- แถลงการณ์ของสำนักพิมพ์
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๖
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กันยายน ๒๔๘๖
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖
- ภาคผนวก
๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๔
พระยาอนุมานราชธน
ได้รับหนังสือลงวันที่ ๗ สิงหาคม ของท่าน รู้สึกจับใจเปนอันมาก ขอบใจท่านเปนล้นพ้น จะเว้นเสียไม่ได้ จะเขียนตอบต่อไปนี้
คำ ข่า นั้นเคยได้ยิน ได้ยินเขาเรียก ข่าย่างไฟ แต่ไม่ทราบว่ารูปร่างเปนอย่างไร และเขาใช้อย่างไร ตาไก่ ซึ่งหมายความว่าเปนตาเช่นตาหมากรุกนั้นก็ไม่เคยรับ ตามความเข้าใจแล้วจะต้องเปนรูปกลม ตาน้ำวน ถูกแล้วจะต้องเปนบุ๋มเข้าไป ตาแข้ ว่าตาข่ายก็ไม่เคยรับ ตะแกรง (ตาแกรง) นั้นไปใกล้เข้ากับ แครง วิดน้ำ อันคำว่า แครง นั้นก็น่าสงสัย มีคำอยู่ว่า หอยแครง สมอแครง (ถมอแครง) ชายแครง เปนต้น ฉันปรับเอาว่าเปนเส้นเปนริ้ว ที่ปรับดังนั้นก็เพราะหอยแครงมีกาบเปนริ้ว สมอแครงได้แก่หิน เข้าใจว่าชะนิดที่เรียกว่าร่องน้ำ คือ เปนริ้วๆ กับชายแครงก็คือชายครุย เห็นเปนริ้วด้วยกันทั้งนั้น ถ้าจะปรับ ตาแกรง เข้าด้วยก็ไปกันได้ แร่ง เราก็มี จะปรับเอาว่าตัด ก ออกก็เข้ากันได้
คำ กะละบาด หรือ กระลาบาต เขียนอย่างไรแน่ ต้องตราไว้ที เพราะเรายังไม่รู้ว่าเขาหมายความว่าอะไร ท่านพูดถึงพระสารศาตรพลขันธ์ (เยรินี) ฉันก็รู้สึกในใจ ว่าใครจะเขียนหนังสือว่ากะไร ก็เขียนไปตามความคิดที่ตัวคิดเหน จะถูกก็ได้ผิดก็ได้ ฉันเคยบอกแก่นักเรียนมาแล้ว ซึ่งเขาอ้างถึงพจนานุกรมฉะบับนั้นฉะบับนี้ ว่าพจนานุกรมก็คนทำตั้งใจหมายความว่าอาจผิดไปก็ได้ แต่ไม่ได้พูด
จะบอกให้ท่านทราบไว้ ว่าที่ส่งคำพจนานุกรมอันกรรมการได้ชำระแล้วไปให้ฉันนั้น จะไม่ได้คำทักท้วงอะไรจากฉัน เพราะใครบ้างเปนกรรมการ มีหัวนอนปลายตีนเปนอย่างไรฉันก็ไม่รู้ ทั้งหัวนอนปลายตีนของฉัน กรรมการก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นฉันจะทักอะไรไม่ได้ ผิดกับท่านและฉันซึ่งรู้จักกันว่าเป็นคนอย่างไร อาจมีความเห็นให้กันได้ ผิดก็เอาใหม่
ราชวัด กับ เฉลว คิดว่าเปนอันเดียวกัน หากทำเปนอย่างใหญ่อย่างกลาง อย่างน้อยเท่านั้น หมายความว่ารั้วเปนเครื่องห้ามด้วยกันหมด แม้การพิธีก็ปักรั้วห้ามไม่ให้คนละลาบละล้วงเข้าไปในพิธีตรงที่สำคัญ แม้เฉลวหม้อยาก็เปนห้ามไม่ให้ใครเข้าไปที่หม้อยา กันไม่ให้เอาอะไรไปเติมลง ด่านก็เปนกั้นรั้วไม่ให้ใครเข้าไปเหมือนกัน เว้นแต่ตีฆ้อง จึ่งเปนสัญญาเรียกให้เข้าไป บอกขายอะไรก็เหมือนกัน เปนต้นว่าเรือน เจ้าของก็คงออกจากเรือนไปแล้ว ต้องไปพูดกับผู้ขายนำเข้าไปดู จึ่งเข้าไปได้ คำว่า ราชวัดฉัตรธง เหนจะไม่ใช่ของติดเนื่องกัน จะเปนของที่ปักประกอบกัน เช่น ต้นกล้วยต้นอ้อย ฉัตรนั้นต้องการปักให้ร่ม ลางอย่างปักฉัตรด้วยไม่ประกอบกับราชวัดก็มี เช่นจัดตั้งเครื่องสังเวยเปนต้น ในการที่ทำรูปเฉลวเปนสามเหลี่ยมนั้นยังไม่เคยเหน ให้สงสัยไปว่าจะสานเปนตาสามเหลี่ยม เคยเหนแต่ที่เปนหกเหลี่ยม นั้นสานเปนตาชะลอม คิดว่าทำขอบก็ควรจะทำตามตาเพราะทำง่าย ถ้าเปนเช่นนั้น ตาแหยว ซึ่งแปลว่าตาเหยี่ยวก็เปนลากเอาเข้าความ
รวัด กลัวจะเปนคำเดียวกับ รังวัด หรือ รางวัด ซึ่งหมายถึงวัดที่ดิน นั้นก็แปลว่าตรวจสอบเหมือนกัน แม้คำ เสียรังวัด นั่นก็เปนการวัดที่ดินว่าควรจะต้องเสียหรือไม่ต้องเสียเหมือนกัน ตกเปนตรวจดูเหมือนกัน ที่เติม ส หรือ สา ลงข้างหน้านั้นประหลาดอยู่ เปนทางมคธ หรือไทย หรือเขมร มาพ้องกันเข้า สั้นยาวนั้นไม่สำคัญ คำคนพูดกัน สะใจ ก็มี สาใจ ก็มี หนังสือก็เขียนไปคามคำพดของคน ที่ว่าเปนภาษามลายูนั้น เห็นด้วยเต็มตัว เห็นว่าควรเปนเช่นนั้น มากกว่าเปนภาษาสังสกฤต ซึ่งมาทีหลัง
ข้อที่ท่านพูดถึงเขียนหนังสืออย่างเก่านั้นจับใจเปนอย่างยิ่ง คำในนิรุกติศาสตร์ที่ว่าไม่ควรลากเอาไปแต่งตัวอย่างเดิมนั้น ฉันเห็นถูกที่สุด แม้เขียนหนังสือถึงท่าน ฉันก็เคยเขียน หมอจัน หมอปลัดเล นั่นก็คือทำตามคำซึ่งนิรุกติศาสตร์กล่าวไว้ ครั้งหนึ่งฉันได้ถามกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ว่า อินชะเนีย ควรเขียนอย่างไร ที่ถามนี้เพราะเห็นเขาเปลี่ยนเขียนกันเปน วิศวกรรม และอะไรไปต่าง ๆ เธอตอบว่าเขียน อินชะเนีย นั่นก็คือปฏิบัติตามคำในนิรุกติศาสตร์นั่นเอง ฉันออกจะถือเปนย้ำหัวเห็ด ว่าถ้าเปนคำพูดแล้วจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตามที แต่ถ้าถึงชื่อเข้าแล้วเปลี่ยนไม่ได้ ต้องเขียนไปตามเดิม เพราะลางชื่อก็ไม่ใช่ผิดไปแต่ตัวหนังสือ ผิดเสียงไปเสียด้วยทีเดียว
จะชี้ให้ท่านเห็นในการที่เราเขียนหนังสือ ถ้าเปนคำมคธ คำใดที่ทางเขาใช้ตัวสกดซ้อน เราก็ตัดตัวสกดตัวหน้าออกเสีย เช่น อุททิส เปน อุทิศ บริจจาค เปน บริจาค เปนต้น ที่คงอยู่ก็มีเช่น รัฏฐปาล ก็เปน รัฐบาล แปลว่า แก้ไม่หมด ที่หลงไปก็มี เช่น จิตต์ ก็หลงเอาคำ จิตร (วิจิตร) มาใช้ ลางคนไม่ยอมเขียนทีเดียว เรียกคำนั้นเปนตลกว่า จิด-ตด ลางคำก็เอาสังสกฤตมาผสมกับมคธ เช่น เขตร ก็คือ เกษตร ที่นึกเดาเอาก็มี เช่น อนุสาวรีย์ ถ้าจะว่าไปก็ไม่ถูกทั้งนั้น แต่ก็จัดว่าเปนภาษาไทย ต้องนับว่าถูก เขมรเขาเขียนบุรุษว่า ปฺรุส เขาก็คงเขียนอยู่เช่นนั้น ไม่เปลี่ยนไป อีกประการหนึ่งถึงเรามีสอสามอยู่อย่างสังสกฤตก็ดี แต่เราใช้ไปเสียอย่างหนึ่งไม่ใช้ตามสังสกฤต เช่น ศ เราใช้เปนตัวสกด ษ เราใช้เปนตัวการันต์ (เช่น วงษ์) ส ใช้ในเนื้อคำ ที่เขียนอย่างอื่นไปก็มีบ้างเล็กน้อย เข้าใจว่าเปนด้วยคนเขียนไม่เห็นหลัก แล้วก็เลยเปนอย่างต่อมา อีกอย่างหนึ่งซึ่งในเสียงไทยไม่มี อย่างสระไอมีตัวสกด เช่น ไสนยะ ก็แก้เปน แสนยา หรือในคำอังกฤษก็มี เช่น ไตม ไปป ก็แก้เปน แตม เปน แป๊ป พูดถึงคำฝรั่งก็ชอบกล ทุกวันนี้พยายามจะเขียนตามหนังสืออังกฤษกันจนเกือบจะอ่านไม่ออก แต่ลางคำก็แหงเขียนไปไม่ได้ พูดถึงเสียงของเราออกไม่ได้ก็มีอีก เช่น ล สกด แต่ออกเสียงด้วย เช่น ฟุตบอล ก็เรียกกันแต่ว่า ฟุตบอ
ให้นึกวิตกไปอีกอย่างหนึ่ง ที่คนพูดและเขียน รอ เปน ลอ ลอ เปน รอ หรือ รอ ล้วน ลอ ล้วน แต่ก่อนนี้ได้พบน้อย เดี๋ยวนี้มากขึ้น เกรงว่าพวกนั้นจะขาดความรู้ในภาษา เพราะว่าคำใช้ใน รอ ลอ ต่างความกันอยู่มาก เช่น ร่วง ล่วง ร่อน ล่อน รับ ลับ เปนต้น ควรที่ครูจะเอาใจใส่แก่เด็กให้มาก แต่ถ้าตัวครูไม่รู้เสียแล้วก็จนใจ ได้เคยพบมา ครูสอนให้เด็กอ่าน มูลบท ว่า เกรียงไกร ไผซา เพราะในหนังสือมีว่า เกรียงไกร ไผทรา ชผดุงทั้งกรุงไกร
ขอบใจท่านที่ส่งหนังสือตีพิมพ์แจกในงานศพพระยาอุปกิตไปให้ ได้ดูแล้วแต่เพียงผ่านไป ก็เหนเข้าทีมาก จะได้เหนว่าความเหนใครเปนอย่างไร ที่พูดว่าความเหนใครเปนอย่างไรนั้น ก็เพราะผู้แต่งถึงจะพบอะไรต่าง ๆ ก็ยึดเอาแต่ที่ต้องใจเปนหลัก