๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ยส

๓ มิถุนายน ๒๔๘๕

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้า ได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๒ พรึสภาคมไว้แล้ว ที่ทรงพระเมตตาประทานความรู้ต่าง ๆ แก่ข้าพระพุทธเจ้า เปนพระเดชพระคุนล้นเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าว่า ครัว หมายความถึงเครื่องไช้ แล้วความหมายเลื่อนมาเปนคนซึ่งอยู่ด้วยกันและไช้เครื่องไช้ร่วมกัน ดังที่ตรัส และโดยเหตุที่เครื่องไช้มักเอาเก็บไว้ไนเรือนไฟ ซึ่งไช้เปนที่หุงต้มอาหาร ที่นั้นก็กลายเปนได้ชื่อว่าครัวไปด้วย แต่มีคำประกอบบอกไห้รู้ เช่น ครัวไฟ ไม่ใช่ ครัว ไนความหมายเดิม ภายหลังการหุงต้มอาหารเปนงานประจำ คำ ครัว ก็มาเกาะอยู่กับ ครัวไฟ เมื่อไช้คำว่า ครัวก็ชวนไห้เข้าไจว่าเกี่ยวข้องกับอาหารการกิน เช่น คนครัว พ่อครัว โรงครัวทั้งนี้จะผิดถูกประการไดแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ตันหยง ไนภาสามลายูแปลว่า แหลม ข้าพระพุทธเจ้าเคยเข้าไจผิดเปนต้นพิกุล แต่ไนภาสามลายูไม่มีคำ ตันหยง ที่แปลเช่นนั้น คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ตันหยง ซึ่งแปลว่าตันพิกุล เหนจะมีอยู่ไนภาสาชวาแห่งเดียว เสียงไนภาสามลายูมีผิดเพียนเปนภาสาถิ่นอยู่มากมาย เพราะชนชาติมลายูอยู่เกาะเปนส่วนมาก การติดต่อกันก็ได้แต่ทางทะเล จึงทำให้เสียงของคำกลายได้ง่าย แม้แต่ชาวแขกปัตตานีก็มีเสียงผิดกับภาสามลายูกลางอยู่มาก เช่น มลายู อา ก็เปน ออ ไนปัตตานี เช่น มูกา (หน้า)-มูกอ กปาลา (หัว)-กปาลอ มาตา (ตา)-มาตอ ถ้าเปนแม่ กง กน กม เสียงด้านนาสิก เช่น ตางัน (มือ) - ตาแง มากัน (กิน)- มาแก ปลากัง (หลัง) -ปลาแก ฮิตำ (ดำ)-ฮิแต ถ้าเปนแม่ กก กด กบ เสียงกร่อนไป เช่น ดูโด็ก (นั่ง)-ดูโดะ ลูตุด (เข่า)-ลูตุ ไนคำที่กราบทูลมานี้มีคำ มูกา ซึ่งแปลว่า หน้า กปาลา ซึ่งแปลว่า หัว ก็เปน คำมุข และ กปาล ไนภาสาบาลีแลสํสกริต ข้อแปลกที่ภาสามลายูออกเสียงสระที่ลงท้ายของคำเปนสระ อา เปนอย่างเดียวกับไนไทยให่และไนไทยกลาง ซึ่งผู้รู้บาลีรังเกียจ เรียกว่า อาเก้อ เช่น กายา พงสา จันทรา ไนภาสาบาลีสํสกริตและอังกริส นอกจากคำลงท้ายด้วยเสียงนาสิก คือ แม่ กง กน กม แล้ว การออกเสียงสระสั้นของคำที่ลงท้ายด้วยเสียงพยัชนะ คือ แม่ กก กด กบ ก็ออกไม่ได้ ต้องมีเสียงเข้าช่วย เช่น cut ก็ออกเสียงเปน อะ หรือเสียงหนัก h (วิสรรค์) ต่อจากเสียง t ไนบาลีต้องมีซ้อน พยัชนะที่จะออกเสียงลงท้ายด้วยพยัชนะอย่างไนไทย ข้าพระพุทธเจ้ายังสังเกตไม่พบ เช่น ทัต ลงท้ายด้วยพยัชนะ ต ซึ่งยังไม่มีเสียงสระปน อ่านว่า ทัด แต่ไนบาลีต้องมีตัวตามออกเสียงเปน ตะ ด้วยจึงจะได้

ตัวสกด ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า คือตัวที่ถูกกดหรือถูกข่มเอาไว้ ไม่ไห้ออกเสียงได้ เพราะการออกเสียงพยัชนะมีอยู่สามระยะระยะต้นลมแล่นขึ้นมาจากหลอดลม ระยะที่ ๒ ถูกอวัยวะที่ไนปากตอนไดตอนหนึ่งกักลมไว้เปนเสียงอุบ ตอนที่สามอวัยวะที่กักเอาไว้เปิดไห้ลมระเบิดออกไปได้ ตัวสกดเปนพยัชนะที่อยู่ไนลักสนะตอนที่สอง เปนเสียงอุบเอาไว้ ยังไม่ปล่อยให้ระเบิดออกมา ไนบาลีมีเสียงอุบ แต่ทิ้งไว้แค่นั้นไม่ได้ ต้องมีตัวตาม เพื่อไห้มีเสียงระเบิดออกมา ไห้หายอึดอัดไจ เพราะฉะนั้นที่ทรงเหนว่า ถ้าเปนภาสาบาลีอย่างใหม่ก็คือตัวที่มีจุดข้างล่างนั้น เปนถูกต้องกับที่ไนไทยเรียกว่าตัวสกด หาไช่หมายถึงการไช้ตัวไม่

คำว่า เยาว์ ไนภาสาจีนมีคำ เย้า (เสียงกวางตุ้ง ถ้าไนเสียงแต้จิ๋ว เปน อิ๊ว) แปลว่า อ่อน คนอายุต่ำ ๑๙ ปีเล็กน้อย ละเอียดอ่อน คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เยาว์ เปนเรื่องลากเอาเข้าภาสาบาลี ดั่งที่ทรงสันนิสถาน คำว่า หนุ่มเหน้า ไนโคลงโลกนิติ กับ เยาว์ ก็คงเปนคำเดียวกัน เพราะ ย-น มีคำที่สับเปลี่ยนกันได้อยู่หลายคำ เช่น นุ่ง-ยุ่ง นิ่ว (กวางตุ้ง แปลว่า ปัสสาวะ) เปน ยิ่ว ไนแต้จิ๋ว ส่วนไทยไช้ทั้ง นิ่ว และ เยี่ยว

ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องไนกระแสพระดำริว่า ฮั่ง คือ งั่ง แปลว่าทองแดง หาไช่แปลว่าเทวรูปไม่ หากแต่เทวรูปเหล่านั้นทำด้วยทองแดง จึงทำไห้เข้าใจผิด เปนหมายความถึงเทวรูปไป

ข้าพระพุทธเจ้าเคยถามพระลัดเวียน เมื่อตันเดือนธันวาคมว่า พักอยู่ที่ไหน แกบอกแก่ข้าพระพุทธเจ้าว่า อยู่บนตึกชั้นที่สองของที่ทำการทนายความเบกุลีและทุส ซึ่งนายเอดุ๊ก ลูกเลี้ยงพระยาอินทมนตรี (ไยล์) เปนเจ้าของ อยู่แง้มบนของปากถนนที่จะเข้าไปธนาคารฮ่องกงแบงก์ แกบอกว่าอยู่ไนสวนลุมพินีไม่ได้ ถูกคนรบกวนรังแกนัก ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้พบคราวนั้นแล้ว ก็ไม่ได้พบปะอีก ตึกทนายความที่กล่าวก็ถูกปิด จึงไม่ทราบเกล้า ฯ ว่าเดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน ตามถนนหนทางก็ไม่เคยพบปะ

เรื่องท้าวอู่ทองหนีห่า มีอยู่ไนพงสาวคารเหนือ แต่ที่เปนตำนานเล่าติดปากกันมา ข้าพระพุทธเจ้าก็เคยได้ฟัง ข้าพระพุทธเจ้าขอผัดค้นเสียก่อน คำว่า ห่า ไทยไนเมืองจีนหมายความว่าหิมะ ทางไทยไห่ว่า ห่า หมายความถึงฝนที่ตกซู่ให่ บาดแผลที่ฟกช้ำดำเขียวก็ไช้ว่าห่าเลือด ส่วนโรคระบาดเขาไม่เรียกว่าห่า แต่เรียกว่า ห้า ว่าเปนโรคซึ่งเกิดลุกลามโดยไม่มีเหตุผลปรากตไห้เห็น

กันเจียก ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะมาจาก ตรเจียก ไนภาสาเขมรซึ่งแปลว่า หู ตร เพี้ยนเปน กร ไป แล้วเพิ่ม ร แทน ะ จึงเกิดเปน กันเจียก ขึ้น เปนอย่างเดียวกับ กันไตร-กันไกร-ตะไกร กะจอน ไนภาสาภาคอิสานหมายความถึงตุ้มหูทั่วไป ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามนายสุด ถึงคำ กะจอน หรือ จอน ไนอิสานแปลว่าอะไร ก็ไม่ได้ความ ถ้า กันเจียก มาแต่ ตรเจียก แปลว่า หู จอน แปลว่าที่เสียบที่ทัดดังที่มีอยู่ไนไทยให่ กันเจียกจอน ก็น่าจะแปลว่าหู ตอนที่ไช้เสียบไช้ทัด ทั้งนี้เปนการคาดคะเนของข้าพระพุทธเจ้า การจะควนสถานไร แล้วแต่จะทรงพระเมตตา

ทวาราวดี หรือ ทวารวดี เปนคำที่สาสตราจารย์เซเดส ไห้ชื่อเรียกอานาจักรที่อยู่ไนแหลมอินโดจีน ตอนลุ่มน้ำเจ้าพระยา สมัยเมื่อพันปีกว่าก่อนที่เขมรมามีอำนาจ อานาจักรทวาราวดี ตามหลักถานไนศิลาจารึกที่ได้เขียนเปนอักสรมอ สาสตราจารย์เซเดสจึงลงความเหนว่า ชนชาติที่เปนให่ไนอานาจักรทวาราวดี เปนชาติพูดภาสามอณ แต่จะเปนชาติมอด้วยหรือไม่ ไม่มีหลักถานยืนยัน ส่วนที่ให้ชื่อว่าทวาราวดีอาสัยเอาตามเสียงจีนที่มีกล่าวไว้ ข้างจีนว่า ท่อล่อปัดตี้ หรือคำมีเสียงคล้ายดั่งนี้ สาสตราจารย์เซเดสว่า เสียงนี้ไกล้กับคำว่า ทวาราวดี เมื่อยังไม่มีหลักถานอย่างอื่นมายืนยันว่า อานาจักรที่กล่าวนี้เรียกว่าอานาจักรอะไร ก็จะขอไช้ว่า ทวาราวดี ไปก่อน คนที่อ่านเรื่องที่สาสตราจารย์กล่าวไว้ ไม่พิเคราะห์ไห้ถ้วนถี่ ก็เหมาเอาเปนแน่นอนว่า อานาจักรที่กล่าวนี้เรียกชื่อว่า ทวาราวดี ซึ่งทำให้สาสตราจารย์เซเดสต้องเดือดร้อนอยู่บ่อย ๆ ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่าสาสตราจารย์เซเดสเดาไม่ผิด เพราะเมืองทวาราวดีเปนเมืองอยู่ไกล้เมืองมัทราสของทมิฬ ได้ชื่อมาอีกต่อหนึ่งจากเมืองของพระกริสน์ ซึ่งอยู่ทางบอมเบย์ และซึ่งไนตำนานว่าถล่มและจมลงทะเลไปหมดแล้ว ดินแดนไนแหลมอินโดจีนตอนไกล้ทะเล ชนชาติอินเดียตอนไต้ ซึ่งไม่ไช่เชื้อชาติอริยะกะ มาอยู่ตลอดไป เพราะฉะนั้นที่มามีชื่อทวาราวดีอยู่ไนแหลมอินโดจีนก็ไม่แปลก ที่ทวาราวดีมาเรียกเป็นชื่อชะนิดพระพุทธรูป เพราะได้ขุดพบพระพุทธรูปมีลักสนะผิดกับพระพุทธรูปอื่นๆ ที่รู้จัก และพระพุทธรูปเหล่านี้ มีลักสนะคล้ายกับชะนิดพระพุทธรูปไนอินเดีย สมัยราชวงส์คุปต์ นักปราช์โบรานคดี จะเปนสาสตราจารย์เซเดส หรือผู้ไดไม่ทราบเกล้าฯ จึงไห้ชื่อชะนิดพระพุทธรูปนี้ว่า พระพุทธรูปสมัยทวาราวดี ซึ่งนับเปนชะนิดพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สุด ที่ขุดพบไนประเทศไทย พระพุทธรูปทวาราวดีตามที่ข้าพระพุทธเจ้าพอดูออก มักเปนพระพุทธรูปยืน และพระพุทธรูปนั่งอย่างฝรั่ง คือ นั่งห้อยพระบาททั้งสองข้าง ดังที่มีอยู่ที่ในวิหารข้างองค์พระปถมเจดีย์ และที่วัดหน้าพระเมรุกรุงเก่า

ข้าพระพุทธเจ้าได้วานเขาสอบถามเรื่องทูต คงได้ความตามที่เขาจดส่งมาไห้ข้าพระพุทธเจ้าดังต่อไปนี้

การตั้งทูตเป็นการประจำได้เริ่มปติบัติไนรัถบางรัถแห่งอิตาลี เช่น เวเนเซีย เป็นต้น ไนสตวรรสที่ ๑๕ แห่งคริสตสก คือภายหลังสมัยฟิวดัล แล้วต่อมาไนสตวรรสที่ ๑๗ ประเพนีนี้จึงได้แพร่หลายออกไปไนประเทสภาคเหนือของยุโรป สาหตุที่เกิดมีทูตเป็นการประจำขึ้นก่อนไนอิตาลีนั้น มีผู้สันนิสถานไว้หลายอย่าง ที่เป็นเช่นนั้คงจะเปนด้วยเหตุว่า ชาวอิตาเลียนมีชื่อเสียงว่า ชำนาไนทางเจรจาทางทูตนมนานมาแล้ว ทั้งนี้เกี่ยวกับนิสัยและอาจเป็นเพราะความจเรินได้เกิดขึ้นทางริมฝั่งทะเลกลางแถบนี้ก่อนที่อื่น ชาวอิตาเลียนจึงต้องเผชิกับชาวต่างประเทศมากกว่าที่อื่น ๆ จะเห็นได้เช่น Machiaveli ชาวอิตาเลียนผู้นี้ ได้มีชื่อโด่งดัง ไนทางพูดจาการทูตยิ่งนัก นอกนั้นก็มีคนสำคั เช่น Mazarin ชาวอิตาเลียนอีกคนหนึ่งซึ่งฝรั่งเสสถึงกับชักชวนเอาไว้ไช้ไนราชการแผ่นดิน ครั้งพระเจ้าหลุยที่ ๑๓ และ ๑๔ นอกจากนี้ก็มีสาเหตุอีกอย่างหนึ่งซึ่งควรจะประกอบกันด้วย คือรัถต่างๆ ไนอิตาลีนั้นมีอยู่มากหลายด้วยกัน และตามประวัติศาสตร์ ดูเหมือนรัถเหล่านี้จะอยู่นอกความครอบงำของการปกครองระบอบฟิวดัล ซึ่งมีอยู่ไนประเทศอื่นๆ ไนยุโรป รัถเหล่านี้ชิงดีกัน คอยระวังซึ่งกันและกันอยู่เสมอ เพื่อมิไห้รัถได้เป็นให่กว่ากันได้ สถานการน์อันนี้คงจะได้เป็นเหตุผลอันทำไห้แต่ละรัถมีความจำเป็นมากกว่าไนประเทศอื่นที่จะต้องส่งทูตออกไป คอยสืบสวนพรึตติการน์ภายไน และความสัมพันธ์ของแต่ละรัถกับรัถอื่นอยู่เป็นเนืองนิตย์ จนไนที่สุดจึงต้องตั้งทูตไว้เป็นการประจำทีเดียว เพราะintrigues ระหว่างจัด ไม่มีที่สิ้นสุด ต่างก็ต้องคอยระมัดระวังซึ่งกันอยู่ทุกเมื่อ

การไห้หรือขอหนังสือเดินทางนั้น หมายถึงการไห้หรือขออนุาตเดินทางกลับไปประเทศของทูต และตราบไดที่ทูตยังอยู่ไนดินแดนของรัถที่ตนประจำอยู่ ทูตย่อมต้องได้รับความคุ้มกันเสมอ จารีตประเพณีระหว่างประเทสอันนี้ยังคงเปนอยู่อย่างเดิม ที่ได้เกิดมีการปติบัติเป็นอย่างอื่นบ้างไนบางประเทสนั้น ควรถือว่าเป็นกรนีพิเสส เพราะมีความจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัยบางประการที่บังคับไห้ต้องกระทำเช่นนั้น

คำ ควินิน ไนภาสาอังกริสมีตัว คิว กับตัว ยู ควบกัน ที่เขียนคินิน เขียนตามเสียงเดิม เพราะต้นควินินนั้นภาสาของชาวปีรูไนอเมริกา ได้เรียกว่า คินา ชาวสเปเรียกเปน ควินา จึงได้ติดมาเปนคำ ควินิน ไนเวลานี้

ข้าพระพุทธเจ้าเคยเขียนเรื่องคำ แต่งงาน ไว้ไนหนังสือเรื่อง ไทย-จีน ว่าน่าจะเปนคำเดียวกับคำ ติ้นหงัน ไนภาสาจีน ติ้น แปลว่า การเซ่นบูชา หงัน แปลว่า ห่านป่า ตามประเพนีแต่งงานโบรานของจีนไนวันแต่งงาน เจ้าบ่าวต้องนำห่านเปนของคำนับ แล้วทำพิธีรินเหล้ารดห่านเปนการแสดงปติาว่า จะซื่อตรงเปนคู่ผัวเมีย ดั่งห่านป่าที่มีความซื่อตรงต่อกัน ฉะนั้น พิธีรินเหล้ารดห่านนี้ จีนเรียกว่า ติ้นหงัน เรื่องนกหงันหรือห่านป่าซึ่งซื่อตรงต่อกัน ทางคติอินเดียก็มีนกจากพราก ฝรั่งเรียกว่า Brahmin duck หรือเป็ดพราหมน์ เป็ดกับห่านก็เป็นพวกเดียวกัน กระทำไห้ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยว่า นกหงันกับนกจากพรากอาจเปนตัวเดียวกันก็ได้

เรื่อง ถนนสุริยวงส์ ข้าพระพุทธเจ้าได้พบพระยาประชา ฯ (ชุบ ว โอสถานนท์) นายกเทสมนตรี พระยาประชา ฯ ได้บอกแก่ข้าพระพุทธเจ้าว่าเปนผู้เปลี่ยนเอง เพราะรู้ดีว่า สุรวงส์ เปนถูก เพราะเจ้าพระยาสุรวงส์วัธนสักดิ์ ซึ่งเปนผู้ตัดถนน เปนพี่เขนของเจ้าคุณประชา ฯ เอง คือตัวเจ้าคุณประชาฯเองเปนน้องชายท่านผู้หิงตลับ

ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระเมตตา ขอประทานทราบเกล้า ฯ ถึงคำ บโทน เรื่องบโทนมีกล่าวอยู่ไนหนังสือพระราชนิพนธ์ พระราชพิธี ๑๒ เดือน อยู่หลายแห่ง ถ้าเดาความตามนั้น บโทน ก็เปนบริวารติดหน้าตามหลังของผู้มีบรรดาสักดิ์ ซึ่งต้องได้รับพระบรมราชานุาตไห้หรือกำหนดไว้ จึงมีบโทนได้ ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านเรื่องสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงติ นาย ก.ส.ร. กุหลาบ แต่เรื่องยสเจ้าฟ้าว่า มีคนถือบโทนเท่านั้นเท่านี้คน ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นมิต้องอุ้มคนกันหรือ ข้าพระพุทธเจ้าจำข้อความได้เงาๆ เพียงเท่านี้ สแดงว่าบโทนเป็นคนนั่งเอง ไนหนังสือเรื่องแผนที่เมืองนครสรีธรรมราชมีกล่าวถึงบโทนอยู่ ๒ แห่งว่า มหาดบโทนเลี้ยงม้าเลี้ยงช้างเปนอาตมประโยชน์ ไนที่นี้มีคำว่า มหาด อยู่ด้วย สแดงว่า มหาด คำเดียวก็มีใช้ นอกจากบโทนยังมีคำว่า สัตโทน เช่น สัตโทนคนไช้ติดหน้าตามหลัง มี ขุนหมื่นบโทน หรือ นายบโทน ดูความตามนี้ สัตโทนเป็นคนใช้ และมีขุนหมื่นเปหัวหน้าคนไช้ เรียกว่านายบโทน ไม่ไช่นายสัตโทน ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาที่มาของคำบโทนและสัตโทน ไนภาสามลายูและมอ ตลอดภาสาไนอินเดีย ก็ไม่ได้วี่แวว เป็นอันจนด้วยเกล้าฯ

ควนมิควนแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า <ย. อนุมานราชธน>

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ