว่า พัด ให้คำสํสกฤตไว้ว่า วีชน และ จามร ค้นดูในคำว่า แส้ ก็ใช้ว่า จามร แสดงว่าพัดกับแส้ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยคำ พัด ว่าจะตัดมาจากตาลปัตร เพราะ พัด ในภาษาไทยถิ่นอื่นเรียกว่า วี หรือ หมากวี ทุกแห่ง แสคงว่าพัดจะเป็นคำได้มาใหม่ จึงได้เอามาซ้อนเข้ากับคำเดิมของไทยเป็น พัดวี แต่เผอิญมีคำ ปัด ฝัด ฟัด ฟาด ซึ่งมีความหมายในกิริยาที่ใกล้กับ พัด มาก ส่วนลมพัด ไทยใหญ่ใช้ว่า ลมเป่า ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า แส้จะมาก่อนพัดเพราะคงเอาขนนกหรือขนจามรีมาผูกมัดเป็นกำก่อน ส่วนพัดจะเป็นผูกแบนขึ้นในทีหลัง อย่างจามร ซึ่งภายหลังมากลายเป็นแผ่นแบนอย่างพัดไป

ที่ทรงพระเมตตาประทาน เรื่องพระชัยนำทัพ ว่ามาแต่วอพระเจ้านั้น ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้สติ เป็นที่จับใจข้าพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง คำ ต้ำบุด หรือ รังไก่ ข้าพระพุทธเจ้าพบในหนังสือฝรั่งเขียนเป็น tabut หรือ tazia แปลว่าที่ประดิษฐานศพเจ้าเซน คำแรกคงตรงกับคำ ต้ำบุด คำหลังเสียงใกล้ไปในคำว่า ตะเกี่ย หรืออะไร ข้าพระพุทธเจ้าก็จำไม่ได้ชัด ว่าเป็นชื่อเรียกสุเหร่าพวกเจ้าเซนที่อยุธยา ยัง กะดี อีกคำหนึ่ง ในภาษาอาหรับหมายความถึงอาศน์หรือแท่น เช่น กะดีเจ้าเซน คือ แท่นของเจ้าเซน แต่มาเขียนแปลงเป็น กฎี เจ้าเซน ให้เข้ารูปกับ กุฎี ไป เรื่องเจ้าเซนเต้นต้ำบุด ในอินเดียทำรูปต้ำบุดประกวดประขันกัน เอาไม้ไผ่มาผูกเป็นโครงทำเป็นรูปหอคอย มีถึง ๔ หรือ ๕ ชั้นก็มี ทำเป็นนกยูงหน้านางแบกตึกก็มี เป็นม้ามีปีก หรือเป็นรูปเทวดาก็มี เป็นอันว่าความมุ่งหมายเดิม ซึ่งต้องการจะให้เป็นที่ประดิษฐานศพเจ้าเซนก็กลายไปจนจับเค้าเดิมไม่ได้

เรื่องคำบอกระยะใกล้ไกลออกไปโดยลำดับ เป็น นี่-นั่น-โน่น มีแปลกที่ความคิดของชาติต่าง ๆ ลงกันมากชาติ ไม่เปลี่ยนเสียงพยัญชนะ แต่เปลี่ยนเสียงสระให้มีความหมายต่างกัน เช่น ในชะวาเป็น อิกิ-นี่ อิกะ-นั่น อิกุ-โน่น ญี่ปุ่น โก-นี่ กา-นั้น ภาษาชาวมลกาซีในเกาะมาดากัสดา ทวีปแอฟริกาเป็นภาษาตระกูลเดียวกับ ชะวา มลายู อัตสิ-นี่ เอตสี-นั่น อิตสี-โน่น ภาษากานะรีส ตระกูลเดียวกับภาษาทมิฬ อิวนุ-นี่ อุวนุ-นั้น อวนุ-โน่น

คำ นี่-นี้ นั่น-นั้น โน่น-โน้น ซึ่งผิดระดับเสียงกัน แต่เป็นความเดียวกัน ทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงคำอื่นอีกหลายคำ เช่น ทัง-ทั้ง เรือง-เรื่อง งำ-ง้ำ จุ่ม-จุ้ม มวน-ม้วน-หมุน เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าเรื่องระดับเสียงของคำลางคำมากลายเมื่อภายหลัง เรื่องมีเครื่องหมายวรรณยุตกำกับเสียงในคำ พวกไทยเดิมคงเห็นไม่จำเป็นจึงไม่มีเครื่องหมายวรรณยุตใช้

ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริเรื่องเขียนคำบาลี ที่ไม่จำเป็นจะต้องเขียนรูปคำตามหลักไวยากรณ์ของเขา เพราะภาษาไทยเป็นคำโดด ใช้คำอื่นผสมแทนการลงวิภัตติปัจจัยอย่างบาลี ข้าพระพุทธเจ้าเคยดื้อเขียนคำ เช่น โจท โจทย โจทก์ เขียนเป็น โจทย์ อย่างเดียว พณิชย์ พาณิช พาณิชย์ ข้าพระพุทธเจ้าก็เขียน พาณิช อย่างเดียว เดี๋ยวนี้พระสารประเสริฐก็คล้อยมาเห็นดังที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลนี้ แต่ยังไม่ยอมเสมอไป ในเรื่องใช้เครื่องหมายวิสรรชนีย์และไม้ไต่คู้ ที่ทรงพระดำริว่า ควรจะใช้ต่อเมื่อต้องการจะออกเสียงหนักและเสียงสั้นในคำนั้น มีผู้เห็นพ้องกับกระแสพระดำรินี้มากเข้าทุกที แม้พระสารประเสริฐเองก็ออกจะคล้อยตาม เรื่องโบราณใช้ ษ เป็นตัวการันต์หลังคำ แล้วมาเปลี่ยนเป็น ศ ษ และ ส สุดแต่คำเดิมในบาลีและสํสกฤตจะเป็น ส ตัวไหน กลับเป็นเรื่องยุ่งยากที่ต้องจำว่าเป็น ส ตัวไหน สู้โบราณไม่ได้ที่ใช้ ษ ตัวเดียว เพราะในการออกเสียงเป็นไทย ก็ออกเสียงเป็น ส เหมือนกันหมด ไม่มีจำเป็นอย่างไรที่จะต้องเดินตามรูปคำในภาษาเดิม ซึ่งเขาออกเสียง ส ทั้งสามผิดกัน ข้าพระพุทธเจ้ายึดมั่นในกระแสพระดำริ ว่าคำที่เป็นชื่อบ้านเมืองไม่ควรเปลี่ยนแปลงตัวเขียน เพราะเป็นชื่อฉะเพาะแล้ว ไม่ใช่เป็นคำใช้เป็นปรกติในภาษาที่อาจเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ในที่ประชุมกรรมการจัดทำอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ถึงคำว่า เมืองหงษา ซึ่งเป็นชื่อปรากฏอยู่ในพงศาวดารและในแผนที่บ่อยๆ มีผู้ขอเสนอแก้ หงษา ให้เป็น หงสา โดยอ้างเหตุว่า หงษาวดี ก็เปลี่ยนเป็น หงสาวดี แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าที่เปลี่ยนเป็น ส แทน ษ ของเก่า เพราะไปเพ่งเล็งถึงตัวหนังสือที่ใช้เป็นคำพูด แต่ในที่นี้เป็นชื่อบ้านเมือง ซึ่งใคร ๆ ก็เคยชินต่อคำ หงษา มาแล้ว ไม่ควรเปลี่ยนเช่นเดียวกันกับ มฤท ซึ่งมาแก้ใหม่เป็น มริด เพราะผู้เปลี่ยนไม่ทราบว่า มฤท ตัดและเพี้ยนมาจากคำ รักตมฤตติกา ซึ่งแปลว่าเมืองดินแดง ในที่สุดเมือง หงษา ก็ไม่ได้ถูกแก้เป็น หงสา

ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกขบขันในคำ มานพข้างท่านแพทย์ฉันด้วยพระขรรค์ ข้าพระพุทธเจ้าอ่านทีแรกก็งง พอเข้าใจเรื่องอดขันไม่หาย เป็นอย่างเดียวกับที่ผู้หนึ่งเข้าไปร้านกับข้าว ส่งภาษาจีนเรียกกับข้าว แต่จีนเจ้าของร้านจะรำคาญในภาษาจีนที่ชายคนนั้นพูด ก็บอกให้พูดไทยเถิด อย่าพูดภาษาจีนเลย ชายผู้นั้นก็พูดว่า ท่านมีมังสะสุกรอันโอชารสบ้างหรือไม่ จีนเจ้าของร้านต้องบอกให้พูดภาษาจีนเถิด อย่าพูดภาษาไทยเลย ในสำนวนภาษาอังกฤษ ถ้าใครพูดหรือเขียนหนังสือโดยใช้คำศัพท์สูง ๆ เรียกกันว่า ภาษาบาบู บาบูใช้เรียกแขกชาวเบงคาลีที่รู้อังกฤษ ซึ่งชอบเขียนภาษาอังกฤษชะนิดใช้ศัพท์สูง ๆ จนกลายเป็นเรื่องขบขันไป ในเวลานี้คำว่า น้ำมันหมู กำลังกลายเป็น น้ำมันสุกร ใช้พูดกันแพร่หลาย เกือบจะเป็นภาษาบาบู ในภาษาไทยอยู่แล้ว

เรื่องน้ำแห้ง ข้าพระพุทธเจ้าก็เห็นขัน คำในภาษาไทย เมื่อเอาคำพูดโดด ๆ มาควบกันให้เป็นความหมายรวม ถ้าไม่นึกแยกคำแปล ก็ฟังเข้าใจกันดี ถ้าไปนึกแยกความหมาย แล้วเติมข้อความให้ถูกต้องขึ้น ก็กลายเป็นรุ่มร่ามไป เช่น ตัดเสื้อ ตัดถนน ขุดหลุม ใส่ฟัน ย้อมมะเกลือ คำที่ผสมกันเกิดมีความหมายไปในทางดี แล้วมากลายไปอีกทางหนึ่ง เพราะเอาไปใช้ซ้ำอยู่ในแง่เดียวก็มี เช่น งามหน้า ซึ่งกลายไปในทางแดกดัน เนื้อเย็น ที่หมายความว่าไม่มีโรคภัยค่อยหายไป เดี๋ยวนี้กลายเป็นหมายความถึงเนื้อแช่น้ำแข็ง ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาคำในภาษาไทยใหญ่ พบคำแปลกอยู่สองสามคำ เช่น สัตว์ป่าเรียกว่า ตัวเถื่อน คำว่า สัตว์ ถ้าเลิกใช้ก็หาคำไทยไม่ได้ ศพเรียกว่า ตัวตาย ตัวเน่า ไก่งวงเรียกว่า ไก่ช้าง นี่แสดงว่าไก่งวงเป็นสัตว์ที่ได้มาจากที่อื่นคนละทาง คำไทยเดิมไม่มีใช้ จึงต้องตั้งชื่อใหม่โดยไม่รู้เรื่องกัน คำ มั่ว และ แหน ในภาษาไทยต้องซ้อนกับ สุม และ แนะ เป็น มั่วสุม และ แนะแหน แต่ในไทยใหญ่ใช้คำลำพังก็มี เช่น กาดมั่ว-ตลาดที่มีคนแน่น แหนตาง-ชี้ทาง

คำ ระฆัง ข้าพระพุทธเจ้าจนด้วยเกล้า ฯ ค้นหาที่มาก็ไม่พบ ถ้าจะพิจารณาดูระฆังของจีน และของชนชาติในแหลมอินโดจีน ก็เป็นอย่างเดียวกัน คือใช้ไม้ตีจากด้านข้างนอกของระฆัง ผิดกับของฝรั่งซึ่งใช้ตุ้มโลหะแกว่งตีจากด้านใน ด้วยเหตุนี้ระฆังอย่างไทย ฝรั่งไม่เรียกเบล แต่เรียกว่า คองรูปเบล ในตำนานเรื่องฆ้องและระฆังที่ฝรั่งกล่าวไว้ ก็กล่าวแต่ว่าเป็นของที่มีมาแล้วแต่ดึกดำบรรพ์ จนไม่สามารถจะสืบสาวได้ว่าชาติใดเป็นต้นคิด นอกจากเดาว่าน่าจะมาจากประเทศทางตะวันออกก่อน ในประเทศจีนก็กล่าวแต่ว่ามีใช้มาแล้วหลายร้อยปี คำว่า ระฆัง และ ฆ้อง ก็น่าจะตั้งชื่อเอาตามเสียงของสิ่งนั้น ฆ้ง กับ ฆ้อง ก็มีเสียงใกล้กัน ระ ทีอยู่หน้าของ ฆัง จะเป็นคำอีกคำหนึ่งเอามาประกอบเข้ากับ ฆัง หากเสียงกร่อนไป ในภาษามลายูมีคำ ragong หมายความถึงของสองสิ่งมากระทบกัน หรือของหนักเช่นลูกตุ้มที่แกว่งไปแกว่งมา ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ถ้าระฆังมาจาก ระคอง ในภาษามลายู ก็จะต้องเข้าใจว่าระฆังของมลายู คงจะตีด้วยลูกตุ้มจากด้านในระฆัง อย่างของฝรั่ง ไทยจะยืมเอาคำนี้มาใช้เรียกชื่อระฆังของไทย ซึ่งอาจได้มาทางจีน ทางพายัพเรียกระฆังว่า เด่งหลวง เด่ง กับ กระดิ่ง ก็เป็นคำเดียวกัน ซึ่งในภาษาจีนใช้ว่า เหล่ง คำว่า เด่ง กระดิ่ง เหล่ง เหง่ง หง่าง กริ่ง ๆ และเสียง หริ่ง ๆ และคำว่า ring ในภาษาอังกฤษก็มาจากเสียงของสิ่งนั้น โลหแผ่นที่ใช้ตี พายัพเรียก ปาน หรือ พาง และเรียกโลหแผ่นรูปสามเหลี่ยมที่ใช้ตีว่า ละกัง ซึ่งคงเป็นคำเดียวกับ ระฆัง จะเป็นคำใหม่ได้มาทีหลัง ทางอีศานเรียกแผ่นโลหที่ใช้ตีว่า กังสดาน และเรียกแผ่นไม้ที่ใช้อย่างกังสดานว่า โปง แสดงว่าทางอิศานไม่รู้จักแผ่นเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ มารู้จักเมื่อภายหลัง จึงได้นำเอาคำ กังสดาน มาใช้ ในภาษาไทยใหญ่เรียกฆ้องว่า มอง เรียกระฆังว่า หิ่ง พะม่าเรียกระฆังว่า คองลอง ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เด่ง ดิ่ง และ หิ่ง จะเป็นคำเดิมเรียก ระฆัง แต่ระฆังของไทยเดิมจะมีขนาดเล็ก เมื่อมารู้จักระฆังขนาดใหญ่ ซึ่งยังสืบไม่ได้ความว่ามาจากชาติใด จึงนำเอาคำ ระคอง ของมลายูมาใช้ สวนพายัพไม่รู้จักกับมลายู ก็คงใช้คำ เด่ง ในภาษาเดิม แต่เติมคำว่า หลวง เพื่อบอกลักษณะให้ทราบว่าใหญ่ ทั้งนี้การจะควรสถานไร แล้วแต่จะทรงพระกรุณา

เรื่องโทนและทับ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะเป็นกลองคนละชนิด ในตำนานดนตรี ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ เรียกตะโพน ว่า โทน และเรียก โทน ว่า ทับ ผิดกับที่เข้าใจกันเป็นสามัญว่า ตะโพนนั้นเป็นกลองสองหน้า และโทนเป็นกลองหน้าเดียว ทางปักษ์ใต้เรียกกลองแขกว่าโทน ในสํสกฤตมีคำว่า โทล แปลไว้ว่ากลองใหญ่ ในภาษามอญมีคำ เตี๊ยะเป้น แปลว่า ตะโพน ร้องเพลงว่า เตี๊ยแย ตรงกับ ทะเย ข้าพระพุทธเจ้านึกสนุก ค้นดูคำเครื่องดนตรีในภาษามอญ ต่อไปก็พบคำ เปินมาน ว่าเป็นกลองยาวชนิดหนึ่ง ถ้าเป็นกลองธรรมดา เรียกว่า พอม รัวกลองว่า เริวพอม เรียกระฆังว่า คะนิง เสียงใกล้กับ กระดิ่ง เรียกฆ้องวงว่า มองนด และเรียกฉิ่งว่า ฉัก ในภาษามลายูมีคำ ระบานา ซึ่งคงจะตรงกับ รำมะนา และมีกลองอีกชะนิดหนึ่งเรียกว่าตะบัล ใกล้กับคำ ตะโพน ในสํสกฤตนอกจาก โฑล ยังมีคำ ปฏห ทุนทุที คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ตัตต ในสํสกฤตก็น่าจะเป็นคำเดียวกับ (กลอง) ทัด ของเรา ในภาษาฮินดูสตานีมีคำซึ่งข้าพระพุทธเจ้าจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า daf แปลว่ากลองชะนิดหนึ่ง เสียงใกล้กับทับ เมื่อได้จับเอาคำที่เป็นชื่อกลองมาเปรียบเทียบกันดู ก็เป็นอันเห็นได้ชัดว่า ภาษานำเอาเสียงของกลองที่ตีดังอย่างนั้น มาตั้งเป็นชื่อกลองทั้งนั้น หากเรียกเพี้ยนไป เพราะนำเอามาใช้เป็นคำในภาษาเสียแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะวินิจฉัยได้แน่ว่า โฑล กับ โทน ตะโพน เตี๊ยเป้น กับ ตะบัล ในมลายู จะเป็นคำเดียวกัน อาจเป็นกลองคนละชะนิดก็ได้ หากเสียงมาพ้องกัน แต่ตะโพนกับ เตี๊ยเป้นของมอญ อาจเป็นคำเดียวกันก็ได้ เพราะปี่พาทย์มอญ ก็มีกลองที่เรียกกันปากตลาดว่า เท่งทึ้ง ใกล้กับตะโพนมาก ส่วน ตะบัล ของมลายู ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่เคยพบรูป คิดด้วยเกล้าฯ ว่า โทน กับ ตะโพน จะเป็นกลองชะนิดเดียวกัน โดยถือเอาเสียงตีเป็นใหญ่ ส่วนกลองน่าเดียวที่เรียกกันเป็นสามัญว่า โทน จะเป็น ทับ เพราะเสียงดังเช่นนั้น และก็ใช้ตีบอกจังหวะ ต่อมาเมื่อเรียก ทับ เป็น โทน เรียก โทน เป็น ตะโพน เสียแล้ว ทับก็หายไป คงเหลือแต่ชื่อที่อยู่ในตำราเท่านั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ