๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๘๔

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม ได้รับแล้ว

จะบอกคำ ฉลองพระชันษา และ เฉลิมพระชันษา ว่าสองชื่อนี้เกิดขึ้นในรัชชกาลที่ ๔ เปนต้นมา เมื่อรัชชกาลที่ ๓ มีแต่ฉลองพระชันษา ทำในเวลาสงกรานต์ เพราะประสูติในเวลาสงกรานต์ เปนแต่เชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาออกตั้งด้วย คำ ฉลองพระชันษา ไม่สู้ปรากฏจนคนเกือบไม่รู้ว่ามี เดี๋ยวนี้งานฉลองพระชันษาเลิก ก่อนรัชชกาลที่ ๓ ขึ้นไปนั้นไม่ทราบ พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาก็ไม่มี เดี๋ยวนี้ก็ไม่มี คงเลิกเพราะเหตุนี้

ที่มหาฉ่ำบอกว่าทางเขมรมีคำ ฉลอง ว่าเปน สมโภชน์ นั้น กลัวเขมรจะเอาคำไทยไปใช้ เพราะเขมรมีความหมายว่า ข้าม ผิดกันไกล เฉลิม ว่า เจิม ฉลอง ว่า จอง นั้นก็เปนความคิดเดาของฉัน จะผิดถูกฉันใดก็ได้ ฉลอง กับ สนอง สำนอง เปนอันเดียวกันควรอยู่ และ เฉลิม เปน เสิม นั้นก็ควรอยู่ แต่ ฉลอง เปน สอง นึกเอาเปนจำนวนนับ คือหนึ่งสองนั้นให้สงสัย กลัวจะเปนไม่มีที่ไปก็ตีคลุมเอา ที่มหาฉ่ำค้นได้ในคำว่า สอง ได้แก่ สนอง สำนอง นั้นดีมาก

วิธีเติมหน้ากลางหลังนั้น ฉันจะพูดไปก็ขัดข้องที่ไม่รู้ภาษามาก ทั้งไม่สู้รู้ไวยากรณ์ของเขาด้วย แต่อย่างไรก็ดี ได้สังเกตว่าคำที่ยืดออกนั้นต่างความกันเสมอ เช่น ตรวจ ตำรวจ เปนต้น จะเตือนท่าน ว่าถ้าคิดเติมคำที่ตัวเดียวเปนสองตัว ว่าจะต้องเติมตัว น แล้วเปนเข้าใจผิด ที่จริงเปลี่ยนตัวไปก็ได้ เช่น รำ เปน รบำ เปนต้น นั่นเติมตัว บ ไม่ใช่ น ตัวอื่นก็มีอีกถมไป ส่วนวิธียืดเขมรจะเอาอย่างเราไป หรือเราเอาอย่างเขมรมานั้นพูดไม่ถูก เปนแต่เพียงคิดว่าเราเอาอย่างเขมรมา

จะบอกให้ท่านทราบไว้ว่า คำ ชอำ ฉันคิดว่า ฉ่ำ คำ ชอุ่ม คิดว่า ชุ่ม

ภาษาอังกฤษนั้นอ่านออกเสียงไม่อยู่ที่จริง ฉันก็ลา ถ้าไม่จำเปนแล้วก็ไม่อ่าน ด้วยกลัวผิดเพราะเรียนหนังสือของเขาเอาเอง เหมือนหนึ่งหนังสือเขมร เราอ่านพอเข้าใจของเขาได้ เพราะเขาเขียนอย่างไทย และใช้คำมคธสังสกฤตอย่างเรา ทั้งคำเขมรที่เราใช้เข้าใจอยู่แล้วก็มี ที่เปนคำเหมือนกันก็มี เหลือแต่คำที่เราไม่เข้าใจอยู่เล็กน้อยก็จะไปไหนเสีย จับเอาทางสัมพันธ์ก็พอได้ แต่ไปเที่ยวเมืองเขมรฟังเขาพูดไม่เข้าใจเลย จะให้ตัวอย่างก็เช่นหนังสือเขียนว่า นาคพัน แต่เขาพูดว่า เนียกเปี้ยน ก็เปนการเหลือรับ ถ้าจะค้นเอาภาษาอังกฤษว่าออกเสียงสับปลับแล้ว ค้นทางอเมริกันจะพบมาก ไม่ใช่เพียงแต่เขาจะติเตียนเท่านั้น คิดจะให้เขียนแก้เสียด้วย แต่ไปไม่ไหวเพราะความเคย คำว่า ติเดียน คิดว่า ติ เปนคำไทย เตียนเปนคำเขมร ตรงกับที่เขาเขียน เดียล

อึ อือ ของเราเข้าใจว่าเติมเข้าทีหลัง เพื่อนบ้านเขาไม่มีกันถมไป จะว่าแต่ทางเขมร หนังสือเขาไม่มีแน่ แต่พูด อิ เปน อี มี เช่น ทิก เปน ตึก เปนต้น แต่จะเปนทุกคำไปหรืออย่างไรไม่ทราบ เพราะได้อ่านหนังสือของเขาน้อย

เรื่องเขียน บรร ในที่ ประ กลัวจะคิดผิดแล้วบัญญัติผิด สงสัยว่าบรรจะได้แก่คำเขมรซึ่งเขียน บัง บัญ หรือ บัน เช่นพระนาม บัญจบเบญจมา เปนต้น คำ ประจบ เปนคำต่อหน้า (บุพบท) ต่างหาก ที่แท้ก็ จบ เท่านั้น คำ จบ นั่นเองก็เข้าใจกันเลอะเทอะ แท้จริงหมายความว่าต่อติดกัน คือเอามือเข้าต่อติดกัน ทำให้เข้าใจว่าเปนไหว้ แล้วเข้าใจว่าหมดเสียด้วยซ้ำ เพราะฟังธรรมหรือฟังเพลงปี่พาทย์ เมื่อสิ้นลงก็ยกมือไหว้ จึงทำให้เข้าใจว่าสิ้นธรรมหรือหมดเพลง เปนการเข้าใจเคลื่อนเสียหลายต่อดังนี้ จึงพูดว่าเลอะเทอะ คำ บัง บัน นั้นเขมรใช้มาก เขาประกอบเปนสองคำ เช่น บังเกิด หมายความว่า ทำให้เกิด จะใช้ทั่วไปหาได้ไม่ จะใช้ได้แต่เช่นว่าเถียงกัน บังเกิดโทษะ เปนต้น คำ เกิด จะว่าเขมรจำเอาคำไทยไปก็ได้ โดยหลักที่ว่าทางมอญไม่มี จะว่ามอญไปจากเขมรก็ว่าโดยประมาณเอาว่าเปนเช่นนั้น แต่ความจริงจะไม่ใช่ก็ได้ ภาษามอญก็ไม่ใช่จะเหมือนเขมรทุกคำไป คงมีเหมือนบ้างไม่เหมือนบ้าง ถ้าจะว่าเปนตระกูลเดียวกันนั้นว่าได้ คำ เดิน (สกด น) เขมรก็มี เขาเขียนหนังสือฝรั่งบอกเสียงไว้ว่า เติน แต่เขมรเขาออกเสียงมีระดับอย่างไรไม่เคยได้ยิน แต่หมายความว่าฟื้นขึ้นจากหลับ ในคำกลอนเรื่อง โนรา ก็มีว่า

เตินขึ้น ปลุกนางสนมสาวใช้
สาวศรีไปจุดไต้ สาวใช้ไปจุดชวาลา
เทียนยาม ก็ตามไปเร่ส่องหา
นางเสด็จขึ้นเฝ้า ท่านท้าวทุมพรราชาฯ

(ในที่นี้จะแสดงแต่ เติน คำเดียว หากจะให้เหนกลอนเก่าว่ารูปเขาเปนอย่างไรจึ่งเขียนมาให้ยาวมาก) เราเขียน เดิน เปน เดิร กันก็มี แต่เขมรเขาเขียน เฎิร ในพจนานุกรมเขมรเขียน ฎ ทับ ด ปนกัน ที่ทำเช่นนั้นลางทีจะเปนด้วย ด อ่านเปน ดอ ก็ได้ ตอ ก็ได้ คำ ย่าง ฉันก็พบในหนังสือเขมร แต่จะเปนคำเขมรหรือคำไทยไม่ทราบ ฉันอยากจะตัดสินว่า เดิน หรือ เดิร เปนคำเขมร แต่ไม่กล้าพูดเพราะมีคนโกรธ เปนว่าคำใดซึ่งเราใช้จะเปนภาษาอื่นไม่ได้ ถือไปทางเกียรติยศ ฉันจึ่งระวังตัว ท่านพูดฉันจึ่งพูด

รอสองตัวเรียกว่ารอหัน ฉันถามตัวเองว่าหันอะไร แล้วก็คิดได้ตอบตัวเองว่าหันอากาศ เมื่อเช่นนั้นกอสองตัวหรือนอสองตัวก็ควรจะเรียกว่า กอหัน นอหัน อะไรหมด เราจะรู้ความจริงไปไม่ได้นอกจากคิดเดา จะผิดหรือถูกก็ต้องใช้ภาษาโจษย์เลขว่า ตราไว้

ที่ท่านคิดจะแต่งว่าด้วยภาษาไทยตามแนวนิรุกติศาสตร์นั้นดี แต่ที่หมายจะให้ฉันช่วยนั้นไม่แน่ว่าฉันจะช่วยได้ แต่คงบอกอะไรให้ท่านทราบได้บ้าง เพราะว่ารู้น้อยนัก ที่ท่านว่าภาษาไทยในรุ่นหลังปนกับภาษาเขมรเกือบเปนอันเดียวกันนั้นแปลกใจอยู่ อาจเปนได้ที่เขมรเดี๋ยวนี้เอาอย่างไทย ผิดตรงกันข้ามกับแต่ก่อนนี้ไทยเอาอย่างเขมร ทั้งนั้นก็เปนด้วยครั้งไหนใครศรีวิลัยก็เอาอย่างกัน

จะว่าถึงธรรมดาคน คนเกิดมาแล้วจะต้องเล่น จะว่าเล่นเปนเครื่องบำรุงชีวิตหรือฆ่าเวลาอย่างไรก็ตามแค่จะเหน แต่การเล่นนั้นผิด ๆ กัน ท่านชอบเล่นในการแต่งหนังสือ เขาก็เอาท่านมาใส่ไว้ในการแต่งหนังสือ เพื่อจะได้เปนประโยชน์สมความปรารถนาของเขา ท่านจะต้องทำให้เขา แต่เมื่อมีเวลาเหลืออย่างใด ๆ ท่านจะแต่งหนังสือเล่นก็ได้ หรือไม่เล่นในการแต่งหนังสือ จะเล่นอย่างอื่นเสียก็ได้ ตามใจท่านทุกอย่าง ไม่ประหลาดอะไร

คำ จ๊อย ทางพายัพมีฉันก็ทราบ ทราบโดยได้ยินบทร้องว่า จ้อยแม่อา สาวกำพ้ามาแต่ไก ท่านคิดว่า สร้อยเพลงมาแต่คำ จ๊อย นั้น ฉันคิดจะกินแหนง เคยคิดมาแต่ก่อนแล้วว่าสร้อยอะไร มีคำ ดอกสร้อย เปนสิ่งที่เล่นกันเปนพื้นมาก่อนจนมีตำรา คิดว่าเดิมทีเหนจะเรียกชื่อดอกไม้ก่อน เช่นว่า ดอกจำปา สองยามแล้วหนา น้องจะลาแล้วเอย เบื้องต้นเปน ดอก เบื้องปลายเปน สร้อย แล้วก็เดินไปเปนไม่ต้องขึ้นด้วยดอกไม้ก็ได้ สร้อยเพลง ทีก็จะร้องด้วยบทดอกสร้อยนั้นเอง อันชื่อเพลงนั้นเรามีแปลกๆ เหมือนหนึ่งเรื่องเพลง ตระ แต่แรกฉันก็คิดไม่เหนทาง ครั้นท่านบอกว่าตัว ซ ก็ได้กับ ตร จึ่งนึกขึ้นได้ว่า ตระ ก็คือ ซอ นั่นเอง ทั้ง คำ เตียว ก็มีชื่อเพลง เรียกเอาเพลงนั้นแห่งเดียวฉะเพาะแต่เล่นลิงหัวค่ำ เมื่อลิงมัดลิงฤษีออก จนทำให้ฉันเข้าใจว่า เตียว แปลว่า มัด โดยเทียบกับห่อขนมก็มีที่เรียกว่า เตี่ยว ก็เปนเครื่องผูกมัดเหมือนกัน แต่ท่านว่า เดิน ฉันก็เหนได้แก่ เทียว คือเทียวไปเทียวมา ทั้งได้กับ เที่ยว คือเที่ยวไปด้วย เพราะฉะนั้นคำ เตียว กับ เตี่ยว อาจเปนคนละคำก็เปนได้

พระ ฉันก็คิดว่าตั้งใจจะผสมตัวให้เปน ฟ้า นั่นเอง เทียบเอา เจ้าพระขวัญ ซึ่งควรจะเปน เจ้าฟ้าขวัญ ที่เขียน พระยา คิดว่าหลงมาแต่พญา ที่คิดเอา วร เปน พระ กลัวจะหลงไปมาก ตัว ฟ มาแค่ไหนคิดดูก็หมดปัญญาเพราะไม่รู้ภาษาต่าง ๆ เสียมาก เมื่อเล่นแสตมป์มาแต่ก่อน เหนแสตมป์เยรมันเขียน เฟนนิก ก็มีตัว ป นำ แต่เขาไม่อ่าน ให้นึกสงสัยไปว่าตัว ฟ จะมาแต่ภาษาอารับ แต่จะถือเอาเปนแน่ก็ไม่ได้ ด้วยไม่รู้ภาษาต่าง ๆ อย่างที่ว่า จะป่วยกล่าวไปไยถึงภาษาอื่น แต่ภาษาไทยเราเองก็เตมที พอใจที่ท่านบอกว่าภาษาไทยใหญ่และอาหมไม่มีตัว ฟ ใช้นั้นเปนอันมาก ได้ความรู้กว้างออกไปอีก

เรื่องเสียงสั้นยาว ฉันเหนว่าเปนด้วยพูด ลางพวกก็พูดสั้น ลางพวกก็พูดยาว แล้วก็ย่อมเปลี่ยนไปได้ตามคราวตามแห่ง หนังสือก็เขียนไปตามเสียง เปนสั้นบ้างยาวบ้าง นายกุหลาบเคยชักชวนให้คนเขียน เจ้า เปน จ้าว มาคราวหนึ่งแล้วแต่ไม่สำเร็จ จะว่าไรก็ต้องว่าฝืนความเคยไปไม่ได้ ที่จริงเสียงสั้นยาวก็เปนพูดเน้นคำเท่านั้นเอง ภาษาอื่นมีถมไป ที่หนังสือของเขาไม่มีสระสั้นยาวเปนคู่กัน ตลอดถึงภาษามคธเก่าเช่น สลิล เปนต้น ดังฉันได้บอกท่านมาทีหนึ่งแล้ว หนังสือของเราก็ยุ่งเหยิงอยู่ทีเดียวเหมือนกัน เคยถูกคนเขมรเขาทักว่าเสียง ออ ซึ่งต้องเขียนตัว อ เคียงเข้านั้นมีทำไม เพราะอ่านว่า กอ ขอ มีสระ อ ติดอยู่ในตัวแล้ว เถียงเขาก็ไม่ได้ ที่จริงหนังสือเราตัวเดียวก็อ่านได้หลายอย่าง เช่น หยด หยัด หยาด นี่ก็เปนคำเดียวกัน ตลอดไปถึง หยอด ด้วย แต่จะไม่พูดถึงเพราะคำนั้นต่างความหมายไป

เรื่องเสียงสั้นยาว แต่ก่อนนี้ก็ไม่พิถีพิถันนัก เช่น เงิน ก็เปนเสียงสั้นอันควรจะมีไม้ไต่คู้ แต่ไม่เหนมีใครเขียน เดี๋ยวนี้เหน แขง ก็ลงไม้ไต่คู้ แต่ ข่ง อันเปนคำสั้นเหมือนกัน ก็ไม่เคยพบลงไม้ไต่คู้ ลางที่จะเหนว่ามีไม้เอกอยู่ จะลงไม้ไต่คู้ก็รุงรัง ตกลงเปนมีบ้างไม่มีบ้าง แล้วแต่จะชอบใจเขียน เรื่องเขียนไม้ไต่คู้หรือไม่เขียน มีนิทานจะเล่าให้ท่านฟัง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านเคยถามความเหนฉันว่าคำใดควรใส่ไม้ไต่คู้และคำใดไม่ควรใส่ ฉันตัดสินว่าคำใดซึ่งแยกความหมายกันไปในเสียงสั้นยาวได้จึงควรใส่ เช่น เอ็น และ เอน เปนต้น ถ้าคำที่แยกความหมายกันไปไม่ได้ จะเปนเสียงสั้นหรือเสียงยาวก็ไม่จำเปนจะต้องใส่ ท่านเหนด้วย เคยเหนหนังสือเขมรเขาเขียน ร็เบียบ จะเปนเขียนอย่างเก่าหรืออย่างใหม่ไม่ทราบ แต่เหนว่าดีกว่าเขียนประหลัง ดั่งได้ปรารภในเรื่องประหลังแก่ท่านมาทีหนึ่งแล้ว ทำไม ก็ ลงไม้ไต่คู้จึงเปนเสียงสั้นไปได้ แม้เขียน ร็ จะเปนเสียงสั้นไปไม่ได้

ขุน กับ กุน ถ้าจะอธิบายแก้คำค้านก็ไม่มีอะไรที่มากไปกว่าคำอธิบายของท่าน คำ ขุนหลวง นั้นก็ชอบกล แต่ก่อนเราใช้เปนว่าเจ้าแผ่นดิน เรียก ขุนหลวง ก็หมายความว่าขุนใหญ่ เพราะคิดหลบจาก ขุน ในตำแหน่งขุนนาง คำ ขุนนาง ก็ชอบกล ควรที่ ขุน จะเปนปุงลึงค์ นาง จะเปนอิตถีลึงค์ แต่เรียกว่า ขุนนาง กลายเปนพหูพจน์ไปได้ มีคนอธิบายว่าเพราะเขียนควง เปนฟังขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ขุน กับ หลวง ก็มาแยกกันเปนตำแหน่ง เหนจะเปนมานานแล้ว มีคนพูดว่า หลวง ใช้คำต่อหน้าว่า ท่านหลวง คือ คุณหลวง ก็ได้ แต่ คุณขุน ใช้ไม่ได้ เคอะพิลึก ต้องเปน ท่านขุน อย่างเดียว ฉันฟังก็เหนขัน คำเหล่านี้นำให้สงสัยไปว่า ลูกขุน จะหมายจำเพาะพระโอรสเจ้าแผ่นดินมาเปนเสียดอกกระมัง ถ้าแปล สงสัยไปตามคำ ก็เข้าทีว่าเปนดังนั้น แต่ไม่มีอะไรที่จะรู้ได้แน่ เปนแต่ให้ความเหนแก่ท่าน เข้าคำตราไว้

ค่า อุกลาบาต นั้นผิด สังสกฤตเปน อุลฺกาปาต ตัวหนังสือกลับกัน เข้าไม่ได้ มคธก็เปน อุกฺกาปาต ขาดตัว ล เข้าไม่ได้เหมือนกัน

ท่านตัดสินเรื่องตัวสกดเปลี่ยน ฉันเข้าใจ แต่ละเอียดเกินที่คนสามัญจะเข้าใจได้ไป ตลอดถึงสระเอาะด้วย นั้นก็เปนลักษณอย่างเดียวกัน คำมคธสังสกฤตที่มาสู่ภาษาไทย เข้าในสระ เอาะ นั้นมีมาก ถ้าไม่รู้ต้นเดิมก็ลำบาก

การเปลี่ยนระดับเสียง ถ้าว่าภาษาทางอิตาเลียนแล้ว เสียงสูงก็เปนเน้นหนัก เสียงต่ำก็เปนคำเบา หนักเบาไม่อยู่ที่ สุดแท้แต่จะเน้นเสียง แต่ภาษาไทยดูไม่เปนเช่นนั้น จะเหนได้ว่าคำ มา หม่า ม้า หมา ย่อมต่างกันทั้งนั้น แต่ก็เปนเสียงชาวกรุงเทพ ฯ อย่างเช่นได้เคยปรารภแก่ท่านมาทีหนึ่งแล้ว ชาวโคราชเปนต้น เขาพูด ม้า ว่า ม่า ช้าง ว่า ช่าง ระดับเสียงผิดกันไปมาก ในหัวเมืองต่าง ๆ ก็ย่อมผิดกันไปทั้งนั้น ขุนอุดม เปนเด็กอยู่ที่บ้าน เขาขึ้นไปรับราชการที่เมืองโคราช เขาไปสังเกตได้ว่าตรงกันข้าม ถ้าเราสูงเขาก็ต่ำ เราต่ำเขาก็สูง ฉันขึ้นไปก็สังเกตได้ว่าเหมือนเขาว่าเขาแต่งปรำรับฉันด้วยวิธีใช้ดอกไม้ต่าง ๆ ประดับ มีดอกไม้อย่างหนึ่งซึ่งไม่มีในกรุงเทพ ฯ ฉันถามว่าดอกอะไร เขาบอกว่า ตาโนกโก๊ด คือ ตานกกด ทั้งนี้ก็จนมีนิทานเล่ากัน แม้เล่าถึงชาวเมืองอื่นก็ทำเสียงให้แปร่งไปเช่น เงิน เปน เหงิน เปนต้น นั่นเปนอย่างน้อย ถ้าอย่างมากแล้วสำนวนก็ผิดกันไปทีเดียว เช่น ฉันเคยไปพูดกับพระที่เกาะสมุย เราพูดไปท่านก็ต้องตรอง ท่านพูดมาเราก็ต้องตรอง นั่นก็เพราะสำนวนต่างกัน แต่เข้าใจกันได้

คำ ที่ ซึ่ง อัน เปนต้นนั้น สมเด็จกรมพระสวัสดิ์เธอเรียกว่าคำเล็ก ๆ ก็เล็กจริง ลางทีก็ใช้แทนที่กันได้ ลางทีก็ใช้แทนที่กันไม่ได้เลย

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ