๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๔๘๔

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ได้รับแล้ว

ขอบใจท่านเปนอย่างยิ่ง ที่ช่วยค้นคำ บุหงา+รำไป บอกให้ทราบ การค้นนั้นก็ไม่เสียหลาย ได้คำ ปาดัน ซึ่งแปลว่าดอกลำเจียก ให้รู้ขึ้นด้วย คำ ปาดนุส ก็คือ ปาดัน ในภาษามลายูนั่นเอง ที่เอาไปแปลงเปนภาษาลาตินนั้นเปนทางของเขา

จะทักแก่ท่านให้รู้สึกไว้ ว่าบรรดาคำมลายูอันมีเสียงสูงนั้น เราได้มาแต่ชาวใต้ เช่น บุหงา บุหรง เปนต้น

คำ อ้าย ญี่ หนึ่ง สอง นั้น พบมาอย่างไรก็บอกให้ท่านทราบ เพื่อจะได้พิจารณาสอบสวนเท่านั้น

ท่านใฝ่ฝันในคำ ราชวัด นั้นดีแล้ว เปนธรรมดาที่มีคำใดมาทำให้แปลกใจ ก็จะต้องคิด ท่านคิดถึงการพิธีนั้นดีมาก ไม่ว่าพิธีอะไรก็ย่อมมีราชวัดล้อมทั้งนั้น ราชวัดถือเดินไปก็มี เช่นราชวัดล้อมพระยาช้างเผือก ซึ่งเขียนไว้ที่วัดยม แต่สิ่งเหล่านี้เปนของที่ทำจับโน่นชนนี่กันมานานแล้ว จะจัดเอาอะไรว่าเปนเที่ยงเปนแท้เหนจะยาก ราชวัดรั้วไก่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็มี เหนจะแต่งทางสำหรับเสด็จเลียบพระนคร หลังราชวัดใหญ่ (คือภายนอก) มีราชวัดเตี้ยๆ ล้อม เรียกกันว่า ราชวัดรั้วไก่ ฉันคิดว่าเปน รั้วข่าย แต่ประณีตไป รั้วก่าย ดีกว่า เดิมคงเอาไม้มาก่ายกันเปนคอก ในนั้นมีคนแต่งตัวสรวมเสื้อเสนากุฎถืออาวุธต่าง ๆ นั่งอยู่เปนกลุ่ม เรียกกันว่า กองกะละบาด หมายความว่าอะไร เขียนอย่างไรจะถูกก็ไม่ทราบ แต่ไม่เปนอย่างอื่นไปได้นอกจากเอาทหารมาตั้งข้างทาง เพื่อรักษาพระเจ้าแผ่นดินอันเสด็จจะผ่านไปตามทาง การปักต้นกล้วยต้นอ้อย ได้เคยเห็นพรรณนาโดยพิศดารในหนังสืออะไร จะบอกก็ตก เพราะจำไม่ได้ แต่ไม่ประหลาดอะไร เปนเรื่องกินเท่านั้น แต่มานึกดูเดี๋ยวนี้ เหนประกอบทั้งความงามด้วย เพราะเหตุฉะนั้นต้นกล้วยควรจะเปนต้นกล้วยใหญ่ซึ่งมีเครือติด ไม่ใช่ต้นกล้วยอ่อนเอาแต่ชื่ออย่างทุกวันนี้

การเขียนราชวัด จะควรเขียนอย่างไรนั้นไม่สำคัญ สำคัญแต่ความหมาย ถ้ารู้ว่าเขาหมายอะไรก็เขียนผันแปรไปได้ ที่แส่หาไปว่าเขาเขียนกันอย่างไรนั้น ฉันไม่ติเตียน แปลว่าแส่ไปด้วยจะใคร่รู้ความหมาย ฉันออกจะยอมแล้วว่าราชวัดนั้นเปนรั้ว แต่แรกจะปักกันทางก่อน ทีหลังจึงเลื่อนมาปักในพิธีต่าง ๆ ด้วยเห็นงาม หรือเปนที่ห้ามอะไรก็ตามที มีคำเปนหลักอยู่ว่า ราชวัตฉัตรธง คำ ฉัตร นั้นจะเปนอื่นไม่ได้นอกจากว่า ร่ม แสดงว่าปักเพื่อให้ร่ม ก็สมว่าให้ทางร่ม เพราะฉะนั้น ราชวัดจึ่งต้องเปนรั้ว ธง นั้นหมายถึงประฎาก เฉลว ก็คือรั้วนั้นเอง แต่ทำสังเขปเข้า ยังเหนได้อยู่ว่าเปนตาคือรั้ว ชื่อที่ชาวอีศานเรียกว่า ตะเหลว นั้นให้นึกถึงโคลงนิราศนรินทร์อิน จำได้มา ๕ คำในบาท ๒ แห่งหนึ่งว่า ตาหลิ่งตาเหลวปัก เมื่อได้อ่าน นึกว่าเหลว แต่ที่จริงเรียกถูกต้องกับคำทางอีศาน นั่นก็สำคัญ เพี้ยนไปมาก ตะเหลว มาแต่ ตาเหลว แล้วก็มาเปน ตาเหลว แล้วเปน ตะเหลว เฉลว อะไรต่อไป อยู่ข้างเหลือรับ

มีคำเข้าสู่หน้าอีกคำหนึ่ง คือ สารวัด จะเปนภาษาอะไร หมายความว่าอะไร ในปทานุกรมกระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๐ เขาจำหน่ายว่าเปนภาษาสังสกฤต เอาคำ สรฺวตฺร มานาบเข้า เปนว่าเขียน สารวัตร จะควรเชื่อได้หรือไม่ เดี๋ยวนี้ดูเปนเข้าใจกันว่าตำแหน่งสารวัดนั้นเป็นผู้ตรวจ ก็ไปซ้ำกับตำรวจเข้า แต่ตำรวจแต่ก่อนก็ดูมีหน้าที่แต่ตรวจจับคนร้าย ไม่หยั่งไปถึงตรวจบัญชี แต่เดี๋ยวนี้ออกจะถึง สารวัดจะมีหน้าที่ตรวจอะไรไม่เข้าใจพอ แต่ถ้าสังเกตเก่า ดูก็เปนคนคุมคนหมู่ใดกองหนึ่ง หรือไม่คุมใครเลยก็มี ออกจะเปนนายเตี้ยๆ อะไรคนหนึ่งเท่านั้น

ในการเขียน ฉันเดินทางอย่างนี้ คือถ้าคำใดซึ่งยังไม่รู้ก็เขียนเปนไทยๆ ไว้ก่อน เช่น คน สกด น เปนต้น เมื่อรู้แล้วจึ่งเขียนแก้ไขไปตามการ เช่น เปนคำสังสกฤตก็เขียนเปนรูปสังสกฤต ถ้าเปนคำมคธก็เขียนเปนมคธ

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ