๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๘๔

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ได้รับแล้ว

การปูเครื่องลาดรับรอง เคยได้ยินสมเด็จพระปกเกล้าตรัสเล่าถึงเสด็จไปเกาะฮอนะลูลู ว่าที่นั่นเขาใช้ใบตองลาดต้อนรับ คิดคูก็จะเปนประเพณีเก่าซึ่งเหมือนกันทั้งโลก ที่ไหนยังไม่จำเริญพอที่จะทำของแทนขึ้นได้ ก็ใช้ของธรรมดาไป หรือจะหัวเห็ดถืออย่างเก่าไปก็ตามแต่ใจชอบ ที่คิดแปล กะละบาด เปน กาลาบัตร นั้นก็แปลไปตามเสียง จะถือเอาว่าเปนถูกก็ยาก ตามที่ท่านว่าเคยเห็นหนังสือกล่าวถึง การรับแขกเมืองมีกองกะละบาดด้วยนั้นถูกแล้ว ที่ฉันบอกถึงการพิธีบรมราชาภิเษกนั้นเปนแต่ตัวอย่าง ที่แท้มีหลายอย่าง ดูทีจะเปนยศด้วย ต่อเปนการใหญ่จึงมีกองกะละบาด ถ้าเปนยศน้อยก็ไม่มี แท้จริงการตั้งกองกะละบาดก็คือตั้งกองทหารรายทางนั่นเอง ถ้าแปลคำ กะละบาด ให้เกี่ยวแก่ทหารได้จะเชื่อได้ว่าเปนถูก

วิธีที่เขาเอาบันทึกลงพิมพ์นั้นดี ลางทีใครรู้อะไรมากออกไปก็จะได้บอก

ท่านถามถึงเพลงสรรเสริญพระบารมี ท่านควรจะทราบเสียก่อนว่าเพลงแตรนั้น พวกแตรเขาแบ่งเปนสองภาค ภาคแรกเขาเรียกว่า เนื้อเพลง นั่นจะกระดิกไปไม่ได้เลย ภาคหลังเขาเรียกว่า แตรตอด (ทราบว่าฝรั่งเรียกแอกคอมปนิเมน) ภาคนี้แหละที่แต่งประมูลกัน โดยอ้างว่าที่ปรุงไว้ก่อนเสียงไม่ดี แต่ที่จริงเห็นจะเปนถือทิฐิ ว่าเขาปรุงได้เราก็ปรุงได้เหมือนกัน บรรดาเพลงสรรเสริญพระบารมีซึ่งกองทหารทำอยู่นั้น ต่างกองแตรตอดก็ต่างกัน แต่คนสามัญฟังไม่รู้ ที่ว่ามิสเตอร์ไฟต์แต่งก็เข้าใจว่าแต่งแตรตอด ทั้งเมื่อเปลี่ยนไปจะเล่นด้วยเครื่องมืออย่างอื่น เปนต้นว่า ซอ หรือ กีตา และ เปียโนก็ต้องแต่งเสียงตอดขึ้นใหม่ด้วย เพราะจะทำไปอย่างแตรตอดย่อมไม่ได้

ส่วนเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นได้ยินมาหลายอย่าง เสียงกรมหมื่นทิวากรว่าหลวงประดิษฐไพเราะ (มี) เปนคนแต่ง เอาออกจากเพลงแตรฝรั่งของไทยเรานั่นเอง หลวงประดิษฐ (มี) คนนี้ เปนคนฉลาดในทางดนตรี เมื่อรัชชกาลที่ ๔ เปนผู้ที่แต่งเพลงเทพบรรทมและภิรมย์สุรางค์ เปนต้น สงสัยกลัวจะเปนยกให้ เช่นการแต่งหนังสือต่าง ๆ ก็ยกให้พระคลังหน ตั้งแต่ดีที่สุดจนเลวที่สุด เอาจนไม่รู้ว่าฝีปากพระคลังหนเปนอย่างไร ทั้งเทียบเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมีกับเพลงแตรฝรั่งของเรา ซึ่งเป่าประโคมอยู่ ๔ อย่าง คือประโคมเสด็จออกอย่างหนึ่ง นั้นเปน จีนลั่นถัน ท่อน ๒ ประโคมเสด็จขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ไม่ทราบว่าอะไร ประโคมเมื่อสรง เปนลงสรง ท่อน ๑ กับประโคมอะไรต่าง ๆ ก็ไม่รู้ว่าเพลงอะไร เข้าใจว่าเปนเพลงแตรนั้นแต่ดั้งเดิมมา แต่เมื่อตรวจเนื้อที่ไม่รู้ทั้งสองอย่างก็ไม่เห็นใกล้เพลงสรรเสริญพระบารมีเข้าไปเลย อีกเสียงหนึ่งได้ยินจากกรมหลวงชุมพร ว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้น เราไปซื้อฝรั่งเขามาแต่เมืองยะโฮ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประพาสสิงคโปร์และอินเดีย เขาแต่งไว้ขาย พูดเปนตุเปนตะว่าสรรเสริญเมืองอะไรนั้นซ้ำกับเรา เพราะซื้อเขามาด้วยกัน แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ทรงสงสัย อ้างเหตุว่าเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นเปนไทยอยู่เปนกอง ถ้าฝรั่งแต่งจะต้องเปนทำนองฝรั่ง ฉันก็เหนด้วย จำได้แต่ว่าแต่ก่อนทำเพลงสรรเสริญอังกฤษ แล้วจึ่งมาเปลี่ยนเปนเพลงสรรเสริญพระบารมีทีหลัง แค่จะเปนเมื่อไรจำไม่ได้ ในการที่ใช้เพลงสรรเสริญอังกฤษที่ก็จะไม่เสียหายอะไร ฉันเคยช่วยเจ้าพระยาเทเวศรแต่งและจัดการเล่นคอนเสิรตรับเจ้าเยรมัน พบว่าสรรเสริญเยรมันเหมือนกันกับสรรเสริญอังกฤษ เว้นแต่คำร้องต่างกัน เขาว่าออกจากเพลง ฮิม ถึงเพลงจะเหมือนกัน เขาก็ไม่ถือ แต่เนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมีของเรา ใครจะแต่งขึ้นหรือเอามาแต่ไหนฉันไม่ทราบ ส่วนคำร้องนั้นฉันแต่งขึ้นให้ร้องละคอนดึกดำบรรพ์ก่อน แล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงแก้อีกภายหลัง

คำ กำตาก ฉันเคยได้ยินเด็กพูดเล่นกัน เปนไปในทางว่าริบ แต่ไม่ทราบว่าเปนคำมาแต่ไหน ท่านพบท่วงทีว่าจะมาแต่อินเดียก็ตราไว้ ไม่ว่าอะไรของเราย่อมจะมาแต่อินเดียและจีนสองแหล่งเท่านั้น ที่ได้มาแต่บ้านใกล้เรือนเคียงนั้นยกไว้ เพราะบ้านใกล้เรือนเคียงก็ได้มาแต่สองแหล่งนั้นเหมือนกัน

ขอบใจท่านที่ให้สำเนาคำจารึกของพระมหาเถรจุฬามณีไป ที่ว่าพระมหาเถรจุฬามณีเปนบุตรพ่อขุนผาเมืองนั้นต้องยกไว้ก่อน แต่คำจารึกนั้นเปนคำเก่าจริงแล้ว

จะเปนที่สังเกตได้ว่าอะไรเกิดก่อนเกิดหลัง ศักราชเท่าที่จารึกไว้นั้น หนังสือของเราเอาอย่างทางเขมรมาเปนแน่ ไม่ประหลาดอะไรที่มีตีนอุ ไม่มีมูล พระเจ้า มณีวงศ ก็เขียน มุณีวงศ ทั้ง อภิรม อภิรุม ของเราก็มีเปนอย่างอยู่ เขมรเขาเขียนโปรแกรมละคอนเล่นถวายสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ เขาเขียนพระนามว่า กรุม เธอได้ทักว่าทำไมต้องมีตีนอุ เขาตอบว่าถ้าไม่มีก็ไม่เปน กรม จึงคิดว่าถ้ามีแล้วจะค่อยใกล้ ถ้าไม่มีเขาคงอ่านเปนกรอม กับรอหันก็มาคิดขึ้นได้ในที่นี้ ว่าแทนไม้ผัดเช่นเดียวกับนอหันนั้นเอง ประหลังหางลงได้ทราบมานานแล้ว เปนด้วยเก่ากับใหม่เขียนวิธีต่างกัน เก่าเขียนเวียนขวาหางจึ่งลง ใหม่เขียนเวียนซ้ายหางจึงขึ้น หางก็คือสุดเส้น

ที่เปนลานทองขดนั้นไม่ประหลาค ทางเชียงใหม่โบราณเขาจารหนังสือสั่งอะไรกันด้วยใบลาน แล้วเขาขดกลม เรียกกันว่าหนังสือขด แล้วจะให้ดีก็ทำลานด้วยทองแดง ด้วยเงิน และด้วยทอง อย่างสุพรรณบัตรและหิรัญบัตรของเรา ที่จริงทำมาแต่ทางอินเดียแล้ว กรมพระสวัสดิ์เธอเดาคำ ตำรา ของเราว่าเปน ตามรา คือจารลงแผ่นลานทองแดงเพื่อให้อยู่ทนนาน

คุณหญิงอิศรพงศ์พิพัฒน์ (สำลี) ขอให้ฉันช่วยบอกท่าน ด้วยมีปรารถนาจะตีพิมพ์หนังสือแจก ในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ ท่านจะเหนสมควรตีพิมพ์อะไร จะให้ต้นฉะบับไปตรวจดูได้ แล้วจะขอบใจท่านเปนอย่างยิ่ง ฉันคิดว่าถ้าเปนหนังสือซึ่งไม่เคยตีพิมพ์มาก่อนแล้วจะเปนดี

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ