๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๖ ยส

กรมสิลปากร

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2486

ขอประทานกราบทูล ซงซาบไต้ฝ่าพระบาท

เรื่องที่มาของฉพรรนรังสี ข้าพระพุทธเจ้าได้ความรู้มาจากนายเฟโรจีว่า แสงสว่างของดวงอาทิจนั้น ประกอบด้วยรัสมีเปนสีต่างๆ เมื่อเข้ารวมทอกัน จะเห็นเปนสีขาวดังที่เห็นกันหยู่ สีที่เปนหลักของรัสมีอาทิจได้แก่ สีแดงชาด สีส้ม (หงสบาท) สีรงค์ สีเขียว สีคราม และ สีม่วงคราม รวมเปน 6 สี ด้วยกันโดยลำดับ คิดด้วยเกล้าฯ ว่า นี่เองคือ ฉพรรนรังสี สีทั้ง 6 นี้ เปนแม่สีธัมคา (Pigmentary Primaries) คือ แดง คราม และ รงค์ อีกสามสีคือสีส้ม สีเขียว และ สีม่วงคราม เปน Complimentaries ซึ่งข้าพระพุทธเจ้า เรียกว่า คู่สี ของแม่สีทั้งสามโดยลำดับ คือ

สีส้ม คู่สีของแดง (แดง+รงค์)

สีเขียว คู่สีของรงค์ (คราม+รงค์)

สีม่วงกรม คู่สีของคราม (คราม+แดง)

ขนะเมื่อแสงสว่างส่องลงมาจับบนวัตถุที่มีสี จะปรากตเห็นสีที่แท้ของวัตถุนั้น เพราะสีนั้นรับสะท้อนจากรัสมี (Reflects) ของแสงสว่างซึ่งเปนสีเดียวกัน และไนขนะนั้นเอง รัสมีที่ประกอบเปนคู่สีของมันส่วนไดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมด จะเกิดทอแสง (Absorbs) กันเปนต้น สีขาวจะรับสะท้อนจากรัสมีทั้งหมด ส่วนสีดำไม่รับ สะท้อนจากรัสมีสีไดเลย (คือเปนสีตาย) เมื่ออ้างถึงแม่สี จะสังเกตได้ว่า เช่น

สีคราม รับสะท้อนจากรัสมีของสีคราม และทอแสงสีแดงและสีเหลืองซึ่งผสมกันเข้าจะเปนสีส้ม สีส้มจึงเปนคู่สีของสีครามเปนต้น

แม่สีอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า แม่สีสเปกตวัม (Spectrum-Primaries) คือสีที่ลอดเข้าไปไนแท่งแก้วสามเหลี่ยม) ได้แก่สีแดง (หงเสน) สีเขียว มรกด และสีม่วงคราม ด้วยการปนกันไนตัวแห่งรัสมีแสงสว่างนี้เองที่ทำไห้เหนธัมชาติเปนสีต่าง ๆ ไนท้องฟ้า เพราะด้วยเหตุที่แม่สีสเปกตรัมทั้งสามนี้ เกิดขึ้นจากแม่สีธัมดาอันเดียวกัน ฉะนั้น เมื่อเอามาผสมกันเข้าจะได้สีกลาง (Neutral) ซึ่งเปนสีซึ่งอธิบายไม่ได้ว่าเปนสีอะไร

ไนธัมชาติสีเหลืองนั้น คือ ผลอันเนื่องมาจากรัสมีของสีแดงและสีเขียวปนเข้ากัน ถ้ารัสมีแดงมากกว่ารัสมีสีเขียว ผลของแสงก็จะเปนสีส้ม ถ้าเขียวมากกว่าก็จะเปนสีเหลืองแกมเขียวดังนี้เปนต้น สีครามก็คือการปนกันของรัสมีม่วงครามและรัสมีสีเขียวเปนต้น ถ้าเขียวมากกว่าก็เปนครามแกมเขียว ดั่งนี้เปนต้น

ช่างเขียนเมื่อระบายสี พยายามผสมสีตามลักสนะธัมชาติ แต่เมื่อผสมสีแดงกับสีเขียว หรือสีม่วงครามกับสีเขียว กลับได้เปนสีกลาง ดั่งนั้นเขาจึงระบายสีด้วยวิธีทำไห้เปนจุดเล็กๆ การระบายเช่นนี้เรียกว่า Pointillism คือระบายเปนจุด ๆ ไม่ให้สีละลายผสมกัน

ในกดหมายเก่ามีข้อความหยู่แห่งหนึ่งว่า ไห้ตรวดเอาพร้าขอกะตร้อน้ำ จงทุกที่พนักงานไห้สรรพไว้ คำว่า กะตร้อน้ำ ไนที่นี้คือ ตะกร้อ เปนคำกลับเสียง ต เปน ก ไนปทานุกรมอธิบายว่า เปนตะกร้อสำหรับตักน้ำดับเพลิง แต่มีผู้ทักว่า ไม่ไช่เช่นนั้น ได้ซาบมาจากชาวกำแพงเพชรว่า ตะกร้อนี้ใช้ไส่ผ้าเปียกสำหรับดับไฟ ได้ข้อความเพียงเท่านี้ ซึ่งไม่ชัดนัก ต่อมาข้าพระพุทธเจ้าได้ข้อความ มาจากพระเทวา ฯ ว่า เรือนแต่ก่อนมักทำเปนง่ามไว้บนหลังคา ตอนเหนือจั่วทั้งสองด้าน สำหรับตั้งหม้อน้ำดับไฟที่จะลุมาติดหลังคาไนเมื่อมีไฟไหม้มาแต่เรือนอื่น เมื่อเกิดไฟไหม้ก็จะมีคนขึ้นไปนั่งคร่อมหยู่บนอกไก่ไกล้ๆหม้อน้ำข้างละคน มีไม้ด้ามยาว ปลายไม้สานเปนรูปตะกร้อ เอาผ้าชุบน้ำพันไว้รอบ เมื่อลูกไฟปลิวมาติดหลังคาก็ยื่นตะกร้อน้ำไปดับ เพราะกลิ้งคลึงบนหลังคาได้สดวกดีกว่าสาดน้ำขึ้นไปเพราะสาดไม่ถึง หรือน้ำอยู่ห่างไกลเปนต้น ถ้าไฟลุกหรือเห็นว่าดับไม่ไหว คนหยู่ข้างล่างก็ไช้ขอกะชากหลังคาให้หลุดออกมา

ควนมิควนแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า ย.ส. อนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ