- แถลงการณ์ของสำนักพิมพ์
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๕
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๖
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๖
- กันยายน ๒๔๘๖
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖
- ภาคผนวก
๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕ น
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๘๕
นายยง ส. อนุมานราชธน
ได้เหนคำบังคับให้อ่านว่า บันยาย นี่เปนสนับสนุนคำของฉัน ที่สงสัยว่าจะเขียนรอหันผิด เพราะคำนี้รู้แน่ว่าจะเปน ประยาย หรือ ปยาย ผยาย ไปไม่ได้แน่ แท้จริงมาจากคำมคธว่า ปริยาย หรือสังสกฤตว่า ปรยาย ถ้าจะอ่านเปนไทยก็ต้องอ่านว่า บอ-ริ-ยาย หรือ บ-ร-ยาย แต่อ่านกันว่า บัน-ร-ยาย ถ้าเปรียบด้วยครูแล้ว เด็กเขียนผิดก็จะต้องบอกให้รู้ว่าเขียน บรรยาย และอ่านว่า บันรยาย นั้นผิด ไม่ใช่ครูเขียนเปน บรรยาย แล้วสอนให้เด็กอ่านว่า บันยาย ไปตามที่ผิด
คำที่เปนชื่อทางต่างประเทศเหยียดเอามาเปนไทยเสียดี เช่น หมอปลัดเล หมอจัน เปนต้น เมื่อไม่ช้ามานี้ก็พบคนจีนชื่อว่า กุง ควรเหยียดเอาเปน กุ้ง
คำร่อนเด็กซึ่งว่า สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใครเอาไปเน้อ ความส่อว่าล่วงแล้วสามวันจึ่งร่อน ไม่ใช่ร่อนเมื่อแรกคลอด การสนับสนุนข้อนี้ก็มีวิธีสมโภชสามวันแห่งพระเจ้าลูกเธอ แต่ก่อนนี้เด็กคงตายในสามวันกันเปนพื้น ผู้ที่จะรับเด็กตามคำร่อนว่า ลูกของใครเอาไปเน้อ นั้นจะต้องเปนแม่ของเด็กหรือไม่ใช่เช่นนั้นจะต้องเปนผู้ใหญ่ อันดำรงอยู่ในฐานที่เปนมารดา ผู้ใหญ่ซึ่งดำรงอยู่ในฐานที่เปนมารดาทำการซื้อเด็กกันเมื่อแรกคลอดก็มี แม่ซื้อไฉนจึงเปนผีไปได้ ที่แท้ควรจะเปนคน แต่การซื้ออาจเปนวิธีใหม่ไปก็ได้ นึกถึงคำ แม่เชื้อ จะเปนว่า แม่ซื้อ ไปได้หรือไม่ แต่ ซ่าง เซื่อเมือง ผีเซื่อ ก็เปน ช้าง เชื้อเมือง ผีเชื้อ ไปได้
คำ มิ ถ้าไม่จำเปนแล้วฉันไม่ใช้ เพราะเห็นชอบด้วยกับพระดำริห์สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ ว่าคนจะอ่านหลงเปน มี ไปก็ได้ เหตุฉะนั้นจึงทรงเขียน ไม่ ในที่ มิ ดูเหมือนแห่งที่จะต้องใช้ มิ ก็มี แต่มีน้อย