- แถลงการณ์ของสำนักพิมพ์
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๖
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กันยายน ๒๔๘๖
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖
- ภาคผนวก
๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
ขอประทานกราบทูล ใต้ฝ่าพระบาททรงทราบ
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ทรงพระเมตตาประทานความรู้เรื่อง ปี เดือน วัน คืน ของชวา มาให้ข้าพระพุทธเจ้า ทั้งนี้เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ
ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูเรื่อง วัน เดือน ปี ของชาติปอลิเนเซียน ซึ่งรวมชวาเข้าด้วย และของชาติจาม ได้ความว่า จามใช้ปีมี ๘ รอบอย่างชวาเหมือนกัน .แต่เรียกว่า วินทุ ว่าพวกมิชชันนรีอิสลามทางชวานำเข้ามาเผยแผ่ ปีที่ ๕ ที่ทรงจดประทานมาเป็น คาล แต่ของชวาและของจามในภาษาอังกฤษ ฉบับที่ข้าพระพุทธเจ้ามีอยู่ จดไว้ว่า ดาล คิดด้วยเกล้าฯ ว่า คาล กับ ดาล จะสับกัน ชื่อที่มี ๘ เป็นรอบ เป็นภาษาอาหรับ ซึ่งมีผิดเพี้ยนกันกับของจาม แต่พอเดาได้ว่าชื่อปีที่มาจากแหล่งเดียวกัน ศก ของชวา ว่าเริ่มต้นภายหลังคฤศตศักราช ๓๘ ปี ถ้าเอาเลข ๗๘ ลบ ๑๙๔๑ ซึ่งเป็นเลขคฤศตศักราชของปีนี้ ก็จะเป็น ๑๘๖๓ อีกแห่งหนึ่ง ในเรื่องวันเดือนปีของจาม เทียบศก ๑๘๔๒ ว่าตรงกับคฤศตศักราช ๑๙๒๐ หรือศักราชอิชราของอิสลาม ๑๓๓๙ ล่วงมาถึงบัดนี้ ๒๑ ปี เพราะฉะนั้น เลขศกก็เป็น ๑๘๔๒+๒๑=๑๘๖๓ ตรงกับที่เอา ๗๘ ลบ ในข้างต้น ผิดกับเลขศก ๑๘๗๒ เป็นจำนวน ๙ ปี ชือเดือนของชวาที่ทรงจดประทานมา ข้าพระพุทธเจ้าลองค้นสอบดูในภาษามลายู คงได้ความว่าเป็นภาษาอาหรับทั้งนั้น เว้นชื่อเดือนแรกว่า สุระ ว่ามาจาก สุระ ที่แปลว่าเทวดา และเป็นเดือน โมหร่ำ เดือนถือบวชของอิสลาม ชื่อวันทั้ง ๗ ของชวาในแถวหน้า เช่น อาหลัด สะเนน ได้ความว่าเป็นภาษาอาหรับทั้งนั้น
ศิวะศริยานนท์ เป็นชื่อนามปากกาและชื่อนามสกุลของพระวรเวทย์พิสิฐ (เซ่ง ศิวะศริยานนท์) อาจารย์สอนภาษาไทย ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายสำเนาเรื่อง วัน เดือน ปี ของชาวปอลิเนเซียน ซึ่งคัดจากต้นฉะบับภาษาอังกฤษมาในซองนี้ด้วยฉะบับหนึ่ง๑
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์
-
๑. ภาษาอังกฤษ ไม่ได้นำมาลงพิมพ์ ผู้สนใจขอค้นดูได้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ↩