๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๘๕

นายยง อนุมานราชธน

ได้เหนหนังสือพิมพ์ ว่าท่านเลื่อนเปนอธิบดีกรมศิลปากร ก็นึกดีใจ เหลืออย่างเดียวแต่ว่าจะแน่หรือไม่เท่านั้น แต่ทีหลังได้ความว่าแน่ ก็ทำให้ดีใจยิ่งขึ้น ได้นึกตั้งใจให้ท่านทำการสำเร็จไปทุกอย่างเถิด

นึกถึงการให้พรแก่กันนั้นเปนโคมลอยใบเขื่องที่สุด ให้ในสิ่งที่ให้ไม่ได้ จะมีประโยชน์อะไร ตกลงว่าคำให้พรก็เปนคำแสดงความดีใจเท่านั้น

นึกถึงความเคลื่อนไปของคำก็ให้เหนขัน เช่น ยินดี ก็เข้าใจกันเปนว่าดีใจ แต่ที่จริงหาใช่ไม่ เปนคนละคำ ยินดี เปนได้ยินข่าวดี แล้วก็นึกไปถึงคำบาลีที่ว่าโอนเอามาเปนคำไทย ก็นึกที่สงสัยได้ ๒ คำ คือ

(๑) นัยน์ตา แปลว่า ตาตา จะมีประโยชน์อะไร

(๒) ยานัดถุ์ ไม่รู้คำ นตฺถุ จึงเปิดดูพจนานุกรม เหนเขาแปลไว้ให้ว่า จมูก ถ้าเขียน ยานัดถุ์ และถือเอาว่าเปนยาจมูกแล้ว ถ้าพูดกลับ เปน นัดถุ์ยา ก็ทีจะไม่เปนภาษา คำ นัด จะไม่ตรงกับ นตฺถุ ในภาษาบาลี กระมัง แล้วได้นึกถึงอื่นๆ ก็มีคำ นัด อย่างอื่นอยู่ด้วย ซึ่งจะเข้ากันไม่ได้กับ นตฺถุุ

ทีนี้จะพูดถึง คำคู่ เรามักติดปาก ไม่ได้คิดถึงความ เช่น ช่วย ก็ต้องมีเหลือ หนัก ก็ต้องมี หน่วง ลอง ก็ต้องมี ทด นี่เปนอย่าง ที่จริงคำทั้งคู่นั้น เปนความต่างกัน ลางแห่งจะใช้ด้วยกันก็เห็นขัดอยู่

ตามอักขรวิธีนั้น ไม้ไต่คู้ ไม่จำเปนต้องมี เช่น เปน เหน ก็ทำให้เปน เปะ เหะ เสียก่อน เนื่องไปถึง เงิน ก็จะต้องทำให้เปน เงอะ เสียก่อน แล้วจึงสกด อะไรที่เปนอย่างนี้มีหลายอย่าง จะอย่างไรก็ดี ที่เขียน คน จะต้องเปน โคะน นั้นอาการหนักอยู่มาก นี่ว่าตามทาง แบบเรียนเร็ว ส่วนแบบเงียนเก่า เช่น มูลบทบรรพกิจ เปนต้น นั่นก็เปนไปอย่างหนึ่ง ห้ามคำตายไม่ให้ผัน แต่คนก็เขียนคำตายผัน เช่น ค่ะ เปนต้น ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีหนังสือ ที่จะเขียนให้ได้เหมือนพูด แท้จริงผู้เขียนก็ไม่ได้ตั้งใจจะขัดขืน แต่เพราะแต่งหนังสือเปนคำพูดจึงต้องฝืนไป ความจริงแม้คำตายก็อ่านไม่เหมือนกัน เช่น กุแหละ กุก่อง กุศล เปนตัวอย่าง เขียนอย่างเดียวกันแต่อ่านผิดกันทั้งนั้น ทำให้เหนชอบด้วย ว่าผันคำตายก็ควรอยู่ เมื่อรุ่นหนุ่มก็เคยได้ยินพูดกันถึงคำ อวก และ อ้วก ก็ไม่สามารถจะโต้ตอบอย่างไรได้ คิดดูทั้งนั้นทั้งนี้ก็มิใช่อะไร เปนด้วยบัญญัติถี่ถ้วนขึ้น การบัญญัติก็ไม่ได้ตริตรองไปให้รอบ แต่ที่แท้การบัญญัตินั้นก็เปนไปด้วยความเปนไปบังคับ เช่นมีโรงเรียนขึ้นเปนต้น จำจะต้องสอนเด็กให้อ่านอยู่ที่ แม้ทุกวันนี้ก็มีอ่านผิด ตัวอย่างก็เช่น พิเศษ ที่สอนกันในโรงเรียน แม้จะอ่านที่ผันได้ก็คล้าย พี้เศษ แต่ที่พูดกันเปน พี่เศษ ผิดกันมาก ถ้าว่าที่แท้จะต้องอ่าน พ หา พิ (พี่) พี ไม่ใช่ พิ (พี้) เหมือนที่ท่านปรารภว่า กิน กีน ควรจะอ่านเปน กิ๋น กีน ฉันก์รับรองว่าเมื่อเล็ก ๆ อ่านหนังสืออยู่ที่เรือน เขาก็สอนให้อ่าน กน กั๋น กาน กิ๋น กีน

ที่จริงถ้อยคำนั้นซุกซิกมาก แต่คนที่ไม่ได้ใส่ใจก็คิดไม่เหนว่าซุกซิก

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ