๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๘๔

พระยาอนุมานราชธน

จะบอกให้ทราบในเรื่องพระชัยต่อไป ว่าในรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงสร้างอีกครั้งหนึ่ง เปนองค์ขนาดเล็ก หล่อด้วยทองคำ ไม่ถือตาลปัตร เปนแต่มือกำเปนทีถือตาลปัตร โปรดให้ทำตลับใส่เปนรูปปทุมอุณาโลม ตลับนั้นมีขนาดสูงเหนจะไม่เกินกว่า ๒ เซนติเมตร มีสร้อยร้อยสำหรับแขวนคอ พระราชทานแก่ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานตรามหาจักรี นี่เปนพยานว่าเปนเครื่องราง แต่จะทำกี่องค์และหล่อวันไรจำไม่ได้ จำได้แต่ว่าปั้นหุ่นในโบถวัดพระแก้ว ถ้าจะใครรู้จำนวนที่ทำและหล่อวันไรปีไร ต้องค้นราชกิจจา นี่เปนแต่บอกให้ทราบเรื่องเท่านั้น

ในเรื่อง บรื๊ด นึกถึงภาษาไทยก็นึกได้ทางหนึ่ง ว่าครั้งหนึ่งตามเสด็จไปทะเล มีฝรั่งครูทหารปืนใหญ่ไปนั่งกินข้าวอยู่ด้วย แกใช้มีดพุ้ยอาหารกิน เรารู้ว่าแกต้องพูดภาษาไทยได้ สมเด็จกรมพระยาเทววงษ์จึ่งผูกภาษาไทยขึ้นบอกแก่เจ้านายให้ดู ว่า มานพข้างท่านแพทย์ฉันด้วยพระขรรค์ คำว่า แพทย์ คือ หมอกาวัน เวลานั้นคำว่า แพทย์ ยังไม่ได้ใช้แทนคำหมอ หมอกาวันแกรู้ว่าพูดติเตียน แกจึงกระดิกมีดที่ถืออยู่ในมือให้ดู เรานึกว่าแกเข้าใจภาษาที่พูด เพราะแกเอาใจใส่ในภาษาไทยมาก เช่นคำพูดว่า น้ำแห้ง แกว่าไม่ถูก ควรจะว่า คลองแห้ง แต่พวกเราถามแกทีหลังว่าแกเข้าใจในคำพูดหรือ แกก็บอกว่าไม่เข้าใจ เปนแต่รู้ว่าเพื่อจะติเตียนเท่านั้น

เรื่องคำนั้นชอบกล เราพูดกันสั้น ๆ เอาแต่พอเข้าใจกัน เช่นพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์สั่งราชการ ว่าเรือบดลำนั้นกับลำนั้นให้เรือไฟลาก กรมหลวงสรรพสิทธิ์ขัดคอว่า เรือไฟมิร้อนนักหรือ พระองค์สายเปนแต่หัวเราะ ไม่ได้ตอบ คิดดูคำที่ว่า น้ำแห้ง เมื่อจะให้เปนภาษาดีก็จะต้องว่า น้ำแห้งคลอง แต่เราใช้ตัดให้สั้น เหนจะเปนมาแต่ชาวปักษ์ใต้ เรียก ตะเข้ ว่า เข้ เรียก ศาลา แต่ว่า ลา เคยได้ยินตลกหนังตลุงเขาพูด ว่าเรียก พระลักษณ์ นั้นไฟไหม้หมดหลัง (เรือน) เขาต้องการให้เรียกแต่ว่า ลัก

จะถามท่านว่า ระฆัง เปนภาษาอะไร ไทยหรือ ได้ไปเหนทางชวา เขาทำด้วยไม้รวง เรียกว่า ตอง ๆ พอเหนก็นึกทีเดียว ว่าอ้ายนี่เปนรากเง่าของระฆัง ที่เรามาหล่อด้วยทองเหลืองและเรียกว่าระฆัง จึงเปนเหตุให้สงสัยว่าของเราหรือ หรือไปจำอย่างใครมา ไปเมืองพม่าก็ไปเหนเขามีระฆังหล่อ รูปร่างเหมือนระฆังไทย แต่ระฆังเมืองเราเหนเปนญวนหรือจีนก็มี ทำให้เข้าใจได้ว่าในหมู่บ้านเรานี้มีระฆังหล่อด้วยกันทั้งนั้น

จะบอกให้ทราบอีกอย่างหนึ่ง ดูเหมือนที่เขียนเรื่องทำเพลงมาให้ก่อน ไม่ได้กล่าวไว้ คือร้องนั้นร้องโดยลำลองก่อน เช่น เพลงปรบไก่ เปนต้น แล้วจึงเอาเครื่องดุริยดนตรีเข้าประกอบทีหลัง

จะถามท่านให้วินิจฉัยอีก ว่า โทน กับ ทับ นั้น เปนของสิ่งเดียวกันหรือต่างกัน ฉันไม่รู้และเดาไม่ถูก เพราะเก่าแก่มาเต็มทีแล้ว เหนในกฎมณเทียรบาลมีว่า ห้ามตีโทนทับกรับฉิ่งในสระแก้ว กับเหนใน ตำราร้องดอกสร้อย มีบอกไว้ว่า ทับเนรปัตตี เปนต้น ทั้งในบทละคอนก็เรียกหน้าพาทย์ลงสรงหรือร้องรถร้องม้าว่า โทน ไม่ใช่ ตะโพน กับการหัดละคอนครูก็ร้องว่า จ๊ะจ๋งจ๊ะถิ่งโจ๊งถิ่ง นั่นก็เปนเสียงโทนไม่ใช่ตะโพน ละคอนของเราทุกวันนี้ไม่มีโทนอยู่เลย แต่เหนได้ว่าก่อนนี้รำเข้ากับโทน ตะโพนมาใช้แทนโทนต่อเมื่อภายหลัง ในการที่ใช้โทนกับละคอนนั้นก็ไม่ประหลาดอะไร เหนได้ว่ามาแต่โนรา ในข้อสงสัยก็มีเพียงว่า โทน กับ ทับ เปนสิ่งเดียวกันหรือต่างกันเท่านั้น

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ