๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส

สำนักนายกรัฐมนตรี

๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๔

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้า ได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านทบทวนเรื่องพระชัยที่ทรงพระเมตตาประทานมาหลายกลับเพื่อให้จำได้ เรื่องพระชัยหลังช้างทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงเรื่องในคัมภีรไบเบิล ว่าเมื่อชาติยิวออกรบ ต้องมีคนหามตาบาเกิลออกหน้าทัพ ตาบาเกิล ตามรูปที่เขาเขียนไว้ เป็นลักษณะเกี้ยวของจีน หลังคาคุ่มๆ ว่าเปนเทพคฤหของพระยะโฮวา ข้างในจะมีอะไรบรรจุอยู่ ข้าพระพุทธเจ้าก็จำไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าจำได้ว่าตาบาเกิลเป็นเครื่องหมายของพระเจ้า ทรงสัญญาว่าจะช่วยเหลือชาติยิว ซึ่งเป็นชาติเลือกสรรและโปรดปรานของพระองค์ ถ้านำออกหน้าทัพก็จะมีชัยชนะต่อสัตรู เมื่อเทียบความมุ่งหมายของตาบาเกิลกับพระชัยหลังช้าง หรือเอาพระชัยห่อผ้าขาวม้าผูกคอทนายนำไป ก็ลงใจความเดียวกัน คือใช้เป็นเครื่องรางเพื่อให้อุ่นใจ ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นพระพุทธรูปมารวิชัยบ่อย ๆ และเคยนึกเสียว่า ที่สร้างพระพุทธรูปปางนี้กันมาก ก็เพราะมีชื่อว่าชนะมาร หาได้เฉลียวคิดไปว่าพระชัยกับพระมารวิชัยจะเป็นอย่างเดียวกัน หากเรียกแยกในเมื่อใช้ออกทัพหรือประดิษฐานไว้บูชา ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ได้ความว่าพระพุทธรูปพระชัยมีผู้นิยมสร้างกันมาแต่ก่อน และเป็นองค์เดียวกับพระมารวิชัย คติเรื่องนิยมนับถืออะไรต่าง ๆ อย่างเรื่องพระชัยนี้ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่ามีทั่วไปในหมู่มนุษย์ที่ยังไม่เจริญและที่เจริญแล้ว เป็นเรื่องน่าศึกษาอยู่มาก ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านเรื่องความเป็นอยู่ของชาวพะม่า ชื่อเซอร์ยอชสก๊อตเป็นผู้แต่ง รู้สึกว่าธรรมเนียมประเพณีและความคิดอ่าน ตลอดจนความเป็นอยู่ของพะม่าไม่ผิดอะไรกับไทย กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกฟุ้งซ่านไปถึงเรื่องธรรมเนียมของไทยชาวบ้าน ซึ่งนับวันจะเปลี่ยนแปลงไป ถ้าไม่รีบรวบรวมไว้ ต่อไปก็ศูนย์ ข้าพระพุทธเจ้าพบใครที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นโอกาสก็สอบถามจดรวบรวมเอาไว้ ลางเรื่องที่ได้ไว้ ก็อาจมองแลเห็นความเป็นไปในครั้งโบราณได้ดี ข้าพระพุทธเจ้าจึงมุ่งหมายไว้ว่าจะเขียนแซกเรื่องเกิด แต่งงาน ตาย ที่ข้าพระพุทธเจ้าเขียนเป็นรูปขึ้นไว้แล้ว โดยเล่าถึงเรื่องความเป็นอยู่ของไทยเมื่อเด็ก เมื่อเรียนหนังสือ เมื่อบวช เมื่อมีครอบครัวแล้ว และอะไรเหล่านี้ต่อไป

เรื่องคำเติมหน้ากลางหลัง ซึ่งเมื่อเติมแล้ว ในภาษาไทยลางคำ มีความผิดกัน ลางคำก็ไม่ผิดกัน คิดด้วยเกล้าฯ ว่าภาษาไทยใช้เอาคำโดดที่มีความเต็มในตัวมาผสมกันให้เกิดความหมายต่างออกไป เมื่อมาได้คำในภาษาตระกูลมอญ-เขมร และตระกูลชวามลายู ซึ่งมีวิธีมีเสียงสำหรับเติมหน้ากลางหลัง เอามาติดต่อเข้ากับคำมีความเต็ม ก็ไม่สู้พิถีพิถันในเรื่องเหล่านี้นัก ความจึงเป็นอย่างเดียวกัน เช่น เจริญ เป็น จำเริญ จะมีผู้ใช้ถูกก็แต่ผู้รู้ แต่สู้พวกไม่รู้ไม่ได้เพราะมีมากกว่า และชินต่อหลักเดิมในภาษาไทย แล้วความสับสนจึงเกิดขึ้น ที่เอาแนวเทียบของวิธีเติมเสียงอย่างนี้ ไปใช้เติมคำอื่นทั้งที่เป็นคำเขมรและที่เป็นคำไทย เพื่อประโยชน์ของเสียงในเวลาแต่งกลอน โดยไม่นึกความว่าถ้าเติมเสียงเข้าไป ความจะต้องเปลี่ยนไป ส่วนเขมรในตอนหลังได้คำไทยไป ก็อาจจำเอาไปเติมเสียงใช้ให้เข้าหลักของเขมร แล้วไทยได้กลับคืนมาอีกที หรือคำไทยเติมเอาเอง แล้วเขมรยืมเอาไปใช้อีกที เรื่องจึงยุ่งยาก มีคำปะปนกันหมด ข้าพระพุทธเจ้าเคยสอบถามมหาฉ่ำว่าคำนี้คำนั้นเป็นคำของเขมรหรือไม่ มหาฉ่ำก็ตอบได้เพียงว่าคำนี้ในเขมรก็มี คำนั้นในเขมรไม่มี ไม่กล้ายืนยันเหมือนก่อน เพราะมหาฉ่ำรู้กว้างขวางออกไปแล้วว่า คำพูดในภาษาต่าง ๆ ในแหลมอินโดจีนปนกันยุ่ง จะยืนยันว่าคำใคเป็นคำของภาษาใดมาแต่เดิมไม่ได้เสมอไป พระสารประเสริฐเคยรวบรวมวิธีเติมหน้ากลางหลังของคำ ซึ่งเรียกว่า คำแผลง แล้วมอบให้ข้าพระพุทธเจ้าไว้นานมาแล้ว ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทำอะไร เพราะในนั้นไม่ได้พูดถึงเหตุผลว่าทำไมจึงต้องเติมเสียงอย่างนั้น เป็นแต่รวบรวมรูปที่จะแผลงได้ว่ามีอยู่กี่อย่างเท่านั้น ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่ามาบัดนี้ พอที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้แล้ว แต่ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้แต่นึกไว้เท่านั้น หาโอกาศที่จะทำเป็นงานเป็นการจริงจังยังไม่ได้ แต่ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่ทิ้งในเรื่องที่นึกมุ่งหมายไว้ เพราะในที่สุดก็อาจทำได้สำเร็จในภายหลัง ซึ่งเป็นผลเกิดขึ้นได้เองโดยที่ไม่นึกคาดหมายไว้ก็ได้

คำอร ข้าพระพุทธเจ้าลืมถามมหาฉ่ำว่าเป็นคำมาจากเขมร หรือว่าเขมรเอาไปจากไทย เพราะวิธีสกดในแม่กน ทางอีศานชอบใช้ ร สกด ซึ่งคงได้อิทธิพลมาจากเขมร ในภาษาไทยใหญ่ อ่อน แปลไว้ว่า เด็กคนใช้ ทนายหรือคนใช้ของข้าราชการ ข้าพระพุทธเจ้าเคยพบในภาษาไทยถิ่นหนึ่ง แต่ค้นหาอีกไม่พบว่าอยู่ในหนังสืออะไร เรียกลูกอ่อนว่า ละอ่อน ลูก เสียงกร่อนเป็น ละ ไป แล้วเสียงคงจะไปกลมกลืนเข้ากับ อ่อน เกิดเป็นคำ หล่อน ตรงกันกับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ว่า หล่อน มาแต่ ลูกอ่อน คำว่า อ่อน และ หล่อน จะย้ายความมาเรียกผู้ที่น่ารักน่าใคร่อีกชั้นหนึ่ง

ตำรานิรุกติศาสตร์ของฝรั่ง ข้าพระพุทธเจ้าเริ่มอ่านในครั้งแรกก็ไม่เข้าใจ เพราะเป็นเรื่องกล่าวถึงหลักในภาษามีวิภัตติปัจจัย ซึ่งเป็นภาษาของเขาเป็นส่วนใหญ่ ผู้ไม่มีความรู้ภาษากรีก ละติน และสํสกฤต ก็ลำบาก ทั้งตำราที่ดีๆ ก็เป็นภาษาเยอรมัน ข้าพระพุทธเจ้าเพียรอ่านอยู่หลายปี เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง เมื่ออ่านเข้าใจแล้วก็ได้แต่นำหลักทั่ว ๆ ไป เอามาปรับเข้ากับภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษามีหลักภาษาตรงกันข้ามภับภาษามีวิภัตติปัจจัย ส่วนที่ยังอ่านไม่ออกมีอีกมาก และที่ยากที่สุดก็คือเรื่องความหมาย เพราะเขาว่าภาษาไม่ใช่อยู่ที่คนพูดและคนฟัง และไม่ใช่อยู่ที่คำพูดหรืออยู่ที่ตัวหนังสือ แต่อยู่ที่ความคิด ซึ่งผู้ต้องการจะบอกแสดงออกมาโดยใช้เสียง หรือตัวหนังสือ หรือสิ่งใดเป็นอาณัติสัญญาณส่งไปให้อีกผู้หนึ่ง แล้วผู้นั้นใช้หูหรือตารับอาณัติสัญญาณนั้นเข้าไปสู่ความคิดของตน ถ้าผู้ส่งและผู้รับอาณัติสัญญาณตรงกัน นั่นคือภาษา เพราะฉะนั้นความหมายเป็นเรื่องที่รู้ล่วงหน้าไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่าผู้ใช้จะส่งเป็นอาณัติสัญญาณมาอย่างไร และผู้รับจะรับอย่างไร คำที่มีอยู่ในพจนานุกรมก็เป็นแต่ความหมายโดด ๆ ที่นำเอาไปใช้ในภาษาเท่านั้น ยังไม่ใช่ภาษาโดยตรง จะเป็นภาษาก็ต่อเมื่อนำเอาไปใช้ในลักษณะความหมายไหน

เรื่องเสียง ว ในภาษาสํสกฤตและบาลีมากลายเป็นเสียง พ ในคำที่ไทยยืมมาและลางคำก็มีความหมายเพี้ยนกันออกไป คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะติดมาแต่อินเดีย เพราะภาษาถิ่นต่าง ๆ ในอินเดีย เสียง ว เพี้ยนเป็น พ อยู่หลายถิ่น เช่น ในภาษาชาวเบงคาลี เทวี ก็เป็น เทพี และคำอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน แล้วไทยจะได้หลักนี้เป็นแนวเทียบมาแปลงเสียง ว เป็น พ ในคำอื่นด้วยอีกชั้นหนึ่ง คำจึงเกิดสับสนเป็นทำนองเดียวกับคำเดิมหน้ากลางหลัง

เสียง ร ในพม่าเป็น ย เคยทำให้ข้าพระพุทธเจ้าฉงนอยู่บ่อยๆ เช่น ราม ก็เป็น ยาม ฤษี ก็เป็น ยสี ทุเรียน เป็น ตูเยน ในภาษาไทยก็มีคำ รุ่มร่าม ยุ่มย่าม

เรื่องเสียง อึ อือ เออ ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามเขมร ก็อ่านเป็นต่าง ๆ กัน เช่น ผลึก ก็ว่าอ่านเป็น ผเลิก ศึกษาก็เป็น เศกษา แต่ อัศวนิก เป็น อัศวนึก ที่อ่านเป็นต่าง ๆ สงสัยว่าจะเนื่องด้วยเสียงแวดล้อมในคำนั้น แต่ข้าพระพุทธเจ้ายังซักมหาฉ่ำไม่ได้ตลอด เสียง อึ จะเป็นของภาษาใด ข้าพระพุทธเจ้าจะต้องค้นคว้าต่อไป

เรื่องพูดเรว คิดด้วยเกล้าฯ ว่า เป็นลักษณะของภาษาอินเดียและภาษาบาลี สํสกฤต ตรงข้ามกับภาษาไทย เช่นคำ ท่าอุเทน ถ้าเป็นบาลีและสํสกฤตก็จะต้องให้เสียง อา ในคำ ท่า กับเสียง อุ ในคำ อุเทน เชื่อมต่อกันเป็นสนธิไม่ยอมให้มีเสียงว่างขาดตอนในระหว่างคำ ท่า และ อุเทน ถ้าเสียงสนธิกันก็จะเป็น เทาเทน หรือ โทวเทน สุดแล้วแต่จะเน้นเสียงหนักในคำหน้าหรือคำหลัง เหตุนี้ในภาษาบาลีและสํสกฤตจึงต้องมีหลักวางกำหนดเรื่องเสียงกลมกลืน คือ หลักสนธิขึ้นไว้ในไวยากรณ์ ส่วนไทยไม่มีเช่นนั้น เพราะไว้ระยะช่องว่างระหว่างคำ เสียงจึงไม่สู้สนธิกัน เรื่องเสียงสนธิกัน ในตำรานิรุกติศาสตร์แบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะ ถ้าเสียงตัวหน้าลากเอาเสียงตัวหลังไปเข้าพวก เช่น สิบเอด เป็น สิบเบด หนวกหู เป็น หนวกขู (ก + ห = ข) เรียกว่ากลมกลืนเสียงไปข้างหน้า ถ้าเสียงตัวหลังลากเอาเสียงตัวหน้ามา เช่น มนิลา เป็น มลิลา อมาตย์ เป็น อำมาตย์ เต้าเจี้ยว เป็น เจ้าเจี้ยว เรียกว่ากลมกลืนเสียงไปข้างหลัง ถ้าเสียงต่างลากกัน เช่น ฉันใด เป็น ไฉน คนไร เป็น ใคร กำแหงพระราม เป็น กำแพงพราหมณ์ เรียกว่ากลมกลืนเสียงกันหมด ถ้าเสียงที่ลากเอาไปในลักษณะทั้ง ๓ ที่กล่าวมานี้ เป็นแต่เสียงในอักษรวรรคเดียวกัน เช่น บังควร สัญจร บันดาน เรียกว่ากลมกลืนเสียงเพียงลางส่วน ลางคำ เช่น ชักะเย่อ เป็น ชัคะเย่อ เป็นเพราะเสียง ย ลากเอาเสียง กะ เป็น ค เพื่อให้เสียงอ่อนเข้ากัน เสียงพยัญชนะในวรรค จ ก็เป็นเสียงพยัญชนะสองตัวกลมกลืนเสียงกันคือ ตย=จ ถย=ฉ ดย=ช นย=ญ คำ ตยาคี ว่าแผลงไปจากคำ จาคี ถ้าอ่านอย่างไทยก็เป็น ตะยาคี เพราะทิ้งช่องว่างไว้ในระหว่าง ต กับ ย ถ้าแขกอ่านก็เป็น จาคี เพราะไม่ไว้ช่องว่าง

คำสํสกฤต ไม่สู้ปรากฏว่ามีคำมีตัวสกดตัวเดียวเหมือนไทย ต้องมีตัวตาม เช่น ยุกติ นิรุกติ อัคนี คิดด้วยเกล้าฯ ว่า จะอ่านให้เป็นเสียงอุบอยู่ดั่งในแม่ กก กด กม อย่างไทยไม่ได้ ถ้าอ่านก็ต้องมีเสียงวิสรรคออกมานิด ๆ อย่างอังกฤษออกเสียงเช่น ปิด ในภาษาไทย ก็จะเป็น ปิดะ เพราะฉะนั้นในภาษาสํสกฤตจึงต้องมีเสียงตามอีกตัวหนึ่งเป็นเครื่องช่วย ให้ออกเสียงอุบของตัวสกดได้ พอถึงในบาลี คำที่มีตัวสกดและมีตัวตามเป็นคนละฐานกรณ์ ลิ้นคงจะกลับไม่ทัน ยุกติ จึงเป็น ยุตติ นิรุกติ จึงเป็น นิรุตติ อัคนี จึงเป็น อัคคี เป็นเรื่องกลมกลืนเสียงไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึงเห็นว่า เมือถ่ายเสียงคำบาลีและสํสกฤตมาเป็นไทย ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีตัวสกดซ้อน เพราะไทยออกเสียงอุบได้อยู่แล้ว เว้นแต่เป็นคำสนธิกัน เช่น กิจจานุกิจ ถ้าใช้ จ เดียว เป็น กิจานุกิจ อาจออกเสียงเป็น กิ-จา ได้ แต่ก็มีคำ ปัญญา ซึ่งโบราณเขียนเป็น ปัญา ก็มี ลด ญ หนึ่ง

เรื่องเสียง ฟ มีอยู่ในภาษาใดบ้าง ข้าพระพุทธเจ้าระลึกได้ว่า ดูเหมือนมีหนังสืออังกฤษเล่มหนึ่งว่าด้วยเสียงของภาษาตาดและภาษาจีนครั้งโบราณ เป็นหนังสือหายาก แต่มีอยู่ในห้องสมุดจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยอยู่เล่มหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าจะไปค้นแล้วกราบทูล เพื่อทรงทราบภายหลัง

ที่ทรงเห็นว่า ฟ้า และ ฝา จะเป็นคำเดียวกัน ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริด้วย มีคำอยู่หลายคำคือ ฝา ฝ่า ฝ้า ฟ้า ผ้า ซึ่งมีเสียงใกล้กัน และความหมายก็ไปในทางเดียวกัน เป็นเรื่องกั้นเรื่องบังทั้งนั้น ในอนันตวิภาคกล่าวไว้ว่า ฟ้า กับ ฝ้า เป็นคำเดียวกัน ในตำรานิรุกติศาสตร์ให้กำหนดไว้ว่าคำซึ่งมีเสียงคล้ายคลึงกัน ความหมายก็ย่อมใกล้กัน ส่วนมากเนื่องมาแต่คำใดคำหนึ่งก่อน แล้วก็แปลงเสียงคำนั้นให้เพี้ยนออกไป เพื่อให้มีคำงอกขึ้นสำหรับใช้กับสิ่งซึ่งมีความหมายในลักษณะเดียวกัน ในภาษาใช้คำโดดอย่างภาษาจีน ภาษาไทย มีคำพวกที่เสียงและความหมายคล้ายคลึงกันอยู่มาก เช่น อิ่ม เอม เอือม หยำ หนำ หรือคำในพวกติดกั้น เช่น กัน คัน กั้น ดังที่ทรงสันนิษฐานมาแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเคยเก็บคำที่ขึ้นต้นด้วยเสียง ง พบแต่คำที่มีความหมายไม่ตรงทั้งนั้น เช่น งอ โงเง งู งอนโง้ง เป็นต้น คำที่มีสระเอก็เช่นเดียวกัน เป็น เก เข เค้ เหล่ เย้ รวนเร เป็นต้น เป็นเรื่องน่าคิดว่าคำในภาษาไทยจะเกิดมีคำใช้ขึ้นมาก ก็ด้วยแปลงเสียงของคำใดคำหนึ่งเป็นตัวตั้ง แล้วแจกลูกออกไป

ในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ เรียกเมฆฝนว่า ฝ้าฝน หรือ ผ้าผน ทั้งนั้น หมายความว่า ฝ้า ที่เกิดจากฝนปิดบัง เมื่อมานึกถึงคำว่า ฟ้าฝน ซึ่งเป็นคำคู่ ของฟ้าหรือฝน ความก็แน่นขึ้นในเรื่องที่ว่า ฟ้า กับ ฝ้า จะเป็นคำเดียวกัน ฝ้า ถ้าออกเสียงอย่างอีศานก็เพี้ยนเป็นเสียง ฝ่า กลาย ๆ ฝ่า กับ ฝ้า ก็คงมาจากคำเดียวกัน ส่วน ฝ้า ถ้าออกเสียง ฝ ไม่ได้ ก็จะกลายเป็น ผ้า ไป ฝ่า ที่ใช้เป็นกิริยา เช่น ฝ่าไป ก็คงบุกเข้าไปในที่ซึ่งมีอะไรกั้นขวางหน้าอยู่ ไทยใหญ่ใช้คำ ผ้า (ฝ้า) ประกอบกับคำอื่น เช่น ม่าน เรียกว่า ฝ้ากั้ง ทางพายัพและอีศานก็ใช้ ฝ้า ในความที่หมายถึง ม่าน ส่วน ฝา ไม่มีใช้ ฝ้า กับ ฝา อาจเป็นคำเดียวกันหากเพี้ยนเสียงไป คำ ฝังฝา ก็คงหมายความ ฝังที่เป็นฝาหรือผ้ากั้นไว้ แต่แยกเอา ฝ่า มาใช้กับเรือน แล้วก็เรียกพื้นเรือนที่ปูด้วยไม้ไผ่ทุบว่า ฟาก ถ้าเทียบ ฝั่ง กับ ฟาก ก็น่าจะเป็นคำเดียวกัน คำว่า ม่าน ที่ไทยใหญ่พายัพและอีศานใช้ว่า ฝ้า พอถึงคำ ม่าน ไทยใหญ่หมายความว่า แว่น เช่น ม่านตา คือ กระจกแว่นตา ม่านไฟ คือ แว่นขยายที่ส่องในแดดเกิดเป็นไฟได้ ม่านผีหลู (ดู) กล้องจุลทัศน์ ในภาษาจีน หม่าน หมายความถึงผ้าที่กั้น เป็นความหมายตรงกับที่ไทยกลางใช้อยู่ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ม่าน จะเป็นคำได้มาจากคำจีน เป็นเรื่องเกี่ยวกับชื่อของใช้ที่เกิดขึ้นภายหลัง เมื่อชาติใดมีมาก่อน ชาติที่ยืมเอามาใช้ก็เรียกชื่อตามคำของเจ้าของเดิม เหตุนี้ในไทยใหญ่คำ ม่าน จึงมีความหมายไปอีกทางหนึ่ง การยืมคำชนิดนี้กันใช้ ในตำรานิรุกติศาสตร์เรียกว่า cultural borrowing

คำ เมฆ ในภาษาไทยเดิมแยกใช้ว่า ฝ้าฝน คือ เมฆฝน ถ้าถึงคำว่า เมฆ ที่ไม่ใช่ฝน ไทยใหญ่และพายัพใช้ว่า หมอก ผิดกับไทยกลางที่หมอกเป็นไอน้ำที่เห็นขาวในเวลาเช้าอยู่เรี่ยพื้นดิน ที่จริงเมฆที่ลอยอยู่เตี้ยๆ อยู่ตามยอดเขากับหมอกที่อยู่ต่ำลงมาก็จะเป็นพวกเดียวกัน ส่วนน้ำค้างในไทยใหญ่เรียกว่า นาย น่าปลาดมากที่คำนี้ไม่มีอยุ่ในคำของพายัพและอีศาน ซึ่งจะใช้คำ เหมย แทน แต่คำ เหมย นี้ไทยใหญ่เขียนเป็น หมุญ แต่อ่าน เหมย (เพราะมี ญ สกดทำให้เสียงค้างในจมูก) หมายความถึงน้ำค้างที่ตกลงมาแขง (frost) ทั้งนี้จะเป็นเพราะไทยเดิมอยู่ในถิ่นหนาว จึงมีคำเรียกน้ำค้างแขง ส่วนน้ำค้างธรรมดาอาจเรียกว่า นาย เมื่อไทยที่ลงมาอยู่ในแหลมอินโดจีน อากาศร้อนกว่า น้ำค้างแขงจะไม่มี ก็นำเอาคำ เหมย มาใช้เรียกน้ำค้างธรรมดา พอถึงไทยกลางก็ลงมาอยู่ต่ำในที่ร้อน น้ำค้างก็คงมีลักษณะต่างกับตอนเหนือ เลยเลิกใช้คำ เหมย เปลี่ยนเป็นคำผสมเอาใหม่ ว่าน้ำค้าง ส่วน นาย คงเหลือค้างอยู่ในคำคู่ว่า แดดนาย เท่านั้น

คำ ตรา จะเป็นภาษาใดไม่ทราบเกล้า ฯ มีอยู่ในภาษามอญ แปลความอย่างเดียวกัน ในอาหมก็มีคำ ตรา แปลว่า เงินตรารูปี เป็นชนิดคำมีความหมายเคลื่อนไปจากความหมายเดิมแล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ