๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๔

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่านลงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ได้รับแล้ว

ท่านถามถึงพระชัย ฉันรู้น้อย แต่จะบอกท่านเท่าที่รู้

รัชกาลที่ ๑ มีพระชัย ๒ องค์ องค์หนึ่งเปนขนาดเล็ก เรียกว่า พระชัยหลังช้าง หรือ พระชัยเล็ก อะไรก็เรียกกัน ไม่อยู่ที่ พระชัยองค์นี้เข้าใจว่าสร้างแต่ครั้งยังไม่ได้เสวยราชสมบัติ สำหรับไปทัพจับศึกเอาขึ้นหลังช้างไป จึ่งได้ชื่อว่าพระชัยหลังช้าง อันการไปทัพจับศึกจะต้องมีพระชัยไปเปนเครื่องราง ใคร ๆ ซึ่งมีหน้าที่ไปทัพก็มีพระชัยกันทังนั้น ดังเช่นฉันเคยเล่าให้ท่านฟังว่า เอาพระชัยห่อผ้าขาวม้าผูกคอทนายนำไป อีกองค์หนึ่งเปนขนาดใหญ่ เรียกว่า พระชัยประจำรัชกาล หรือ พระชัยใหญ่ ก็เรียกกัน องค์เปนเงินฐานเปนทองทั้งสององค์ แต่ทำไมจึ่งทรงสร้างเปนสององค์นั้นไม่ทราบกระแสรพระราชดำริห์

รัชกาลที่ ๒ ทรงสร้างขึ้นอีกองค์หนึ่ง โตไล่เสียกันกับพระชัยใหญ่ในรัชกาลก่อน แต่องค์ก็เปนทองฐานก็เป็นทอง ในการที่ได้ชื่อว่าพระชัยประจำรัชกาล ก็สมเปนว่าได้ชื่อขึ้นในรัชกาลนี้ ลางทีพระชัยนั้นเรียกว่า พระชัยวัฒน์ ก็มี

รัชกาลที่ ๓ ก็มีพระชัยประจำรัชกาล ขนาดเล็กลงมาก แต่ทำผ้าทรงวิเศษขึ้นเปนทองลงยา ทีหลังได้ไปเหนในหอพระสุลาลัยพิมาน (หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่าหอพระเจ้า) มีพระชัยขนาดเดียวกันอยู่มาก ทำต่าง ๆ กัน เปนเงินก็มี เปนทองก็มี เปนไม้ก็มี ทำไว้ทำไมมากมายก็ไม่ทราบ ที่ห่มผ้าลงยาก็คิดว่าเลือกเอาพระพวกนั้นที่อย่างดีมาใช้องค์หนึ่ง ไม่ใช่สร้างใหม่ ที่เรียกว่าพระชัยนั้นก็คิดว่าพระมารวิชัยนั่นเอง แต่ทำพระหัตถ์ซ้ายซึ่งเปนอาการทรงสมาธิให้ตะแคงเปนถือตาลปัตร ถือทำไมไม่ทราบ ตาลปัตรนั้นก็เปนยศด้วย ถ้าเปนพระหลวงแล้วถือพัดแฉก

รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างใหม่ ได้ทันผู้ที่สร้าง คือพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ขนาดเล็กลงกว่ารัชกาลที่ ๓ เสียอีก แต่ก็เปนทองทั้งองค์ทั้งฐานเหมือนกัน แต่ฐานนั้นเปลี่ยนแปลกไปกว่าเดิม มีฐานจารึกอักษร พระองค์เจ้าประดิษฐท่านบอกว่าขนาดนั้นทรงกะพระราชทานมาว่าเอาหน้าตัก ๕ นิ้ว เพราะวันประสูติเปนวันพฤหัสบดี คือวันที่ ๕

รัชกาลที่ ๕ ก็ทรงสร้างองค์หนึ่ง เอาอย่างแบบพระชัยรัชกาลที่ ๔ แต่ทรงพระราชปรารภว่าพระองค์ประสูติวันอังคาร ถ้าทำตามอย่างรัชกาลที่ ๕ ก็เปนหน้าตัก ๓ นิ้ว จะมิเล็กหนักไปหรือ พระองค์เจ้าประดิษฐกราบบังคมทูลตามความเหนว่าทำหน้าตัก ๘ นิ้วเท่ากำลังพระอังคาร ก็โปรด เพราะฉะนั้นพระชัยประจำรัชกาลที่ ๕ จึ่งมีขนาดโตไล่เลี่ยกับรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒

รัชกาลที่ ๖ ฉันไม่ทราบ

รัชกาลที่ ๗ เปนหน้าที่สมเด็จกรมพระสวัสดิ์เธอจะต้องทำ แต่เธอจะไม่อยู่ บอกฝากไว้ ฉันก็ต้องทำ ฉันกราบบังคมทูลตามความเหนว่าให้ทำหน้าตัก ๑๓ เซนติเมตร เท่ากำลังพระพุธ ด้วยประสูติวันพุธ ก็โปรด เพราะฉะนั้นพระชัยในรัชกาลที่ ๗ ก็มีขนาดไล่เลี่ยกับรัชกาลที่ ๕ แต่องค์เปนเงินเข้าแบบรัชกาลที่ ๑ ฐานเปนทอง เปนแบบเดียวกับรัชกาลที่ ๔

รัชกาลที่ ๘ ไม่มีพระชัย ทีจะเปนด้วยเวลาไม่ให้ มีงานอะไรก็ใช้พระชัยรัชกาลที่ ๕ แต่ที่จริงดี เพราะพระชัยประจำรัชกาลนั้นเปนเรื่องใส่คะแนน ถ้ารัชกาลมากขึ้นแล้วที่ตั้งจะลำบากในภายหน้า

พระชันษา ในรัชกาลที่ ๘ ก็ไม่มี ดูก็สมควร แม้รัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ เดิมก็ไม่มี มาสร้างถวายขึ้นในรัชกาลที่ ๓ อันพระชันษารัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ นั้นเปนพระมารวิชัย รัชกาลที่ ๓ เปนพระสมาธิ แต่ห่มผ้าตึงทั้ง ๓ รัชกาล มาห่มผ้ามีกลีบตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ลงมา ในรัชกาลที่ ๕ เปนพระสมาธิ รัชกาลที่ ๕ เปนพระคันธารราษฎร์ นั่งบนฐานบัวกลีบหลังเบี้ย รัชกาลที่ ๖ เปนพระลองหนาว ที่ทรงอนุญาตให้ทำผ้าสังฆาฏิเปนสองชั้น ก็คือได้ทรงลองหนาวในปางนี้ ลางทีจะมีพระอาการเปนสมาธิด้วยก็ได้ รัชกาลที่ ๗ เปนพระคันธารราษฎร์ อย่างเดียวกับพระชันษารัชกาลที่ ๕ เว้นแต่นั่งห้อยพระบาท ฉันคิดถวาย

ดีเต็มทีที่ท่านบอกถึงการทำบุญถวายเทวดาและวันเกิด ว่าทีจะมาทางอิยิปต์ ฉันนึกชอบทางข้างวันเกิดไม่ทำอะไรด้วยถือว่าความเกิดเปนทุกข์

คำเติมหน้ากลางหลัง ฉันคิดเหมือนกันว่าจะมีความผิดกัน เช่น ทลาย เปนพังเอง ทำลาย เปนรื้อ เสียง เปนธรรมชาติ สำเนียง เปนตกแต่ง อย่างนี้เปนต้น แต่ลางคำก็จับได้ ลางคำก็จับไม่ได้ ที่จับไม่ได้ให้คิดไปว่าจะเปนของใหม่ เติมคำเข้าโดยไม่รู้สึกว่าถ้าเติมแล้วความผิดกัน หรือจะคิดคู่ผิดไปก็เปนได้เหมือนกัน ในการคิดคู่ ให้รู้สึกไปว่า ถ้ามีอักษรสองตัวก็ไม่ต้องเติม ถ้าเปนตัวเดียวต้องเติมให้เปนสองตัว แต่ตัวเติมไม่จำเปนต้องเปน น ตัวเดียว อื่น ๆ ก็มี เช่น รำ=รบำ คำนี้แน่ แล้วคิดเดาต่อไป ว่า รอบ=รบอบ เรียบ=รเบียบ เรียง=รเบียง เริด=รเบิด จะถูกหรือไม่ถูกก็ไม่ทราบ ตัวอื่นอีกก็มี เช่น เฉียง=เฉลียง แช่ม=ชแล่ม ชุ่ม=ชอุ่ม และท่านฉวยเอาคำโคลงฉันท์มาว่า ชรอื้อ คือ ชื้อ มาเข้าพวกอีกนั้นถูกแล้ว

อร คิดว่ามาทางเขมร จะเปนคำเดียวกับ อ่อน นั่นเอง นึกคำฉันท์อะไรขึ้นได้ แต่ต้นทุนหายปลายทุนหลุด เหลือแต่ องคอรไท ในที่นั้นควรจะอ่าน อร เปน อ่อน อีกอย่างหนึ่งเคยได้ยินกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ตรัสเรียกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า อ่อน คิดว่าคำ หล่อน ก็เหนจะมาแต่คำ อ่อน นั่นเอง ทั้งได้ยินคำพระสารประเสริฐว่า อรชร ก็คือ อ่อนช้อน เปนอันลงกันหมด คำว่า ไทย ถ้ามาแต่ ไต๋ ก็มี ย ไม่ได้ ท่านอ้างถึงคำ ไท ไท้ นั้นชอบยิ่งนัก พระพินิจวรรณการพูดดี ว่าพวกหนังสือบาลี ถ้าไม่เขียนตัว ย ก็มีชื่อ ทัย อยู่ในนั้นไม่ได้ เพราะไม้มลายไม่มีใช้ในภาษานั้น

ท่านกล่าวอ้างถึงคัมภีร์นิรุกติศาสตร์อยู่บ่อย ๆ ทำให้เกิดศรัทธาเปนอย่างยิ่ง แต่ก็ได้เพียงฟังพูดเท่านั้น จะอ่านเข้าจริง ๆ ก็ไม่ไหว เข้าใจดีไม่ได้เพราะเป็นหนังสือฝรั่ง อันเปนมือซ้ายของฉันอยู่ด้วย ฝรั่งเขาพูดกัน ท่านฟังไม่เข้าใจนั้น ต้องกันกับที่สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ตรัสเรียกว่า ปรื๊ด คือพูดกันเร็ว ทรงฟังไม่เข้าพระทัย นึกถึงอาการหูหนวกของฉัน ถ้าใครคิดว่าหูหนวกแล้วจะต้องตะโกนก็เปนคิดผิด การตะโกนกลับทำให้เข้าใจไม่ได้ พูดให้ช้า ๆ ชัดถ้อยชัดคำแล้วดีกว่า

ไม่ว่าภาษาอะไร ย่อมมีเสียงไม่เหมือนหนังสือด้วยกันทั้งนั้น เปนต้นว่าพม่าพูดตัว ร ไม่ได้ ถึงตัว ร เข้าก็ต้องเปน ย ทั้งอะไรก็วิบัติไปหลายอย่าง เช่น ใพ.ศ.ลก็เปน บุทฺธํ สยณํ คิสฺสามิ เปนต้น แต่เราก็รู้ได้ด้วยความเคยของเรา ท่านพูดถึงหนังสือกับเสียงของเรา ฉันก็เหนขัน นึกไม่ออกอยู่เหมือนกันว่า จักรพรรดิ กับ จักรวรรดิ และ พิธี กับ วิธี ก็เปนคำเดียวกัน แต่ไฉนจึ่งอ่านผิดกันไปได้ แล้วก็ไปนึกถึงกลอนว่า เล่าเรียนเขียนอ่าน ทำให้เข้าใจว่าการเขียนกับอ่านนั้นไม่เหมือนกัน ฟังคนที่ไปเมืองนอกนานจนลืมภาษาไทย กลับมาเรียนหนังสือไทย แล้วพูดว่า อ้ายนั้นอ้ายนี้ ฟังก็เหนขวางพิลึก

เออ แทน อึ นั้นมีจนถึงแผ่นดินพระเจ้าบรมโกฐ จารึกอะไรต่าง ๆ ใช้ เถิง อยู่เปนอันมาก อึ เข้าใจว่ามาแต่เขมร แต่เขาอ่านเอาเอง เช่นเขียน ทิก ก็อ่านเปน ตึก แม้ในคำของเรา ถึงเปนภาษามคธสังสกฤต ก็อ่านเปน อึ เช่น ผลึก อัศวานึก เปนต้น แท้จริงสระ อึ ควรจะอ่านว่า อิง เสียด้วยซ้ำ สระ อือ นั้นเปนของไทยแน่ เติมเข้าเพื่อจะใช้ได้คู่เปน อึ อือ หรือลางทีที่มีตัว อ จะลงมาแต่ เอือ ก่อนก็เปนได้ คำ ศึก เปน เศิก ฉันก็เคยสงสัย ท่านบอกให้ทราบนั้นขอบใจเปนอันมาก ก็เปนรูปเดียวกับ ถึง เปน เถิง นั้นเอง

คำอะไรเปนภาษาใด ตามหลักที่ท่านยึดเอาพจนานุกรมนั้นชอบแล้ว แต่ก็ต้องพิจารณาอยู่นั่นเอง เพราะภาษาย่อมมีเก่ามีใหม่ คำเขมรย่อมพาเอาพวกอีศานตามไปมาก เพราะบ้านอยู่ใกล้กัน ไม่ใช่แต่พาพวกอีศานไปเท่านั้น พวกอีศานยังพาเอาพวกพายัพไปด้วย

แนวเทียบนั้นเปนมีแน่ ร สองตัวเปน ร หันได้ ก หรือ น สองตัว ก็ต้องเทียบเอาเปน ก หัน น หัน ได้เช่นเดียวกัน

เสียง ฟ นั้นทางชวาก็ไม่มี ใช้ตัว ผ หรือ พ (บ) แทน ฟ ถ้าท่านสืบได้ความว่าภาษาใดมี ฟ ใช้บ้างก็จะเปนประโยชน์ไม่น้อย คำ ฝ้า ซึ่งใช้เรียกฝ้าเพดาน ฉันก็เคยคิดว่าคือ ฟ้า นั้นเอง ฝาโอ่งฝาอ่าง ก็เหนจะหมายถึง ฟ้า นั่นเอง มาติดแหงแก๋แต่ ฝาเรือน ว่าทำไมจึ่งเรียก ฝา ส่วนผนังนั้นเรียกแต่ผนังก่ออิฐ ที่จริงคำ ผนัง ก็มาแต่ ผัง คำผังก็มีมาแต่ก่อนทำฝาก่อด้วยอิฐแล้ว ควรที่ฝาเรือนจะเรียกว่า ผนัง หากแต่เรียก ฝา นั้นผิดไป ที่เรียกผนังอิฐว่า กำแพง นั้นผิดแน่

คำสั้นยาว ที่ท่านสอบได้แล้วบอกให้ทราบนั้นดีเต็มที เคยมีขัดข้องที่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ถาม ว่า ต่ำช้า ทำไมต้องมี ช้า ด้วย ฉันก็จนด้วยไม่รู้ ต่อนี้ไปจะบอกแก่เธอได้ไม่จน

พระนามพระเจ้าปราสาททอง ฉันก็คิดว่ามาแต่พม่า เพราะพม่าเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่าพระเจ้าปราสาททองเปนปรกติ คำนั้นก็ทีจะมาแต่เจ้าหอคำนั่นเอง คำ ลูกขุน มาแต่ หลกกวัน นั้นเหนถูก เจ้าแผ่นดินเก่าๆ ย่อมมีอาจารย์อยู่ ๖ คนบ้าง ๔ คนบ้าง แต่คำ นาง คือ ขุนนาง นั้น ยังไม่ได้เรื่อง

บัว แปลว่าตรานั้นสงสัย กลัวจะเข้าใจกันเอาเอง ผิดก็ได้ถูกก็ได้ โพธิ์ ไม่ใช่ชื่อต้นไม้ เปนคำสรรเสริญพระเจ้า แก้ว แปลว่าดีเท่านั้นเอง ดุจช้างแก้วม้าแก้วขุนพลแก้วขุนคลังแก้ว ไม่ใช่หมายถึงแก้วแหวนเงินทอง ตรา เปน ตำรา ก็ได้ คือจดสิ่งสำคัญไว้ ไม่ใช่ ตามรา เช่นบอกมาแต่ก่อน นี่เปนคิดไปทางใหม่

หนังสือของท่านลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ได้รับแล้ว

คำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น เคยได้ยินท่านผู้ใหญ่ท่านดูหมิ่นกันว่ารู้อะไรมากกว่าที่ควรรู้ ซ็ำมีฉะบับปลอมแปลงเสียด้วย แต่ฉันพูดไม่ได้ว่าฉะบับที่ท่านดูเปนฉะบับปลอมหรือไม่ใช่ เพราะไม่ได้เหน แต่สังเกตคำได้ว่ามี หงส์อยู่ในพิมาน สังข์อยู่ในพิมาน นั้นดูเปนพูดถึงพระราชลัญจกรซึ่งเขียนไว้ที่บานแผละพระทวารพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งเขียนไว้เมื่อรัชกาลที่ ๓ แต่ลบเสียแล้วเมื่อรัชกาลที่ ๖ เพราะแก้ซุ้มพระทวารเมื่อย้ายเอาพระแท่นเศวตฉัตรในพระที่นั่งอมรินทร์ไปตั้งที่นั่น ผิดกับที่เคยเรียกกันมาแต่ก่อน ว่าพระราชลัญจกรหงษ์พิมานเท่านั้น ระวางม้าต้นก็มีชื่อหงษ์พิมานอยู่ ฉันก็เคยดูพจนานุกรมสังสกฤตว่าทำไมระวางม้าต้นจึงมีคำว่าหงษพิมาน ได้ความว่ารถเทวดา (ที่มีกระโจม ?) เรียกว่าวิมาน แล้วพาหนของเทวดาทุกอย่างก็เรียกวิมานตามกันไปหมด เช่น หงษ์พิมาน ก็เปนพาหนของพระพรหม แต่สังข์นั้นไม่ทราบว่าเปนพาหนของเทวดาองค์ใด ทราบแต่ว่าสังข์นั้นเปนเครื่องถือของพระนารายณ์ ในการเขียนพระราชลัญจกรเปนหงษ์อยู่ในวิมานนั้นทีจะเปนเขียนเดา ด้วยไม่เคยเหนดวงตราจริง ๆ ที่ไหนเปนดั่งนั้น ที่กล่าวถึงตราวังหน้าว่าเปนอุณาโลมนั้น ดูทีก็เปนบุษบกมหาอุณาโลม แม้จะอย่างไรก็ดี อุณาโลมไม่น่าจะเปนตราวังหน้าได้

ในการที่ท่านลาออกจากหอสมุดไปรับราชการประจำในตำแหน่งทางนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งนั้น ฉันยินดีด้วยที่ท่านได้เลื่อนตำแหน่งดีขึ้นไป แต่ให้วิตกที่ท่านจะไกลไปจากหนังสือต่าง ๆ อันเปนการเล่นของท่าน แต่ในการที่ฉันเขียนอะไรไปให้ท่านนั้นก็เปนการส่วนตัว ไม่ใช่ส่วนหอสมุด เพราะฉะนั้นท่านจะไปอยู่ที่ไหน ๆ ก็คงได้รับหนังสือของฉันตามเคยเหมือนกัน

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ