๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๔ พรึสจิกายน ๒๔๘๕

นาย ย.ส. อนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ได้รับแล้ว ขอบใจมาก

จะตอบเรื่องท่านให้พระเทวาเขียนแบบ อันการช่างนั้นฉันดูรู้ทั้งนั้น จะทำขึ้นครั้งไหน ซ่อมหรือไม่ได้ซ่อม และซ่อมตรงไหนครั้งไรก็รู้ ลางทีรู้ไปถึงคนทำด้วย ของทำปลอมยุคก็รู้ การที่รู้ก็ไม่ประหลาดอะไร เพราะรูปและลายย่อมเดินไปเสมอ ถ้าท่านให้พระเทวาทำแบบก็บอกได้ ว่าพระเทวาเขียนครั้งท่านเปนอธิบดีกรมศิลปากร โดยผู้เขียนไม่ต้องเซ็นชื่อ

ที่พูดกันถึง ส่วน นั้นฉันจับได้ว่า ส่วน เป็นของสอนนักเรียนเพื่อไม่ให้ทำเข้าป่าไปเท่านั้นเอง คนที่แขงเขาทำอะไรก็ไม่เหนเข้าส่วน ส่วนที่เข้าไม่ได้ก็มี เช่นผู้สร้างวัดเขาสั่งช่างให้พระประธานนั่งในบุษบก พระประธานนั้นเปนของมีแล้ว จะต้องใส่เข้าในบุษบกได้ แล้วถ้าทำตามส่วนยอดบุษบกก็จะทิ่มเข้าไปในหลังคาอันเปนของใช้ไม่ได้ ต้องทำบุษบกนอกส่วนให้ดูดี อันจะต้องเปนคนแขง นักเรียนทำไม่ได้ เหมือนหนึ่งบุษบกพระแก้วก็ยาวเกินส่วนเพราะองค์พระเล็ก แต่มีฉัตร ทั้งที่ยาวเกินส่วนก็ไม่เหนขัดขวาง เพราะอะไรก็ยาวทั้งนั้น เข้ากันไปได้

ท่านว่าราชบัณฑิตสถานให้อ่านคำ ศิลปะ ว่า สิน ฉันไม่รู้สึกว่าขัดขวางอะไร คำใดจะเขียนจะอ่านว่ากะไรก็ได้ อันถ้อยคำนั้นย่อมเลื่อนไปเสมอ เปนหน้าที่ของเราจะต้องเรียนตาม ตัวอย่างเทียบก็มี เช่นมีคนชมว่าหนังสือฝรั่งเขียนคำไทยเวลานี้ดี ฉันตอบว่าแต่เราจะต้องเรียนให้รู้ว่าคำใดเวลานี้เขาพูดกันอย่างไร ตามที่ว่านี้ ตัวอย่างก็เช่นเขาพูดกันเวลานี้ว่า ยันนาวา แต่ฉันเคยเรียก ยานะนาวา ก็เรียกอย่างแต่ก่อนมา เปนการเลยตามเลย ผิดกันไปเปนสามพยางค์สี่พยางค์ เพราะเหตุฉะนั้นจึงต้องเรียนให้รู้ไว้ การรู้มากนั้นที่จริงไม่เสียหลาย ถ้ารู้มากก็คล่องใจขึ้น ถ้ารู้น้อยจะพูดอะไรก็ลเมอ

ศิลปะ ฉันรู้สึกเปนว่าแก้ผ้า วิทยาศาสตร์ รู้สึกเปนว่าของปลอม ทั้งนี้ก็เปนความหมายที่พูดกันบ่งไป เอาภาษาไทยไม่ได้ หรือศิลปะก็ว่าช่าง คำ ช่าง ก็ยังไม่มีด้วงมีแมงอะไรไต่ตอม

ท่านวินิจฉัยคำ จรทึก กับ มฤยู ท่านเอาคำ สติง เข้ามาปรับ ที่จริงคำว่า ทิก (อ่านว่า ตึก หมายความว่าน้ำ) ในภาษาเขมรก็มี ไม่จำเปนต้องเอา สติง (ซึ่งเขียน สทิง ควรจะแปลว่า ลำ คือ แม่น้ำลำคลอง) เข้ามาเทียบ ได้เปิดดูพจนานุกรมภาษาเขมร คำ จรทึก และ มฤยู ก็ไม่พบ

ท่านเหนด้วยกับความเหนฉัน ในเรื่องคำ ร้องแรกแหกกเชอ ว่าเปนคำต่อ และให้ตัวอย่าง นินทากาเล และ เหนอยัมพทันตา ทั้ง กินเสียเหี้ยนเต้ และ บ้ารห่ำ นั้น ทำให้ดีใจเพราะความเหนลงกัน

จะบอกให้ท่านทราบอีก เขาว่าสุนทรภู่นั้นเปนคนเล่นเพลงมาก่อน (เหนจะเปนเพลงปรบไก่) เพราะเหตุฉะนั้นโวหารจึ่งเชี่ยวชาญนัก

เรื่องเชื่อวงศ์ เหนควรจะปรับแต่กับทางบ้านเรา ไม่ควรปรับกับทางต่างประเทศ เพราะนับไม่เหมือนกัน ที่ว่า เชื้อวงศ์ นั้นก็เปนคำคู่แปล เพราะจะใช้แต่เชื้อ ก็กลัวจะไม่เข้าใจ

ดีใจมากที่ท่านค้นกฎหมายได้ เหลน กับ หลือ ต่อ หลาน ลงไป ซึ่งฉันไม่เหนเลย ได้ตั้งใจไว้ว่าทีหลังจะใช้ตามกฎหมาย นับเอาว่าเปนหลักฐาน

ดีใจอีกที่ท่านช่วยสอบคำ น้า ให้ด้วย แต่เสียใจที่ไม่ได้ความ แต่ท่านยังใฝ่ฝันจะสอบต่อไปอีกนั้นดีแล้ว คำว่า ฝัน เหนจะไม่ใช่แต่นอนหลับ แม้จะคิดตื่น ๆ ก็คงเรียก ฝัน เหมือนกัน

ท่านจะจดเรื่องผีนั้นดีอย่างยิ่ง ถ้าไม่จดเวลานี้ผีก็จะหนีไปเสีย ถูกแล้วอย่างเช่นท่านว่า สิ่งไรที่ไม่รู้ก็ให้เปนผีทั้งนั้น

คนมีปีกหางในลายเรียก ออรหัน นั้น ฉันก็เคยคิดมาแล้ว แต่ก็คิดไม่ออกบอกไม่ได้ ออรหัน ที่เปนชื่อพ้องกับ อรหันด์ เหนเหลือเกิน อยากจะให้เปน กหัง หรือ กหาง เหมือนกัน แต่ไปไม่รอด ที่ทำเปนรูปฝรั่งก็ทีจะเหนขันที่เทวดาของฝรั่งมีปีก มาใกล้เข้ากับ กหัง หรือ กหาง แต่ทำไมเรียก ออรหัน คิดไม่ออกเลย

จะบอกถึงลคอนยก แต่แรกเหนตัวลคอนตีพิมพ์ด้วยดินเขียนสี แล้วทีหลังตัดกระดาษเขียนสีเสียบไว้ แปลว่าเรียวลง เดี๋ยวนี้ไม่มีทีเดียว แปลว่าคนนับถือเจ้าผีน้อยลง ลคอนยกคิดว่าหลอกเจ้าผี เมื่อบนก็ว่าจะมีลคอนถวาย แต่ครั้นได้สมปรารถนาแล้วก็เอาลคอนยกไปถวายแทน

จะอธิบายถึงคำว่า ลคอน หรือ ลคร ที่เขียนเปน ลคอน นั้นมาแต่ชวา ลคอน เขาเขียนสกด น ทางชวาเขาหมายความว่าเรื่อง เช่น ลคอนอิเหนา ก็เรื่อง อิเหนา ไม่ใช่คนรำ แต่ที่มาทางปากใต้จะเปน ลคร เพี้ยนจาก นคร กระมัง ลครชาตรี แปลว่า ชาวลครที่อยู่คงก็ได้ หมายความว่าลครที่ตำข้าวบนอก แต่นี้ก็เปนเดาทั้งนั้น อาจผิดได้ถูกได้ เข้ารูปคำที่เขียนหรือออกเสียง

คำ เจตภูต ฉันแปลว่า ผีใจ คำ ขวัญ นั้นก็คิดอยู่เหมือนกัน แต่คิดไม่ออก ฝรั่งเขาแปลว่ากระไร

เรื่องท้าวฮุ่งรบกับพวกแมนนั้นฉันไม่รู้ จะพูดอะไรหาถูกไม่

ไม่ เหนจะมาแต่ หม่าน ไม่ใช่แปลง มิ เปน ไม่ มีคำเขมรเขียน มิน คเนว่าตรงกับ มิ ของเรา ว่า ไม่ เหมือนกัน

คำว่า เบื้อ ฉันก็เคยคิด แต่คิดไม่ตก เนื้อเบื้อ มุกแกมเบื้อ นั่งเปนเบื้อ ขัดกันอยู่ทั้งนั้น ท่านงัดเอามาได้ในคำ มุกแกมเบื้อ เบื้อ ในที่นั้นหมายถึงกระจกเงา นั้นดี เปนอันได้ความรู้ขึ้นอย่างหนึ่ง

สัตว์ที่ไม่มีสบ้าหัวเข่า ฉันรู้มาอย่างเลว ๆ ว่า เขาเรียกกันว่า ผีกองกอย ว่าดูดเลือดหัวแม่ตีนคนเมื่อนอนหลับกิน ที่อังกฤษคเนว่าจะเปนสัตว์นั้นชอบ แต่ที่จะเปน แกงกรู ตัวเล็กๆ นั้นเหนจะไม่ถูก แกงกรู จะเปนตัวเล็กหรือตัวใหญ่ ก็มีไม่ได้ในเมืองไทยทั้งนั้น เพราะไม่มีตัว ว่าอย่างที่สุดถึงจะรู้ว่าเปนสัตว์ ก็จัดเอาสัตว์นั้นว่าเปนสัตว์ผี

ข้าวตอก หมายความว่า ข้าวแตก ฉันก็เพิ่งเคยรู้ เวียนไปเถิดจนตายก็ไม่สิ้น

คำ สื่อ ซึ่งเปนชื่อ ขุนทองสื่อ กับคำ บั้นสื่อ ขอให้ท่านสืบหาอักษรจีนเขียนไปให้ด้วย จะขอบใจเปนอันมาก

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ