- แถลงการณ์ของสำนักพิมพ์
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๖
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กันยายน ๒๔๘๖
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖
- ภาคผนวก
๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้า ได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๖ เดือนนี้ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้
คำว่า กระลาบาต ข้าพระพุทธเจ้าได้สอบถามสวามีสัตยนันทปุรี ได้รับคำชี้แจงว่า เพี้ยนไปจากคำ กลาปัตร แปลว่า ใบตอง กลา เป็นภาษาเบงคาลี แปลว่า กล้วย ถ้ามีงานใหญ่มีคนไปประชุมกันมาก จัดหาเสื่อสาดอาศนหรือที่นั่งให้ได้ไม่เพียงพอ ก็ใช้ใบตองตัดเป็นชิ้น ๆ ให้รองนั่ง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าอธิบายนี้ฟังขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าอ่านพบในหมายรับสั่ง เรื่องจัดรับรองฝรั่งแขกเมือง ว่าจัดให้มี คนนั่งกลาบาต สองข้างทางที่แขกเมืองจะผ่านเข้ามา นี่ก็คงจะจัดผู้คนมานั่งสองฟากทางให้ดูแน่นครึกครื้น ส่วนใบตองรองนั่ง อาจไม่มีก็ได้ ข้อที่ข้าพระพุทธเจ้ายังสงสัยอยู่ ก็ที่กลาบัตรเป็นของชาวเบงคาลี เหตุไฉนไทยจึงได้ธรรมเนียมนี้เข้ามา ลางทีจะเป็นเพราะแขกเมืองชาวอังกฤษที่เข้ามาติดต่อกับประเทศไทย แต่ก่อนเป็นฝรั่งซึ่งมาจากเบงคอล ซึ่งเป็นแคว้นของชาวเบงคาลีมาก่อน ในมหาวงศ์เรียกแคว้นเบงคอลว่า พังคะ จนมาเป็นคำว่า ฝรั่งมังค่า เพราะฉะนั้นการรับแขกเมือง ด้วยมีคนนั่งมาก ๆ ที่เรียกว่า นั่งกลาปัตร อาจจะติดเข้ามาด้วย หรือไม่เช่นนั้น ไทยจะได้แบบอย่างมาจากมอญ และพม่า ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของไทยฝ่ายหนึ่ง และแคว้นเบงคอลอีกฝ่ายหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านเรื่องรามเกียรติ์ภาษาเบงคาลี ซึ่งเขาย่อเป็นภาษาอังกฤษไว้ พบเรื่องนางยักษ์ชื่อนางศานตี ปลอมเป็นสาวใช้เข้ามาล่อลวงให้นางสีดาวาดรูปทศกรรฐ์ไว้บนพัด เรื่องตอนนี้คล้ายกับเรื่องตอนหนึ่งในรามเกียรติ์ ในรามายณของวาลมีกิ และรามายณแคว้นอื่นๆ ในอินเดียไม่ปรากฏว่ามีเรื่องนี้ แต่ไปมีอยู่ในรามายณชวาฉบับหนึ่ง พระรามของเบงคาลีมีหน้าเขียวตรงกับของไทย ส่วนพระรามอื่นๆ ไม่ปรากฏว่าเป็นหน้าเขียว ข้าพระพุทธเจ้าจึงคิดด้วยเกล้า ฯ ว่าเรื่องของชาวเบงคาลี อย่างที่เรียกว่าวัฒนธรรมอยู่ในเวลานี้ คงจะผ่านเข้ามาในไทยทางใดทางหนึ่ง พิธีกลาปัตรจึงได้ติดเข้ามาอยู่คราวหนึ่ง แล้วก็ศูนย์ไป เพราะความเจริญที่ดีกว่าเข้ามาแทนที่
ที่ทรงสันนิษฐานเรื่องปักเฉลวที่หม้อยา ที่ด่าน และที่เรือน โรงเรือ เพื่อบอกขาย ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริทุกประการ ความขัดข้องซึ่งข้าพระพุทธเจ้าคิดไม่ออกมาช้านานในเรื่องปักเฉลวก็หมดไป ข้าพระพุทธเจ้าเห็นแปลกที่เรื่องเกิดจากราชวัด แต่ในที่สุดกลับเป็นได้เรื่องเฉลว ข้าพระพุทธเจ้านึกอะไรได้ หรืออ่านพบอะไรท็เห็นควรจำไว้ ก็จดลงสมุดไว้พลางก่อน สิ่งที่จดไว้ลางทีก็ช่วยข้าพระพุทธเจ้ามาก เมื่อทิ้งไว้นานแล้วกลับไปอ่านใหม่ ความรู้ซึ่งได้ไว้เท่าที่จดกลับได้มากออกไปอีก คงเป็นด้วยอินทรีย์แก่กล้าอย่างที่เคยตรัสนั่นเอง ข้าพระพุทธเจ้าปรารภเรื่องนี้ให้สวามีสัตยนันท์ฟัง สวามีสัตยนันท์บอกว่า ที่ในอินเดียก็ทำกันอย่างนี้ แล้วเขาเอาข้อความที่จดเอาไว้สิ่งละอันพันละน้อยไปตีพิมพ์ในหนังสือของสมาคม เป็นการช่วยความรู้ขึ้นไม่น้อย
เรื่องคนพูดและเขียน ร เป็น ล หรือ ล เป็น ร ที่ทรงวิตกนั้น เป็นความจริงอย่างยิ่ง ข้าพระพุทธเจ้าเคยคุยกับคนหนุ่มนักเรียนนอกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่มีความรู้ดี เมื่อพูดภาษาไทยถึงคำที่เป็นเสียง ร หรือ ล ก็มักจะพูดผิดไขว้เขวกัน เมื่อข้าพระพุทธเจ้าทักท้วงขึ้นแล้ว สอบสวนถึงคำอื่นต่อไป ความจึงปรากฏว่า ผู้นั้นเข้าใจผิดไปหลายคำ ถึงกับอยากทราบว่า เรื่อง ร ล นี้จะเรียนรู้ได้จากไหน ข้าพระพุทธเจ้าได้ตอบว่า ดูในพจนานุกรม แต่เรื่องพูด ร เป็น ล หรือ ล เป็น ร เคยมีผิด ๆ กันมาแล้ว จนกระทรวงธรรมการกวดขัน ต้องมีหนังสือแบบเรียนบทเทียบอักษร ร ล ขึ้นใช้ตามโรงเรียน แต่เป็นเรื่องแก้ยาก แม้ผู้ที่ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์ มีคนหนึ่งมาอ่านเรื่องทางวิทยุกระจายเสียง ก็ยังออกเสียง ร ล ผิดหมด คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เสียงทางวิทยุที่ได้ยินกันทุกคืน ๆ ถ้าไม่ระวังจะทำให้ภาษากลายได้ทั้งเสียงและสำนวน เพราะได้ยินกันทุกคืน ความสำคัญอยู่ที่คนกระจายเสียง
นายพืช เดชคุปต์ บุตรพระยาโบราณฯ ไปเป็นข้าหลวงอยู่จังหวัดพังงา มีจดหมายมาถึงข้าพระพุทธเจ้าว่า เพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบมาจากพระเจนดดุริยางค์ว่า มิสเตอร์ไฟต์ บิดาพระเจน ฯ เป็นผู้คิดทำนองนั้น นายพืชได้พบหลักฐานในหนังสือคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์และเมืองเบตาเวีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ ความแห่งหนึ่งตอนเสด็จถึงเมืองเบตาเวียว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามจะเสด็จลงจากรถที่โฮเต็ลเมื่อไร จะยิงปืนใหญ่ที่ป้อม ชื่อ ปรินฟเรศริก สลุตคำนับ ๒๑ นัด ยิงปืนสลุตแล้วพวกทหารแตร กลอง เป่าแตร ตีกลอง เป็นเพลงฮอลันดา และเพลงสยาม ทำถวายเป็นคำนับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม ดังนี้ นายพืชจึงสันนิษฐานว่า ที่สั่งว่า พวกแตรกอง เป่าแตรตีกลองเป็นเพลงสยาม ทำถวายเป็นคำนับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม นั้น น่าจะเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีนั่นเอง เพราะเป็นธรรมเนียมของยุโรป เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปประเทศใดเป็นทางราชการ ประเทศเจ้าของบ้านก็ต้องจัดกองเกียรติยศบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีของผู้ซึ่งเป็นแขก และด้วยเหตุที่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สมเด็จพระมหากษัตริย์ไทยสมัยใหม่ เสด็จประพาสต่างประเทศ และเพื่อให้เป็นอย่างธรรมเนียมยุโรป จึงได้จัดให้มีเพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้นแล้วส่งโน้ตเพลงไปให้รัฐบาลฮอลันดา และสันนิษฐานว่า น่าจะทำโน้ตเพลงขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๑๓ นั่นเอง ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ ขอประทานทราบเกล้า ฯ ว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีใครเป็นผู้แต่งเนื้อและทำนอง
ข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านเรื่องว่าด้วยอินเดียเรื่องหนึ่ง มีเค้าคล้ายกับเรื่อง กำตาก ในพิธีแรกนาขวัญ คือเขากล่าวว่า ในสมัยโบราณมีประเพณีสืบต่อกันมา คือเจ้าผู้ครองแคว้นเมวาร เมื่อขึ้นครองแคว้นใหม่ ๆ ต้องยกทัพหรือพวกไปรบหรือไปตีชิงบ้านเมืองของศัตรู จับเชลยและข้าวของมาให้ได้ ในสมัยต่อมา การรุกรานกันอย่างนี้ไม่มีแล้ว เจ้าผู้ครองแคว้นก็ไม่มียกไปรุกรานใคร แต่ยังคงรักษาประเพณีอยู่โดยทำหลอก ๆ พอเป็นพิธี คือในวันราชาภิเศกของเจ้าผู้ครองนคร จัดให้มีการตีชิงร้านขายข้าว เจ้าทุกข์คือเจ้าของร้านต้องไปร้องทุกข์ต่อมหาราชาตามธรรมเนียมของฮินดู ขอให้หยุดตีชิง มหาราชาก็ใช้ค่าเสียหายให้ ธรรมเนียมอย่างนี้คล้ายกับเรื่องกำตาก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๕ ทรงกล่าวไว้ในพระราชพิธี ๑๒ เดือน ลางที กำตาก จะไม่ใช่ กำตัก ในภาษาไทย อาจเพี้ยนจากคำใดคำหนึ่งของอินเดียก็ได้
ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายสำเนาจารึกสมัยสุโขทัยที่ได้ในพระสถูปเจดีย์เมืองสุโขทัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ จารึกรายนี้เป็นของพระมหาเถรจุฬามณี ว่าเป็นบุตรพ่อขุนผาเมือง จารึกลงในแผ่นทองคำ รูปใบลาน แต่ม้วนได้ มีสี่บันทัดด้วยกัน หนังสือที่เขียนครั้งนั้น เครื่องหมายบนตัวหนังสือ นอกจากสระอิแล้วไม่มีใช้ เช่นไม้เอก ไม้โท ไม้หันอากาศ ไม้ทันฑฆาต ไม้ไต่คู้ สระอึ อือ ไม่มี แต่แปลกที่ในวรรคสาม คำว่า ทังหลาย มีไม้หันอากาศพลัดมาแห่งเดียว ประวิสัญชนีมีใช้กับคำว่า พระ แต่เขียนตวัดหางลง ส่วนคำอื่นซึ่งในปัจจุบันใช้ประวิสัญชนี เช่น ปรดิษฐา แล กทำ ในจารึกไม่มี แสดงว่าประวิสัญชนีใช้สำหรับเน้นเสียงเท่านั้น ถ้าไม่เน้นเสียงก็ไม่ต้องใช้ พยัญชนะวรรค ฏ และตัว ฤ ศ และ ษ ก็ไม่มี ใช้พยัญชนะวรรค ต ทั้งหมด ตัว ฮ ปรากฏมีในจารึกนี้เป็นครั้งแรก อยู่ในวรรค ๔ ในคำที่ขึ้นต้นว่า พระอถารส เหนิฮนน คำว่า มณี ในที่นี้เขียนเป็น มุนี เพราะฉะนั้นตำรา จินดามณี กับ จินดามุนี ซึ่งมีผู้สงสัยว่าจะเป็นคนละตำรา ก็น่าจะเป็นตำราเดียวกัน
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์
----------------------------
จารึกลานทอง
เขียนต้นฉะบับ | เขียนอย่างปัจจุบัน |
(๑) สกราชได ๗๓๘ โรง | ศักราชได้ ๓๓๕(๑) โรง(๒) |
นกกษัตร เดินหก แรมคำนิง | นักษัตร เดือนหก แรมค่ำหนึ่ง |
สุกรพาร สํเดจพระมหาเถร | สุกรพาร สมเด็จพระมหาเถร |
จุ (ฬา) มุณี ปลูกพิหาร | จุฬามุนี ปลูกพิหาร |
(๒) นีไดเดิน สิบหาวนนบริบูรณ | นี้ได้เดือน สิบห้าวันบริบูรณ์ |
แลว เมิอหน่าเดินสิบ แรมสีคำ | แล้วเมื่อหน้าเดือนสิบ แรมสี่ค่ำ |
พุธพาร กรรติการิกส จิง | พุธพาร กรรติกาฤกษ์ จึง |
ปรดิสถา | ประดิษฐา |
(๓) พระธาตุ แลพระพุธปรติมา | พระธาตุ และพระพุทธประติมา |
อนนทานกุทำดวย เงิน ทอง | อันท่านกระทำด้วย เงิน ทอง |
หยกงาทั้งหลาย เ (เ) ลวจิงกทำ | หยก งา ทั้งหลาย แล้วจึงกระทำ |
(๔) พระอถารส เหนิฮนน | พระอัฐารส เหนือหั้น(๓) |
อิมินา ปฺฺ กมฺเมน | อิมินา ปฺฺุ-กมฺเมน |
พุทฺโธ โหมิ อนาคเต | พุทฺโธ โหมิ อนาคเต |
สํสารา โมจนตฺถาย | สสารา โมจนตฺถาย |
สพฺเพ สตฺเต อเสสโต | สพฺเพ สตฺเต อเสสโต |
หมายเหตุ: เนื้อความเขียนด้วยอักษรไทยฝ่ายใต้ ตัวเลขและคำ ปรารถนาภาษาบาลี เขียนด้วยอักษรไทยฝ่ายเหนือ
(๑) จ.ศ. ๗๓๘ = พ.ศ. ๑๙๑๙
(๒) โรง = มะโรง
(๓) หั้น = นั้น
ฉ่ำ ทองคำวรรณ
๓๑ กรกฎาคม ๘๔