๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๔ เดือนนี้ไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ที่ตรัสเล่าเรื่องคำไทยได้มาจากภาษาชวามลายูเป็นเสียงสูง เพราะได้มาแต่ชาวใต้นั้น ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งได้ทราบเกล้า ฯ ข้าพระพุทธเจ้าเคยสังเกตมาแต่ก่อน เพราะได้ยินแขกมลายูพูด ในคำที่ไทยใช้เป็นเสียงสูง ก็ไม่เป็นเสียงสูง แต่ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีทางจะค้นคว้าต่อไป จึงได้นิ่งอยู่จนเมื่อมาตรัสขึ้น

ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกในพระเมตตาเป็นล้นเกล้าฯ ที่ตรัสอธิบายอะไรต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องราชวัด กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้ความคิดขยายตัวออกไปอีก

เรื่องรั้วไก่ ผู้รู้ภาษาบาลีว่า รั้วก่าย ข้าพระพุทธเจ้าเห็นได้ความดี จึงเห็นว่า รั้วไก่ จะเลือนไปจากรั้วก่าย ครั้นมาได้อ่านข้อที่ทรงเห็นว่า ราชวัด หรือ เฉลว ก็คือรั้ว แล้วหวนไปนึกถึง ตาแหลว ว่าตาเหยี่ยว ก็กลับไปนึกถึง ตาไก่ ว่าเป็นตานกด้วยกัน ที่เขียนกันว่า ตาก่าย จะเป็นเรื่องลากเข้าความ ซึ่งในตำรานิรุกติศาสตร์เตือนให้ระวังไว้จงหนัก เพราะชวนให้ลากคำที่แปลไม่ได้ความ ให้เข้าความได้ง่าย ข้าพระพุทธเจ้าจึงค้นดูในพจนานุกรมไทยใหญ่ ในคำว่า ตา ก็พบคำว่า ตาไก่ แปลไว้ว่ามีตาอย่างตาหมากรุก ตาน้ำวนที่เห็นลึกบุ๋ม ถ้าดูคำนี้กับคำว่า รั้วตาไก่ ก็ได้ความตรงกัน นอกจากคำว่า ตาไก่ ยังมีคำว่า ตาข่า ข่า คือไม้ไผ่สานเป็นตะแกรงรูปสี่เหลี่ยม เอาแขวนไว้เหนือเตาไฟ สำหรับเก็บของกิน เช่น เนื้อ ปลา พริก เพื่อให้แห้งไปในตัว ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบว่าตามบ้านนอก แถวจังหวัดนครสวรรค์ก็ยังใช้อยู่และเรียกว่า ข่า เหมือนกัน ข่าเห็นจะเป็นของดั้งเดิมของไทย คำจึงได้พ้องกันในไทยใหญ่กับไทยกลาง คำพูดที่เป็นชื่อเครื่องใช้นั้นมักศูนย์ได้เร็วกว่าคำชะนิดอื่น เพราะเครื่องใช้มีเปลี่ยนแปลงดีขึ้นเสมอ ถ้าชื่อเดิมไม่เกาะติดมากับของใช้อย่างใหม่ก็ต้องศูนย์ไปกับเครื่องใช้ที่หมดสมัยแล้ว นอกนี้ยังมีคำ ตาแข้ ในภาษาไทยใหญ่ แปลว่าของที่มีรูปเป็นข่าย หรือข่ายสำหรับดักนก คำนี้ข้าพระพุทธเจ้าสอบไม่ได้ความว่าเป็นคำมีอยู่ในไทยกลาง ส่วน ข่าย ในภาษาไทยใหญ่ไม่มี มีแต่ ก่าย แปลว่า พาด ถ้าจะพูดถึงข่ายก็ใช้ว่า แข้ ตะแกรง คำนี้อาจจะเป็นตาแกรง มีแปลกที่ในปักษ์ใต้เรียกตะแกรงว่า แร่ง ดูประหนึ่งว่า แร่ง มาจาก ตะแกรง โดยที่ตัดเสียง ก ออก เหลือแต่ แร่ง คำเดียว

กะละบาด ในปทานุกรมเขียนเป็น กระลาบาต ที่เขียนไว้เช่นนี้เป็นเขียนตามที่มีอยู่ในหนังสือไทยลางเล่มเท่านั้น และได้อธิบายไว้ว่า พวกเข้านั่งพิธีนั่งยามตามไฟ คือนั่งเรียงแถวอย่างหน้าจั่ว เช่นแถวหน้า ๙ คน แถวหลัง ๘-๗-๖-๕-๔-๓-๒-๑ คน คำอธิบายนี้ ได้มาจากที่พระสารศาสตร์พลขันธ์ (เยรินี) อธิบายไว้ในหนังสือจุฬากันต์มงคล แต่ข้าพระพุทธเจ้าเคยพบคำที่พระสารศาสตร์ฯ อธิบายผิดไว้ในหนังสือเล่มนั้นก็มี คำ กระลาบาต กรรมการชำระปทานุกรมหาอธิบายจากอื่นไม่ได้ จึงได้อาศัยคำอธิบายของแกไปพลางก่อน

เรื่องต้นกล้วยตันอ้อยที่ใช้ปัก ทรงเห็นว่าควรจะเป็นต้นกล้วยใหญ่ซึ่งมีเครือติด ข้าพระพุทธเจ้าซาบซึ้งในข้อที่ทรงสันนิษฐานเป็นอย่างยิ่ง ข้าพระพุทธเจ้าเคยคิดหาเหตุผลเรื่องต้นกล้วยตันอ้อยนี้มาแล้ว ก็คิดไปไม่ตลอด เมื่อได้อ่านข้อความที่ทรงสันนิษฐาน ข้าพระพุทธเจ้าก็เห็นพ้องในกระแสพระดำริทันที ประเพณีของไทยแต่ก่อนนี้ เป็นเรื่องกินกับเรื่องทำบุญส่วนมาก เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไม่มี อันที่จริงก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ ต่อมาก็ประณีตขึ้น ความมุ่งหมายเดิมก็จืดจางและกลายไป ในที่สุดพิธีที่ทำก็เหลือแต่รูปเงาและก็ศูนย์ไป

ที่ทรงเห็นว่า เฉลว ก็คือ รั้ว ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริทุกประการ ที่ประเพณีชาวพายัพและอีศานมีปักเฉลว ในเมื่อยกศพออกจากบ้านไปแล้ว ก็คงเป็นกั้นรั้วกันไม่ให้ผึกลับเข้ามาได้ เฉลวปักหม้อยาก็คงเป็นเรื่องกันอะไรที่จะเข้าไปทำลายยาให้เสียไป หรือไม่เช่นนั้น ก็กันคนที่อาจเปิดดูตัวยาที่มีอยู่ในหม้อ เมื่อเห็นแล้วว่ามีตัวยาอะไรบ้าง อาจทำให้เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ไป ที่ด่านภาษีมีเฉลวปักไว้ ดั่งในโคลงนิราศนรินทร์ว่า ถึงด่านๆ บ่อร้อง เรียกทัก ตาหลิ่งตาเหลวปัก ปิดไว้ ก็ดี และการบอกขายเรือน เรือแพก็ดี มีเฉลวปักไว้เพื่อให้รู้ว่าจะขาย คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะมีเหตุผลมาในทางเดียวกันกับเรื่องเฉลวที่ใช้เป็นต่างรั้ว คือเป็นเรื่องบอกให้รู้เท่านั้น แต่จะรู้ว่าอะไรนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องตกลงกันก่อน จะเป็นโดยทางตรงหรือทางอ้อม แล้วต่อมาก็ถือเป็นธรรมเนียมประเพณี เช่นเรือนที่มีเฉลวปัก ก็แสดงเป็นบอกให้รู้ว่า เป็นเรือนที่มีอะไรเป็นพิเศษอย่างหนึ่ง ในที่นี้ก็คือบอกขาย ที่ข้าพระพุทธเจ้าคิดเช่นนี้ คิดตามแนวของหนังสือฝรั่งเล่มหนึ่ง ซึ่งเล่าเรื่องชาติข่าว่า ภาษาข่าแต่ละถิ่นพูดผิดเพี้ยนกัน จนต่างฝ่ายอาจฟังไม่เข้าใจกัน แต่พวกข่ามีวิธีสื่อสาส์นทำความเข้าใจกันได้ ด้วยวิธีใช้เครื่องหมายลางอย่าง ซึ่งได้ตกลงเป็นที่เข้าใจกัน เครื่องหมายที่ใช้กันแพร่หลายก็คือ เอาไม้ไผ่หรือหวายมาขัดเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือรูปหกเหลี่ยม มีขนาดยาวฟุตกับ ๘ นิ้ว หรือใหญ่กว่านี้ก็มี เอาไปแขวนหรือห้อยไว้ในที่ซึ่งใครๆ อาจเห็นได้ง่าย เป็นเครื่องหมายบอกใครไปมาให้รู้ว่า ที่ตรงนั้นมีอันตราย หรือเป็นที่ห้ามปราม ไม่ให้ผ่านเข้าไป ดั่งนี้เป็นต้น คิดด้วยเกล้าฯ ว่า เรื่องราชวัดและเฉลว ก็จะเนื่องมาแต่เหตุกันไม่ให้เข้าไป แล้วขยายการใช้ออกไปถึงบอกขาย ซึ่งเป็นของมีขึ้นทีหลัง ทั้งนี้การจะผิดถูกสถานไร แล้วแต่จะทรงพระกรุณา

สารวัด ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นเขียนกันอย่างนี้ แล้วต่อมาเขียนเป็น สารวัตร คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เป็นเรื่องลากเข้าความ โดยลากให้เป็นคำศัพท์ ในภาษาชวามีคำว่า ระวัด แปลว่า “ควบคุม ดูแล ตรวจดู (inspect) ไปตรวจการตามกำหนดหน้าที่” ดูความหมายของคำว่า ระวัด กับ สารวัด ใกล้กันมาก ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูคำในภาษามลายู มีคำว่า สะ อธิบายไว้ว่าเป็นคำใช้ประกอบหน้าคำอื่น ให้มีความหมายว่า รวมกัน เหมือนกัน คล้ายกัน ทั้งหมดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น สะรูป = เป็นรูปเดียวกัน คล้ายกัน สะรส = มีรสเป็นอย่างเดียว สะอิสิอิสินครี = คนในเมืองทั้งหมด คำ สะ นี้ ตามที่ข้าพระพุทธเจ้าสังเกต ดูจะเป็นเติมได้มากมาย ถ้าเช่นนั้น ถ้าเอามาเติมหน้าคำว่า ระวัด ก็เป็น สะระวัด อาจแปลว่า ตรวจทั้งหมด ดูแลทั่วไป ก็น่าจะได้ แต่เป็นเรื่องคิดว่าจะเป็นได้เท่านั้น ยังหาได้พบหลักฐานเต็มคำว่า สะระวัด ไม่

ที่ทรงเห็นว่า ถ้าคำใดซึ่งยังไม่รู้ ก็เขียนเป็นไทยๆ ไว้ก่อน เช่นการสกด น เป็นต้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นห้องในกระแสพระดำริทุกประการ ส่วนคำที่เคยเขียนในไทยมาแล้วนมนาน แม้จะรู้ได้แน่ว่ามาจากคำในภาษาอื่น เช่นสํสกฤต และเขียนไม่ตรงกับรูปของคำเดิม ก็ไม่ควรเปลี่ยนเป็นเขียนตามรูปคำเดิมที่แท้จริง แต่ควรเขียนอย่างที่เป็นภาษาไทยๆ เช่น อุทิศ ปราถนา บริจาค จิตร์ วงษ์ อรรค มาเปลี่ยนในตอนหลังให้เขียนเป็น อุททิศ ปรารถนา บริจจาค จิตต์ วงศ์ อัคร เพื่อให้ตรงกับคำเดิมที่เห็นว่าถูกต้อง จึงได้เกิดปั่นป่วนขึ้นในการเขียน เดี๋ยวนี้ต้องแก้กลับไปก็มี เช่น อุทิศ บริจาค เป็นต้น ในตำรานิรุกติศาสตร์อธิบายว่าคำที่นำเอามาจากต่างประเทศ จะเอามาเป็นอย่างต่างประเทศแท้ๆ ไม่ได้ ต้องเอามาแต่งตัวเป็นอย่างพื้นเมืองเสียก่อน จึงจะเอามาใช้ในภาษาได้สะดวก เมื่อเอามาแต่งตัวให้เข้ากับพื้นเมืองและใช้กันจนชินเป็นเหมือนดังภาษาของตนแล้ว ก็ต้องถือว่าคำนั้นได้แปลงชาติมาเป็นไทยโดยสมบูรณ์ ไม่ควรไปจัดแจงให้กลับแต่งตัวเป็นต่างประเทศไปอีก เช่น อุทิศ ก็ต้องถือว่าเป็นคำไทย ซึ่งมีเชื้อชาติมาจาก อุททิศ ในบาลี ไม่ใช่เป็นคำบาลีแท้ๆ และไม่ควรลากกลับให้เป็นบาลี ถึงลากกลับไปเป็นบาลี ในไม่ช้าก็ต้องกลับมาเป็นไทย เพราะหลักออกเสียงไม่เหมือนกัน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ