- แถลงการณ์ของสำนักพิมพ์
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๖
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กันยายน ๒๔๘๖
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖
- ภาคผนวก
๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ น
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๘๕
พระยาอนุมานราชธน
หนังสือซึ่งลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ได้รับแล้ว ขอบใจเปนอันมาก
ตามความทั้งใจของท่านที่จะไม่แก้คำเก่า ด้วยกลัวจะเปนลากเข้าความนั้นถูกที่สุดแล้ว ฉันเหนชอบด้วย แล้วก็ตั้งใจอยู่เช่นนั้นเหมือนกัน
กะถ่ม เปนความคิดเดาของกรมหมื่นจรัสพร จะถือว่าถูกก็กะไรอยู่ ทั้งขัดกับคำที่ฉันเคยพบว่า กรรโถง คำนั่นคิดว่า กระโถน เรานี่เองเปลี่ยนตัวสกด ง เปน น เช่น นักเลง เปน นักเล่น แต่ตามที่พบนั่นไม่ใช่หนังสือเขมร จะจำหน่ายได้คำหนึ่งว่าพบในหนังสือเขมรแน่ คำนั้นคือ จรมูก เขาเขียนเช่นนั้น แม้จะอ่านว่า จมูกก็ได้ แต่ สระสรง ยังเปน สะสง ได้ จะเปนไรไป แต่ จรมูก จะกลายเปน จามมูก ไปหาได้ไม่ คำ เปนหวัด ฉันก็เคยเหนมีคนเขียน เปนวรรษ แต่ก่อนก็ชอบใจซ้ำเขียนตามเขาไปด้วย แต่ทีหลังใจเปลี่ยนกลับเขียน เปนหวัด ไปตามเดิม
อันคำที่มาโดนกันเข้านั้นเจ็บปวดมาก เล่นเอาไม่รู้ว่าใครเปนใคร มีคนเขาให้สมุดมีรูป เปนของมลายู แก่ฉันในวันเกิดเล่มหนึ่ง เพราะเขารู้ว่าฉันชอบคำและของที่แปลก ๆ และในสมุดนั้นดูพบ จปิ้ง เปนว่าบังของหยาบ แต่คิดว่าไม่ใช่ ที่ใส่ประแจชะนิดหนึ่งก็เรียกว่า ตปิ้ง อาจโอนเอาไปเรียกสิ่งที่ปิดของหยาบภายหลัง เพราะรูปคล้ายกันก็เปนได้ แต่คำ จปิ้ง นั้นเราจะจำคำมลายู หรือมลายูจะจำเอาคำของเราไปนั้นทราบไม่ได้
คำมลายู พวก รง ที่ท่านบอก คิดดูเหนใช้ได้ทุกคำ รง ก็ได้แก่ โรง บารง ก็ได้แก่ พโรง (ที่เรียก พระโรง นั้นเกินไป) บไลรง ก็ได้แก่ พไลโรง คำว่า พไล เราเข้าใจกันว่าเปนเฉลียงปลูกลงดินไม่มีพื้น มีแต่เรือนผู้ลากมากดี เรือนคนสามัญไม่มี เห็นจะเปนด้วยทั้งไว้ป่วยการแล้วใส่พื้นเปนเฉลียงเสีย (เฉลียง เปนคำไทย ฉันแปลตามคำใช้กันว่าเฉๆ ได้แก่หลังคาที่ต่อออกไป) พไล เดิมคงปลูกกับโรงก่อน ฉันแปลคำ โรง ว่าปลูกกับพื้นดิน เรือน ว่าปลูกสูงแทนปลูกโรงบนโคกเพื่อหนีน้ำท่วม แต่หลบการลงแรงถม คำ โรง แต่แรกฉันก็คิดว่าเปนคำจีน มาแต่ ล้ง จนท่านบอกคำว่า ล้ง นั้นจีนจำเอาคำ โรง ของเราไป เล่นเอาตีนขวิด ด้วยไม่ได้ทราบเลยว่า คำมลายูมีใช้ได้รอบกับคำของเรา
ลักษณะแห่งเรือนลาวทางอีศาน ตามที่ท่านบอกนั้นละเอียดดีมาก ฉันเคยได้ยิน เขาบอกอย่างไม่กระจัดชัดเจน ว่าเอาเตาไฟไว้กลาง เอาห้องนอนไว้รอบ แต่ได้สอบเทียบกับแผนผังเรือนฝรั่งที่อย่างเลว เขาก็มีแต่ห้องครัวห้องนอนห้องเว็จเท่านั้น จะกินข้าวหรือรับแขกก็ในห้องครัวนั้นอง ออกจะเหมือนกัน
คำที่เรียกว่า เกาะกริด ก็เคยได้ยิน หรือที่เขียนว่า เกาะกฤษ ก็เคยเหน กับที่เรียกว่า เขากเหรียก ก็เคยได้ยิน และที่เขียนว่า เขาเกรียก ก็เคยเหน แต่จะเปนตำบลเดียวกันหรือต่างตำบลกันก็ไม่ได้เคยไปถึง ทั้งไม่ได้ถามเขาเสียด้วย ท่านเหนเขาเขียน เกาะเกรียก ก็เปนอันว่าคลุกกัน ลางทีจะเปนตำบลเดียวกันกได้ คำว่า เกาะ ลางทีคำเก่าจะไม่ได้หมายความว่าน้ำล้อมรอบก็เปนได้
คำ หนองหมอน เปน หนองบอน นั้นเข้าทีมาก ต้องจัดว่า หนองบอน เปนถูก เพราะ หนองหมอน ไม่ได้ความ ขอบใจท่านที่บอกให้ทราบว่าเมืองนั้นอยู่ที่ไหน
คำ กัน กั้น คัน คั่น หรือ ขั้น ฉันเคยคลั่งคิดมาทีหนึ่งแล้ว ทั้งพบคำว่า ฉัตรกั้ง เข้าอีกด้วย ทำให้เห็นว่าคำ กั้น กับ กั้ง เปนคำเดียวกัน ก็เมื่อ คำ กั้ง เปน กั้น ได้ คำ ขัง ขั้ง คั่ง ค้าง ก็พลอยเข้ามาด้วย อันคำแปลนั้นจะแปลว่ากะไร จะถือว่าผิดกันหรือเหมือนกัน ลางคำก็ถือเอาได้ ลางคำก็หมายความไปได้หลายอย่าง เหมือนหนึ่งคำ คั่น จะแปลว่ากันอะไรไว้ก็ได้ จะว่าสับหว่างอะไรก็ได้ หรือจะเปนกะไดก็ได้
พูดถึง กะได คำนั้นฉันเคยคลังคิดมาทีหนึ่งแล้วก็คิดอีก ติดจนไม่รู้ว่าอย่างไหนควรจะเรียกว่าอะไร อย่างที่ตันมีเพียงคั่นหนึ่งหรือสองคั่นนั่นเรียกลูกหีบแน่ ออกจากเอาหีบมาตั้งเปนที่ก้าวขึ้นลง อย่างหลายคั่นเรียกกันว่ากะไดก็มี อัศจรรย์ ก็มี เปนแน่ว่าคำ กะได นั้นมาก่อน คำ อัศจรรย์ นั้นมาทีหลัง ความคลั่งของฉันนั้นได้สอบไปถึงคำเขมร เพราะคำ กะได นั้นทีเปนภาษาเขมร ก็ได้ความปรากฏว่ามีคำ กันได แต่เขาก็แปลไปเสียอย่างหนึ่งว่า ราว (กัน ว่าจับว่าถือ ได ว่ามือ) นอกไปอีกก็มีว่า จันเดิร ว่าเปนลาดอย่างตพานช้าง และถ้าลาดตพานช้างนั้นบากเสียให้เป็นคั่นก็มาได้แก่ กะได หรือ อัศจรรย์ นั่นเอง ได้สังเกตเมื่อไปเที่ยวที่เกาะบาหลี ที่นั่นมีอะไรเก่า ๆ อันพอจะรู้หลักฐานอะไรได้อยู่บ้าง ก็พบทั้งสองอย่าง ที่เปนลาดตพานช้างก่อไว้ด้วยอิฐก็มี ที่บากเปนคั่นไว้ก็มี เข้าใจว่าที่เขมรเรียกว่า จันเดิร นั้นเปนสองพยางค์ผสมกันเสียแล้ว ที่แท้จะเปนว่า จัน เท่านั้น คำ อัศจรรย์ จะมาจากนั้น แต่มาหลงเขียนเปน อัศจรรย์ ไป แล้วก็มีคำ อัฒจันทร์ เข้ามา เข้าใจว่าเพื่อจะมาแก้ที่เขียนผิดเป็น อัศจันทร์ นั้น แต่สอบได้ความว่า อัฒจันทร์ เปนหินแผ่นรูปพระจันทร์ครึ่งซีกรองตีนกะได เพื่อไม่ให้กะไดปักจมดินลงไป เพราะเหตุดังนั้นคำว่า อัฒจันทร์ ก็ตกไป พจนานุกรมภาษาไทยอื่น ๆ ไม่มีจะค้น คำว่า กะได ท่านเรียกว่า คั่นไหล จึ่งจับใจยิ่งนัก เชื่อว่าท่านได้ค้นแล้ว เขาเรียกอย่างนั้น แต่ฉันไม่ได้ทราบเลย จึ่งหวังว่าท่านจะอธิบายให้เข้าใจ
ในทางอักขรวิธีก็ต่างคนต่างเห็น ที่ลงกันก็มี ที่แตกออกไปก็มี ฉันเหนว่า
๑. กอ ข้อ ของเรานั้นไม่ใช่ของเรา ไปยืมเอาของสังสกฤตเขามาใช้ เมื่อใช้ภาษาของเราไม่ทั่วไปได้ก็ต้องแก้ต้องเติม
๒. ในหลักศิลาขุนรามคำแหง มีวรรณยุตแต่ไม้เอกไม้โท ไม้เอกแปลว่าไม้อันเดียวเขียนขีดเดียว ไม้โทแปลว่าไม้สองอันเขียนสองขีดและก็เขียนก่ายกันเปนตีนกา ได้นึกถึงไม้โททุกวันนี้ ซึ่งเขียนรูปต่างไป แต่ก็เหนว่าเปนตีนกานั่นเอง คือเขียนเส้นตั้งแล้วก็เขียนเส้นขวางอย่างจะให้เร็ว ไม่ยกเครื่องเขียน ส่วนที่ขมวดหัวด้วยนั้นเปนความถนัดของเรา อย่างอื่นก็มีขมวดอยู่หลายอย่าง ที่เรียกไม้ตรีไม้จัดวานั้น ก็เหนได้ว่าตามคำที่เรียกว่าไม้เอกไม้โทนั่นเอง แต่ไม้ตรีควรจะเขียนไม้สามอันหรือเลข ๓ ก็ดันไปเขียนเป็นเลข ๗ ไม้จัตวาซึ่งควรจะเขียนเปนไม้สี่อันหรือเลข ๔ ก็เขียนเปนตีนกา ซ้ำกับไม้โท ในหลักศิลาที่ว่า เพราะไม้โทเดี๋ยวนี้เปลี่ยนรูปไปเสียแล้ว เห็นได้ทีเดียวว่า ไม้ตรีไม้จัตวานั้นคิดขึ้นทีหลังศิลาขุนรามคำแหง
๓. อักษรสามหมู่กับวรรณยุตนั้นเปนของประกอบกัน จะแยกออกเสียจากกันไม่ได้ จะอย่างไรก็ดี แต่เหนได้ว่าเปนของทำขึ้นในกรุงเทพ ฯ และเปนเสียงชาวบางกอก ที่เปนเช่นนั้นก็ควรแล้ว เพราะผู้รู้มีแต่ในบางกอก ทั้งความรู้ของผู้รู้แต่ก่อนก็ไม่หยั่งออกไปถึงหัวเมืองด้วย ถ้าหากจะคิดถึงเวลาที่จัดอักษรสามหมู่กับวรรณยุตขึ้น ก็เหนว่าจะต้องเปนภายหลังที่สอนกันให้อ่านว่า กอ ข้อ ฃอ ค่อ ฅอ เฆาะ งอ เพราะเมื่ออ่านเช่นนั้นแล้วขัดกับการผันอักษรตามวรรณยุต อนึ่งที่แบ่งอักษรเปนสามหมู่ ก็ออกจะไม่สู้เข้าใจ อะไรก็ยกไว้ ตรวจแต่อักษรต่ำ ๒๔ ก็ไม่เสมอกันเสียแล้ว ที่จัดเปนอักษรคู่สูงผันไม่รอบตัวมีอยู่ ๘ ตัว ที่ไม่ผันเอาไว้แต่สกดคำบาลีกับเขียนอุตริต่างๆ อีก ๘ ตัว ที่ผันไปได้รอบตัวมีแต่ ๘ ตัว อนึ่ง พยัญชนะมีหมดด้วยกัน ๔๔ ตัว เดี๋ยวนี้ตัดขอหยักคอหยักออก คงเหลือแต่ ๔๒ ตัว ถ้าตัดได้ทำไมไม่ตัดอีก ตัวที่จะตัดได้ยังมีอีกถมไป เปนต้นว่า ฎีกา ถ้าจะเขียน ดีกา ก็จะเปนไรไป ตัวเติมนั่นแหละอาการหนักมาก เช่น ตัวอย่างของท่านว่า ส้อม-ซ่อม เปนต้นนั้นก็ไปโดนกันกับกลอนไวพจนพิจารณ ซึ่งกล่าวไว้ว่า หนึ่งส้มซ่มเสื้อเซื่อเหลือจะบอก แบบโบราณที่เขียน ล่า หล้า และ เล่า เหล้า นั้นเปนทางดี ทำให้เหนว่าคำที่ซ้ำกันมีรูปเปนต่างกัน
ท่านบอกคำเปอเซีย ให้ได้ทราบเปนหลายคำนั้นดีมาก เช่น Punjab ฉันก็เพิ่งทราบว่าเปน บัญจ+อาป คำ เบ้อเร่อ นั้นก็ไม่มีสงสัยว่าจะเปนคำเดียวกับ บารา ของเปอเซีย เราพูดซ้อนกันเปนคำคู่อยู่ก็มีว่า เบ้อเร่อบ้าร่า ความหมายก็ว่าใหญ่เหมือนกัน คำ องุ่น ก็เคยได้ยินว่าแขกเขาว่า อังงุร แต่ไม่ปรากฏว่าเปนคำเปอเชีย
ที่ชาวปักษ์ใต้ให้ชื่อว่า น้อยใหญ่ น้อยกลาง เปนต้นนั้น แต่ก่อนฉันคิดว่า เมื่อมีลูกออกมา พ่อแม่ก็เรียกว่า น้อย หมายความว่าเล็กอย่างเดียวกับ หนู จะมีหลายคนก็ได้ไม่ขัดข้อง แต่ครั้นซ้ำกันมากเข้าพวกบริวารจึงเติมคำเข้า หรือพ่อแม่จะเติมเองก็ได้ แต่ที่ท่านยกตัวอย่างแบบมลายูขึ้นว่านั้นงามมาก ลางทีจะเปนแบบทางมลายูก็ได้
คำมลายูอันใช้อยู่บ่อยๆ นั้นไม่เข้าใจมีมาก เช่น กวาลา และ ปดัง เปนต้น ท่านอาจดูพจนานุกรมแล้วบอกได้ คำที่ขยับจะเข้าใจมีอยู่คือ สุไหง ทีเปนว่าลำน้ำ
นึกถึงคำได้คำหนึ่ง ที่พูดกันว่า จำโนดโจตนา คำ จำโนต นั้นจะไม่พูดถึง เพราะเปนแต่คำคู่ยืด จะพูดถึงแต่คำ โจตนา แต่เสียงที่ดังออกมาที่ไม่เปนภาษา จึ่งเปิดพจนานุกรมของอาจารย์ชิลเดอขึ้นดูสอบ ก็พบคำ โจทนา เหนเข้าก็เข้าใจทันทีว่า เราพูดอย่างเขมร เอา ท เปน ต ธาตุเดิมคงจะเปน โจท แล้วประกอบคำเข้าเปน โจทก์ เปน โจทน์ และเปน โจทย์ จะไม่เขียนคำประกอบนั้น ไม่ขัดข้องเลย
เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ได้ไปเผาศพที่วัดไตรมิตต์วิทยาราม ได้ตั้งใจดูที่นั่นว่า มิตร เขาเขียนอย่างไร เพราะแน่ใจว่า ที่นั้นคงมีจารึกมิแห่งใดก็แห่งหนึ่ง ก็พบป้ายใหญ่เบ้อเร่อติดไว้บนหลังประตูทางเข้าโรงเรียนทีเดียว เขาเขียน มิตต์ อย่างภาษามคธ ทำให้นึกถึงผู้ซึ่งมีอิศระเรียกการเขียนสกดตัว ต คู่ว่าเขียนอย่าง ตด ให้นึกเหนเปนขันแล้วก็ตรงด้วย อนึ่งการเขียนป้ายก็ไม่ใช่ง่าย แม้หนังสือตัวเล็กไปก็แลไม่เหน นึกว่าทำตัวให้ใหญ่จะดีขึ้นหรือ เปล่าทั้งนั้น ไม่เหนเหมือนกัน ที่แท้เปนด้วยที่ที่ดู แต่มีที่เท่าไร ควรจะทำตัวขนาดไหนนั้น ยังไม่ได้ตรวจ กับสีก็เปนอีกอย่างหนึ่ง ตัวหนังสือกับพื้นก็ต้องเปนสีที่ขัดกัน ถ้าเปนสีที่กล้ำกลืนกัน ถึงขนาดตัวหนังสือจะพอดี ก็อ่านไม่เหน
ไปวัดไตรมิตต์ เหนทหารญี่ปุ่นใส่หมวกหนีบมีผ้าปกหลัง รู้ได้ว่าไม่ใช่ยูนิฟอม เพราะมีแต่ลางคน เหนได้ว่าต้องการจะให้บังหลัง ก็มาเข้ารอยเดียวกับหมวกทรงประพาสของเรา เราก็จำมาแต่อินเดียอีกต่อหนึ่ง เคยเหนรูปทหารทางอินเดีย มีตาข่ายโซ่ต่อจากหมวกลงมา แต่เขาประสงค์จะบังอาวุธไม่ใช่บังแดด เราก็จำเอามาทำหมวกทรงประพาส และพระมาลาเบี่ยงบ้าง แต่เราไม่มีตาข่ายโซ่อย่างเขา เข้าใจว่าเดิมจะมีเหล็กแผ่นสอดไว้ในผ้าเพื่อกันอาวุธ แต่ไม่ได้รบก็เหลือแต่มีผ้าเปล่าๆ
เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ได้รับหนังสือของท่านซึ่งลงวันที่ ๕ อ่านจับใจมาก
ชื่อเมื่องตองอู ทีอังกฤษจะอ่าน ตองงู คำที่ไม่ใช่ถิ่นของตัวต้องถามเขานั้นลำบากมาก เพราะคนบอกออกเสียงไม่เหมือนกัน ซ้ำที่บอกด้วยเข้าใจผิดก็ว่ามี เช่น กัลกัตตา ผู้รู้ภาษาแขกเขาก็บอกว่า ไม่ใช่ชื่อตำบล ที่จริงแปลว่าตัดไม้ เหตุด้วยคนทำแผนที่ถามคนตัดไม้ที่นั่นว่า ที่นีเรียกอะไร คนที่ตัดไม้อยู่สำคัญว่า ถามถึงงานที่ตนทำจึงบอกงานของตนไป คนทำแผนที่ก็จดลงในแผนที่ ข้อนี้จะจริงจะถูกหรือไม่ฉันก็ได้แต่ยิน ก็เมื่อในแผนที่มีคำ กัลกัตตา อยู่ คนดูแผนที่ก็จะเข้าใจเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ต้องเป็นชื่อตำบลอยู่เอง ชื่อเมือง แรงกูน ก็น่าสงสัย ชื่อที่แท้จะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ รู้ได้แต่ว่าพม่าออกเสียงตัว ร เปน ย คนทำแผนที่นั้นโดยมากเขารู้ว่าตำบลที่แท้เรียกอะไร เช่นเมือง แปร เขาก็บอกว่า เรียกเป๎ยโมม (โมม แปลว่าเมือง) ที่แท้ก็คือ เมืองเปร ใกล้กับเรามาก แต่ต้องลงในแผนที่ว่า โปรม เพราะพวกอังกฤษซึมทราบกันอยู่แต่ชื่อนั้น กับที่ท่านบอก คำ สโตง ว่าคือ จิตตอง นั้น ขอบใจมาก ด้วยได้รู้ความจริงว่าอะไร
ท่านบอกคำ สโบตาจ ให้รู้รากแก้วนั้น ก็ขอบใจเป็นอย่างยิ่ง คำ สโบตาจ หรือ สโบเตช ก็เปนสกดด้วยตัว g ย่อมต่างไปเปน จ ก็ได้ เปน ช ก็ได้ ย้ายเสียงไปอย่างที่ฉันปรารภ ส่วนชื่อโรงไฟฟ้า ฉันก็นึกว่าเป็นภาษาอะไรอันหนึ่ง ที่มีความเหนว่าคงอ่านง่าย ๆ นั้นด้วย เคยเหนเขาเขียนภาษาทิเบธ เอาตัวอะไรลั่ง ๆ เข้าควบจนอ่านไม่ออก แต่คำหนึ่งผเอิญเขาเขียนหนังสือตัวควบเช่นว่านั้น แล้วเขียนเสียงอ่านไว้ให้ด้วย จึงได้รู้ว่าเขาอ่านอย่างง่าย ๆ
ท่านบอกชื่อเมือง Ipoh ว่ามลายูเขาเรียก อิโป้ นั้นขอบใจมาก เปนให้ความรู้ที่ไม่รู้อย่างหนึ่ง เมื่อเปนเช่นนั้น ที่เขียนตัว h ไว้ก็เปนทางผันอักษร ที่เขียนคำ บาท เปนหนังสืออังกฤษว่า bath นั้น ฉันเหนไม่ใช่อื่น นอกจากหลบคำ bad หรือ bat ในภาษาอังกฤษ ที่ว่านี้จะต้องชมวิลันดา เขาใช้คำที่เปนกลาง ก็เขียนอย่างง่ายๆ จะไปโดนกับคำชั่วหรือคำดีของภาษาอะไรเข้าก็ช่าง ที่แท้จะหลบภาษาอะไรไม่ได้ เพราะมีหลายภาษานัก ทีรู้ก็มีไม่รู้ก็มี ตัว ฮ นั้นฉันเคยบอกแก่ท่านแล้ว ว่าตั้งขึ้นด้วยไม่ได้หมายจะให้เปนคู่สูงต่ำกับตัว ห ให้เหนไปว่าคิดเข้าคู่กับตัว อ เสียอีก อย่างที่พูด อ เปน ฮ เช่น เอย = เฮย เปนต้น แต่ดูก็จะไม่สู้แน่นัก ทางพายัพและอีศานใช้ ฮ เปน ร รูปที่เขียนดูก็ใกล้ตัว ร มาก ส่วนทางปักษ์ไต้พูดตัว ง เปน ฮ ไปหมด เช่น เงิน ก็เปน เฮิน งั่ง ก็เปน ฮั่ง คำหลังนั้นเล่นเอาไม่เข้าใจ ต้องถามว่าหมายถึงอะไร ก็ได้ความว่าหมายถึงทองแดง เข้าใจว่าที่เปนดังนั้น ก็เพราะออกเสียง ง ไม่ได้ ส่วนจีนแต้จิ๋วพูดตัว ฟ เปน ฮ นั้น ไม่รู้สึกประหลาด เพราะตัว ฟ ในภาษาของเขาไม่มี เขาก็เลือกเอาตัวแทนซึ่งเหนว่าใกล้ที่สุด
ร สับกับ ล นั้นเปนแต่คิดว่าควรจะมี แต่หาคำตัวอย่างไม่ได้ จึงพุ่งเอาคำ ตกล่อง กับ ท้องร่อง มาปรึกษาท่าน แต่ก็รู้สึกอยู่ว่าไม่แน่ จึงใช้คำว่าปรึกษา เปนการเล่น ท่านเอาคำไทยใหญ่และคำของเราเก่ามาตัด ฉันก็แพ้เท่านั้นเอง แต่ดีใจที่ได้ทราบว่าห้องเรือนก็หมายความว่าเปนลำน้ำอยู่ในเรือน เรือนที่มีฝา ฉันคิดว่าเดิมเหนจะใช้ม่าน หน้าต่างซึ่งทำลายบานเปนลายทรงเข้าบิณฑ์ในกรอบก็แสดงว่าม่าน คำสมัยใหม่ใช้เรียก เรือน ว่า บ้าน นั่นเหนเปนผิดอย่างเอก กฎหมายน้ำมันไวไฟ ห้ามไม่ให้เก็บน้ำมันไว้ในเรือน ก็ว่าบ้าน ดูเปนไม่มีอย่างอื่น ต้องเอาไปฝากวัดเท่านั้น คำ ห้อง กับ ห้วง ฉันเคยคิดว่าจะเปนคำเดียวกัน คำ รับรอง กับ ลังลอง ของท่านนั้นหาตัวอย่างมาได้ดี แต่ก็เหมือนกับที่ฉันเคยได้ยินเขาเรียกกันว่า นาปรัง แต่ส่วนหนังสือพิมพ์เขียนว่า นาปลัง อย่างไรจะถูกก็ไม่ทราบ คิดถึงความหมายก็แลไม่เหน คำ กุเรา กับ กุเลา ที่พจนานุกรมภาษามลายูว่าใช้สับเปลี่ยนกันได้นั้น อยากจะว่ามลายูไม่รู้
คำที่ใช้อย่างบกพร่องหลบรุ่มร่าม ซึ่งฉันจะตั้งชื่อเรียกว่า คำละ นั้น ผู้พูดกับผู้พึ่งเข้าใจกันได้ อย่างความเหนของท่านนั้นก็เปนได้กัน เถียงไม่ได้ คำ บำบัด นั้นเปนภาษาเขมร บัด ว่าหาย เช่น บัดตำบอง แปลว่า ไม้ท้าวหาย บำบัด ก็หมายความว่าทำให้หาย แปลกอยู่หน่อยที่คำ ตำบอง ว่าไม้ท้าว แต่ถ้าท่านนึกถึงรูปนารายน์เก่า ๆ กับคำแช่งน้ำที่ว่า คทาธรณี ท่านอาจเข้าใจได้ว่าถูก
เรื่องวัดไตรมิตต์วิทยารามนั้นใครจะคิดก็ตามที แต่ที่เขียน มิ-ตต นั้นเปนเขียนตามแฟแช่น ไม่ใช่หลงภาษาบาลี คำ ไตรมิตต์ ก็หมายเอา สามจีน จะถูกบังคับให้เปลี่ยน หรือเปลี่ยนไว้เปนการเพื่อรับ ก็ไม่ทราบ แต่ถ้าจะเปลี่ยนแล้ว เห็นว่าเปลี่ยนเปน วัดสามไทย จะดีกว่า ถนนสี่พระยา ก็คิดออกจากคำ สามพญา นั่นเอง ตูแนบเนียนมาก อันคำว่า ญี่ ว่า สาม นั้นมีมากในภาษาเรา จะให้ตัวอย่างแต่คำ สาม ก็มี วัตสามปลื้ม วัดสามพญา วัดสามวิหาร เป็นต้น ชื่อตำบลก็มี เช่น สามโก้ สามสบ เป็นต้น ลางชื่อก็แปลได้ ลางชื่อก็แปลไม่ได้ คิดว่าคำ ญี่ และ สาม นั้น มาจากภาษาจีน อนึ่ง คำ ปรารถนา ฉันได้ตรวจพจนานุกรมแล้ว ภาษาสันสกฤตเขาเขียนเช่นนั้นจริง แต่ลางทีฉันก็เขียนตาม ลางคราวก็ไม่ตาม ที่ไม่ตามก็นึกถึงที่เคยเขียนมาแต่ก่อน
ถนนที่เดิมชื่อ สุรวงษ์ แล้วกลายเป็น สุริวงษ์ เป็น สุริยวงษ์ ฉันรู้ดีหมด แต่ไม่มีหน้าที่จะแก้ทำให้ถูกได้ ถ้ากรมเทศบาลซึ่งเขาเปนหน้าที่เขารู้จะแก้ให้ถูก ฉันก็จะพลอยดีใจด้วย
ที่ท่านกล่าวถึงเส้นลูกกะเดือก เป็นผลให้เปลี่ยนเสียงตัว g นั้นเปนการละเอียดมาก ซึ่งฉันจะพูดไปด้วยไม่ไหว ได้สังเกตมาแต่หยาบ ๆ ว่าพระที่สวดภาณยักษ์ ท่านแกล้งเอาหางเสียงออกทางจมูก แล้วก็เปลี่ยนไปเอาออกทางปาก จับได้ว่าเปลี่ยนทางให้ลมออกนั้นผิดกันได้มาก
คำ กะ = กับ หรือ จะ = จัก เปนต้นนั้น ฉันเหนเปนแกล้งทำ แต่ทำโดยตัวอย่างซึ่งภาษาต่าง ๆ มีอยู่ เช่น สังสกฤต ทุะข = ทุกข หรือไทยเขมร ทำนุะ = ทำนุก เปนต้น ใช้ก็ใช้ไปแกน ๆ ตามแต่จะบัญญัติ
คำว่า เขน ฉันค้นเสียออกแย่ว่ามาแต่อะไร เพิ่งได้ความจากท่านบอก ทีจะมาแต่ แขญ ใกล้กันมาก คำว่า โล่ ก็ทีจะมาแต่ โหลว ภาษาจีน ไม่ใช่ โลห หนังสือจีนซึ่งมีธาตุเดิมอยู่ด้วย เช่นทำด้วยไม้ก็มีตัวว่าไม้ผสมอยู่ด้วยนั้นดีมาก ลืมสิ่งสำคัญเสียอย่างหนึ่งซึ่งท่านควรจะรู้ การเล่นหนัง (ใหญ่) หน้ารถพระก็มีหนังลิงตัวเสนานำรถ และรถยักษ์ก็มีหนังยักษ์ตัวเสนานำรถ หนังตัวนำนั้นเรียกกันว่า หนังดั้ง ฉันจะแปลเปนอื่นไปไม่ได้นอกจากว่าเปน หนังหน้า กับคำว่า เขน ก็มีในการเล่นโขนหนัง เปนพวกพล จะต้องแปลว่า ป้องกัน อย่างเดียวกับคำ แขญ อีกอย่างหนึ่ง ในการเล่นโขน ถ้ามีตรวจพลแล้วตัวนายต้องกั้นร่ม และร่มที่กั้นนั้นก็ต้องหมุน การหมุนร่มนั้นจะได้แก่คำ กลิ้งกลด หรือไม่ใช่ ขอปรึกษาท่าน คำกลิ้งกลดนั้นเราเดี๋ยวนี้ไม่รู้กันเสียแล้ว
อ่านหนังสือพิมพ์ประมวญวัน ว่าชื่อเมืองโปรม มาแต่ โปรัม แต่ไม่ได้แปลไว้ให้ จะตัดสินว่าถูกหรือไม่ ก็ไม่ได้