๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ยส

กรมสิลปากร

25 มกราคม 2486

ขอประทานกราบทูล ซงซาบได้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ 23 ธันวาคม ไว้แล้ว ที่ถวายตอบมาล่าช้า เพราะมีราชการเร่งร้อน พัวพันหยู่ตลอดเวลา แต่อาสัยที่ประทานอภัยแก่ข้าพระพุทธเจ้าไว้ว่า ถ้าเปนเรื่องไม่รีบร้อน จะกราบทูลมาล่าช้าก็ได้ ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งได้ยึดพระเมตตานี้

ที่ตรัดประทานชื่อวัดราชสิงขรว่าที่ถูกเปนวัดลาดสิงขร กะทำไห้ข้าพระพุทธเจ้าสิ้นความสงสัยซึ่งมีมานาน เพราะวัดนั้นก็เปนวัดราสดร์ ไม่ไช่เปนวัดหลวง หรือราชสิงขรจะหมายความว่าพูเขาไหย่ ก็ไม่มีลาดเลาว่ามีเขาอะไร เมื่อตรัดขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงนึกได้ว่าได้วัดพระยาไกรลงไป ก็มีวัดลาดบัวขาว ได้คู่กับวัดลาดสิงขร ลางทีคำว่า สิงขร เปนคำศัพท์ ผิดกับคำว่า บัวขาว ซึ่งเปนคำไทย จึงมีผู้เข้าไจผิด แปลงลาดสิงขร เปน ราชสิงขร ไป ยังมีชื่อคลองหยู่อีกแห่งหนึ่ง หยู่แถวอ่างทองหรือสิงห์บุรี ข้าพระพุทธเจ้าจำไม่ได้ ไนแผนที่เขียนไว้ว่า ราชชะโด ที่ถูกน่าจะเปน ลาดชะโด แถวประทุมธานีก็มีคลองลาดหลุมแก้ว เมื่อข้าพระพุทธเจ้าไปภาคอีสาน พบชื่อว่า หินดาบ อยู่หลายแห่ง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะเปน คำเกี่ยวกับ ลาด ได้คันตูไนพจนานุกรมไทยไหย่ ไม่พบคำลาด ลองกลับ ลาด เปน ลาน เปน หลั่น ก็ไม่ได้ความ แต่คำว่า หลั่น นั้นเขาแปลไว้ว่า พังลง ตกลงมา เช่น จากก้นหม้อ เห็นจะหมายความว่า ก้นลึก เปนแอ่งลงไป มีเสียงดัง กดไกปืน ตรงกับลั่นปืน หลั่นเงินคือเงินที่บิหรือแตกออกเปนก้อนเล็ก ๆ สำหรับการซื้อขาย เมื่อพบเช่นนี้ข้าพระพุทธเจ้าก็นึกไปถึงพระนามพระมหากสัตร์ ที่จดไว้ไนพระราชพงสาวดารว่า ทองลัน ทองลั่น หรือ ทองจันท์ ลางทีจะแปลว่า ท้องน้อย คือ ทองลั่น แต่กลับคำกันกับคำว่า ลั่นเงิน ไนไทยไหย่

ที่ตรัดประทานเรื่องช่างเขียนเขียนพระมงกุต แผลงพระยารังเปนรูปคนหนีออกจากต้นรังสามตัว กะทำไห้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงหนังสือฝรั่งเรื่องหนึ่ง เขาอธิบายถึงความหมายของคำว่า วรรนคดี ว่า ถ้าจะไห้ใครแต่งพรรนาถึงต้นไม้ต้นหนึ่ง ต่างว่าเปนต้นมะขาม ก็จะมีผู้แต่งบอกรูปและลักสนะของต้นมะขามได้ถูกต้อง เมื่อใคร ๆ อ่านแล้วก็รู้ได้ว่านั่นคือต้นมะขาม อย่างนี้เปนแต่งตามธัมดา แต่มีคนหนึ่งแต่งแปลกออกไป เมื่อใครๆ อ่านแล้ว เกิดความรู้สึกว่าไม่ไช่เปนต้นมะขามเฉย ๆ ยังทำไห้เกิดเปนความรู้สึกเปนเวทนารมย์ (Emotion) ทำไห้หยากเห็นต้นไม้นั้น ดั่งนี้เปนวรรนคดี และกล่าวต่อไปว่าผู้มีนิสัยเปนนักวรรนคดีและนักสิลปินย่อมเปนดังนี้ มองเห็นอะไรไนธัมชาติมีตัวตนทั้งนั้น เห็นแล้วก็นำเอามาแต่งพรรนาหรือวาดภาพ ทำไห้ผู้อ่านผู้ดูรู้สึกเห็นไปด้วย เขาว่าเด็กๆ มักเห็นอย่างนี้ได้ดีกว่าผู้ไหย่ เพราะมีความนึกเห็น (Imagination) ซึ่งเข้าไปไนธัมชาติดีกว่าผู้ไหย่ เมื่อตรัดถึงเรื่องเขียนต้นรังเปนคนออกจากต้นไม้ ถ้าเขียนเปนไห้ผู้ดูนึกเห็นไปเอง ไม่ต้องเขียนเปนรูปคน เปนเหมือนหนึ่งว่าต้นไม้นั้นมีตัวตนกำลังหนีไป รูปนั้นก็เปนสิลปขึ้น

ไนภาสาไทยไหย่ สาง แปลว่าพรหม หรือผู้หยู่เหนือมนุส และเหนือผี ตกว่า สาง กับ ผี ไนความเดิมก็หมายถึง อมนุส ซึ่งมีทั้งดีและร้าย ส่วน แม่นางโกง ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูพจนานุกรมไทยไหย่ มีคำว่า กุ่ง แปลว่ามีลักสนะดีหรือชั่ว เปนคำยกย่องไห้เกียรติยส และว่ามาจากบาลี ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าก็คิดไม่เห็นว่าจะเปนบาลีได้หย่างไร จนไปพบว่า กุ่งฝั่น ว่า เปนอมนุสเผ้าพระสุเมรุ จึงซาบว่าเปนกุมภันท์นั่นเอง ตัดสั้นเอามาแต่ กุม คำเดียว แล้วเพี้ยนเปน กุง ไป แต่ความไม่เข้ากับแม่นางโกง

เสน่ห์เปนทำตัวเองไห้รัก ส่วนยาแฝดเปนเขาทำเราด้วย ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า แยกความเสียดังนี้ดีมาก เพราะไม่ทำไห้เข้าไจผิดไนภาสา ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูคำไทยไหย่ พบคำแฝด แปลไว้ว่าบิออก ส่วนลูกแฝดเขาไช้ว่า ฝาแฝ ฝา แปลว่า เชื่อม ต่อไห้รวมกัน แฝ แปลว่าแบ่งออกเปนส่วน ๆ ถ้าเอาความตามนี้ ยาแฝด จะหมายความว่า ยาแบ่ง (รัก)

ที่ซงทักถึงคำ สวน ว่า ไนเรื่องจักรๆ วงส์ ๆ เปนสวนปลูกต้นไม้ดอก ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้คิดว่า สวนดอกไม้เปนคำเกิดทีหลัง เดิมจะเปนแต่สวนปลูกต้นไม้ลูก แล้วอาสัยหลักแนวเทียบ เกิดเปนสวนไม้ดอก ไนที่สุดที่ซึ่งมีของมาก ๆ ลางพวกที่ไม่เปนต้นไม้ ดอกไม้ ก็เปนสวนได้ เช่น สวนเปด สวนงู ไนบาลีมี อุทยาน และ อาราม ก็คงเปนสวนเที่ยวเล่น แต่ลางทีก็เรียกว่า ป่า เช่น เชตุพน ทางพายัพเรียกสวนดอกไม้ว่า สวนดอก ไทยไหย่เรียกว่า สวนหมอก หมอก แปลว่าดอกไม้ ทางไทยขาวเพี้ยนเปน บอก จะเปนคำเดียวกับ กะบอก ที่แปลว่าดอกไม้ไนคำประพันธ์ เช่น กะบอกทิพผกากวน คำ ดอก ไนเขมนก็มีไช้ แต่มหาฉ่ำบอกข้าพระพุทธเจ้าว่า ดอก ไม่ใช่คำเขมน จะว่า ดอก กับ บอก เปนคำเดียวกัน ก็ไม่มีทางที่ ด กับ บ จะสับเปลี่ยนเสียงกันได้ เพราะผิดถานกรน์ ห่างกันมาก

คำว่า สื่อ กับ สือ ไนตัวหนังสือจีนเปนคนละตัว สื่อ เปน 使 ส่วน สือ เปน 畫 กวางตุ้งอ่านเปน สื้อ แต้จิ๋วอ่านเปน จือ แปลว่าเขียนสมุด หนังสือ หรือตัวหนังสือ ข้าพระพุทธเจ้าพยายามค้นหาที่มาของคำว่าหนังสือมานาน แต่ก็ยังติดหยู่ที่คำ หนัง ค้นหาไม่ได้ความ

ข้าพระพุทธเจ้าเขียนเรื่องคำ ตักบาตร์ กับคำ ไส่บาตร์ ว่า ตักมาจาก ตัก ไนคำเขมนแปลว่า ไส่ จอด พัก ซึ่งยืดคำเปน ตำหนักว่า ที่พัก ครั้นไปถึงคำว่า ตักน้ำ รู้สึกด้วยเกล้า ฯ ว่าผิดกันกับคำว่า ไส่น้ำ จึงวินิจฉัยว่า ตักน้ำ จะหมายความว่าไส่น้ำลงไปไนภาชนะที่ตัก แต่นึกเฉลียวไจว่า ตักน้ำ ควนจะมีอยู่ไนคำไทยมาแต่เดิม เมื่อค้นดูไนภาสาไทยถิ่นต่าง ๆ ความก็สมจริง มีคำว่า ตักน้ำ อยู่ทุกถิ่น จึงรู้ได้ว่า ตัก เปนคำไทย หากไปพ้องเสียงเข้ากับคำว่า ตักบาตร์ ซึ่งเปนคำเขมน ยก กับ เลิก ไนความว่า ยกทัพ กับ เลิกทัพ มีความหมายผิดกัน แต่จะมากลายขึ้นไนชั้นหลัง เพราะไน รามเกียรติ์ ดูเหมือนไช้เลิกทัพว่ายกทัพไปก็มี เช่นว่า ครั้นได้เริกส์ไห้เลิกทัพชัย ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูคำว่า ยกย่อง ยอ ไนไทยไหย่ แปลความเดียวกันว่า เอาขึ้นไห้สูง ไห้เกียรติยส ถ้าเช่นนั้น ยอ สวิง สี่แจ่ง ที่รวบขึ้นไว้ที่คันก็เปนคำเดียวกัน ยกยอ แปลว่ายกสวิงชนิดนี้ก็ได้ และแปลว่าไห้เกียรติยสก็ได้ ไนไทยไหย่คำว่า ไห้เกียรติยสไช้ว่า ย่องยอ หาได้ใช้ว่า ยกยอ ไม่ เรื่องคำมีความหมายตรงกันข้าม เช่น ตัก ยก กับ เลิก มีอยู่อีกคำหนึ่งคือ สรี ที่แปลว่า พลู เมื่อประกอบกับคำอื่น เช่น พานพระสรี กลายเปนพานหมากไป คำที่กลายความหมายไปเช่นนี้ พอเห็นเหตุผลที่กลาย แต่คำว่า แพ้ ซึ่งแปลว่าชนะ กลับมาเปนไม่ชนะไป ข้าพระพุทธเจ้าจนปัา ค้นหาเหตุผลไม่ได้

ควนมิควนแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ